ถนนสูง เขื่อนยาว

อ่าน: 2775

การเปลี่ยนแปลงใดๆ มีผลกระทบต่อเนื่องต่อสิ่งที่อยู่รอบๆ เสมอ

รัฐบาลมีดำริจะสร้างแนวป้องกันน้ำท่วมโดยยกถนนขึ้นอีก 1 เมตร และสร้างคันกั้นน้ำรอบเขตเศรษฐกิจสำคัญ เช่นนิคมอุตสาหกรรมต่างๆ อย่างที่เขียนในบันทึกที่แล้วว่าผมคิดว่าเป็นสิทธิที่จะป้องกันชีวิตและทรัพย์สินครับ

แต่ในทำนองกลับกัน ก็อยากให้เรียนรู้จากบทเรียนของเขื่อนป้องกันสึนามิในญี่ปุ่นด้วย แม้ตามสถิติแล้ว ไม่น่าจะมีสินามิสูงเกิน 10 เมตร แต่เมื่อเกิดแผ่นดินไหวรุนแรงผิดปกติและเกิดสึนามิตามมา คลื่นข้ามเขื่อนเข้ามาทำลายบ้านเมืองได้ เมื่อข้ามเข้ามาแล้ว น้ำกลับออกไปลงทะเลไม่ได้เนื่องจากมีเขื่อนขวางอยู่ ต้องค่อยๆ ระบายน้ำออก ซึ่งก็ยังดีที่ว่าแผ่นดินบนฝั่งอยู่สูงกว่าทะเลเสมอ จึงใช้แรงดึงดูดระบายน้ำได้

แต่กรณีของที่ราบลุ่มภาคกลางนั้น บางแห่งมีสภาพเป็นแอ่ง ปิดล้อมด้วยความสูงต่ำของภูมิประเทศ บางทีก็ด้วยถนน แม้ปริมาณน้ำส่วนใหญ่ผ่านไปหมดแล้ว แต่ก็ยังมีน้ำค้างทุ่งอยู่ในหลายอำเภอ ปัจจุบันน้ำลดลงแต่ยังไม่แห้ง พื้นที่ยังใช้เพาะปลูกไม่ได้ ทำการฟื้นฟูไม่ได้ ไม่รู้ว่าจะต้องรอไปถึงเมื่อไร ตอนนี้เท่าที่ทราบ รอน้ำระเหยไปตามธรรมชาติหรือไม่ก็ต้องจ่ายค่าพลังงานสำหรับสูบน้ำเองนะครับ

ถ้ายกระดับของ “เขื่อน” ขึ้นอีกหนึ่งเมตร แล้วกั้นน้ำไม่ให้ข้ามสันเขื่อนมาได้ จะมีอานิสงส์ดีคือจะไม่เกิดอาการน้ำค้างทุ่งแบบนี้อีก แต่ในทำนองกลับกัน ถ้าเกิดฝนตกหนัก หรือน้ำหลากข้ามสันเขื่อนเข้ามาได้ จะเกิดอาการน้ำค้างทุ่งสูงขึ้นอีกหนึ่งเมตร ท่วมหนักและยาวนาน พื้นที่หลังแนวถนนเขื่อน จะอยู่อาศัยไม่ได้เลย เพราะน้ำจะท่วมลึกขึ้นอีก 1 เมตร

ในกรณีของเขื่อนป้องกันนิคม อย่างที่เขียนไว้ข้างบน ผมคิดว่าเป็นสิทธิครับ พื้นที่ภายใต้การป้องกันของนิคมนั้น ไม่ได้ทำให้พื้นที่นอกเขื่อนน้ำท่วมสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ (หากว่าเขื่อนของนิคมไม่ได้ขวางทางน้ำไว้) แม้เขื่อนจะป้องกันนิคมอุตสาหกรรมไว้ได้โดยเครื่องจักรไม่เสียหาย แต่การขนวัตถุดิบเข้านิคมและขนผลิตภัณฑ์ออกไปขายในภาวะน้ำท่วม จะเป็นไปอย่างลำบากอยู่ดี ถึงอย่างไรผมว่าก็ยังดีกว่าปล่อยให้เครื่องจักรเสียหายนะครับ เมื่อเครื่องจักรเสียหาย คนจะตกงานอีกเยอะ… คงจะดีกว่านี้หากนิคมจะใจกว้างเปิดพื้นที่ส่วนกลางให้เป็นพื้นที่อพยพสำหรับชุมชนรอบข้างนอกแนวป้องกันด้วย การที่ผู้ประสบภัยอยู่รวมกันในพื้นที่ปลอดภัย จะนำส่งความช่วยเหลือได้พอเพียงและทันเวลากว่าการตระเวนไปช่วยตามหย่อมต่างๆ ครับ

ในขณะนี้ มีแต่งานก่อสร้างเพื่อเก็บกัก/ชะลอน้ำไว้บนผิวดิน แต่ไม่มีงานก่อสร้างเพื่อระบายน้ำออก

ลองดูแผนที่ต่างๆ ต่อไปนี้ จะเห็นความหงิกงอของทางน้ำ ทำให้ระบายน้ำออกจากพื้นที่ได้ช้า ท่วมซ้ำซากหรือทำให้พื้นที่เหนือน้ำท่วมซ้ำซาก

ยังมีที่อื่นๆ อีกครับ ชาวบ้านในท้องถิ่นจะเข้าใจสภาพภูมิประเทศดีกว่าผม

River engineering กล่าวไว้คร่าวๆ ว่า แม่น้ำไหลด้วยความสูงต่ำ แต่แม่น้ำสองสายที่มีความสูงต่ำเท่ากันแต่กว้างไม่เท่ากัน เส้นที่กว้างมักจะมีอัตราไหลของน้ำมากกว่า ดังนั้นหลังจากผ่าน EIA แล้ว ถ้าหากเราปรับทางไหลของน้ำให้ตรง และมีขอบตลิ่งเรียบ ก็จะทำให้มีแรงเสียดทานต่ำกว่า ทำให้น้ำระบายออกไปได้เร็วกว่า

กรณีของหาดใหญ่เป็นกรณีที่น่าวิจัยศึกษา ทางใต้ของหาดใหญ่เป็นภูเขาซึ่งเป็นพื้นที่รับน้ำฝน เมื่อฝนตกก็จะไหลหลากไปตามความลาดเอียง รวมตัวกันเป็นคลองต่างๆ แล้วไหลขึ้นเหนือผ่านหาดใหญ่ไปลงทะเลสาปสงขลา น้ำจะระบายได้เร็วหรือช้า ขึ้นกับระดับน้ำในทะเลสาปสงขลา

ถ้าสร้างแก้มลิงเทียม “ในทะเลสาปสงขลา” เป็นพื้นที่ปิดที่มีประตูระบายน้ำ ถ้าน้ำในทะเลสาปมีระดับต่ำ ก็เปิดประตูระบายน้ำ แต่ถ้ามีระดับสูงทำให้ระบายน้ำตามธรรมชาติไม่ได้ ก็ปิดประตูระบายน้ำแล้ววิจัยปั๊มน้ำแบบ low head high volume (ปั๊มพญานาค) วิจัยพลังงานธรรมชาติแถวนั้น ไม่ว่าจะเป็นลมหรือ solar thermal ตะกอนที่ไหลมาตามคลองระบายน้ำจากหาดใหญ่ ทำบ่อดักตะกอนอยู่บนแผ่นดิน ตะกอนนี้น่าจะเป็นดินคุณภาพดี ตักดินตะกอนขายเอารายได้มาเป็นค่าบำรุงรักษา จ่ายภาษีมูลค่าเพิ่มให้อบต.เอาไปพัฒนาท้องถิ่น หากลำน้ำหงิกงอ ฝังท่อคสล. ขอให้น้ำผ่านใต้ที่ดินโดยไม่แตะหน้าดินซึ่งนำไปทำประโยชน์อื่นได้

« « Prev : แนวคิดเกี่ยวกับป่าต้นน้ำ

Next : อวิชชาเป็นมลทินอย่างยิ่ง » »


ผู้ใช้ Facebook สามารถให้ความเห็นที่นี่ได้ โดยกด Like เพื่อแสดงตัว

1 ความคิดเห็น

  • #1 nuntawun ให้ความคิดเห็นเมื่อ 28 March 2012 เวลา 21:30

    นับถือคับ นับถือ ขออนุญาติเก็บเกี่ยวความรู้จากพี่ไปเรื่อย ๆ นะ


แสดงความคิดเห็น

ท่านอยากจะเข้าระบบหรือไม่


*
To prove you're a person (not a spam script), type the security word shown in the picture. Click on the picture to hear an audio file of the word.
Click to hear an audio file of the anti-spam word


Main: 0.075711965560913 sec
Sidebar: 0.24104404449463 sec