“350 ppm” ขีดปลอดภัยสำหรับมนุษยชาติ

อ่าน: 6267

บน Facebook คืนนี้ อ.วรภัทร์ โพสต์ลิงก์ไปที่บทความจากกรุงเทพธุรกิจ เป็นเรื่องที่ อ.อาจอง ชุมสาย อยุธยา บรรยายพิเศษในงาน สัมมนาโลกร้อน : ผลกระทบของชาวเชียงใหม่ ที่โรงเรียนพายัพเทคโนโลยีและบริหารธุรกิจ อ.สันทราย จ.เชียงใหม่

ข่าวนี้เป็นข่าวที่ผมกำลังหาอยู่พอดี นอกจากงานทางสังคมที่ทำอยู่แล้ว ก็มีความสนใจส่วนตัวอยู่ด้วย และมีข้อมูลเรื่องนี้อยู่พอสมควร ดูได้จากบันทึกเก่าๆ ที่เคยเขียนตลอดหลายปีที่ผ่านมา

เมื่อมองในแง่ข้อมูลนะครับ ถึงแม้เป็นข้อมูลทุติยภูมิ ก็มีเหตุผลอธิบายปรากฏการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นน่าฟังและเข้าเค้า ส่วนเรื่องการทำนายเวลา อาจจะต้องอ้างอิงสถิติ ยังไม่น่าจะแม่น (สงครามเย็นเลิกไปโดยไม่ได้ทำลายโลกหรือเกิดสงครามโลกครั้งที่สาม ปี 2000 Y2k โลกไม่แตก ปี 2012 ยังมาไม่ถึง ฯลฯ) แต่ถ้าถามว่ามีปัญหาโลกร้อนจริงหรือไม่ ผมเชื่อว่าจริงครับ เพียงแต่ไม่รู้ว่าเมื่อไหร่จะถึงระดับวินาศ จะมีผลรวดเร็วรุนแรงแค่ไหน แต่คงแรงแน่

เมื่อเชื่อแนวโน้มแล้ว ไม่ควรตั้งอยู่ในประมาท พยายามแก้ไข+เตรียมตัว ถ้าโลกไม่แตกก็ดีไป แก้ไขอัตราการทำลายโลกเสียวันนี้ ลูกหลานคงจะลำบากน้อยลง เรื่องอย่างนี้ ไม่มีประโยชน์ที่จะบอกว่าเสียใจซึ่งในตอนนั้นไม่มีใครอยู่ฟังแล้ว มีแต่ทำในตอนนี้หรือไม่ทำเท่านั้น

จากบันทึกเหลืออีกเท่าไหร่ ปริมาณน้ำจืดต่อหัวประชากรของโลก จะต่ำกว่าระดับที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตในปี 2025 อีก 15 ปีเท่านั้น พืชผักอาหารจะทำอย่างไรกัน แล้ววันนี้ทำอะไรกัน

ไม่อยากพูดอะไรให้วิตกจนเกินเหตุหรอกนะครับ อยากให้ดูรูปสามรูปที่ได้มากจากศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ เป็นภาพเหตุการณ์สึนามิเมื่อหกปีที่แล้ว

ภาพแรกเป็นภาพครึ่งวินาทีก่อนสึนามิมาถึงตัวผู้ถ่าย  คลิกบนภาพเพื่อดูภาพขยาย ภาพนี้มาจากกล้องที่จมโคลนอยู่ปีครึ่ง เห็นยอดคลื่นสึนามิสูง 32 เมตร คงประมาณความสูงของตึก 10-12 ชั้น (วงเล็บสุดท้ายเป็นการพูดประชด)

หลังจากที่สึนามิขึ้นฝั่งแล้ว น้ำก็เอ่ออยู่บนแผ่นดินเป็นเวลานานจนเกิดคราบบนตัวตึก ระดับน้ำสูงเท่ากับตึก 3 ชั้น ถ้าลอยอยู่ในน้ำได้นานโดยไม่ถูกดูดออกทะเลไป ก็คงไม่เป็นไร

รูปสุดท้าย สึนามิ ยกเอาเรือขนาด 2,600 ตัน เข้ามาในฝั่งลึก 4.5 กม. เรือขนาดนี้ยังถูกยกและพัดมา ถ้าน้ำจำนวนนี้กดลงบนตัวเรา ก็คงผอมได้อย่างกระทันหัน

ยังไม่ได้พูดเกี่ยวกับชื่อบันทึกเลย!

จากการศึกษาหลายทาง ปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ ที่น่าจะทำให้เผ่าพันธุ์มนุษย์รอดไปได้อีกสักพัก จนกว่าจะเกิดสงครามแย่งน้ำและอาหาร คือระดับ 350 ส่วนในล้านส่วน ปัจจุบันคาร์บอนไดออกไซด์ในบรรยากาศ มีความเข้มข้น 388.15 ส่วนในล้านส่วน และยังคงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เพราะมนุษย์ยังแปลงไฮโดรคาร์บอนเป็นคาร์บอนไดออกไซด์ แล้วปล่อยออกสู่บรรยากาศ จากการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล/น้ำมัน/ถ่านหิน จากอุตสาหกรรมต่างๆ จากการเผาป่า เผาไร่นาเพื่อประหยัดแรงงานในการเตรียมดินสำหรับการเพาะปลูกในฤดูการหน้า

เรื่องหลังนี้ร้ายแรงครับ ไม่คิดหรือว่าในเมื่ออาหารเป็นสิ่งจำเป็นในการดำรงชีวิต ทำไมคนทำเกษตรจึงไม่รวยเสียที ส่วนหนึ่งเป็นเพราะพืชต้องการสารอาหาร ซึ่งนอกจากธาตุอาหารสำคัญในปุ๋ย ไนโตรเจน(N) ฟอสฟอรัส(P) โปแตสเซียม(K) แล้ว ก็ยังมีธาตุคาร์บอนอีก คาร์บอนเป็นส่วนประกอบหลักของผนังเซล พืชได้คาร์บอนทั้งจากการสังเคราะห์แสง ที่ดูดคาร์บอนไดออกไซด์จากอากาศ และดูดจากดิน

เมื่อเผาซากพืชหลังเก็บเกี่ยว ก็เป็นการปล่อยคาร์บอน ไนโตรเจน ฟอสฟอรัส และโปแตสเซียม ออกสู่บรรยากาศ และเป็นการทำลายความอุดมสมบูรณ์ของดินอีกด้วย ความชื้นหาย จุลินทรีย์ในดินตาย อย่างนี้ก็ต้องใส่ปุ๋ยอีกเรื่อยๆ ทำงานแทบตาย เผาสารอาหารทิ้งไปหมด แล้วพืชจะโตได้ยังไง ในที่สุดก็ต้องไปซื้อมาเติมอีกเรื่อยๆ

ไม่รวยเพราะไม่รู้ เลยทำตัวเอง

ด้วยความไม่รู้ เราปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ออกสู่บรรยากาศ แล้วตามไปเก็บคืนไม่ได้ ก็กลับไปอาศัยธรรมชาติ คือต้นไม้ช่วยดูด หากจะค้นข้อมูลเพิ่ม ใช้คำว่า carbon sequestration นะครับ แปลว่าการกักเก็บคาร์บอน อาจจะได้เรื่องมากกว่าหาข้อมูลสุ่มไป

ผนังเซลเป็นเซลลูโลส ซึ่งมีสูตรทางเคมีเป็น (C6H10O5)n ดังนั้น เนื้อไม้จึงเป็นตัวกักเก็บคาร์บอนที่ดี จะเก็บคาร์บอนได้มากแค่ไหน ก็ขึ้นกับน้ำหนักของไม้(แห้ง) วัชพืช+ไม้ล้มลุกก็เก็บได้แต่เก็บได้น้อย ไม่ใหญ่+ไม้ยืนต้นเก็บคาร์บอนได้มาก เพราะมีน้ำหนักมาก แต่ไม้ยืนต้นนี่ล่ะครับ ที่โดนบุกตัดล้างผลาญไปจะหมดอยู่แล้ว จะปลูกทดแทน ก็ใช้เวลาเป็นสิบปี

อย่างไรก็ตาม ทำอะไรบ้าง ก็ยังดีกว่าไม่ทำอะไรเลย

มีที่รกร้างว่างเปล่าอยู่ใกล้บ้าน อย่างปล่อยทิ้งไว้เฉยๆ ช่วยเจ้าของที่ลดโลกร้อนโดยปลูกต้นไม้ไปเลยครับ ปลูกอะไรก็ได้ ยิ่งเป็นต้นไม้พันธุ๋ใหญ่เนื้อแน่นก็ยิ่งดี

ในอเมริกาซึ่งถูกแปะป้ายว่าเป็นชาติที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากที่สุดในโลก — มีจีนรองลงมา ตอนนี้ห่างกันนิดเดียว — ให้ตัวเลขประมาณการว่าน้ำมัน 1 ลิตร ปล่อยคาร์บอน 639 กรัม สมมุติว่าผมใช้น้ำมันปีละ 1,000 ลิตร วิ่งได้ปีละ 15,000 กม. (ไม่ได้โม้ ขับได้จริงๆ) รถผมก็จะปล่อยคาร์บอนออกมา 639 กิโลกรัม

ส่วนต้นไม้ขนาดไม่เล็กไม่ใหญ่ เก็บกักคาร์บอนจากอากาศผ่านการสังเคราะห์แสงได้ 5,900 กรัมต่อปี ดังนั้น ผมต้องปลูกต้นไม้ 108 ต้น จึงจะมีต้นไม้พอต่อการดูดซับคาร์บอนที่เกิดจากการใช้น้ำมัน 1,000 ลิตรต่อปีของผม

แต่ว่า ผมยังใช้ไฟฟ้าเยอะ ไฟฟ้านี้ก็ปล่อยคาร์บอนออกสู่บรรยากาศ ไฟฟ้าที่ซื้อจากลาวจ่ายให้ทางอีสานเป็นไฟฟ้าพลังน้ำ อันนี้ปลอดภัย เขื่อนไทยที่ผลิตไฟฟ้ามีจำนวนน้อย สร้างเพิ่มก็ไม่ได้ โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ยังไม่ผ่าน EIA การเมืองเป็นอย่างนี้ จะสร้างได้หรือเปล่าก็ไม่รู้ ไฟฟ้าส่วนใหญ่ใช้ก๊าซธรรมชาติ ซึ่งกระทรวงพลังงาน และกระทรวงสิ่งแวดล้อม ก็ไม่มีตัวเลขให้ว่าคิดเป็น carbon equivalence เท่าไหร่ต่อ kW.hr แต่ยังไงการใช้ไฟฟ้ามาก แปลว่าผมปล่อยคาร์บอนออกสู่บรรยากาศ มากกว่า 639 กิโลกรัมแน่นอน ยิ่งกว่านั้นยังมีขยะอีก การจำกัดขยะก็เสมือนปล่อยคาร์บอนออกสู่บรรยากาศโดยนัยเดียวกัน

ปริมาณคาร์บอนที่ปล่อยออกจากกิจกรรมของมนุษย์นี้ เรียก carbon footprint เมืองไทยอยู่ในอันดับที่ 22 ของโลก

ดังนั้น เวลาเราพูดว่าปลูกต้นไม้ลดโลกร้อน ไม่ใช่แค่ปลูกพอเป็นพิธี แล้วก็มานั่งปลื้ม นั่งโฆษณาไปเป็นปี หรือว่าจะโบ้ยให้ใครทำหรอกนะครับ เพราะแค่ทำให้ตัวเองอยู่ในสถานะ carbon neutral ก็ต้องปลูกต้นไม้คนละหลายร้อยต้น ต้องทำเป็นเรื่องจริงจัง

และนี่ยังไม่ได้เป็นการลดโลกร้อนเลยนะครับ แค่ทำให้ไม่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพิ่มขึ้นเท่านั้นเอง!

แต่ถ้าโลกจะยังมีโอกาสรอด ไม่ใช่แค่ carbon neutral ต้องทำมากกว่านั้น จึงจะลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกให้ลงมาสู่ระดับ 350 ppm ได้ อย่าลืมว่าตอนนี้อยู่ที่ 388.15 ppm และเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ตั้งแต่โลกนี้มีมนุษย์มา ไม่เคยมีครั้งใด ที่ระดับคาร์บอนไดออกไซด์ในบรรยากาศ สูงเท่านี้มาก่อน

  • เป้าหมาย 350 ppm www.350.org
  • Carbon Sequestration FAQ www.epa.gov
  • ระดับคาร์บอนไดออกไซด์ในบรรยากาศ co2now.org
  • ครั้งหลังสุดที่คาร์บอนไดออกไซด์ในบรรยากาศอยู่ที่ 400 ppm คือเมื่อ 15 ล้านปีก่อน ตอนนั้น น้ำทะเลสูงกว่าระดับปัจจุบัน 25-40 เมตร อุณหภูมิสูงกว่าปัจจุบัน 3-5°C www.sciencedaily.com

« « Prev : ปล่อง

Next : แก๊งค์ 249 บุกเขาใหญ่ (อีกแล้ว) » »


ผู้ใช้ Facebook สามารถให้ความเห็นที่นี่ได้ โดยกด Like เพื่อแสดงตัว

3 ความคิดเห็น

  • #1 sutthinun ให้ความคิดเห็นเมื่อ 19 September 2010 เวลา 7:35

    สูตรที่ว่า ปล่อยคาร์บอนฯออกมาเท่าไหร่ ควรจะปลูกต้นไม้ชดเชยเท่านั้น
    นับเป็นการแสดงความรับผิดชอบต่อผลของการกระทำ
    ถ้าคนๆหนึ่งต้องปลูกต้นไม้ประมาณ 100 ต้น/ปี ทำกันจริงจัง
    พื้นที่โลกจะมีเครื่องดูดมลภาวะในจุดที่สมดุล
    และถ้าปลูกจริงๆอย่างมีเป้าหมาย จะทำให้เกิดความตระหนัก แทนที่จะตระหนก เฉยๆ

    เรื่องโลกร้อนคงไม่ต้องรอให้ถึงวันจุดจบ
    ตอนนี้มันก็ส่งผลกระทบมากแล้ว
    เพียงแต่มนุษย์ดื้อตาใสหัวใจด้านชา
    น้ำในแม่น้ำในเขื่อนลดลง คนมีแต่ใช้ๆๆมากขึ้น ไม่เกี่ยวกับการเพาะปลูกเสียด้วย
    อากาศที่ปรับเปลี่ยน ฤดูพิกลพิการ ฝนๆๆจู่ๆๆก็แล้งๆๆๆ พลิกป่วนมากขึ้นๆ
    อีก 2-3 ปี จะรู้สึกมากยิ่งขึ้น
    ไม่เชื่ออย่าลบหลู่
    ถ้าคนไทยยังยี่ยักยี่ย่อนไม่รู้ว่าจะพาตัวเองไปทำอะไร
    จะงกๆเงิ่นๆไปได้นานสักเพียงไหน?
    เรื่องกลุ่มนี้น่ารวมเล่มจริงๆ อิอิ

  • #2 Logos ให้ความคิดเห็นเมื่อ 19 September 2010 เวลา 19:39
    ไม่ว่าอะไรจะเกิดหรือไม่เกิด ผมคิดว่าทุกคนต่างก็มีหน้าที่ของตัวที่จะต้องทำนะครับ

    ตอนนี้แค่ไม่เบียดเบียนโลก ไม่เบียดเบียนคนอื่น ยังทำไม่ได้เลย คนส่วนใหญ่ที่ไม่มีสวนป่าเป็นของตัวเอง ยังปล่อยก๊าซเรือนกระจกไม่ว่าจะโดยทางตรงหรือทางอ้อมครับ

    ถ้าจะทำอะไร ก็ควรมีเป้าหมายที่ชัดเจน และตระหนักว่าปลูกต้นเดียว ยังไม่พอครับ แต่ก็ยังดีกว่าไม่ปลูกเลย

  • #3 ลานซักล้าง » แก๊งค์ 249 บุกเขาใหญ่ (อีกแล้ว) ให้ความคิดเห็นเมื่อ 20 September 2010 เวลา 0:11

    [...] ผมเพิ่มเติมข้อมูลในบันทึกที่แล้วจนดึก เหลือเวลานอนนิดเดียว [...]


แสดงความคิดเห็น

ท่านอยากจะเข้าระบบหรือไม่


*
To prove you're a person (not a spam script), type the security word shown in the picture. Click on the picture to hear an audio file of the word.
Click to hear an audio file of the anti-spam word


Main: 0.14733004570007 sec
Sidebar: 0.13243794441223 sec