สื่อโทรทัศน์ไทย ไม่เรียนรู้อีกแล้ว
อ่าน: 5642หลายวันมานี้ มีเรื่องที่ไม่เคยคิดว่าจะเกิดขึ้นในเมืองไทย เกิดขึ้นหลายเรื่อง ผมไม่เคยคิดว่าจะเขียนบันทึกวิจารณ์ใคร แต่คราวนี้ขอสักทีเถิดครับ
คนทำอาชีพสื่อ โดยเฉพาะผู้ประกาศทางทีวี ชอบคิดว่าอะไรๆ ก็โทษสื่อ แต่กลับไม่มองคำวิพากษ์เหล่านั้น เป็นเสียงสะท้อนและนำมาพิจารณาปรับปรุง ผมมีคำวิจารณ์ดังนี้
- ข่าวการก่อความไม่สงบ ไม่ใช่ข่าวบันเทิง หรือข่าวทั่วไป ไม่ควรใช้นักข่าวทั่วไป ซึ่ง(บางคน)แทรกมาทั้งความเห็น และการคาดเดา กระหืดกระหอบ ยักคิ้วหลิ่วตา
- ที่ไม่ชอบมากๆ คือการรายงานสดที่เต็มไปด้วย filler; ถ้าเรียนสื่อสารมวลชนมาก็คงทราบอยู่แล้วว่าไม่ควรอย่างไร สาระ 15 วินาที ก็รายงาน 15 วินาที ไม่ต้องพูด 3 นาที; ถ้าไม่รู้ก็บอกไม่รู้ ถ้าไม่เห็นก็บอกไม่เห็น
- คำแนะนำให้แยกแยะว่าเป็นภาพสด หรือภาพจากแฟ้มข่าว ก็ดีแล้ว แต่น่าจะมีวันเวลาที่บันทึกภาพนั้นแปะอยู่ด้วย
- ผู้ประกาศที่ประจำอยู่ที่สถานี ควรดึงนักข่าวในพื้นที่ให้กลับสู่ประเด็น คือความเป็นจริงตามที่เกิดขึ้น ไม่ต้องคาดคั้นให้เกิดการคาดเดา; ถ้าผู้ประกาศเหนื่อยหรือเครียด น่าจะเปลี่ยนตัว ถ้าไม่มีตัวก็นำรายการอื่นมาแทนบ้างก็ได้
- ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องขยายความขัดแย้งระหว่างผู้ก่อการจลาจล กับชาวบ้านให้เลยเถิดไปกว่านี้ครับ รายงานความจริงตามเหตุการณ์เท่านั้นพอแล้ว ถ้าพยายามยืนยันข่าวที่ได้มาจากหลายแหล่งบ้างก็ดี เรียนรู้จากเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 บ้าง
- ในความเห็นของผม ในบรรดาผู้ที่ออกมาพูดเกี่ยวกับเหตุการณ์นี้ทั้งหมดจนถึงขณะนี้ “ผู้ที่พูดได้ใจความที่สุด” คือโฆษกกองทัพบก และ “ผู้ที่พูดให้สาระประโยชน์ที่สุด” คือโฆษกกระทรวงสาธารณสุข
- ที่ผิดหวังมากคือผู้กำกับรายการ/ผู้กำกับภาพ ที่ปล่อย filler ออกมามาก - ภาพควัน การขว้างปา การเผาทำลาย การยิงปืนขึ้นฟ้า หรือภาพความรุนแรงอื่นๆ — ไม่มีรายการไหนเลยติดเรตตัวเองเป็น “ฉ” ทั้งที่มีภาพ เสียง และเสียงบรรยายความรุนแรง ซ้ำแล้วซ้ำอีก
- ควันไฟกองจริงหายไปหมดแล้ว แต่ภาพที่ท่านฉายแช่เอาไว้เป็นสิบนาที ยังอยู่อีกนาน ท่านคิดกันบ้างหรือเปล่า
- สำหรับผู้ชม งานนี้ท่านไม่ควรเชียร์ข้างไหนเลยนะครับ ความเสียหายเกิดแล้ว ร้ายแรงมากด้วย แต่ประเทศไทยแหลกราญทั้งประเทศ สังคมไทยแพ้ย่อยยับทั้งหมด ไม่ว่าจะอยู่ฝ่ายไหน
- สังคมไทยต้องการการรักษาหมู่เรื่อง PTSD
- สิ่งที่เกิดขึ้นแล้ว เปลี่ยนแปลงไม่ได้ ผู้วิจารณ์เลิกนิสัย Monday morning quarterback ได้แล้วครับ ตอนนี้ควรเริ่มคิดหาทางแก้ไขปัญหากันอย่างจริงจัง
- ก่อนแก้ไขปัญหา จะต้องให้สถานการณ์นิ่งก่อน — แล้วก็ต้องรู้ว่าปัญหาคืออะไร ข้อจำกัดคืออะไร
ในสถานการณ์ปกติ การจะตัดสินว่าอะไรผิดอะไรถูก จะต้องมีทั้งเกณฑ์การตัดสิน และจะต้องฟังความทั้งสองด้าน การตัดสินโดยไม่มีกฏเกณฑ์คือความอยุติธรรม ส่วนการตัดสินโดยฟังความด้านเดียว คือการใช้อคติ
แต่ในสถานการณ์ความไม่สงบนี้ ดูจากข่าวทีวีโดยไม่ต้องฟังผู้บรรยาย(ซึ่งอาจมีการตีความ) ผู้ชุมนุมละเมิดกฏหมาย ละเมิดความสงบสุข ก่อความรุนแรง ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลอะไร ก็ผิดอยู่ดีครับ จะมีใครเคยย่ำยีสังคม+เกียรติภูมิของประเทศชาติอย่างนี้มาก่อนหรือไม่ ก็ผิดอยู่ดี จะต้องการอะไรจะเรียกร้องอะไร การละเมิดกฏหมาย ละเมิดต่อผู้อื่นแบบนี้ จะช่วยให้ผู้ชุมนุมบรรลุถึงความต้องการได้อย่างไร
« « Prev : กังหันน้ำก้นหอย (5)
Next : ข่าวลือ » »
8 ความคิดเห็น
สื่อมักมองออกไปข้างนอก ไม่หันมามองตัวเองว่าทำหน้าที่อย่างมีคุณภาพหรือเปล่า ขาดความตระหนักต่อความรับผิดชอบ ต่อข่าวสารข้อมูลที่ขาดการตรวจสอบให้ถูกต้องก่อนสื่อออกไป เมื่อสารออกไปแล้วย่อมถึงผู้รับทันที มีผลทันที กรรมเกิดขึ้นแล้ว ส่วนผู้รับสื่อจะโดยตั้งใจฟังอย่างเป็นผู้มีสติ หรือไม่ตั้งใจฟัง หรือแม้กระทั้งถูกยัดเยียดให้ฟังให้เห็นภาพรุนแรงเกินกว่าจะรับได้(สำหรับเด็กเล็กเด็กโต) สื่อกำลังทำร้ายเด็กโดยขาดจิตสำนึกและความรับผิดชอบ โหดร้ายต่อเยาวชน มัวแต่แข่งขันการเสนอข่าว แต่ไม่แข่งกันเสนอข้อเท็จจริง ทำให้ประเทศชาติต้องมาถึงจุดนี้จนได้ ส่วนการนำเสนอข่าวเป็นการขาดความรู้ความเข้าใจ เสียหายมาก ยังคงใช้คำพูดเดิมเดิมๆ เรียกกลุ่มผู้ชุมนุม (พวกนปช) ซึ่งตอนนี้ไม่ใช่ผูชุมนุมแล้ว เปลี่ยนสถานภาพทันที่ที่ทำร้ายประเทศชาติด้วยยุทธวิธี ที่พรรคคอมมูมิตเคยใช้ อย่างเป็นขั้นเป็นตอนเพิ่มรุนแรงเป็นทวีคูณ ที่มีฝ่ายสนับสนุนที่แฝงตัวอยู่ในทุกจุด เป็นผู้ก่อการจลาจล แต่ผู้สื่อข่าวยังเรียกว่าผู้ชุมนุม ซึ่งสร้างความสับสนมาก กฏหมายเขาใช้คนละฉบับแล้ว สร้างความเสียหายความยากลำบาก ในการปฏิบัติงานของผู้ปฏิบัติหน้าที่ตามกฏหมาย สื่อนั่นเองที่เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้เกิดการจราจลโดยไม่รู้ตัว
ประเด็นคือ precision ของเหตุการณ์ครับ
เห็นด้วยมากค่ะ
และสำหรับผู้อยู่ต่างจังหวัด สื่อไม่เคยให้ข้อมูลที่แท้จริง ไม่ว่าการปิดเส้นทางตรงไหนบ้าง และการปิดนั้นๆ ลักษณะเป็นอย่างไร ทั้งๆที่ข้อมูลที่คนในพื้นที่รู้คือ การปิดถนนเต็มไปด้วยคนเมา …และด้วยจำนวนคนหยิบมือ …ขณะที่ตำรวจในพื้นที่ก็ไม่ได้มีข่าวว่าทำอะไรให้รู้ว่าได้ทำการเจรจาอย่างไรหรือไม่..และข้อมูลให้กับคนเดินทางว่าควรเลี่ยงไปใช้เส้นทางอะไร จะได้ไม่ไปออตรงจุดที่เลี้ยวรถกลับ…..แสนจะอ่อนด้อยทางการเสนอข่าว
และภาพบนจอควรจะเป็นวินาทีต่อวินาที ไม่ใช่ฉายภาพซ้ำซากและเน้นแต่เอฟเฟก
สื่อของรัฐโดยเฉพาะทีวี ยิ่งแล้วใหญ่ ทั้งๆที่นายกกล่าวให้ช่อง 11 เสนอข่าว…ก็พยยามจะดูข่าวจากช่อง 11 เพราะคิดว่าจะเป็นสื่อกลางสำหรับข่าวที่คนดูจะได้เข้าใจสถานการณ์….ก็ไม่มี มีแต่รายการปกติ…ทำอย่างกับว่าเรื่องบ้านเมืองเสียหายช่างมัน จะเอาเงินสปอนเซอร์อย่างเดียวเลย…
และทีวีทุกช่องก็เหมือนกัน
พอเสนอข่าว…วินาทีนี้ สื่อควรเสนอข่าวตามความเป็นจริง ไม่ใช่เล่นข่าวและทำท่าทางเหมือนกำลังเล่านิยาย หรือเล่าเรื่องที่ไกลตัว ทั้งๆที่ประเทศก็เป็นของทุกคนรวมทั้งนักข่าวด้วย…
ที่ตามข่าวอยู่ทุกวันนี้ ….ปรากฎว่าข่าวที่ได้กลับได้จากบรรดามือสมัครเล่นที่ถ่ายแล้วโพสทางเน็ตมากกว่าข่าวจากสื่อต่างๆ ทั้งทีวีและวิทยุ…ยอมรับว่าคราวนี้อินเทอร์เน็ตได้ผลสูงกว่า….แต่จะกี่คนที่สามารถเข้าถึงสื่อนี้??…ทีวีและวิทยุ หนังสือพิมพ์จึงน่าจะเรียนรู้ด้วย
ทำไมโฟนอินมันได้ผล ก็เพราะประสาทเส้นที่ 8 คือเส้นสุดท้ายที่ยังทำงานแม้คนๆ นั้นจะไม่สามารถพูดหรือสื่อสารทางอื่นได้…การใช้สื่อทางเสียงจึงเป็นกลยุทธ์ที่ทุกคน(ทั้งในวงการแพทย์ด้วย) ใช้เสมอสำหรับการสื่อสารกับคนที่ขาดการสื่อทางอื่น….รัฐบาลน่าจะรู้ดีอยู่แล้วแหล่ะ…แต่รัฐบาลขาดคนทำงานอย่างจริงจังและที่รักชาติอย่างแท้จริงด้วย…กระมัง???
เรื่องนี้ คงไม่ใช่ความผิดของสถานีหรอกครับพี่สร้อย แต่ระบบข้อมูลต้นทางมันแย่มาก แย่มานานแล้ว ไม่รู้ว่ารู้ตัวหรือเปล่า ยิ่งเกียร์ว่าง ก็ไม่ได้ขยับไปไหนหรอกครับ
ยิ่งเป็นข้อมูลที่เกี่ยวเนื่องกับการดำเนินชีวิตของประชาชน ก็ยิ่งต้องเปิดเผย เรื่องนี้ต้องยกให้สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตรครับ http://www.haii.or.th/ เก่งจริงๆ ทำไปเรื่อยๆ ร่วมมือไปเรื่อยๆ ในที่สุดก็มีข้อมูลที่พร้อมมาก และมีความหมายด้วย
ข้อมูลการจราจร มีที่ http://traffic.thai.net/ แต่ก็ไม่มีของเชียงใหม่เนื่องจากไม่มีข้อมูลจากต้นทางครับ
ต้นทางไม่ถูกฝึกฝนมาก่อนค่ะ ถ้าได้รับการฝึกฝนก็จะมีประสิทธิภาพมากขึ้นกว่านี้ ส่วนใหญ่คนได้ฝึกจะอยในเมืองกรุงซะมากกว่าค่ะ ทางรอบนอกฝึกให้ก็แต่ทำเรื่องอยู่ให้รอดมั๊งค่ะ
ไม่เหมือนกับ(มีแต่)ไม่ดี
ความ”คม”ของคำถาม..ก็สำคัญค่ะ
ความชัดเจน ความลึกของเนื้อหา รายงานอย่างรอบด้าน และเสียงของประชาชนที่ไม่ต้องการการจราจล (ไม่ควรเรียกเหตุการณ์รุนแรงว่าการชุมนุม และคำสองคำนี้ไม่เหมือนกันค่ะ) เป็นสิ่งที่่อ่อนด้อยไปอย่างน่าเสียดาย
ขอต่อในเรื่องที่ไม่เกี่ยวกับการรายงานสถานการณ์ฉุกเฉินหน่อยนะคะ
รายการสารคดีเกี่ยวกับสถานที่ ประเพณี วัฒนธรรม ชุมชน ธรรมชาติ ฯลฯขอให้แพนกล้องตามสถานที่ ประเพณี วัฒนธรรม ฯลฯในสิ่งที่พิธีกรชี้ชวนอธิบาย ไม่ใช่จับนิ่งแต่พิธีกร ถ้าเป็นอย่างนี้จะอธิบาย แนะนำไปเพื่ออะไร