จับคู่ดูแลกัน
อ่าน: 3104ศปภ.เสนอให้จังหวัดที่ไม่ได้ประสบอุทกภัย จับคู่กับเขต (อำเภอ) ของกรุงเทพที่ประสบอุทกภัย มีครัวรัฐบาลอีกด้วย
เรื่องนี้ดีครับแต่ไม่ใช่เรื่องใหม่ มีการทำกันมาสักพักแล้ว เทศบาลต่างๆ ติดต่อประสานงานกันอยู่ อบจ. อบต. ก็มีช่องทางช่วยเหลือเกื้อกูลกันอยู่แล้ว เมื่อปีที่แล้วมีการยกเว้นเขตอำนาจในกรณีที่ อปท.หนึ่งจะส่งกำลังไปช่วยเหลือพื้นที่ประสบภัยอื่นๆ ในกรณีของภัยพิบัติ (ก่อนหน้านั้น อปท.ออกนอกเขตของตนไม่ได้ ไม่อย่างนั้นจะโดน ปปช.สอบ!)
การเชื่อมต่อกันอย่างนี้ เกิดจากความเห็นใจกันและกัน เป็นไปโดยไม่ต้องสั่งการมาจากส่วนกลาง หน่วยงานที่มีทรัพยากรอยู่ว่างๆ ก็มีแนวโน้มว่าจะช่วยเหลือหน่วยงานอื่นตามธรรมชาติของจิตใจคนไทยอยู่แล้ว รัฐเพียงแต่ปลดล็อค ทำตัวเป็น enabler เท่านั้นก็พอ
ผมรู้ว่าเทศบาลขนาดใหญ่บางแห่ง ส่งทีมไปช่วยเทศบาลที่ประสบภัยโดยไม่มีการร้องขอ ด้วยงบประมาณของตนเอง ไม่ออกข่าวเอาหน้า และกำลังที่ส่งไปช่วย ดูแลตนเองทั้งหมด (โดยไม่ต้องมีเจ้าภาพมาคอยประคบประหงม เจ้าภาพควรจะไปช่วยประชาชนแทนที่จะเสียเวลามารับแขก) ยอดๆๆๆๆๆ
อบต. อาจจะช่วยเหลือ อบต.ที่ประสบภัยไม่ได้เหมือนเทศบาลขนาดใหญ่ เพราะว่ามีทรัพยากรน้อยกว่า แต่ก็ยังให้ยืมเครื่องไม้เครื่องมือ หรือเป็นศูนย์กลางรวบรวมความช่วยเหลือจากตำบลนั้นไปยังพื้นที่ประสบภัยได้
เรื่องราวที่รับรู้มา ผมประทับใจภูเก็ตครับ ส่งความช่วยเหลือมาอย่างต่อเนื่อง ของมาทางสิบล้อ อาหารมาทางเครื่องบิน ภาคเอกชนก็ช่วยแบบไม่ออกหน้าหลายราย
มาคิดดู อุทกภัยครั้งนี้ ประเทศเสียหายย่อยยับ คนว่างงานจะพุ่งปรี๊ดขึ้นอย่างน้อยก็จนกว่าโรงงานจะฟื้นฟูกลับมาผลิตได้ใหม่ แล้วในช่วงนี้คนงานจะหารายได้อย่างไร เรื่องรายได้นั้นยังไม่สำคัญเท่ากับรายจ่ายหรอกครับ ถ้ารายจ่ายน้อย รายได้น้อยก็ไม่เป็นไร แต่ถ้ารายจ่ายเกินตัวเป็นหนี้เป็นสิน แล้วรายได้เกิดขาดหายไป ตายแน่ๆ ปัญหานี้จะลากยาวไปถึงเจ้าหนี้ต่างๆ ด้วย (ถ้าเป็นหนี้นอกระบบ ผมไม่สนหรอกครับ เอาเปรียบกันเกินไป ผิดกฏหมายอยู่แล้ว) การฟื้นฟูบ้านเรือนที่เสียหาย จะต้องใช้เงินอีกเยอะ แล้วยิ่งถ้าไม่มีรายได้นี่ จะเหนื่อยเป็นพิเศษ
คนกรุงเทพนั้นเสียหายเยอะ แต่ผู้ประสบภัยไม่ว่าที่ไหนต่างก็เสียหายเยอะเหมือนกันนะครับ โรงงานที่ถูกน้ำท่วมน่าจะเสียหายมากกว่าความเสียหายของบ้านเรือน เมื่อโรงงานเดินไม่ได้ ลูกจ้างก็จะตกงานเป็นจำนวนมาก วันนี้ควรจะดูว่าจะช่วยให้ผู้ประสบภัยจำนวนมากให้พอยืนอยู่ได้อย่างไร
การช่วยเหลือเกื้อกูลผู้ประสบภัยนั้น อยากทำอะไรก็ทำเถิดครับ แต่ผมคิดว่าให้ความรู้ ให้แง่คิด ให้ช่องทางทำมาหากิน ดีกว่าให้เงิน ให้อาหาร ฯลฯ ให้แบบแรกเป็นการสร้างคน ให้แบบหลังเป็นอามิสทานครับ มีอานิสงส์เหมือนกัน แต่ไม่เท่าแบบแรก
การจับคู่ดูแลกัน ทำได้หลายระดับ จะมี match maker หรือไม่ก็แล้วแต่ ยกตัวอย่างนะครับ กรุงเทพมีอาคารสำนักงาน หรืออาคารที่พักอาศัยที่สูงเกินสิบห้าชั้นอยู่หลายร้อยอาคาร หากแต่ละอาคารรวมกลุ่มกันแบ่งเศษเงิน หรือเศษเวลา มาช่วยกันระดมความคิด ระดมทรัพยากร หาทางช่วยอำเภอที่ประสบภัย หนึ่งอาคารหนึ่งอำเภอ (หรือหนึ่งบริษัทจดทะเบียนห้าตำบล หรือแม้ว่าไม่อยากเดินทางไกล ก็เป็นหมู่บ้านที่ปลอดภัยดูแลหมู่บ้านประสบภัยในเขตปริมณฑล) หาช่องทางให้คนพื้นที่ประสบภัย ยืนหยัดขึ้นมาใหม่ให้ได้โดยเร็ว เรื่องรูปแบบเป็นเรื่องเล็กครับ หวังว่าผู้อ่านจะเห็นความเปราะบางจากความสิ้นหวังของคนจำนวนมาก ว่าเป็นภัยคุกคามอันใหญ่ของสังคมของเรา และรู้สึกว่าต้องทำอะไรบางอย่างโดยเร็ว
หากทำได้อย่างนี้ ก็จะเกิดวามเชื่อมโยงแบบใหม่ที่เป็นไปโดยความสมัครใจ ถ้าจะให้ดี ก็ประสานกันหน่อยเพื่อให้แน่ใจว่าจะไม่ซ้ำซ้อนหรือขัดกันเองนะครับ
Next : ความคิดเกี่ยวกับกรณีของหมู่บ้านเมืองเอก » »
2 ความคิดเห็น
ยืนยันว่ามีการจับคู่กันมา”ก่อน”ที่จะมีคำสั่งศปภ.
มูลนิธิจีน(หน้ารร.สามัคคีฯ)กับรร.อาชีวะของชร.ทำอาหารกล่องวันละ 6000 กล่อง ส่งทางแอร์เอเชียให้กับเขตไหนสักเขตนี่แหละค่ะของกทม.มาหลายอาทิตย์แล้ว แม้แต่การขนส่งก็ได้รับความร่วมมืออย่างดีจากทุกหน่วยนะคะ
วันอาทิตย์ที่ 20 พย.นี้ก็รับอาสาสมัคร 40 คน ไปช่วยแพ็คอาหารกล่องที่มูลนิธิเหมือนกัน โดยมีหน่วยงานอื่นเป็นเจ้าภาพเวียนไปในจังหวัด แม้แต่เรือนจำกลางชร.ก็มีส่วนร่วม วันที่ 28 พย.รู้สึกจะเป็นของสสจ.รพ. ส่วนรพ.ชร.เป็นวันที่ 30 พย.ค่ะ กำลังเตรียมตัวทำน้ำพริกกันอุตลุต
เห็นด้วยว่าความช่วยเหลือมีหลายระดับ ตั้งแต่ความช่วยเหลือเฉพาะหน้าอันหมายถึงปัจจัยสี่เท่าที่จำเป็นและความปลอดภัยของชีวิต แต่ความช่วยเหลือที่สำคัญกว่าคือความช่วยเหลือที่มี”โอกาส”ให้เขายืนได้ด้วยตนเอง ช่วยๆกันเถอ ะค่ะ ให้เขารู้ว่า รบ.ไม่ได้จำเป็นในทุกเรื่องหรอก มีช่องทางอื่นอีกตั้งเยอะที่ช่วยเหลือและทำได้ดีกว่า
ปรบมือให้ ท่านตรี อัครเดชา ท่านผู้ว่าภูเก็ตด้วยคน กำลังความช่วยเหลือของภูเก็ตเหลือหลายและทำได้ดี เห็นข่าววิทยุ ทีวีบอกว่า ส่งข้าวไปให้คลองสามวา วันละ 1-2 หมื่นกล่อง และเป็นอาหารอร่อย ผู้รับติดใจข้าวน้ำพริกภูเก็ต
ท่านตรี เคยคลุกคลีกับผมบ้างสมัยที่อยู่ที่มุกดาหาร ตอนนั้นท่านตรีเป็นปลัดจังหวัด และเป็นรุ่นน้อง เรามีการกินข้าวกันทุกพุธแรกของเดือนที่ชมรมศิษย์เก่า มช. ยังเสียวว่าท่านจะโดนย้ายจากภูเก็ต ผมไม่ได้ติดตามว่าท่านมีชื่อถูกโยกย้ายหรือเปล่า..
การจับคู่จังหวัดช่วยเหลือกันนั้นเป็นแนวทางที่ดีครับ น่าจะใช้กับอีกหลายๆกรณีนะครับ เช่น การปลูกต้นไม้ในเมือง เป็นต้น