เก็บตะวัน (1)
อ่าน: 5762เป็นที่รู้กันว่าถ้าหากจะรวมแสงอาทิตย์ ก็จะได้ความร้อน จากนั้นเปลี่ยนความร้อนไปเป็นพลังงานรูปอื่น เพื่อใช้งานได้ตามหลักการอนุรักษ์พลังงานได้
ความร้อนจากดวงอาทิตย์ รวบรวมได้ในสองลักษณะ คือใช้เลนส์นูนวางหน้าจุดโฟกัส หรือใช้กระจกวางด้านหลังจุดโฟกัส บันทึกนี้พูดถึงลักษณะหลังครับ
ไม่ต้องห่วงว่าบันทึกของผม จะเป็นเรื่องพื้นๆ หรอกครับ แต่จำเป็นต้องปูพื้นกันก่อน เพราะว่าบล็อกนี้มีผู้อ่านหลากหลายเหมือนกัน
ดวงอาทิตย์ให้พลังงานเฉลี่ย 1000 W/m2 พลังงานนี้ ตกกระทบพื้นโลกโดยที่เราไม่ได้ร้องขอ และปล่อยทิ้งไปเฉยๆ แต่แสงแดดก็สร้างคณูปการแก่โลก ในแง่ของการสร้างภูมิอากาศ การสังเคราะห์แสงแก่พืชซึ่งเป็นต้นทางของห่วงโซ่อาหาร
รูปข้างบนเป็นการเก็บเกี่ยวพลังงานจากแสงอาทิตย์ โดยพยายามรวมแสงไว้ที่ตัวรับ ซึ่งจะเปลี่ยนเป็นความร้อนให้เรานำไปใช้อีกทอดหนึ่ง มีสามลักษณะใหญ่ๆ คือ
Parabolic Through ท่อนำความร้อน
ใช้กระจกพาราโบลา (คล้ายทรงกระบอก) สะท้อนแสงแดดเข้าสู่จุดโฟกัส ซึ่งก็คือศูนย์กลางความโค้งนั่นเอง ภายในท่อนำความร้อนซึ่งถูกเผาโดยแสงอาทิตย์ จะมีน้ำ น้ำเกลือ หรือน้ำมันเป็นของเหลวที่นำความร้อน
เพราะว่าดวงอาทิตย์เคลื่อนที่ข้ามท้องฟ้า และจะให้พลังงานสูงสุดก็ต่อเมื่อแสงอาทิตย์ตกกระทบในแนวตั้งฉาก ดังนั้นตัวรับความร้อนแบบท่อนำความร้อน ก็ต้องหันหน้าเข้าหาดวงอาทิตย์ตลอดเวลา
การหมุนหันหน้าเข้าหาดวงอาทิตย์แบบนี้ไม่ยากเท่าไหร่ เพราะเป็นการหมุนในแกนเดียวคือหมุนให้แผงรับแสงหันในแนวตะวันออกไปตะวันตก ส่วนแกนของท่อจะวางในแนวเหนือใต้เอียงเล็กน้อย
ที่ต้องเอียงเพราะเมืองไทยไม่ได้ตั้งอยู่บนเส้นศูนย์สูตร อย่างบ้านผมอยู่นนทบุรี ประมาณ 14° เหนือ ก็จะต้องวางให้ปลายท่อด้านทิศใต้ ต่ำกว่าปลายท่อทางทิศเหนือ โดยท่อนำความร้อน เอียงทำมุมกับแนวระนาบ 14° เช่นเดียวกัน ที่นราธิวาสควรเอียง 6° และเชียงรายควรเอียง 20° — อยู่ตรงเส้นรุ้งที่เท่าไหร่ ก็วางท่อนำความร้อนให้เอียงเท่านั้น
อัตราการหมุนก็ไม่ได้ยากเย็น เพราะว่าดวงอาทิตย์โคจรต่อเนื่องด้วยอัตราชั่วโมงละ 15° เสมอ (วันหนึ่งมี 24 ชั่วโมง) ดังนั้นถ้าคิดแบบง่ายๆ ก็ใช้มอเตอร์ความเร็วคงที่ แล้วทดเกียร์เอาจนได้อัตราการหมุนที่ 15°/ชม.
พลังงานที่ท่อนำความร้อนได้รับ ก็ประมาณพื้นที่หน้าตัดของกระจกเมื่อหันหน้าตรงเข้าสู่ดวงอาทิตย์ ยิ่งใช้กระจกใหญ่ก็จะยิ่งได้พลังงานมาก แต่ว่าจะหมุนยากขึ้นเพราะน้ำหนักมากขึ้นตามไปด้วย
ในวันที่แดดจัดและไม่มีเมฆ ท่อนำความร้อนในรูป จะให้อุณหภูมิได้ถึง 400°C (ถ้าท่อและกระจกยาวพอ) แต่ถ้าสั้นกว่านี้ อุณหภูมิก็ลดลง เพราะมีพื้นที่เก็บพลังงานน้อยลง
Heliostat ฮีลิโอแสตด ตัวรับความร้อนแยกกับกระจก
อันนี้เป็นหลักการของตำนานอันหนึ่ง ซึ่งเคยบรรจุอยู่ในแบบเรียนสมัยผมเด็กๆ ว่าอคีมีดิสแห่งเมืองซิราคิวส์สมัยโบราณ ใช้โล่ขัดเงาสะท้อนแสงอาทิตย์ไปเผาเรือของข้าศึกที่บุกเข้ามา — เรื่องนี้มีผู้พิสูจน์แล้วว่าไม่จริงนะครับ ขนาดใช้กระจกเงาซึ่งสะท้อนแสงได้ดีกว่าโล่ขัดเงา ยังสร้างความร้อนไม่พอจะติดไฟเลย เพราะว่าความร้อนไม่รวมเป็นจุด แต่กระจายกันอยู่บนพื้นที่รับแสง
เนื่องจากกระจกวางอยู่กับพื้น แยกออกจากหอคอยรับแสงสะท้อน ฮิลิโอสแตด มีข้อดีที่สามารถเพิ่มพื้นที่กระจกไปได้เท่าที่ต้องการ รูปข้างบนเป็นฮีลิโอสแตดที่นำความร้อมาปั่นไฟฟ้าขนาด 10 MW ข้อดีอีกอย่างหนึ่งคือพื้นที่รับความร้อนบนหอกว้างใหญ่ขึ้นมาก และรับแสงได้จากทุกด้าน เพราะว่าวางกระจกได้รอบตัว
แต่เรื่องที่ยากคือว่า เนื่องจากกระจกจะต้องสะท้อนแสงจากดวงอาทิตย์ซึ่งเคลื่อนที่ตลอดเวลา ไปยังถังรับแสงซึ่งอยู่กับที่ การควบคุมกระจกแต่ละบานจึงซับซ้อนมาก และจะต้องพลิกตัวสองมิติ ทำให้กระจกแต่ละบานเอียงไม่เท่ากันเลย และไม่หมุนด้วยอัตราเท่ากับเลยทั้งสองมิติตลอดทั้งวัน ทำให้การควบคุมมุมเอียงของกระจกแต่ละบานซับซ้อน
Parabolic Disk จานรับแสงอาทิตย์
อันนี้อาจจะเป็นแบบที่เห็นกันมากจนรู้สึกว่าเป็นเรื่องง่ายๆ ตรงไปตรงมา แต่ที่จริงๆม่ง่ายหรอกครับ ถ้าง่ายคงเห็นกันเกลื่อนกลาดแล้ว
จานรับแสงอาทิตย์เป็นจากเส้นกราฟพาราโบลาที่หมุนรอบแกน ปรากฏเป็นรูปจานสามมิติ ถมื่อแสงตกกระทบผิวพาราโบลาซึ่งเป็นกระจก แสงจะสะท้อนไปเข้าจุดโฟกัส ทำให้รวบรวมความร้อนต่อพื้นที่สะท้อนแสงได้มากที่สุด
แล้วแต่ขนาดพื้นที่ของกระจกสะท้อนแสง ตัวรับแสงที่อยู่จรงจุดโฟกัสอาจจะมีอุณหภูมิสูงหลายพันองศา แม้แต่โลหะก็อาจหลอมละลาย จึงต้องหาวัสดุที่นำความร้อนได้ดี แต่ทนความร้อนสูงมาทำเป็นตัวรับแสง
ในปัจจุบัน จานรับแสงมักติดตั้งเครื่องยนต์สเตอร์ลิงไว้ที่ปลาย ซึ่งจะเปลี่ยนความร้อนเป็นไฟฟ้าทันที แต่ว่าด้วยความยาวของบันทึกนี้ (มี feedback ว่าผู้อ่านไม่ชอบอ่านเรื่องที่ยาวเกินไป ทำให้ประสาทเสีย) คงต้องยกยอดไปไว้ในบันทึกอื่น
แล้วรวบรวมความร้อนไปทำไม
ตอบแบบรวบรัดนะครับ
- อบพืชผลทางการเกษตร ไล่ความชื้น ทำให้ราคาพืชผลสูงขึ้น
- ปั่นไฟฟ้า สร้างรายได้ประจำ การไฟฟ้ารับซื้อไฟฟ้าที่ผลิตจากแสงอาทิตย์ ในราคาที่สูงกว่าราคาที่การไฟฟ้าขายไฟฟ้าให้เรา 8 บาท/หน่วย เป็นเวลา 10 ปี (หน่วยคือ kWh) ถ้าหากว่าพื้นที่ตรงนั้นการไฟฟ้าผลิตไฟฟ้าจากน้ำมัน จะซื้อแพงขึ้นอีกหน่วยละ 1.5 บาท และถ้าผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ในเขตสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ จะเพิ่มราคารับซื้อให้อีกหน่วยละ 1.5 บาท — ไม่ว่าค่าไฟจะขึ้นไปเป็นเท่าไหร่ ราคาที่การไฟฟ้ารับซื้อจากเราก็จะสูงกว่าราคาที่การไฟฟ้าขายเสมอ
- ส่วนหนึ่งของภาษีมูลค่าเพิ่มจากการขายไฟฟ้าให้การไฟฟ้า (การไฟฟ้าหักเลย เบี้ยวไม่ได้ เลี่ยงไม่ได้) จะตกอยู่กับท้องถิ่น เป็นรายได้ให้ อปท.เอาไปพัฒนาท้องถิ่น — ถ้าเขาโกง ต้องโทษตัวเองที่ไม่เอาใจใส่ดูแลท้องถิ่นของเราเอง
ครูบาเคยเล่าให้ฟังถึง อ.โพนทราย จ.ร้อยเอ็ด ว่ามีสภาพแห้งแล้งเหมือนเป็นทะเลทรายสุดลูกหูลูกตา แม้แต่พืชก็เป็นพืชแบบทะเลทราย มีพื้นเป็นทราย ดูใน Google Maps แล้ว ผมแปลกใจเหมือนกันนะครับ ไม่นึกว่าจะมีพื้นที่อย่างนี้อยู่ในเมืองไทย ที่จริงแล้วมีอยู่หลายแห่งด้วย
ไม่รู้ว่าชาวบ้านอยู่กันยังไงหรอกนะครับ แต่เขาอยู่กันมาได้ก็แล้วกัน ซึ่งคนเราถ้ามีทางเลือก คงไม่เลือกที่จะอยู่ในที่กันดาร ความกันดารแร้งแค้นมักจะทำให้หากกินลำบาก จะย้ายออกมาก็ไม่ได้เพราะมีถิ่นฐานอยู่ตรงนั้น
ถ้าอยากสร้างโอกาสให้ชาวบ้าน ก็ต้องนำโอกาสเข้าไปสู่พื้นที่ครับเพราะเขาออกมาไม่ได้ ในเมื่อพื้นที่แร้งแค้น ปลูกต้นไม้ไม่ได้ ถึงมีน้ำก็ต้องเก็บไว้สำหรับการอุปโภคบริโภค อุตสาหกรรมไม่มีเพราะไม่มีถนนใหญ่ -แต่- พื้นที่อย่างนี้ อาจเหมาะกับการวิจัยหรือการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์นะครับ
กรณีอย่างโพนทรายนี้ มีอยู่ทั่วไปในเมืองไทย แต่คนเมือง (ไม่เฉพาะคนกรุงเทพ) ซึ่งเป็นประชากรประมาณครึ่งหนึ่ง มักเห็นเป็นเรื่องไกลตัว ไม่รู้ ไม่เห็น ไม่เกี่ยว คนมีความรู้ ก็เฉยๆ ไม่ได้รู้เลยว่าความรู้ที่เปลี่ยนเป็นการกระทำ(ที่เป็นประโยชน์)ไม่ได้นั้น ไม่ต่างอะไรกับการไม่มีความรู้เลย คือว่าทุกอย่างเหมือนเดิม ไม่มีอะไรเกิดขึ้น
ไม่มีอะไรจะทนความกดดันที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ได้หรอกนะครับ
เพ้อเจ้ออีกแล้ว…
« « Prev : การสร้างหลักประกันให้ผู้ประกอบการใหม่
13 ความคิดเห็น
“ไม่มีอะไรจะทนความกดดันที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ได้หรอกนะครับ”
ทั้งกด และดัน เป็นพลังจุดระเบิดทางสังคมได้
แต่ละพื้นที่มีจุดเด่น แม้แต่ที่โพนทราย ที่ตั้งอยู่บนพื้นทราย
ถ้าได้คิด ก็จะมีเรื่องค้นหาความรู้ดีๆไปใส่ความคิด ให้ผลิตสติปัญญา แก้ปัญหาได้อย่างบรรจง
ชักอยากจะได้เอาแสงอาทิตย์มาอบใบไม้แห้งเสียแล้ว คัน คัน ความคิด ดีกว่าคันหัวจ๋าย อิ อิ..
; วันหลังจะพาลุนอำเภอโพนทรายนะครับ ไม่ได้ไปมา 20 ปี อาจจะเปลี่ยนแปลงอะไรไปบ้างก็ไม่รู้ อิ อีกที
เอาความร้อนมาอบข้าวไล่ความชื้น จะขายได้ราคาดีขึ้น ถ้าอบกิ่งไม้ซึ่งกองสุมกันไว้ จะทำให้ตัดเป็นเศษเล็กๆ ได้ง่ายขึ้น หรือเอาเศษไม้แห้งไปเข้าเตาทำก๊าซเชื้อเพลิงจากเศษไม้ ประสิทธิภาพก็จะสูงขึ้นอีกครับ
เครื่องปั่นจนแห้งเป็นผง น่าสนมากครับ
แถวนั้นมีชาวบ้านมาเรียนรู้เยอะ จะได้เผยแพร่ออกไปในวงกว้าง ชาวบ้านไม่อ่านบล็อก แม้แต่ชาวเน็ตก็มีโอกาสเจอบล็อกนี้น้อยนะครับ ที่เจอแล้วเข้าใจว่ามีประโยชน์อย่างไรยิ่งมีน้อยใหญ่เลย
นึกว่าเพลงอมตะ…เก็บตะวัน…ของคุณอิทธิ พลางกูร ^_^
คนไม่มีประสบการณ์ตรง ขอแจมนิดนะคะ…
บันทึกหลายบันทึกในบล็อกลานซักล้าง เป็นความรู้ที่มีมิติกว้าง หลากหลายและเป็นประโยชน์ต่อพื้นที่ในชนบท ทั้งเรื่อง น้ำ พลังงาน เทคนิคการดูแลพืัชพันธุ์ ฯลฯ
เคยคิดว่าแล้วทำอย่างไรจะให้ความรู้ในบล็อกนี้ไปสู่พื้นที่จริง ๆ ได้ เพราะชาวบ้านไม่มากนักที่จะอ่านบล็อก ความรู้มากมายมหาศาลเพียงใด หากผู้ใช้ไม่สามารถเข้าถึงได้…ประโยชน์ก็อาจไม่เกิดขึ้น
คิดเรื่อยเปื่อยว่า หาก Rewrite เป็นเวอร์ชั่นภาษาชาวบ้าน จัดพิมพ์เป็นคู่มือที่มีเกร็ด (เล็กหรือใหญ่ก็แล้วแต่) ความรู้ ลองใช้ในพื้นที่ของพ่อครูบาและเครือข่ายหรือจะส่งมอบต่อให้พี่บางทรายไปใช้ในเครือข่ายดงหลวง น่าจะดี…
เพ้อเจ้อบ้าง..ฮา ๆ
คนที่บักโกรกป่วยไข้มานาน พิมพ์หนังสือแจกก็ไม่อ่าน ต่อให้จับมือทำ พอกลับบ้านก็เฉยเหมือนเดิม เพราะว่าเขามีปัญหาอื่นเยอะแยะอยู่แล้ว… แต่ว่าถ้าเขารู้ว่าทำแล้วเกิดประโยชน์ทันที อย่างนี้จะทำครับ นี่ไง!!! ประชานิยมถึงได้ฮิตติดตลาดไปทั่ว
ผมคิดว่าทางที่เหมาะคือรวมกำลังสร้างของจริงให้ดู ที่สำคัญคือจะต้องชี้ประโยชน์ด้วยว่าทำแล้วได้ทันทีอย่างไร; ถ้าทำแล้วเขาได้ทันที นั่นล่ะครับ จึงจะสนใจใคร่รู้ ต่อให้ต้องทำเองหรือลงทุนเองก็จะทำ แต่ถ้าทำแล้วมันจะดีขึ้นในอีกสามปี เขาก็จะรอไปก่อน… ชาวบ้านกับนักวิชาการจึงไม่เข้าใจกัน และชาวบ้านจึงถูกพ่อค้าเอาเปรียบอยู่ตลอดเวลา เพราะพ่อค้าเสนอประโยชน์เฉพาะหน้าให้… เหมือนคนขาดอากาศหายใจ เอาอากาศให้ก็รอดแล้ว ไม่ต้องเป็นออกซิเจนหรอกครับ ใครยื่นอากาศให้ คนนั้นเป็นคนดีโดยอัตโนมัติ
ผมไม่เชื่อโมเดลของอัศวินม้าขาวที่แก้ปัญหาให้ทุกคนหรอกนะครับ ทำเครื่องสาธิตให้ดูอันเดียว ทิ้งความรู้ไว้ที่แหล่งความรู้เช่นสวนป่า ใครอยากเอาไปทำก็เชิญ ไปเรียนเอาเอง
ความรู้เกี่ยวกับชีวิตเป็นสหวิทยาการ มีความกว้างและต้องลงลึกได้เมื่อต้องการ อย่างไรก็ตาม จะแก้ปัญหาของชาวบ้านโดยนั่งคิดเอาเองอยู่ในเมืองไม่ได้หรอกนะครับ
นักวิชาการในหอคอยงาช้าง…เลยงง ๆ
ทำอะไรไม่ถูกเำพราะไม่เคยทำจริง…เป็นพวก NATO ตลอดกาล
จะแก้ปัญหาให้ชาวบ้านต้องทำจริง
ที่ไหนดีคะ … หากมีโอกาสจะได้ร่วมกันช่วยกันค่ะ
ไปสวนป่าซิครับ ไปกับจานปูก็ได้ (ระวังถูกกรี๊ดใส่) หาโอกาสไปเรียนรู้จากของจริง แล้วมุมมองอาจจะเปลี่ยนไป
โห ป๋านำเข้าสู่บทเรียนได้ถูกจายยเจง ๆ ถ้าแน่จริงต้องไปดูให้เห็น ไปให้ถึงแหล่งเรียนรู้ที่เขามีการปฏิบัติกันจริง ๆ น่าจะดีเนาะคะ
คิด(ไปเอง)เยอะ ออกแบบแยะ แต่ไม่เคยปฏิบัติ ก็ได้แต่นั่งสงสัยไปเรื่อย ๆ ยังไงไปให้ถึงแหล่งเรียนรู้จริง ก็มีโอกาสได้ “อะไร” มากกว่านั่งรอบนหอคอยอ่ะนะ (สูงมากไม๊ มีบริการสั่งของกิน delivery อ๊ะป่าว ขึ้นลงระวังมีปัญหาเรื่องหัวเข่าและไขข้อนะ กั่กๆๆ)
ให้โอกาสกับชีวิตด้วยการเพิ่มมุมมองใหม่ ๆ บ้าง ก็ไม่เลวนะคะ
สะดวกเมื่อไหร่ว่ามาเลยค่ะ แจ้งล่วงหน้าซัก 2 เดือนน่าจะดี อิอิ ครูปูยินดีเป็นเพื่อนร่วมทางเสมอค่ะ แต่ไม่สะดวกนำทางนะคะ เพราะก่อนมาใช้นามสกุลนี้ เคยใช้ “แซ่หลง” มาก่อนอ่ะค่ะ กร๊ากกก….
หมายเหตุ ไม่เคยกรี๊ดใส่ใครเลยนะคะ เพราะเกรงว่าจะไม่งามอ่ะค่ะ เอิ๊กซ์
กำลังเขียนตอนต่อไปอยู่พอดี ไม่พูดมากล่ะครับ เดี๋ยวหมดมุกเขียน
ขออนุญาตใช้พื้นที่บันทึกคุณ Logosนี้คุยกันค่ะ
ขอบคุณล่วงหน้าค่ะ
ครูปูคะ นักวิชาการนั้น ก็คล้ายกับ “ราพันเซล”ที่ถูกแม่เลี้ยงใจร้ายจองจำไว้บนปราสาท ต้องไว้ผมให้ยาว ๆ พอที่จะหย่อนลงไปรับเจ้าชายขึ้นมาช่วยตัวเองลงไปจากหอคอยที่ถูกขังอยู่ได้ (การ์ตูนแสนสนุกที่ดูตั้งแต่เด็ก ๆ)
นักวิชาการมักติด “กรอบ” (เหมือนติดอยู่บนปราสาท) ที่ไม่รู้ใครสร้างขึ้นมา บางทีอาจสร้างขึ้นมาเองก็เป็นได้
ที่ทำงานของตัวเองเขาเรียกว่า “หอคอยงาช้าง” บางทีก็เรียก “ศาลพระภูมิ” เพราะทำเรื่องนโยบายการศึกษาของชาติแต่…นำไปปฏิบัติจริงไม่ได้สักเรื่องเลย…(ฮาไม่ออก)
ชินแล้วด้วยค่ะ ที่จะถูกหาว่าเป็น นักวิชาเกิน พวกเพ้อเจ้ออยู่บนหอคอย น่ะ…เห็นด้วย ๆๆอย่างแรง เพราะเป็นเช่นนั้นจริง ๆ
สวนป่าของครูบานั้นเคยไปประมาณ 4 ครั้ง แต่ไม่ค่อยได้เดินดูหรือศึกษาอะไร เพราะมัวแต่เป็นนักวิชาเกิน คอยประสานงานดูแลผู้ใหญ่ที่ไปดูงานค่ะ
หากฤกษ์งามยามดี เราคงได้ไปที่สวนป่าด้วยกันนะคะ
ปล. ถึงกรี๊ดก็ไม่ว่าค่ะ … คงน่ารักดี ไม่น่าเกลียดหรอก…รับรอง
[...] solar collector ที่เขียนไปในตอนที่แล้ว: ฮีลิโอสแตด (Heliostat) [...]
ทำเรื่องนี้อย่าลืมใส่แว่นตาดำ เดี๋ยวจะตาถั่วได้ แคว๊กๆ