เหลืออีกเท่าไร
วารสาร Scientific American เดือนกันยายน ตีพิมพ์ข้อมูลเกี่ยวกับทรัพยากรของโลกที่ “เหลืออยู่” ในบทความชื่อ How Much Is Left? The Limits of Earth’s Resources, Made Interactive เป็นการแสดงข้อมูลซับซ้อนด้วยภาพ (Visualization)
เป็นที่ทรัพยากรเป็นสิ่งมีค่าและมีอยู่จำกัด ซึ่งเมื่อหมดก็คือหมดครับ
แต่ผมไม่คิดว่าการทำนายว่าทรัพยากรต่างๆ ที่จำเป็นต่อการดำรงเผ่าพันธุ์มนุษย์ในปัจจุบันจะหมดลงเมื่อไหร่ เรามักเข้าใจว่าจะเกิดปัญหาเมื่อทรัพยากรหมด ซึ่ง(หวังว่า)คงจะอีกนาน ที่จริงแล้ว ปัญหาต่างๆ จะทวีความรุนแรงขึ้นเมื่อการนำทรัพยากรไปใช้(ผลิต)ในระดับสูงสุดต่างหาก ปัจจุบันโลกมีประชากรเกือบเจ็ดพันล้านคนแล้ว มีแต่จะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้นอัตราการใช้ทรัพยากรจึงเพิ่มขึ้นด้วยอัตราก้าวหน้า ซึ่งเร่งให้ใช้หมดไปด้วยอัตราที่เร็วขึ้น กรณีประเทศที่มีแหล่งน้ำมันดิบ ถูกบุกรุกโดยประเทศที่มีอำนาจในทางทหารแข็งแกร่ง ซ้ำแล้วซ้ำอีก คงเป็นสัญญาณสำคัญว่าการแย่งชิงทรัพยากรจะทวีความรุนแรงมากขึ้น
ในขณะนี้ ความหลากหลายทางชีวภาพลดลงด้วยอัตราสูง สัตว์ต่างๆ ถูกกิจกรรมมนุษย์ทำลายที่อยู่และแหล่งอาหาร ทำให้จำนวนสายพันธุ์ลดลง
ก่อนที่จะมีมนุษย์ โลกมีอัตราการสูญพันธุ์ 0.01-0.1% ต่อพันปี ในศตวรรษที่แล้ว (1900-2000) มีอัตราการสูญพันธุ์ 1-10% ต่อพันปี และอัตราการสูญพันธุ์ของศตวรรษนี้ (2000-2100) อยู่ที่ 2-20% ต่อพันปี
โลกเคยผ่านการสูญพันธุ์ครั้งใหญ่มาแล้วหลายครั้ง Permian-Triassic extinction event Cretaceous-Tertiary extinction event The Great Dying หากสัตว์ใหญ่กินเนื้อไม่สูญพันธุ์ไป เผ่าพันธุ์มนุษย์ซึ่งกระจอกงอกง่อยคงไม่ได้มีโอกาสครองโลก การสูญพันธุ์ครั้งใหญ่ในรอบนี้ อาจเกิดจากความสามารถของมนุษย์ในการทำลายสิ่งแวดล้อม ซึ่งในที่สุดก็จะเป็นการทำลายตัวเอง
เมื่อต้นทศวรรษ 1970 การค้นพบบ่อน้ำมันใหม่ทั่วโลกถึงจุดสูงสุด แม้ว่าเทคโนโลยีการสูบการกลั่นน้ำมัน จะดีขึ้นเรื่อยๆ แต่ว่าในเมื่อปริมาณน้ำมันที่ค้นพบใหม่ เพิ่มขึ้นในอัตราที่น้อยกว่าอัตราการเพิ่มขึ้นของความต้องการใช้น้ำมัน สักวันหนึ่งปริมาณน้ำมันที่ผลิตได้ จะไม่พอกับความต้องการของตลาดโลก — สถานการณ์นี้เรียกว่า Peak Oil ซึ่งได้เคยเขียนบันทึกไว้แล้ว [เมื่อโลกผลิตน้ำมันได้น้อยลง] ขณะนี้ผ่านไป 40 ปีแล้ว ถ้าสถานการณ์เป็นไปตามที่เคยเกิดขึ้นแล้ว ซ้ำแล้วซ้ำอีกในประเทศต่างๆ โลกทั้งโลกกำลังจะเข้าสู่สถานการณ์ Peak Oil ในปี ค.ศ. 2014 หรืออีกสามปีข้างหน้า… แล้ววันนี้ เราทำอะไรกันอยู่ครับ
ค.ศ. 2025 โลกจะมีปริมาณน้ำจืดต่อหัวประชากร ไม่ถึงระดับขั้นต่ำ คือ 500 ลิตรต่อคนต่อปี น้ำจืดมีน้อยลง จำนวนประชากรเพิ่มขึ้น สร้างเขื่อนไม่ได้ น้ำฝนตกลงมา ก็ปล่อยให้ไหลทิ้งไปหมด อบต.ก็ขยันสร้างแต่ถนน ไม่สนใจขุดสระเก็บกักน้ำไว้ใช้ พื้นที่ชลประทานทั่วประเทศมีไม่ถึง 10% แถมส่วนใหญ่กระจุกตัวอยู่ในเขตภาคกลางอีก
ค.ศ. 2038 ธาตุอินเดียมหมดโลก การผลิตสารกึ่งตัวนำ (ไอซี คอมพิวเตอร์ อุปกรณ์โทรคมนาคม ฯลฯ) จะต้องเปลี่ยนไป ค.ศ. 2029 ธาตุเงินหมดโลก ค.ศ. 2030 ธาตุทองหมด ค.ศ. 2044 ธาตุทองแดงหมด ผลิตสายไฟฟ้าไม่ได้ ฯลฯ
ย้ำอีกครั้งหนึ่งว่าจะเป็นปีไหนไม่สำคัญ SciAm ไม่ใช่หมอดูที่ต้องการพิสูจน์อวดอ้างความแม่น แต่บรรดาปีที่เขียนมาข้างบนนี้ อยู่ในช่วงอายุของผู้อ่านส่วนใหญ่ของผมและลูกหลานของท่าน ดังนั้นจึงเป็นเรื่องของท่านเองเหมือนกัน ส่วนจะเลือกหาทางออกหรือจะรอวัดดวง ก็แล้วแต่ล่ะครับ
« « Prev : แว๊บไป แว๊บมา สวนป่าอีกแล้ว: ค่าย TT&T รุ่นที่ 3
Next : เปลี่ยนพลาสติกกลับเป็นน้ำมันดิบ » »
5 ความคิดเห็น
อ่านแล้วจ๋อยไปเลยค่ะ ถ้าไม่สนใจก็ไม่รู้ซะที ถ้าไม่รู้ก็ไม่เริ่มคิด ไม่ “ตระหนัก”
จริง ๆ เรื่องอย่างนี้ควรฝึกให้เป็นนิสัยกันให้จริงจังเหมือนในบางประเทศนะคะ เรื่องการคำนึงถึงการใช้ทรัพยากรเท่าที่เรามีอยู่ เริ่มจากใกล้ตัวก่อน เช่น ค่าน้ำค่าไฟ คชจ.ส่วนตัว/ส่วนรวม คชจ.องค์กร ฯลฯ
ของบางอย่างถ้าผลิตใหม่ไม่ได้ไม่ทัน ก็ต้องเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการบริโภคให้สอดรับ หรือไม่ก็สนับสนุนการค้นคิดนวัตกรรมใหม่ ๆ มาทดแทน ถ้าทำเป็นนิสัยได้ก็น่าจะทำให้เราละเมียดกับการใช้ชีวิตไปได้หลาย ๆ เรื่องด้วยมังคะ การคิดถึงใจเขาใจเรา การตระหนักถึงคุณค่าของคน ของผลงาน ของจิตใจ ของช่วงเวลา ของสรรพสิ่ง เราคงให้เกียรติให้ความสำคัญกับสิ่งต่าง ๆ กันมากขึ้น รวมทั้งตัวเราเองด้วย
แม้กระทั่งการใช้พื้นที่บนลานปัญญาที่พวกเราใช้กันอยู่นี่ ได้ยินป๋าเตือนหลายครั้งแล้ว จนตอนนี้เราก็กำัลังจะมีปัญหาเรื่องทรัพยากรพื้นที่เหมือนกับบันทึกนี้แหล่ะ แม้หลายสิ่งที่เตือน ๆ กันอาจขัดกับความต้องการอยู่บ้าง
เช่น ตั้งใจจะสื่อสารเฉพาะบุคคลแต่ใช้พื้นที่ส่วนรวม
หรือตั้งใจจะแซวเจ้าของบันทึกเล่น แค่ อิอิ คำเดียว
ก็ลืมไปเหมือนกันนะคะว่าในแง่ของการใช้ทรัพยากรก็ยังเข้าข่ายไม่คุ้มค่าอยู่ดี
จนป๋ามาเตือนเรื่อง “ลานตาย” เลยสะดุ้งขึ้นมาทีนึง (มีตัวอย่างให้ดูตอนเดี้ยงไปสองวันแล้วนี่นา)
เลยจะร่วมด้วยช่วยกันนะคะ ตอนนี้ก็เลยไล่รวบคอมเมนท์บรรทัดเดียวในบันทึกตัวเองอยู่ค่ะ แล้วก็คงต้องให้ความสำคัญกับการคอมเมนท์กันอีกหน่อยเนาะคะ เพราะยังไง ๆ ก็กำลังใช้พื้นที่ 8 kB เท่าตัวบันทึกอยู่อ่ะเนอะ
ถึงกระนั้นก็ตาม หนูยังเห็นว่าการแซว+แหย่ในคอมเมนท์ต่าง ๆ เป็นสิ่งที่ไม่ควรหายไปอยู่ดี ก็มันหนุกอ่ะ ฮ่้า ๆๆ
แค่อาจต้องพยายามทำให้มีคุณค่ามากขึ้นด้วยการเติมประเด็นอะไรที่พอแลกเปลี่ยนกันได้ลงไปหน่อยนึง
นิ ป๋า นิ
(^____^)
มนุษย์ยังต้องการพลังงาน ซึ่งต้นทางของพลังงานที่แผ่มายังโลกคือพลังงานแสงอาทิตย์ รูปของความร้อนทำให้เกิดลมและคลื่น ส่วนรูปของแสงทำให้เกิดการสังเคราะห์แสงในพืช ดูดคาร์บอนไดออกไซด์แล้วปล่อยออกซิเจนออกมา
เวลาเราเอาใบไม้กิ่งไม้ไปเผา หรือเอาน้ำมันไปสันดาปในเครื่องยนต์ ก็เป็นการปลดปล่อยพลังงานแสงอาทิตย์ที่เก็บไว้ในรูปพันธะทางเคมีออกมาพร้อมกับความร้อน แต่เพราะธรรมชาติใช้เวลานานกว่าจะสะสมพลังงานแสงแดด แต่มนุษย์ปล่อยพลังงานนี้ออกมาในเวลาอันรวดเร็ว จึงทำให้เกิดปัญหาครับ
ปัญหาเรื่องโลกร้อน เราไปดูกันที่การปล่อยก๊าซเรือนกระจก แต่กลับไม่ค่อยพิจารณาการนำพลังงานแสงแดดมาใช้โดยตรง
พลังงานจากดวงอาทิตย์ (E) นำมาใช้งาน (W) ที่เหลือเปลี่ยนเป็นความร้อน (H) หรือ E = W+ H
ค่า H ที่ปล่อยออกสู่บรรยากาศ จะน้อยกว่า E เสมอ เพราะว่า W เป็นบวกทำให้เราได้งาน
แต่ถ้าไม่ทำอะไร W = 0 คือพลังงานจากแสงแดดที่ปิ้งโลกอยู่ตลอดเวลา เปลี่ยนเป็นความร้อนทั้งหมด E = H
จะไม่ร้อนยังไงไหว
สิ่งที่มีชีวิตที่แข็งแรงปรับตัวได้เสมอ โลกใบนี้ได้ผ่านอะไรมามากมาย แต่สิ่งที่มีชีวิตก็ยังคงดำรงค์อยู่ได้มาถึงปัจจุบันนี้ เมื่อวิกฤติมาถึง อัจฉริยภาพของมนุษย์จะถูกนำมาใช้เสมอ เรื่องบางอย่างมันเกินขีดความสามารถ ของเครื่องมือทางวิทยาศาสตร์ที่จะตรวจวัดได้ค่ะ
E ในที่นี้คือ E( passive E ) พลังจากแหล่งกำเนิดจากดวงอาทิตย์ แต่ความจริงแล้วมนุษย์ผลิต(active) E มากมายมาใช้ ร่วมกับ E( passive E ) พัฒนา W เป็นวัตถุ สร้างความสะดวกสบาย สนองกิเลส มนุษย์มานานแล้ว จนมนุษย์ยิ่งห่างไกลธรรมชาติมากขึ้น เพราะมนุษย์เชื่อว่ามีสมองเป็นเลิศ สามารสร้าง E ชีวภาพได้ และก็ทำได้เสียด้วยซิ ยิ่งทำให้มนุษย์ไม่ยำเกรงธรรมชาติ จึงเกิดภัยพิบัติ จากความประมาทที่ ทำร้ายทำลายธรรมชาติจนขาดความสมดุลย์ ธรรมชาติก็ทำลายล้างมนุษย์และสรพพสิ่งลงเสียบ้าง เพื่อปรับสมดุลย์ค่ะ ธรรมชาติเตือนเราแล้วนะค่ะ
[...] จากบันทึกเหลืออีกเท่าไหร่ ปริมาณน้ำจืดต่อหัวประชากรของโลก จะต่ำกว่าระดับที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตในปี 2025 อีก 15 ปีเท่านั้น พืชผักอาหารจะทำอย่างไรกัน แล้ววันนี้ทำอะไรกัน [...]