ปล่อง

โดย Logos เมื่อ 18 September 2010 เวลา 16:33 ในหมวดหมู่ เทคโนโลยีชาวบ้าน #
อ่าน: 4698

ช่วงหน้าหนาวแต่ร้อน ที่ผ่านมา ผมไปสวนป่า มีการปรับปรุงห้องอบสมุนไพร ให้งานแก่ลุงอะไรจำชื่อไม่ได้ แต่รู้ว่าเป็นเพื่อนนักเรียนกับครูบา

เกิดสงสัย ก็เลยเรียนถามครูบาว่า

ครูบาจะเอาไว้ทำอะไรครับ
เอาไว้คุยกัน
แต่ห้องนี้มันไม่มีหน้าต่างนะครับ เดิมเป็นห้องอบสมุนไพร
อ๋อ ง่ายนิดเดียว เดี๋ยวจะต่อปล่องไม้ไผ่ ถ้าไม้ไผ่ยิ่งสูง ก็ยิ่งเย็น นี่เป็นภูมิปัญญาชาวบ้าน

ตั้งแต่ช่วงต้นปี ผมก็ไปค้นข้อมูลมาแล้วล่ะ เก็บไว้ในคลังข้อมูลจนลืมไปเลย เรื่องนี้มีหลักทางวิทยาศาสตร์ เรียกว่า stack effect ครับ เป็นหลักการของปล่องควัน (chimney ที่บางทีเรียกผิดว่าปล่องไฟ)

ลองคิดถึงปล่องที่มีรูปร่างเป็นทรงกระบอกกลวง ตั้งตรงขึ้นฟ้า เมื่อเอาควันไฟใส่ทางด้านล่าง ควันไฟมีความร้อน จึงลอยขึ้นสูงโดยธรรมชาติ ไปไล่อากาศในปล่องออกไปทางด้านบน ในขณะเดียวกัน ก็ดูดอากาศจากด้านล่าง(ซึ่งมักจะเป็นควันไฟนั่นแหละ) ขึ้นมาแทนที่ตัวเองเมื่อตัวเองลอยขึ้นสูง

ตรงนี้ถ้าดูให้ดี ก็จะสังเกตเห็นว่ามีการดูดอากาศจากด้านล่างไปปล่อยออกทางด้านบน การดูดนี้เกิดจากการเคลื่อนตัวของอากาศ ทำให้ความดันด้านล่างของปล่องน้อยกว่าความดันบรรยากาศนอกปล่อง ทำให้อากาศพยายามไหลเข้ามาในปล่อง เกิดเป็นแรงดูด

ที่เอาเรื่องนี้มาเขียน ก็คิดถึงห้องอบรมในอาคารใหญ่ ตอนนี้ไม้เลื้อยที่เริ่มทำตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว ก็งอกงามให้ร่มเงาแก่บริเวณกินข้าวนอกอาคารแล้ว ในวันที่ร้อนอบอ้าว อาจจะลดอุณหภูมิได้สัก 1-2°C ถ้านำอากาศที่มีอุณหภูมินี้เข้ามาในห้องอบรม ก็จะทำให้รู้สึกเย็นสบาย (ขนาดอากาศไม่เย็น ยังนอนกลิ้งเกลือกกัน ฟังการบรรยายและทำกิจกรรมได้เลยครับ)

ทีนี้อากาศจากภายนอกจะไม่ไหลเข้ามาในห้อง ถ้าหากอากาศในห้องไม่ไหลไปที่อื่น — โดยปกติ เราอาศัยลมเคลื่อนอากาศ ซึ่งถ้ามีลมในห้องก็เย็นซิครับ ปัญหาคือมันไม่มีลม

แล้วเมื่อมีคนกลิ้งกันอยู่สามสิบคน ก็จะมีความร้อนจากตัวคน ความร้อนนี้ ไม่มีทางออกเพราะว่าลักษณะของห้องเป็นอย่างนั้น

เรื่องนี้แก้ไขได้ โดยหาช่องเปิดให้ความร้อนลอยขึ้นไปชั้นสอง แล้วให้ความเย็นใต้ร่มเงาไม้ ไหลเข้ามาแทน

อีกอย่างหนึ่งคือเหลุมไฟดาโกต้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งแบบสามหัว เรามักเอาหม้อตั้งเพื่อหุงข้าวที่หัวแรก กับหัวที่สอง เปิดหัวที่สามไว้เป็นช่องให้ควันออกหรือบางทีตั้งหม้อทั้งสามหัวเลย ปัญหาคือเศษไม้ที่ใส่เป็นเชื้อเพลิงนั้น ใส่เข้าทางหัวแรก เศษไม้ไปไม่ถึงหัวที่ 2-3 หรอกครับ แต่ความร้อนมันลามไปเองพร้อมกับควัน เพราะว่าอากาศไหลเข้าทางช่องใส่เศษไม้ใต้หัวแรก ควันไฟ(ซึ่งร้อน)พยายามลอยขึ้นบน แต่เนื่องจากหัวแรกและหัวที่สอง ถูกหม้อทับอยู่ ควันจึงหนีไปออกทางหัวที่สาม และนำความร้อนจากหัวแรก ไปยังหัวอื่นๆ ด้วย [นิสิตแพทย์ วันที่สอง มีภาพหลุมไฟดาโกต้า in action]

ก็ไม่รู้ว่าเป็นผมคนเดียวหรือเปล่านะครับ ผมคิดว่าหลุมไฟดาโกต้าจุดไฟยาก (เนี่ย คนโตที่กรุงเทพ เคยแต่เห็นเตาถ่าน ไม่เคยทำเอง เป็นความรู้แห้งๆ) แต่ด้วย stack effect ในบันทึกนี้ ถ้าเราหาปล่องไปครอบหลุมสุดท้าย ถ้าใช้ปล่องสูง ก็จะมีแรงดูดมากขึ้น ทำให้ติดไฟได้ง่าย และทำให้หัวที่ 2-3 ร้อนเร็วขึ้นอีกด้วยครับ

ในส่วนของทฤษฎี รายละเอียดดูได้จากลิงก์ stack effect ที่ให้ไว้ข้างบน แต่ความหมายคือว่า

Q (ปริมาตรอากาศที่ไหลผ่านปล่อง) แปรผันตาม A (พื้นที่หน้าตัดของปล่อง) คูณกับรากที่สองของ h (ความสูงของปล่อง) และขึ้นกับอุณหภูมิด้วย; C และ g เป็นค่าคงที่ T เป้นอุณหภูมิมีหน่วยเป็นเคลวิน (°C+273)

ดังนั้นที่ครูบาบอกว่าปล่องยิ่งสูงยิ่งดูดแรงนั้น ถูกต้องแล้วครับ

« « Prev : หลักปฏิบัติของบล็อกเกอร์

Next : “350 ppm” ขีดปลอดภัยสำหรับมนุษยชาติ » »


ผู้ใช้ Facebook สามารถให้ความเห็นที่นี่ได้ โดยกด Like เพื่อแสดงตัว

5 ความคิดเห็น


แสดงความคิดเห็น

ท่านอยากจะเข้าระบบหรือไม่


*
To prove you're a person (not a spam script), type the security word shown in the picture. Click on the picture to hear an audio file of the word.
Click to hear an audio file of the anti-spam word


Main: 0.12359189987183 sec
Sidebar: 0.19836091995239 sec