“ถูกต้อง”
ในเวลาที่มีพิธีกรเกมโชว์ใช้คำว่า “ถูกต้องนะคร้าาาาบบบ” เป็นที่ฮิตกันไปทั่วเมือง แม้ทางฝั่งการบ้านการเมือง การแสดงความคิดเห็น ก็ยังยืนยันว่า ฝ่ายของตนนั้นถูกต้อง และอีกฝ่ายหนึ่งไม่ถูกต้อง ผมค้นพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน… เชื่อไหมครับ ว่าไม่พบคำว่า “ถูกต้อง” !
ถูก ๑ ก. โดน, แตะต้อง, สัมผัส, เช่น ถูกเนื้อถูกตัว; เหมาะกัน, เข้ากัน, เช่น ถูกนิสัย; ตรงกันกับ เช่น ถูกกฎหมาย ถูกลอตเตอรี่; เป็นกริยาช่วย แสดงว่าประธานของประโยคเป็นผู้ถูกทํา (มักใช้ในข้อความที่ทําให้ผู้ถูกทําเดือดร้อนหรือไม่พอใจ) เช่น ถูกเฆี่ยน ถูกลงโทษ. ถูกกระทำ ก. ถูกทำให้มีอันเป็นไปต่าง ๆ โดยวิธีใช้เวทมนตร์เป็นต้น. ถูกกัน ก. เข้ากันได้, ชอบพอกัน. ถูกขา ก. เข้ากันได้, รู้ชั้นเชิงกัน, (มักใช้ในการพนันและการเล่นกีฬา). ถูกคอ ก. ชอบพอ, ถูกอัธยาศัยกัน, มีรสนิยมเข้ากันได้. ถูกคู่ ก. เข้าคู่กันได้. ถูกใจ ก. ชอบ, ต้องใจ, ถูกอกถูกใจ ก็ว่า. ถูกโฉลก ก. ถูกตามตำรับนับโฉลก, ถูกชะตากัน, เป็นมงคล. ถูกชะตา ก. ถูกใจกันแต่แรกเห็น. ถูกตา ว. งาม, น่าดู, ต้องตา. ถูกน้อย (โบ) ก. ถูกลักษณะอย่างวิ่งน้อย เป็นอาการของม้าวิ่งเรียบ ๆ ช้า ๆ. (อิเหนา). ถูกปาก ว. อร่อย. ถูกส่วน ว. ได้สัดส่วน, สมส่วน. ถูกเส้น (ปาก) ว. เข้ากันได้, ชอบพอกัน, ถูกอกถูกใจ. ถูกใหญ่ (โบ) ก. ถูกลักษณะอย่างวิ่งใหญ่ เป็นอาการของม้าวิ่งอย่างเร็ว. ถูกอกถูกใจ ก. ชอบ, ต้องใจ, ถูกใจ ก็ว่า. ถูก ๒ ว. จริง, ชอบ เช่น ถูกใจ, เหมาะสม, ไม่ผิด เช่น คิดถูก ทําถูก; มีราคาตํ่า, ไม่แพง.
เป็นไปได้หรือนี่ ที่ไม่มีการนิยามความหมายของคำว่าถูกต้องเอาไว้ ไม่ว่าจะเป็นในรูปของกริยา วิเศษณ์ หรือนาม (ความถูกต้อง) เอาไว้
พระบรมราโชวาท
ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ครั้งที่ ๒๖
ณ ศาลาอ่างแก้ว มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
วันศุกร์ ที่ ๒๔ มกราคม ๒๕๓๕
ข้าพเจ้ามีความยินดี ที่ได้มามอบปริญญาบัตรของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่อีกวาระหนึ่ง และได้ทราบรายงานว่ามหาวิทยาลัยได้ปรับปรุงขยายงาน ทั้งด้านบริหารและวิชาการ ให้เจริญก้าวหน้ามาได้ด้วยดีเป็นที่น่าพอใจ. ขอแสดงความชื่นชมกับผู้ทรงคุณวุฒิและบัณฑิตทุกระดับ ทุกสาขา ที่ได้รับเกียรติและความสำเร็จ.
ทุกวันนี้มีคติอย่างหนึ่งซึ่งมักถือกันอยู่ทั่วไป ว่าการจะดำเนินกิจการงานใดๆ ให้เจริญรุดหน้านั้น จะต้องอาศัยความคิดริเริ่มและความคิดอิสระเป็นแรงผลักดันอย่างสำคัญ. ข้าพเจ้าจึงใคร่จะนำเรื่องนี้มาปรารภกับท่าน.
ความคิดริเริ่มนั้น ฟังดูเผินๆ ดูเหมือนจะผุดเกิดขึ้นมาได้เอง. แต่ที่จริงความคิดชนิดนี้จะเกิดมีขึ้นไม่ได้ ถ้าปราศจากพื้นฐาน หมายความว่า ก่อนที่ความคิดริเริ่มในเรื่องหนึ่งเรื่องใดจะเกิดขึ้น บุคคลจะต้องมีความรู้ที่ชัดเจนและกว้างขวางในเรื่องนั้นๆ เป็นพื้นฐานอยู่แล้ว ทั้งยังต้องมีความคิดพิจารณาที่ดีมีระบบ มีหลักเกณฑ์และเหตุผล พร้อมอยู่ด้วย. เมื่อได้นำความรู้กับความคิดพิจารณานั้นมาประสานกันเข้าอย่างถูกถ้วน พอเหมาะพอดี จึงจะสามารถสร้างความคิดใหม่ที่พร้อมมูลด้วยสาระและหลักการ อันเรียกว่าความคิดริเริ่ม ขึ้นมาได้สำหรับใช้เกื้อกูลการปฏิบัติบริหารงาน. ส่วนความคิดอิสระนั้น ท่านทั้งหลายก็อย่าเข้าใจเอาง่ายๆ ว่าคือความคิดที่เต็มเปี่ยมไปด้วยอิสรภาพเสรีภาพอันไม่มีขีดจำกัด หรือว่าเป็นความคิดที่แปลกประหลาด ไม่มีของใครเหมือน. ความคิดอิสระที่แท้ ควรจะหมายถึงความคิดอันเป็นอิสระจากความเห็นแก่ตัวและอคติทุกๆ อย่าง เป็นความคิดที่กระจ่างแจ่มใสพร้อมมูลด้วยเหตุผลอันถูกต้อง และมีเป้าหมายอันเที่ยงตรง ที่มุ่งให้สำเร็จผลเป็นประโยชน์ยั่งยืนทั้งแก่ตนแก่ส่วนรวม. ท่านทั้งหลายกำลังจะออกไปประกอบการงานสร้างอนาคตที่มั่นคงแจ่มใสให้แก่ตนแก่บ้านเมือง ควรจะได้ศึกษาเรื่องความคิดริเริ่ม และความคิดอิสระนี้ให้ทราบแน่ชัด จักได้สามารถหยิบยกมาใช้ได้ไม่ผิดพลาด.
ขออวยพรให้บัณฑิตทุกคนประสบความสุข ความสำเร็จ พร้อมทั้งความเจริญรุ่งเรืองในชีวิตทุกๆ ประการและขอให้ทุกท่านที่มาร่วมพิธีนี้ มีความผาสุกสวัสดีจงทั่วกัน.
พระบรมราโชวาทองค์นี้ กล่าวถึงความคิดริเริ่ม และความคิดอิสระ แม้ไม่ได้อธิบายถึงความถูกต้อง แต่ความคิดอันเป็นต้นเหตุของการกระทำนั้น ยังคงสมควรจะ (๑) มีเป้าหมายที่ชัดเจน (๒) ปราศจาคอคติ (๓) เป็นไปเพื่อประโยชน์ทั้งแก่ตนและส่วนรวม
ความถูกต้องมีหลายมุมมอง เป็นเรื่องผิดปกติที่คนจะทำผิดโดยเจตนา เพราะมนุษย์เป็นสัตว์สังคม ทุกคนรู้กระจ่างอยู่แล้วว่าการกระทำผิดจะถูกสังคมลงโทษ ดังนั้นหากพบสิ่งที่ไม่ถูกต้อง ก็น่าจะรับฟังเหตุผลมุมมอง ไม่ยึดเอาทิฏฐิและมานะมาเป็นตัวตัดสิน ทั้งทิฏฐิและมานะสะท้อนอัตตา ผมถือกฏเกณฑ์ในความหมายว่าเป็นกติกาของสังคมเช่นกัน แต่ก็ไม่ได้ถือกฏเกณฑ์ในรูปแบบว่าเป็นเฉลยข้อสอบเพื่อที่จะฟันธงเอาง่ายๆ ว่าอะไรถูก อะไรผิด ชีวิตไม่ใช่ทางเลือกขาวดำ เมื่อมีการละเมิดกฏเกณฑ์ ยังควรจะฟังเหตุผลว่าทำไมจึงเป็นเช่นนั้นก่อนที่จะมีการลงโทษ ถ้าไม่ฟังใคร ก็ควรปลีกตัวไปอยู่คนเดียว
« « Prev : “ธรรมทั้งหลาย มีใจเป็นหัวหน้า”
Next : พบเม้ง » »
5 ความคิดเห็น
ผมเข้าใจว่า เวลาใครพูดว่า “ความถูกต้อง” นั้น
ที่จริงคือ “ความถูกใจ” มากกว่า
เพราะปุถุชนจะถือว่า “ใจตัวเอง คือมาตรฐาน”
แม้แต่ศาลยังตัดสินตามตัวหนังสือ+ความคิดตีความของตนเอง
เลยมีคนกล่าวเสมอว่า
“ความยุติธรรม ไม่มีในโลก” (แต่คงมีในธรรม)
ผมคิดว่า ความถูกต้องก็คงเช่นเดียวกัน
การปราศจาก “ธรรม” เถึยงกันอีกกี่ชาติก็ไม่จบครับ
เห็นด้วยค่ะ เสียสละแล้วไม่เสียหน้า(และไม่ได้หน้าด้วย)
และไปต่อยอดที่บันทึก นี้ ค่ะ
[...] อ่านบันทึก ถูกต้อง ของคุณ Logos (รอกอด) ถูกใจอีกแล้ว ….ประโยคในความเห็นที่ว่า เสียสละไม่เสียหน้าหรอกครับ ก็ทำให้นึกถึง “อารมณ์ของตัวเอง” ช่วงขณะหนึ่งของเมื่อวานนี้ [...]
เรื่องนี้ดิ้นได้ ตามต้นทุนของแต่ละคนเป็นเครื่องพิจารณา