แนวคิดเกี่ยวกับป่าต้นน้ำ

อ่าน: 3091

ผมคิดว่าเป็นเรื่องปกติที่ต่างคนต่างพยายามป้องกันทรัพย์สินและท้องถิ่นของตนเอง ในเมื่อปลายปีที่ผ่านมาเกิดมหาอุทกภัยทำให้เสียหายหนัก ปีนี้ทั้งรัฐ ทั้งเอกชนก็เกิดความพยายามต่างๆ มากมายที่จะป้องกันสถานการณ์ในลักษณะดังกล่าว แต่ผมคิดว่ากระบวนการคิดนี้ รีบเร่งจนอาจจะคิดไม่จบนะครับ

การปลูกป่าที่ต้นน้ำนั้น ก็สมควรอยู่แล้วครับ (ที่จริงคือไม่น่าไปถางป่าเลยตั้งแต่ต้น) แต่ลงมือปลูกวันนี้ เมื่อไรจะเป็นป่า

หยดน้ำมีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 4 มม. คิดเป็นปริมาตรของหยดน้ำ 0.03 มิลลิลิตร ถ้าใบไม้หนึ่งใบมีน้ำฝนค้างอยู่หนึ่งหยด ต้นไม้เล็กหนึ่งต้นมีใบไม้พันใบ ต้นไม้เล็กสามหมื่นต้นก็จะมีใบไม้รวมกันสามสิบล้านใบ และสามารถหยุดน้ำไว้บนอากาศได้ 1 ลูกบาศก์เมตร (ไม่เยอะหรอกครับแต่ได้มาฟรี แล้วทำให้บริเวณนั้นเย็นสบายจาก evaporative cooling ดูน้ำหนาวที่โกร๋นไปหมดแล้วสิครับ ตอนนี้ไม่หนาวแล้ว) ต้นไม้เล็กสามหมื่นต้นนี่ เมื่อเทียบกับพื้นที่ภูเขาหนึ่งลูก เล็กมากครับ แต่ถ้าคิดจะ “ปลูก” จะเป็นมหกรรมใหญ่โตเลย

การปลูกป่าต้นน้ำ ควรหาต้นไม้โตเร็ว ใบเยอะ เพื่อปลูกเขื่อนไว้ในอากาศ อย่าเพิ่งไปปลูกไม้เบญจพรรณ ซึ่งโตช้า ใบใหญ่แต่ใบจำนวนน้อยเลยครับ ปลูกไม้พุ่มยังดีกว่า โตเร็ว ปลูกได้ถี่ ร่มไม้คลุมดิน ป้องกันดินจากแสงแดดเผา ลดแรงปะทะของเม็ดฝนซึ่งทำให้เกิดการกัดเซาะได้ด้วย

“ปลูกป่าแบบไม่ต้องปลูก” พระราชทานแนวคิดไว้ จำได้ไหมครับ

ในขณะที่ต้นไม้กำลังโต จะต้องการความชุ่มชื้นมาก ภูเขาสูงชันซึ่งเสื่อมโทรม มีโอกาสเกิดดินถล่ม ซึ่งบ้านเรือนของชาวบ้านซึ่งตั้งอยู่เชิงเขา ก็มีความเสี่ยงมากขึ้น เรื่องนี้มีวิธีการเซาะร่องน้ำซึ่งเขียนไว้หลายบันทึกแล้ว นำน้ำไปทิ้งอีกฝั่งหนึ่งของภูเขาได้ เหมือนกับเวลากรีดยาง น้ำยางสามารถไหลอ้อมต้นยางได้

ถ้าขนต้นไม้ไปจากเมือง แล้วก็ระดมปลูกบนเขาหัวโล้น ถ่ายรูปแล้วก็กลับมานอนปลื้มใจ ภูเขาถูกแดดเผามานาน ไม่มีความชุ่มชื้น ต้นไม้จะโตยังไงครับ แต่หากเราเซาะร่องน้ำให้น้ำฝนที่ตกลงบนยอดเขาไหลไปตามร่อง นอกจากจะให้ความชุ่มชื้นแก่ต้นไม้ที่กำลังโตแล้ว น้ำที่หลากลงมาส่วนใหญ่ ก็จะอ้อมไปลงอีกฝั่งหนึ่งของภูเขา ซึ่งเราไปสร้างฝายชะลอน้ำเอาไว้ในหุบเขาได้ เขื่อนที่จะสร้างจะลดขนาดลงได้ ผมคิดว่างานก่อสร้างขนาดเล็ก เป็นการกระจายรายได้ลงสู่พื้นที่ ในขณะที่งานก่อสร้างขนาดใหญ่ มีแต่บริษัทขนาดใหญ่หรือบริษัทต่างประเทศได้งานไปหมด — แต่ถ้างานก่อสร้างขนาดเล็กงบน้อยๆ ไม่ชอบ ก็แล้วไปนะครับ

สำหรับสิ่งที่ชาวบ้านทำเองได้ คือปลูกทั้งไม้พุ่มและไม้ยืนต้น ถ้าคิดอะไรไม่ออก แนะนำปลูกมะรุมครับ ปลูกง่าย ตายยาก โตเร็ว  ใบเล็กและมีจำนวนมากเก็บหยดน้ำไว้กลางอากาศได้มาก ทนแล้งซึ่งบนเขาหัวโล้นแล้งแน่ มีประโยชน์แทบทุกส่วนของต้น ยกเว้นเนื่อไม้ซึ่งอ่อนเกินไป แต่ก็ดีแล้ว จะได้ไม่ตัดไปใช้

สำหรับพื้นที่ลาดชัน ซึ่งมีความเสี่ยงสูงมากสำหรับดินถล่ม นอกจากหญ้าแฝกแล้ว แนะนำต้นเอกมหาชัยด้วยครับ ระบบรากแข็งแรงมาก เป็นพืชน้ำมันพันธุ์มะกอก http://www.gotoknow.org/blogs/posts/186989 (กรุณาอ่านความคิดเห็นให้หมดด้วยครับ)

หุบเขาซึ่งเป็นทางน้ำ มักจะมีดินหรือทรายที่ถูกน้ำกัดเซาะลงมาจากภูเขาไหลมากองรวมกัน ลักษณะของทราย/ดินอย่างนี้ มีแนวโน้มที่จะพบพื้นที่ซับน้ำอย่างดี (acquafier) น้ำผิวดินนั้น ฝากไว้ใต้ดินได้ โดยเจาะดินผิวหน้าลงไปจนถึงชั้นทรายใต้ดิน เมื่อน้ำผิวดินไหลลงไปถึงชั้นทราย ทรายก็จะกระจายน้ำให้แผ่ออกไป เป็นการเติมน้ำใต้ดิน น้ำซึม น้ำซับในบริเวณนั้นไปในตัว จนกลายเป็นฝายใต้ดินไปเลยครับ

« « Prev : เตาเผาถ่านไร้ควัน

Next : ถนนสูง เขื่อนยาว » »


ผู้ใช้ Facebook สามารถให้ความเห็นที่นี่ได้ โดยกด Like เพื่อแสดงตัว

2 ความคิดเห็น

  • #1 nuntawun ให้ความคิดเห็นเมื่อ 28 March 2012 เวลา 21:48

    เท่าที่อ่านบทความพี่คอนมา แสดงว่ารัฐบาลคิดจะทำอะไรแต่ละอย่าง ไม่เข้าท่าซะส่วนมาก และผมก้อเห็นด้วยกับพี่จิง ๆ

  • #2 Logos ให้ความคิดเห็นเมื่อ 29 March 2012 เวลา 13:13
    เอาเป็นว่า ถ้าเป็นผมทำ จะทำอีกอย่างก็แล้วกันครับ

    รัฐบาลไหนๆ ก็ต้องใช้กลไกของรัฐทั้งนั้น แต่กลไกรัฐในโครงสร้างกระทรวง ทบวง กรม มีลักษณะเหมือนฝาชีหลายๆ อัน เมื่อเอามาวางชนกัน จะมีพื้นที่ซึ่งไม่ครอบคลุม แล้วชาวบ้านมักอยู่นอกฝาชีนั่นแหละ รัฐจะทำอะไรก็ไม่ถามชาวบ้าน สั่งมาจากส่วนกลางเป็นคำสั่งที่ฝันเอาจากห้องแอร์ ไม่ได้สนใจว่าจะเหมาะกับพื้นที่หรือไม่ เมื่อสั่งมาแล้ว ต้องทำเหมือนกันทุกพื้นที่ หอ สระ อ่วย ครับ


แสดงความคิดเห็น

ท่านอยากจะเข้าระบบหรือไม่


*
To prove you're a person (not a spam script), type the security word shown in the picture. Click on the picture to hear an audio file of the word.
Click to hear an audio file of the anti-spam word


Main: 0.11407899856567 sec
Sidebar: 0.15736794471741 sec