ก๊าซเชื้อเพลิงจากเศษไม้ (1)
อ่าน: 4316มาคิดดูว่าคนเมืองนะครับ ไม่ว่าอยู่เมืองไหน ถ้าไม่มีไฟฟ้าก็ตายหมด ไปไหนก็ไม่ได้ ปั๊มน้ำมันใช้ไฟฟ้าทั้งนั้น การผลิตและส่งน้ำประปาใช้ไฟฟ้า การจัดส่งและเก็บรักษาอาหารก็เช่นกัน
ไฟฟ้าดูเหมือนเป็นเรื่องที่จับต้องไม่ได้ แต่ที่จริงนั้นเกี่ยวข้องกับธรรมชาติมาก เมืองไทยผลิตไฟฟ้าไม่พอ จึงต้องซื้อจากลาว แต่ความแห้งแล้งจากเอลนินโยตั้งแต่ต้นปีนี้ ทำให้เขื่อนในลาวก็แย่เหมือนกัน — ถ้าน้ำไม่พอ ไฟฟ้าไม่พอ จะเกิดกลียุคสองชั้นทีเดียว
ซึ่งนั่นล่ะครับคือความประมาท ที่เรามักจะทึกทักเอาเองว่าโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญยิ่งยวด (Critical Infrastructure) จะคงอยู่ตลอดไป — พอพูดอย่างนี้เข้า ทุกคนก็บอกว่าไม่จริงหรอก รู้อยู่แล้วว่าไม่มีอะไรคงอยู่อย่างถาวร — ซึ่งต้องถามกลับว่า ในเมื่อรู้อยู่แล้ว ได้เตรียมการอะไรไว้บ้างหรือไม่ ถ้าไฟฟ้าดับวันนี้ จะทำอย่างไร
ในสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง คลองสุเอซถูกปิด ในยุโรปน้ำมันขาดแคลนเป็นอย่างมาก ในขณะนั้นได้มีการหยิบเอาเทคโนโลยี Gasification ของศตวรรษที่ 19 สร้างก๊าซเชื้อเพลิงจากไฮโดรคาร์บอน ใช้ถ่านหินหรือเศษไม้มาเผาในสภาพที่ขาดออกซิเจน เกิดเป็นคาร์บอนมอนอกไซด์และไฮโดรเจนซึ่ง “ระเบิด” ได้หมดจด เรียกว่า Wood Gas, Producer Gas หรือ Syngas; เอาก๊าซนี้ส่งเข้าคาร์บูเรเตอร์ รถก็วิ่งได้ ยังพอแก้ขัดไปได้
รถยนต์ที่ใช้เชื้อเพลิงแบบนี้ ไม่ใช่ว่าจะมีแต่รถโบราณในสภาวะที่น้ำมันขาดแคลนเท่านั้น เมื่อสาม-สี่สิบปีก่อนก็ยังมีแท็กซี่ที่ใช้ถ่านหินวิ่งในเกาหลี (ไม่นานเกินไปหรอกครับ หลายคนที่อ่านบล็อกนี้เกิดแล้ว)
เจ้าของรถอธิบายไว้ข้างล่าง ความเร็วสูงสุด 72 กม/ชม แต่ประหยัดน้ำมันมหาศาล (คือไม่ใช้เลย) ใช้เศษไม้ 1 กิโลกรัม ทำให้วิ่งไปได้ประมาณ 3.5 กิโลเมตร
นอกจากเอามาทดแทนเชื้อเพลิงแล้ว เราเอามาเข้ากังหันก๊าซปั่นไฟฟ้าขายได้นะครับ
เรื่องนี้ไม่กระจอกหรอกครับ รถบรรทุกของเข้าเมือง รับเอาลูกหลานในหมู่บ้านไปส่งโรงเรียนด้วย จ่ายค่าโดยสารด้วยเศษไม้ ช่วยกันปลูกต้นไม้ ช่วยกันหาเศษไม้ เก็บเงินค่ารถไว้กินข้าว เท่ไม่หยอก
กระบวนการผลิตเก่าๆ เป็นถังปิดซึ่งมีปัญหาในตอนที่เติมเชื้อเพลิง ยังมีรายละเอียดอีกหลายอย่างที่น่าจะเอามาเขียน รวมทั้งวิธีสร้างไว้ใช้เองด้วย แต่อาทิตย์นี้ผมมีประชุมทุกวัน เก็บไว้เขียนต่อวันหลังนะครับ
« « Prev : ถามใจเธอดูก่อน — ข้อมูลสภาวะอากาศ
Next : ไม่โง่ » »
4 ความคิดเห็น
เทศบาลนครพิษณุโลกก็กำลังจะทำการศึกษาการใช้เชื้อเพลิงชีวมวล (biomass) โดยวิธี Gassification ครับ อิอิ
มันน่าทดลองสักคันจริงๆ วิ่งไปในที่ต่างๆแล้วเก็บค่าดู เป็นเศษไม้ อิอิ
ถ้าใช่ การไฟฟ้าจะรับซื้อที่ราคาสูงกว่าค่าใช้ไฟฟ้าที่เราซื้อจากการไฟฟ้าหน่วยละ 50 สตางค์เป็นเวลา 7 ปี — ไม่ว่าค่าไฟฟ้าจะขึ้นไปเป็นเท่าไหร่ ก็จะมี “กำไร” ครับ — แต่ว่าถ้าการปั่นไฟฟ้านี้ อยู่ในพื้นที่ที่การไฟฟ้าใช้น้ำมันดีเซลปั่นไฟฟ้า ราคารับซื้อไฟฟ้าคืน จะเพิ่มเป็นหน่วยละ 1.50 บาทเป็นเวลา 7 ปีเช่นกัน
#2 ขอเวลาหน่อยนะครับ อาทิตย์ที่ผ่านมางานเข้า ไม่ค่อยมีเวลาเขียนเจาะลงลึกเลย เวลาจะอ่านลานปัญญาหรือเวลานอนยังไม่ค่อยมีเลยนะครับ บางทีทำเครื่องยนต์ต้นกำลังเป็นมอเตอร์สำหรับสับกิ่งไม้ หรือว่าชาร์ตแบตเตอรี่เก็บไว้ใช้ในรถไฟฟ้าขนาดเล็ก ก็อาจจะเหมาะกว่าครับ เพราะเช่นเดียวกับเครื่องจักรไอน้ำ เครื่อง gasification ติดไฟครั้งหนึ่ง ก็จะได้ก๊าซออกมาจนไฟมอด ไม่สะดวกเหมือนกดสวิช
[...] เขียนต่อจากบันทึกก่อนครับ [...]