ระบบตามหาคน
ประสบการณ์จากเหตุสึนามิที่มีความอลหม่าน ทำให้เนคเทคพัฒนาระบบตามหาคนขึ้นมา”สอง”ระบบ ซึ่งมีประสิทธิภาพดี เมื่อโทรศัพท์แน่นไปหมด
ระบบแรกเป็นระบบตามหาคน Missing person เป็นระบบให้ผู้ตามหาผู้(ที่คาดว่าจะ)ประสบภัย ได้มาลงทะเบียนว่าตามหาคนชื่อ “nnnnn” อยู่นะ ในขณะที่เขียน ระบบนี้ยังทำงานอยู่ แต่ก็ไม่ค่อยมีใครใช้
ส่วนอีกระบบหนึ่งนั้นก็ไม่ใช่ความคิดใหม่ เมื่อคราวเกิดแผ่นดินไหวใหญ่ที่เมืองโกเบในญี่ปุ่น ต้นปี 1995 เขามีระบบ I Am Alive ซึ่งปรากฏอยู่ใน ISOC INET2000 proceedings เพื่อให้ผู้ประสบภัยที่รอดจากภัยพิบัติ แต่พลัดหลงกับครอบครัวแล้วไม่รู้จะไปตามหากันที่ไหน ได้มาลงทะเบียน อย่างน้อยเผื่อว่ามีใครตามหาอยู่ จะรู้ว่ายังปลอดภัย — ขณะนี้ ระบบ I am alive ในเมืองไทยไม่ได้ทำงานอยู่ครับ
สำหรับสถานการณ์ฉุกเฉินแบบกรณีสึนามินั้น ผมคิดว่าทั้งสองระบบทำงานได้อย่างวิเศษครับ เหมาะมากกับสถานการณ์ที่มีศูนย์พักพิง โรงพยาบาลสนาม หรือส่งต่อไปยังโรงพยาบาลอื่น กระจัดกระจายกันอยู่ อยู่กันคนละกระทรวง โดยที่การตรวจสอบรายการชื่อของคนเข้าออก กระทำได้ลำบากเนื่องจากเจ้าหน้าที่มีงานล้นมือ… เรื่องแบบนี้ ควรจะใช้คอมพิวเตอร์ค้นหาเอา
แต่ขอร้องอย่างหนึ่งครับ ว่าอย่าเอารายชื่อในฐานข้อมูลขึ้นเว็บเด็ดขาด มันเป็นการละเมิดความเป็นส่วนตัวและความปลอดภัยที่คนไม่ค่อยคิดกัน
หากตามหาใคร ก็ควรรู้ชื่อของผู้ที่ตามหาซิครับ
ในการค้นหา ผู้หาจะต้องป้อนชื่อ นามสกุลเข้าไป จริงอยู่ที่อาจจะสะกดไม่ถูกก็เป็นได้ แต่กระบวนการทางคอมพิวเตอร์จัดการได้ง่าย
Human Language Technology Lab (@HLT_LAB) เคยทวิตเผยแพร่งานวิจัยเมื่อสามเดือนก่อน พออ่านเจอ ผมก็บอกว่าอยากได้ text-to-phoneme ครับ ได้รับคำตอบว่า ใช้ Grapheme-to-phoneme ซึ่งเมื่อทดสอบดูแล้ว ก็ใช้งานได้ตามวัตถุประสงค์
Grapheme-to-phoneme ก็จะเหมือนกับเปลี่ยนข้อความภาษาไทยให้เป็นอักขระของเสียงอ่าน
ในหน้า Grapheme-to-phoneme เลือก SYL-Pattern เลือก Romanize และ Syllable segment จากนั้นพิมพ์ชื่อ(ภาษาไทย)ลงไปในช่อง Thai text กด Submit ครับ
อย่างคำว่า พิสิทธิ์ พิสิฐ พิศิษฐ์ พิสิษฐ์ เวลาใส่ไปทีละคำ ทั้งสี่คำจะให้อักขระของเสียงอ่านเหมือนกัน
เมื่อใส่ชื่อครั้งหนึ่ง นามสกุลอีกครั้งหนึ่ง เราก็จะได้คำอ่านทั้งชื่อและนามสกุลออกมา เพิ่มสดมภ์ในฐานข้อมูลเข้าไปอีกสองช่องสำหรับเสียงอ่านของชื่อและนามสกุล ทีนี้ไม่ว่าจะพิมพ์ผิดที่ศูนย์ฯ หรือผู้ตามหาพิมพ์ผิดเอง การเปรียบเทียบเสียงอ่านของชื่อและนามสกุล ก็จะพบได้ง่ายครับ — ไม่ต้อง hash ด้วย เสียเวลา
ถ้าคนคนเดียวกัน ปรากฏชื่อทั้งใน Missing person และ I am alive คนคนนั้นรอดครับ
« « Prev : เรื่องสำคัญที่โรงเรียนไม่สอน แถมพ่อแม่ก็ไม่บอกอีก
Next : โจดี้ วิลเลียมส์ พูดเรื่องสังคมสันติสุข » »
6 ความคิดเห็น
ระหว่างสินามิ ระบบไฟฟ้า ประปา อาจใช้ไม่ได้นะครับ อย่าว่าแต่อินเตอร์เน็ท ที่ประเทศไทยเราแม้วันนี้ก็ยังมีคนไม่เกิน 10% ใช้กัน
ผมเห็นว่าในสถานการณ์เช่นนี้ ระบบmanual ที่บริหารจัดการให้ดี น่าจะดีที่สุด เช่น หมอ พยาบาล ถามว่า คุณเป็นใคร มาจากไหน ต้องการให้สื่อสารไปบอกใคร เบอร์โทร อะไร สำนักงานหรือบ้าน ..จากนั้นก็ส่งข่าวต่อเป็นทอดๆ มี hub มี link แบบเดิมๆ ไม่เกินสองวันก็ถึงกันหมดแล้วนะ..ผมว่า
ส่วน อินเตอร์เน็ท ก็เป็นระบบเสริม หรืออาจกลายเป็นระบบหลักก็เป็นได้ถ้ามีปัจจัยเสริมที่เหมาะสม
ระบบฉุกเฉินแบบนี้ หลีกเลี่ยงจุดตาย (single point of failure) ถ้าใช้อินเทอร์เน็ตก็จะสะดวกขึ้น แต่ถ้าไม่มีสาย ก็ไม่ใช่ว่าจะใช้ไม่ได้ — จะใช้ EDGE/GPRS จะไปโทรศัพท์ผ่านดาวเทียม ใช้วิทยุสมัครเล่น ใช้ wifi mesh ไปถึงจุดเชื่อมอินเทอร์เน็ตที่อยู่ใกล้ก็ได้ทั้งนั้นครับ พวกนี้ใช้งานจริงในเวลาที่เกิดเหตุ — หรืออย่างเหตุการณ์สู้รบบริเวณชายแดนเมื่อเร็วๆ นี้ เฉพาะในศรีสะเกษ มีศูนย์อพยพ 40 แห่ง แค่ขึ้นรถกันคนละคันแล้วต้องวิ่งตามหาก็แย่แล้วครับ ยังมีศูนย์ที่อุบลกับสุรินทร์อีกหลายศูนย์ (บุรีรัมย์กับสระแก้วเตรียมพร้อม)
เห็นด้วยครับ ในเวลาฉุกฉิน ใครมีอะไรก็ต้องใช้ก้นให้ถึงที่สุด เพื่อสื่อสารให้รู้กันทั่ว ทั้งโลว มีเดียม ไฮเทคทั้งหลาย
ทหารเรือ แม้ในวันนี้ยังเรียนการส่งข้อความด้วยการตีธงด้วยมือ ทั้งที่ห้องยุทธการมีระบบสื่อสารอิเล็กทรอนิกส์พร้อมมูล
น่าขำที่ทหารอากาศยุคแรกๆ ก็ใช้ระบบยืนตีธงที่ริมปีกเครื่องบินด้วย
คนหายที่น่ากลัวที่สุดคือ ปัญญาชนหายไปหมด หาไม่ค่อยเจอในวันนี้ครับ อิอิ
ขอชี้แจงเรื่องระบบ grapheme-to-phoneme ( http://www.hlt.nectec.or.th/speech/g2p/ ) ค่ะ
ตอนนี้ G2P web service กลับมาให้บริการได้แล้ว ช่วงที่ผ่านมามีการปรับปรุง server เลยอาจมีปัญหาบ้างค่ะ
ส่วน G2P algorithm โดยทั่วไปแล้ว SYL-Pattern จะให้ความถูกต้องมากกว่า PGLR
แต่กรณีที่มีตัวการันต์แนะนำให้ใช้ PGLR จะดีกว่าค่ะ เพราะ SYL-Pattern จะยังมีรูปแบบของตัวการันต์ไม่ครบ อยู่ระหว่างการปรับปรุงในเวอร์ชั่นถัดไปค่ะ
ช่วงที่กระบี่เจอสึนามิ ในช่วงที่เจอ traffic jam ที่นี่ก็ทำอย่างที่อาจารย์ทวิชว่า จัดการรวบรวมข้อมูลข่าวบุคคลทำทะเบียนไว้แบบ stand alone ไปก่อน ใช้คนเดินสารช่วยกันรวบรวมข้อมูลมาให้จุดที่เป็น center ป้อนข้อมูล แต่ละวันก็มี reprint ออกมาให้ update กัน ข้อมูลอะไรที่ update เช่น เจอคนเป็น เจอคนตาย มีตำหนิอะไรที่พบเพิ่มเติม มีข้อมูลอะไรเกี่ยวกับการพิสูจน์บุคคลได้ ก็ทำกันไป ช่วงที่ internet เริ่มใช้การได้ ก็จัดให้มีชุดของอีเมล์รับข่าวสารจาก connection มา update และ recheck กัน ร.พ.ทำงานกับ volunteer ฝรั่งส่งลูกกันไปมาอย่างนี้ และให้คนของเขาช่วยดูแลคนต่างชาติ พวกเราดูแลคนไทย และสนับสนุนประสานเข้าสู่ connection ของการส่งต่อทั้งในภาครัฐและภาคเอกชน มีคนรับลูกเรื่องคนไข้ส่งต่อ เช็คและเคลียร์ traffic jam ให้ที่สนามบิน การทำงานในครั้งนั้น มีการเชื่อม connection กับสายการบินและเครื่องบินของกองทัพด้วย ตชด.เข้ามา support เรื่องของการจัดการสำรวจสถานการณ์
ที่สำคัญในเรื่องของเวลาฉุกเฉินก็คือ ทุกคนจะเฮโลกันถามข่าวมาที่ร.พ. ทำให้พวกเราเสียเวลาทำงาน เสียคนเข้ามาจัดการกับการติดต่อถามข่าวกันมากโข
ตรงนี้จะจัดการให้เกิดความลงตัวยังไงให้เชื่อมต่อให้ลงตัว ฝากทบทวนค่ะ
ของโรงพยาบาลกระบี่ ผมก็เห็นข้อมูลเป็น spreadsheet — ไม่ได้ว่าอะไรหรอกนะครับ เข้าใจข้อจำกัด แต่ข้อมูลใน spreadsheet ให้คนดาวน์โหลดไปดูเอง ถ้าหาไม่เจอ ก็ต้องมาโหลดไปดูใหม่ ซ้ำไปซ้ำมาเพราะไม่รู้ว่าอัพเดตเมื่อไหร่ — ผมก็ทำครับ นอกจาก รพ.กระบี่แล้ว ผมยังดูดข้อมูลมาจากเว็บของหน่วยราชการอีก 17 แห่ง วันละหลายครั้งอีกด้วย มีหลากหลายแบบ ทุกครั้งที่ดูดข้อมูล ต้องทำ data cleansing ใหม่ทั้งหมด แถมมีลักษณะ field ไม่ตรงกันด้วย
เมื่อทรัพยากรไม่พอ มีทางออกอยู่สามทาง (1) เลือกทำสิ่งที่สำคัญและเร่งด่วนกว่า (2) ประหยัดทรัพยากรใช้เวลาต่อเคสให้น้อยลง (3) หาทรัพยากรเพิ่ม — การใช้ volunteer เป็น (3) แพทย์พยาบาลเป็น (1) ส่วน (2) ทำไม่ได้เพราะชีวิต+ความปลอดภัยของคนไข้สำคัญที่สุด
ถ้าเหตุเกิดที่ รพ.กระบี่ที่เดียว จะทำอะไรก็ได้ครับพี่ ทีนี้ถ้าเกิดมีหลายศูนย์ขึ้นมา แต่ละศูนย์ต่างคนต่างทำไปตามข้อจำกัดของตน ข้อมูลจะเข้ากันไม่ได้เลย — ของ รพ.หรือศูนย์นเรนทร(ก่อนเปลี่ยนชื่อ)หนักไปทางข้อมูลทางการแพทย์ ชื่อ admit/discharge อาการ อยู่ ward ไหน/transfer ไปไหน (แต่ไม่มีกรุ๊ปเลือด) ฯลฯ ข้อมูลทางมหาดไทยกลับเป็นอีกอย่าง เช่น ชื่อ ที่อยู่ เลขประจำตัว สัญชาติ หรือของศูนย์พักพิงชั่วคราวรอส่งกลับที่ธรรมศาสตร์ ก็เป็นอีกแบบหนึ่ง
ตำหนิของคน แม้แต่รอยสัก แหวน สร้อยคอ เสื้อผ้า ใช้พิสูจน์เอกลักษณ์ตามกระบวนการ DVI ไม่ได้ครับ มีแค่สามวิธีคือ DNA ลายนิ้วมือ และประวัติการทำฟัน — กรณีเครื่องบินชนตึก ใช้พิสูจน์ DNA เป็นส่วนใหญ่เพราะสภาพศพเป็นชิ้นๆ แต่สมัยสึนามิ ประวัติการทำฟันพิสูจน์เอกลักษณ์ได้มากที่สุด
ซึ่งก็เพราะว่าเกิดความอลหม่านเวลาผู้คนเฮโลมาถามข้อมูลนี่ล่ะครับ ที่จำเป็นต้องมีระบบจัดการเสียที — เมื่อมองใกล้ เห็นภาพใกล้ ถ้าถอยออกมาสิบก้าว อาจเห็นอีกภาพหนึ่งครับ
หลังสึนามิเข้าวันสองวัน ตอนนั้นผมช่วยหาคนได้สองคนแล้ว ก็ได้รับเมลมาจากอิหร่าน (เข้าใจว่าเป็นผู้หญิง) ถามหาผู้ชายคนหนึ่ง เค้าให้ชื่อมายาวเหยียด ใช้ภาษาอังกฤษแบบอิหร่านแต่พอดูออกว่าเธอกระวนกระวายใจมาก พอถามไปว่าติดต่อกันครั้งสุดท้ายอยู่บริเวณไหนเมื่อไหร่ เค้าบอกเมื่อสามสี่วันก่อนอยู่พัทยา ผมค้นฐานข้อมูลที่ผมดูดมาในตอนนั้น ก็ไม่พบ ได้แต่ปลอบใจไปว่าพัทยาอยู่อีกฝั่งหนึ่งของทะเล อยู่ห่างภูเก็ตพันกิโล ถ้าอยู่พัทยาจะไม่ได้รับผลกระทบแน่นอน ขอให้รอโทรศัพท์ติดต่ออีกสักวันสองวัน แล้วเธอก็เงียบไป
เคสนี้คงไม่มีอะไรครับ แต่การถามมานี้ มีสี่เมล ดังนั้นผมเข้าใจจริงๆ ว่าการสอบถามแต่ละครั้งเนี่ย วุ่นวายขนาดไหน สิ่งที่ควรทำคือให้ผู้สอบถามค้นหาข้อมูลได้เอง แทนที่จะต้องมีคนไปคอยช่วยครับ คนเราไม่พออยู่แล้ว จะได้ไปทำงานที่มีประโยชน์มากขึ้น
สิ่งที่เสนอในบันทึกนี้ ตรวจชื่อนามสกุลตามเสียงอ่าน ไม่สนใจด้วยซ้ำว่าชื่อเป็นภาษาอะไร แค่ออกเสียงเป็นภาษาไทยให้ถูกก็พอ จึงตัดประเด็นเรื่องตัวสะกดออกไปครับ จะได้ไม่ต้องโทรมาถามอีกครั้งหนึ่ง แล้วอาสาสมัครจะได้เอาเวลาไปช่วยคนที่ช่วยตัวเองไม่ได้