หลักปฏิบัติของบล็อกเกอร์
อ่าน: 3406เมื่อสามปีที่แล้ว Tim O’Reilly ซึ่งเป็นผู้มีชื่อเสียงบนอินเทอร์เน็ต (Google ค้นพบชื่อนี้ในกว่าสองล้านแปดแสนเอกสาร) เกิดอาการทนไม่ได้กับการใช้เสรีภาพเกินขอบเขต (ตามความเห็นของเขา) ของบล็อกเกอร์จำนวนมาก จึงได้ร่างหลักปฏิบัติของบล็อกเกอร์ (Blogger’s Code of Conduct) ออกมาให้ใช้โดยสมัครใจ แต่ทำให้เกิดการถกเถียงมากมาย
เรื่องที่ถกเถียงกันนั้น ก็ไม่มีอะไรหรอกครับ มันมาจากฐานคิดเรื่องสิทธิและเสรีภาพของกฏหมายอเมริกัน ซึ่งโดยทั่วไปนั้น อะไรที่ไม่ได้ห้ามทำได้ทุกอย่าง ส่วนอะไรที่ห้ามทำ ก็จะต้องออกกฏหมายที่ผ่านสภามาห้าม — อันนี้ค่อนข้างอยู่คนละขั้วกับบ้านเรา ซึ่งคล้ายๆ กับว่า อะไรที่ให้ทำจึงจะมีกฏหมายออกมากำกับ และมีหน่วยงานรัฐออกใบอนุญาต หรือเข้ามาจัดการจดทะเบียนอะไรต่อมิอะไรให้ เช่นตั้งโรงงาน ทำธุรกิจ ฯลฯ จนกระทั่งรัฐธรรมนูญฉบับหลังๆ ถึงได้รองรับสิทธิ เสรีภาพ (และหน้าที่) ของปวงชนชาวไทย และผมหวังว่าคงไม่มีผู้หวังดีมาเขียนรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ให้อีกนะครับ เพราะปวดหัวเวียนเฮดมากพอแล้ว
กลับมาที่หลักปฏิบัติของบล็อกเกอร์ ท่านผู้ใดอยากอ่านภาษาอังกฤษ เชิญที่นี่ครับ ผมเอาร่างแรกมาให้ดู เพราะมีหลักการและเหตุผลเขียนอธิบายไว้ด้วย
และเพื่อประโยชน์ของผู้อ่านอีกจำนวนหนึ่ง ก็จะตีความ+แปลตามสไตล์ของผมข้่างล่างนี้ครับ ถ้าไม่ถูกใจ เชิญอ่านภาษาอังกฤษ หรือแปลเองนะครับ
เรา (We) ชื่นชมบล็อกเพราะว่าเป็นพื้นที่ที่สามารถแสดงความคิดเห็นอย่างได้อิสระ ตรงไปตรงมา แต่ในความตรงไปตรงมานั้น ก็ไม่จำเป็นต้องละทิ้งความเป็นสุภาพชน ดังนั้นเราจึงขอเสนอหลักปฏิบัติของบล็อกเกอร์ ด้วยหวังว่าจะสร้างสังคมที่สนับสนุนส่งเสริมการแสดงความคิดเห็น (ส่วนตัว) ที่สร้างสรรค์
1. บล็อกเกอร์ทุกคน รับผิดชอบต่อคำพูดของตัวเราเอง และต่อความคิดเห็นที่แสดงไว้ในบันทึก (เนื่องจากมาแสดงไว้ในพื้นที่ที่เรารับผิดชอบ)
เราสร้างสังคมของสุภาพชน และจะทำให้บล็อกของเราเป็นบล็อกของสุภาพชน เราจะไม่เขียนข้อความอันไม่เหมาะสม และเราจะลบความคิดเห็นในลักษณะดังกล่าว
สำหรับข้อความอันไม่เหมาะสมนั้น ให้นิยามไว้ว่าเป็นข้อความที่กล่าวถึง หรือเชื่อมโยงไปยังข้อความที่:
- ถูกใช้เพื่อให้เกิดความเสียหาย เหยียดหยาม ทำร้่าย กล่าวร้าย ดูถูก รบกวน รังควาน รบกวนความเป็นส่วนตัว หรือขู่เข็ญผู้อื่น
- ดูหมิ่นให้เกิดความเกลียดชัง กล่าวเท็จทั้งที่รู้ ยกเหตุผลเพื่อสนับสนุนการสบประมาทผู้อื่น บิดเบือนความจริงเกี่ยวกับผู้อื่น
- ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา
- เปิดเผยความลับของผู้อื่น ซึ่งละเมิดต่อพันธะที่จะปกปิดไว้
- ละเมิดความเป็นส่วนตัวของผู้อื่น
เราประเมินและพิจารณา “ข้อความอันไม่เหมาะสม” เป็นรายกรณี และนิยามนี้ ก็ไม่จำกัดเพียงรายการข้างบน หากเราลบข้อความหรือการเชื่อมโยงใด เราจะให้เหตุผลไว้ [เราขอสงวนสิทธิ์ที่จะเปลี่ยนแปลงเกณฑ์ต่างๆ เมื่อไหร่ก็ได้โดยไม่ต้องแจ้งล่วงหน้า]
== กล่าวคือเจ้าของบล็อกรับผิดชอบต่อเนื้อหาที่ปรากฏอยู่ในบล็อกทั้งหมด มีสิทธิที่จะจัดการเกี่ยวกับเนื้อหาทั้งหมด ==
2. เราจะไม่กล่าวอะไรออนไลน์ที่ (สุภาพชนปกติ วิญญูชน) จะไม่กล่าวต่อหน้ากัน
3. เราจะ (พยายาม) ติดต่อโดยช่องทางส่วนตัว ก่อนที่จะต่อความ
เมื่อเราสังเกตพบความขัดแย้ง หรือการบิดเบือนความจริงเกี่ยวกับผู้อื่นในบล็อกของเรา เราจะให้ความพยายามทุกอย่างเพื่อติดต่อพูดคุยกับทุกคนที่เกี่ยวข้อง หรือมองหาคนกลาง คนเชื่อม เพื่อแสวงหาความจริง ก่อนที่จะแสดงความคิดเห็นต่อประเด็นนั้น
== ไม่รู้จริง อย่าเม้าธ์ต่อ (อาจเป็นคล้ายกับกรณีของ forward mail) ==
4. เมื่อเราเชื่อว่ามีใครบางคนกำลังโจมตีผู้อื่นโดยไม่ยุติธรรม เราจะจัดการทันที
เมื่อใครก็ตาม เขียนบันทึกหรือให้ความคิดเห็นที่เป็นการก้าวล่วงต่อผู้อื่น เราจะบอกผู้กระทำทันที (โดยช่องทางการติดต่อส่วนตัว) ว่า “ควร” แก้ไขเสีย หากความคิดเห็นในลักษณะดังกล่าว อาจตีความได้ว่าเป็นการขู่กรรโชก โดยที่ผู้กระทำไม่ยอมถอนและกล่าวขอโทษ เราจะให้ความร่วมมือกับผู้รักษากฎหมายทุกอย่าง เพื่อปกป้องผู้ถูกกระทำ
5. เราไม่รับความคิดเห็นที่ระบุตัวผู้เขียนไม่ได้
ทุกความคิดเห็น จะต้องใช้อีเมลที่มีจริง ทั้งนี้เรายอมให้ใช้นามแฝงแทนชื่อนามสกุลจริงได้
== อันนี้ ตรงกับ พรบ.การกระทำความผิดทางคอมพิวเตอร์ พ.ศ.๒๕๕๐ ด้วยครับ ==
6. เราจะไม่สนใจข้อความล่อเป้า
เราจะไม่สนใจข้อความล่อเป้า ข้อความล่อเป้าคือข้อความที่ยั่วยุให้เรา (หรือผู้อ่านคนอื่น) ตอบสนองด้วยอารมณ์ ตราบใดที่ข้อความนั้น ไม่ก้าวล่วงไปถึงการกระทำให้เกิดความดูหมิ่นเกลียดชัง หรือหมิ่นประมาท (หรือการกระทำผิดตามกฏหมาย) เราเชื่อว่าการตอบกลับด้วยอารมณ์เช่นกัน เป็นไปตามภาษิต อย่าปล้ำกับหมู จะเลอะเทอะทั้งคู่ และหมูชอบ การเพิกเฉยต่อข้อความยั่วยุ มักจะเป็นทางออกที่ดีที่สุดเพื่อให้เรื่องสงบไป
ที่ยกกรณีศึกษาเรื่องนี้มา ก็ไม่ใช่เรื่องใหม่อีกนั่นแหละครับ ผมเขียนบันทึกชุดถอดบทเรียนชุมชนออนไลน์ไว้หลายปีก่อน เป็นเรื่องคล้ายกัน
ท้ายที่สุดแล้ว แม้ว่า Tim O’Reilly กับอีกหลายคนที่เห็นด้วย ร่วมกันทำต่อ แต่หลักปฏิบัตินี้ ก็ไม่ได้รับความนิยม
หลักปฏิบัติอันที่สรุปกันออกมา มี 7 ข้อสั้นๆ คือ
- เจ้าของบล็อกรับผิดชอบต่อข้อความในบันทึกและความคิดเห็น
- กล่าวให้ชัดว่าท่าน “รับ” ความคิดเห็น “ที่ไม่เหมาะสม” ได้แค่ไหน
- พิจารณาลบความคิดเห็นที่ไม่แสดงตัวตน (anonymous comments)
- เพิกเฉยต่อข้อความยั่วยุ
- สืบความจริงด้วยช่องทางส่วนตัว
- ถ้าพบเห็นใครที่ประพฤติตัวแย่ ก็บอกเขาตรงๆ
- อย่างพูดอะไรที่ท่านจะไม่พูดกับคนอื่นต่อหน้า
[บันทึกนี้ใช้เวลาเขียนอยู่สี่ชั่วโมงครั่ง ทั้งที่แค่แปลข้อมูลที่มีเก็บไว้หมดแล้ว เพราะว่าถูกขัดจังหวะด้วยการเลี้ยงหมา รับโทรศัพท์หลายรอบ และแช็ตจนมือหงิก]
« « Prev : คนนี้ไง ‘จารย์ปู ครูพันธุ์ก๊าก!
Next : ปล่อง » »
ความคิดเห็นสำหรับ "หลักปฏิบัติของบล็อกเกอร์"