ความคิดเกี่ยวกับกรณีของหมู่บ้านเมืองเอก
อ่าน: 4730หมู่บ้านเมืองเอก เป็นชุมชนขนาดใหญ่ มีพื้นที่ 6 ตร.กม. เป็นรอยต่อระหว่างปทุมธานีกับกรุงเทพ มีสนามกอล์ฟอยู่ข้างในสองสนาม
เมืองเอกได้สู้กับน้ำหลากมาถึงสองเดือน มีเขื่อน มีถนนโดยรอบ ก่อนจะแตกเพราะทำนบทางหลักหก (ตลาดรังสิต) แตก ทำให้น้ำทะลักเข้าทางด้านข้าง น้ำท่วมสูง บางที่แค่อก บางที่มิดหัว อยู่อาศัยไม่ได้จนต้องอพยพออกมา
ช่วงนี้ ผมทวิตเกี่ยวกับปัญหาของเมืองเอกมากหน่อย เพราะคิดว่าชุมชนเมืองเอกได้ทำคุณานุปการไว้กับคนกรุงเทพตอนเหนือมาก และในเวลาที่เขาลำบาก จะไม่คิดหาทางช่วยเหลือ ก็ดูจะใจดำไปหน่อย; ที่จริงบ้านผมทางนนทบุรีตอนเหนือ ไม่ได้รับอานิสงส์จากการต่อสู้ของชาวเมืองเอกเนื่องจากอยู่คนละฝั่งของคลองประปา (คนละจังหวัดด้วย)
เมื่อเมืองเอกแตกแล้ว ด้วยสภาพที่เป็นแอ่ง ไม่มีทางที่น้ำจะลดยกเว้นสูบออก พื้นที่ 6 ตร.กม. น้ำสูงเฉลี่ย 1.7 เมตร คิดเป็นปริมาตรน้ำ 10.2 ล้าน ลบ.ม.; แต่ก่อนจะตัดสินใจสูบออก ก็ต้องตอบให้ได้ว่าสูบไปทิ้งที่ไหนจึงจะไม่เป็นภาระกับคนอื่น คำตอบที่ดีที่สุด ก็คือทิ้งในแม่น้ำเจ้าพระยาครับ
ที่น่าฉงนสนเท่ห์คือระดับน้ำที่ท้ายประตูระบายน้ำจุฬาลงกรณ์ กับที่เครื่องวัด C.38 ที่ อ.เมือง ปทุมธานี ต่างกันถึง 1 เมตร สงสัยจริงๆ ว่าเกิดอะไรผิดปกติตั้งแต่ประตูระบายน้ำจุฬาลงกรณ์จนถึงปากคลองรังสิตประยูรศักดิ์หรือเปล่า อย่างนี้สูบน้ำไปเท่าไหร่ น้ำก็ลงแม่น้ำได้น้อย ระดับน้ำแถวรังสิตคลอง 1-4 จะลดได้ช้ามากเพราะระบายไม่ออก
การสูบน้ำจากเมืองเอก+ทุ่งสีกัน มีทางออกอยู่สามทาง
ทางตะวันออกผ่านคลองเปรมประชากร ซึ่งตื้น แคบ ไม่ได้ขุดลอก และมีขยะที่น้ำท่วมพัดมามาอัดกันเต็ม นอกจากรับปริมาณน้ำจากการเปิดเขื่อนกระสอบบิ๊กแบ็กแล้ว ยังมีระยะเดินทางอีกเกือบ 20 กม.กว่าจะถูกสูบออกสู่แม่น้ำ ทางเลือกทางนี้ ไม่ค่อยเข้าหูเลย
ทางเหนือดูจะง่ายดีเพราะน้ำที่สูบระบายจากประตูน้ำจุฬาลงกรณ์ก็อาศัยคลองรังสิตตรงช่วงนี้ระบายออกแม่น้ำเจ้าพระยาเช่นกัน แต่ว่าระบายตลอดวันตลอดคืนมาเป็นเดือนแล้ว ดูจะระบายไม่ค่อยออก ไม่รู้ว่าเป็นอะไรเหมือนกัน [เบนน้ำได้ ง่ายนิดเดียว] แต่ถ้าทำรางน้ำข้ามคลองรังสิตไปลงคลองเชียงรากใหญ่ ซึ่งมีประตูระบายน้ำอยู่ — คลิกดูแผนที่ข้างบน จะเห็นคลองเล็กๆ อยู่เหนือสนามกอล์ฟ ดังนั้นสูบน้ำข้ามไป ก็เอาไปทิ้งไว้ในคลอง แล้วคลองนี้พาน้ำไปทางคลองเชียงราก ซึ่งอาจจะต้องสูบอีกครั้งไปลงคลองเชียงราก ด้วยความแตกต่างของระดับน้ำ อาจจะเปิดประตูระบายน้ำคลองเชียงรากเพียงนิดหน่อย แล้วปล่อยให้แรงดึงดูดพาน้ำในคลองซึ่งสูงกว่าออกสู่แม่น้ำได้ ยังไงระดับน้ำตรงนั้นก็ยังต่ำกว่าระดัลของคลองรังสิตท้ายประตูน้ำจุฬาลงกรณ์ แผนที่
ทางตะวันตกน่าสนใจกว่าสองทางเลือกแรกในหลายแง่
- สูบน้ำจากถนนสรงประภา/ทุ่งสีกัน ข้ามคลองประปา มาทิ้งยังคลองบ้านเก่า ซึ่งเป็นคลองเหม็นๆ ที่ปิดประตูระบายน้ำไว้ตลอดเวลา อันนี้สูบจากเขตกรุงเทพผ่านนนทบุรีไปลงแม่น้ำเจ้าพระยา คนละเขตอำนาจของผู้ว่า
- สนใจตรงนี้เพราะแม่น้ำเว้าเข้ามาใกล้ที่สุด แถมมีคลองธรรมชาติย่นระยะให้อีกด้วย
- “ข้ามคลองประปา” ข้าพเจ้าประสาทเสียโว๊ย! แต่ตรงนั้นมีถนนและสะพานคอนกรีตเสริมเหล็กอยู่ครับ ทำรางน้ำข้ามสะพาน ข้ามแยกศรีสมาน ข้ามทางขึ้นทางด่วน ก็จะลงไปในที่รกร้าง ซึ่งสามารถทำคันดิน นำน้ำไปทิ้งยังคลองบ้านเก่าได้ ระยะทาง 1.5 กม.
- จุดที่เสนอว่าจะสูบน้ำนี้ ตอนนี้เป็น “ท่าเรือ” อยู่ เพราะน้ำในถนนสรงประภาลึกจนไม่มีพาหนะอื่นเข้าไปได้ มีตลาด มีเต้นท์แจกของบรรเทาทุกข์
- แผนที่
ก็เป็นเพียงความคิดนะครับ ใครจะคิดว่าทำอะไรไม่ได้ บางทีอาจจะยังไม่ได้เริ่มคิดเลยด้วยซ้ำไป
จะเอาน้ำไปผ่านบ้านคนอื่น ถ้าเขาไม่ให้ผ่าน ก็ไปหาคลองอื่นสิครับ มีปัญหา แต่ไม่ได้แก้ปัญหาอะไร แล้วปัญหาจะมีโอกาสหายไปได้อย่างไร แต่ถ้าเหตุผลเยอะ ข้อจำกัดเยอะ ยังเหลือทางเลือกสุดท้าย คือปล่อยให้น้ำระเหยไปเอง ก็รอสวัสดีปีใหม่ในน้ำครำก็แล้วกัน
Next : ความคิดเกี่ยวกับนนทบุรีฝั่งตะวันตก » »
6 ความคิดเห็น
อ่านบันทึกได้ประมาณเกือบครึ่งหนึ่ง ก็นึกถึงตอนพม่ายกทัพมาตีมาล้อม แล้วก็ถอยทัพกลับเมื่อถึงฤดูน้ำหลาก น่าจะมีปัญหาอะไรหลายๆ อย่างเกี่ยวกับคูคลองในสมัยนั้น แต่ก็ไม่ได้จินตนาการเกินกว่านี้….
พิมพ์ไปก็คิดซ้ำ พม้าไม่ชำนาญพื้นที่ และอาจเพลี่ยงพลั้งไทยเพราะไม่ชำนาญพื้นที่ (ต้องให้นักประวัติศาสตร์เฉลย) จึงจำใจต้องถอยกลับเพราะไม่อยากจะให้ประวัติศาสตร์ซ้ำรอย….
ชัยภูมิพื้นที่และประวัติศาสตร์ มีความสำคัญยิ่ง…. เมื่อกลไกของรัฐมิได้ถูกชี้นำเพื่อการณ์นี้ แต่ถูกชี้นำตามความต้องการของผู้มีอำนาจ เมืองไทยจึงมีปรากฎการณ์ตามที่เป็นอยู่ขณะนี้….
บ่นอีกแล้ว แม้จะไม่รู้เรื่องและไม่ค่อยสนใจเรื่องน้ำท่วมกรุงเทพฯ แต่ก็หาเรื่องบ่นจนได้ (…………..)
เจริญพร
ทัพพม่าเจ๊งบ๊งเพราะว่าเหนือเกาะเมืองอยุธยา เป็นพื้นที่บาลบาลและป่าโมกซึ่งแม่น้ำแคบครับ เมื่อน้ำเหนือหลากมาเจอแม่น้ำแตบ (ความจุต่ำเพียง 1800 ลบ.ม./วินาที) น้ำก็จะยกตัวขึ้นล้นตลิ่ง แต่ว่าตลิ่งฝั่งตะวันตกต่ำกว่าตลิ่งฝั่งตะวันออก ดังนั้นจึงดูเหมือนกับว่าแม่น้ำเจ้าพระยาเจาะจงทะลักลงท่วมกองทัพพม่าซึ่งตั้งอยู่ทางตะวันตกจมน้ำจ๋อมแจ๋ม
ดังนั้นฝั่งตะวันตกก็โดนน้ำท่วมหนักทุกปีด้วยเหตุผลอย่างนี้ครับ
จาก Facebook ชองม.รังสิตค่ะ
RANGSIT UNIVERSITY,THAILAND
จากการประชุม เพื่อหาทางแก้ไขปัญหาน้ำที่ท่วมขังในขณะนี้ ที่ร้านเพาะรัก บริเวณแยกศรีสมาน เวลา 11.00 น. ที่ผ่านมา ได้ข้อสรุปว่า พรุ่งนี้ที่ประชุมจะยื่นหนังสือไปยัง ศปภ. เรื่องการบริหารจัดการน้ำในชุมชนเมืองเอกและมหาวิทยาลัยรังสิต โดยให้เร่งกำจัดขยะและเร่งระบายน้ำออกทางคลองเปรมประชากร เพื่อส่งต่อไปยังคลองบางเขน และคลองบางซื่อ เพื่อที่เมืองเอกจะได้สูบน้ำออกในช่องทางดังกล่าว ทั้งนี้ ถ้าคลองเปรมประชากรสามารถระบายน้ำได้ดี ระดับน้ำที่ท่วมย่านรังสิต และปทุมธานีก็จะลดลงตามไปด้วย
เป็นทางเลือกที่คุณ Conductor Logos ไม่แนะนำน่ะคะ แต่ไม่ทราบด้วยเหตุผลใด
ผมไม่ได้แนะนำคลองเปรมประชากรเพราะคิดว่าระยะทางยาวมาก เมื่อน้ำไหลได้ดี ก็คงจะต้องแวะรับน้ำจากที่อื่นเช่น ดอนเมือง ทุ่งสีกัน หลักสี่ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จตุจักรไปด้วย (ซึ่งก็ดีและควรทำอย่างยิ่งนะครับ) แต่ปริมาณน้ำที่ส่งลงมาจากหลักหกก็จะต้องลดลงเป็นสัดส่วนเพื่อไม่ให้น้ำเอ่อขึ้นท่วมถนน ซึ่งจะเดือดร้อนไปกันใหญ่
ผมคิดว่าทางเลือกในลักษณะนี้ ไม่เหมือนเราทำข้อสอบปรนัยที่มีอยู่เพียงคำตอบเดียวที่จะได้คะแนนนะครับ ทุกทางเลือกที่ใช้ได้เหมาะสม ดีทั้งนั้น ยิ่งระบายได้สองทางสามทาง ก็ยิ่งดี จะได้ไม่มีจุดตาย (single point of failure)
สำหรับหมู่บ้านเมืองเอก มหาวิทยาลัยรังสิต ตลาดรังสิต/ตลาดสี่มุมเมือง ออกทางปากคลองรังสิตประยูรศักดิ์หลังประตูระบายน้ำจุฬาลงกรณ์น่าจะใกล้ที่สุดง่ายที่สุด ซึ่งผมก็สงสัยเป็นอย่างมากว่าทำไมระดับน้ำหลังปตร.จุฬาลงกรณ์จึงสูงขนาดนี้ สูงกว่าที่ อ.เมืองปทุมธานี หรือที่รพ.ชลประทาน ปากเกร็ด อยู่เกือบเมตร อันนี้เรื่องใหญ่นะครับ ถ้าลดความต่างตรงนี้ได้สัก 60ซม. เผลอๆ ปตร.จุฬาลงกรณ์เปิดได้เลย จะได้ช่วยระบายน้ำจากฟิวเจอร์พาร์ค+คลองรังสิต 1-4 ได้เร็วขึ้นด้วย น้ำก็จะไม่ทะลักเข้าเมืองเอกอีก ไม่อย่างนั้นสูบเท่าไหร่ก็ไม่หมดเสียที
ความคิดที่ผมเสนอนี้ เป็นลักษณะ open-thoughts ครับ ร่วมกันคิด ไม่ได้ฟันธงว่าอย่างนี้เท่านั้นที่ดีที่สุด เป็นหลักการแบบเดียวกับเขียนซอฟต์แวร์แบบ opensource ซึ่งไม่มีใครรวบหัวรวบหางเอาไปเขียนคนเดียวทั้งหมดแล้วได้ซอฟต์แวร์ที่ดีที่สุดครับ
เมื่อเสนอแล้ว ไม่ได้ใช้ ผมก็ไม่เสียใจ เอาไปปรับปรุง/ดัดแปลง ผมก็ไม่ว่า ไม่ให้เครดิต ก็เฉยๆ เพราะว่าไม่ได้ต้องการอะไรเลย แต่ถ้าเห็นช่องทางที่น่าจะเป็นไปได้แล้วไม่ได้เสนอสิครับ น่าเสียใจ เพราะชาวบ้านน้ำท่วมมานานมากแล้ว ยังไม่เห็นทางออก
[พระบรมราโชวาท เกี่ยวกับความรับผิดชอบของผู้มีความรู้]
กำลังดูข่าวสามมิติช่อง 3 ค่ะ เห็นว่ามีการพิจารณาหลายๆ ทางเลือกอย่างที่คุณ CL ว่า เช่นการสูบน้ำลงคลองบ้านใหม่ด้วย (แต่ชาวปากเกร็ดก็บอกว่าไม่ยอมหากจะมาท่วมเขา) และการสูบจากคลองเปรมลงคลองรังสิตประยูรศักดิ์ ซึ่งจะไม่กระทบกับชุมชนใดๆ เลย ก็ต้องรอดูกันต่อไปละคะ
คลองบ้านเก่าที่เสนอในบันทึกนี้ อยู่ทางใต้ของคลองบ้านใหม่นะครับ คลองบ้านใหม่มีบ้านเรือนหนาแน่น อาจจะมีแรงต่อต้านมาก แต่คลองบ้านเก่า ปลายหนึ่งคือถนนสรงประภาซึ่งรถแทบวิ่งไม่ได้อยู่แล้วเนื่องจากน้ำท่วม ความลาดเอียงเทจากสะพานที่ข้ามคลองประปาจะไปสรงประภา เทไปทางแม่น้ำ ทำให้สูบน้ำจากสรงประภาทิ้งลงรางน้ำเอาไปลงแม่น้ำผ่านคลองบ้านเก่าได้ เรื่องพวกนี้ สำรวจไม่ยากครับ มันอยู่ตรงที่ประชุมกันเมื่อวาน (สรงประภาตัดกับคลองประปา)
ส่วนที่ชาวบ้านบริเวณคลองบ้านใหม่จะไม่ยอมหากน้ำจะไปท่วมบ้านเขา เรื่องนี้ก็เข้าใจได้ครับ หมายความว่าอัตราการสูบน้ำออก จะเกินความจุของคลองบ้านใหม่ไม่ได้ แต่ถ้าน้ำปริ่มคลองตลอดเวลาโดยไม่ท่วมบ้านเรือนชาวบ้าน ก็จะยอมให้น้ำผ่านได้
จะเป็นคลองบ้านใหม่ คลองบ้านเก่า คลองบางพูด คลองบางตลาด คลองใดคลองหนึ่ง หรือทุกคลองก็โอเคทั้งนั้นครับ ตราบใดที่การส่งน้ำผ่านพื้นที่อื่นจะไม่ทำให้ชาวบ้านแถบที่น้ำผ่านไปเดือดร้อน