พระราชดำรัส วันเฉลิมพระชนมพรรษา ๔ ธันวาคม ๒๕๓๕

โดย Logos เมื่อ 3 June 2011 เวลา 0:02 ในหมวดหมู่ ประสบการณ์ชีวิต #
อ่าน: 4531

กระแสพระราชดำรัสองค์นี้ สำคัญและยาวมาก มีเหตุการณ์หลายเรื่องที่เคยเกิดขึ้นแล้ว และคล้ายกับว่ากำลังเกิดขึ้นอีก ขอเชิญพิจารณากันเองครับ

พระราชดำรัส
พระราชทานแก่คณะบุคคลต่างๆ ที่เข้าเฝ้า ฯ ถวายชัยมงคล
ในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา
ณ ศาลาดุสิดาลัย สวนจิตรลดา พระราชวังดุสิต
วันศุกร์ ที่ ๔ ธันวาคม ๒๕๓๕

ขอขอบใจนายกรัฐมนตรี ที่ได้ให้พรในนามของทุกๆ ท่านที่มาประชุมในวันนี้เป็นจำนวนมาก ถึง ๓๓๓ คณะ ๘๘๐๐ กว่าคน. พรที่ให้เป็นกำลังใจสำหรับทำหน้าที่การงานต่อไป. พรุ่งนี้ จะถึงวันครบ ๖๕ ปีของชีวิต ซึ่งทำให้นึกถึงว่า ก็ได้เห็นอะไรๆ มามาก ทั้งดีทั้งไม่ดี ได้เห็นโลก และโดยเฉพาะเห็นความเป็นอยู่ของประเทศไทยซึ่งมีความเปลี่ยนแปลงมาตลอด เปลี่ยนแปลงมาทุกปีหรือทุกเดือน แม้จะทุกวันก็มีความเปลี่ยนแปลง.

ปีนี้มีความเปลี่ยนแปลงจากปีที่แล้วหลายอย่าง ด้วยประชากรชาวสวนจิตร ฯ นี้มีเพิ่มเติมขึ้น. แต่ก่อนนี้ มีอีกา มีนกพิราบ แต่เดี๋ยวนี้ถ้าจะดูไป ก็จะเห็นว่ามีหงส์ทั้งขาวทั้งดำเพิ่มขึ้นมา และมีนกกาบบัว มีนกยูงเพิ่มเติมขึ้นมา. ที่พูดถึงประชานกนี้ก็เพราะว่า เมื่อดุลย์ของธรรมชาติเปลี่ยนแปลงไป ก็จะต้องมีการทะเลาะเบาะแว้งกันอยู่บ้าง อย่างเช่นเมื่อแต่ก่อนนี้ อีกาเป็นใหญ่ อีกาจะตีนกพิราบ แล้วนกพิราบก็จะตีนกเอี้ยง ที่มีจำนวนมากเหมือนกัน นกเอี้ยงก็จะตีนกกระจอก ส่วนนกกระจอกก็ไม่ทราบว่าเขาไปตีใคร เห็นได้ว่า เขาตีกัน เป็นลำดับชั้นไป จนกระทั่งเดี๋ยวนี้ รู้สึกว่านกกระจอกจะสูญพันธุ์.

แต่ว่าอีกาก็ยังมีอยู่ อีกาก็ได้ไปเยี่ยมบ้านใกล้เคียงมาหลายครั้งทำให้เกิดความตื่นเต้นในหมู่ผู้ที่อยู่ที่ทำงานในบ้านเหล่านั้น. แต่ว่าอีกานั้น ที่อยู่ได้ก็เพราะว่าเกรงใจนกกาบบัว ถ้าไม่เกรงใจนกกาบบัวอีกาก็จะสูญพันธุ์ เพราะว่านกกาบบัว ซึ่งเป็นคล้ายๆ นกกระสาแม้มีอยู่เพียงสิบกว่าตัว แต่เป็นนกที่ใหญ่ และเมื่อมาใหม่ๆ ยังเป็นเด็กๆ ก็ยังไม่สามารถที่จะประพฤติตนให้ดี เมื่อถูกอีกาเข้าโจมตีแต่ด้วยความเป็นนกใหญ่ นกกาบบัวจึงเตะอีกา. เป็นอันว่าอีกาก็เข็ดหลาบ ไม่สามารถที่จะโจมตีนกกาบบัวได้ จึงอยู่ร่วมกันโดยสันติไม่ทะเลาะกันต่อไป และนกกาบบัวนี้ก็ได้รับอาหารประจำวัน อีกาก็มาปันส่วนด้วย. ทุกวันนี้ ก็จะเห็นได้ว่าอยู่ร่วมกันโดยสันติ ดุลย์ของธรรมชาติก็เกิดขึ้นได้.

เรื่องหงส์ก็เช่นเดียวกัน มีหงส์ดำ และหงส์ขาว. ตอนแรกหงส์ดำหงส์ขาวนี้เขาแยกกันเพราะไม่ถูกกัน. ใครเป็นสีดำใครเป็นสีขาวก็ย่อมจะเป็นตรงข้ามกันชอบที่จะทะเลาะกัน. เวลามาว่ายน้ำในสระ ก็ต่างคนต่างมากัน หงส์ขาวก็เดินขบวนมา และหงส์ดำก็เดินอีกขบวน. มาบัดนี้ก็เห็นได้ว่าคงตกลงกันได้ เวลาเดินมาเดินกลับบ้าน เขาก็คละกัน ไม่มีปัญหา. ส่วนนกยูงซึ่งมีจำนวนมาก มีทั้งเขียวทั้งขาวก็คละกัน. แต่มีนกยูงตัวหนึ่งแทนที่จะไปคละกับนกยูงกลับไปคละกับหงส์. เวลาหงส์มาที่บ่อน้ำ นกยูงตัวนั้นก็มาด้วย. แต่โดยที่เป็นนกยูง นกยูงตัวนั้นก็ไม่ลงน้ำ เพราะรู้ว่าถ้าลงน้ำ ก็จะจมน้ำแล้วจะเป็นอันตราย. ฉะนั้นนกยูงตัวนั้นก็มาอยู่ขอบบ่อ.

ชักนิยายเรื่องนกมา ก็เพื่อให้เห็นว่าตอนแรก ทุกสิ่งทุกอย่างจะต้อง มีการทะเลาะกัน แต่เมื่อเข็ดหลาบอย่างหนึ่ง หรือมีความคิดที่ถูกต้อง ที่จะช่วยกันดำเนินชีวิตร่วมกัน ก็อยู่ได้โดยสันติ ไม่ทะเลาะกันไม่ทำอันตรายกัน ดุลย์ของธรรมชาติจึงเกิดขึ้น. สำหรับสวนจิตร ฯ นี้ก็ต้องรายงาน ว่าปีนี้มีความอยู่เย็นเป็นสุขพอสมควรสภาพของชีวิตในประเทศ ก็อยู่เย็นเป็นสุขพอสมควร. แต่ถ้าดูในโลกนั้น ก็รู้สึกว่าสถานการณ์ไม่ดีขึ้น แม้ว่าสมัยนี้ สงครามเย็นหมดไปแล้ว แต่สันติสุขหาได้เกิดขึ้นไม่เพราะว่าสงครามร้อนก็มีขึ้น. ที่มีสงครามร้อนขึ้นมานั้น ก็เพราะว่าความไม่ปรองดองหรือความเอาเปรียบกันมีมาก. เมื่อเห็นดังนี้แล้วเราก็ต้อง นึกดีใจว่าในประเทศเราสงครามร้อนก็ยังไม่เกิดขึ้น แล้วก็ไม่ควรจะเกิดขึ้นถ้าทุกคนคิดดีๆ.

แต่ในระยะที่ผ่านมา แต่ก่อนนี้ มีสงครามร้อนในประเทศ มีการต่อสู้และมีการจัดให้เย็นลง. เมื่อคนมีความคิดที่เฉียบแหลมขึ้นก็ทำให้เกิดความเย็นได้. ที่ผ่านมาก็เห็นได้ว่าไม่ได้เกิดประโยชน์อย่างไรที่จะมีความร้อน. ความร้อนแรงนั้นมีแต่เผาไหม้. แต่ว่าถ้าเย็นเกินไป ก็อาจจะทำให้เฉื่อยชา ไม่ได้ทำอะไร. ความเย็นเกินไปก็ทำให้คนตายได้เหมือนกัน. ฉะนั้นที่จะปฏิบัติ ก็ควรจะปฏิบัติให้มีเหตุผล.

พูดถึงความเปลี่ยนแปลงที่ได้เห็นมาตลอด หลายสิบปี มาคิดดูในปัจจุบันนี้เปลี่ยนแปลงไปมาก. แม้จะฟังที่เขาพูดทางวิทยุหรือโทรทัศน์ เสียงพูดนั้นก็เปลี่ยนแปลงไป. การออกเสียงของผู้ที่ประกาศโฆษณา ประกาศข่าวในวิทยุ เสียงเปลี่ยนไปมาก. เราก็มาคิดดู ทำไมมีความเปลี่ยนแปลงอย่างนี้ ดีหรือไม่ดี. ทุกอย่างต้องมีการพัฒนา. พูดถึงความเปลี่ยนแปลงในการออกเสียง หรือ ในการพูดนั้น ก็ต้องกลับมาถึงตัว. ตัวเองเมื่อก่อนนี้ พูดคงไม่เหมือนกับเดี๋ยวนี้ และมีคนสังเกตว่า ระยะหนึ่ง พระเจ้าอยู่หัวไม่พูดภาษาไทยกรุงเทพ ฯ พูดภาษาไทยต่างจังหวัด ไม่ใช่กรุงเทพ ฯ.

เราก็มาพิจารณาดูว่าทำไม และมานึกดูว่า ภาษาไทยกรุงเทพ ฯ นี้ความจริงเป็นภาษาไทยที่ไม่ถูกต้องค่อนข้างจะเป็นภาษาไทยที่คละ. ภาษาไทยดั้งเดิมนั้น ที่จริงเป็นภาษา ที่เรียกว่าต่างจังหวัด. คนที่พูดในภาคเหนือในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ในภาคใต้ คนที่พูดแบบพื้นเมือง แบบชาวบ้าน เสียงเขาเหมือนๆ กัน คล้ายคลึงกันมาก ก็หมายความว่าภาษาไทยดั้งเดิมจริงๆ นั้น ไม่ใช่กรุงเทพ ฯ. อย่างไรก็ตาม คนก็กล่าวหาว่า พระเจ้าอยู่หัวพูดภาษาไทยแบบต่างจังหวัด อันนี้ก็อาจเป็นเพราะว่า ได้ไปคุยกับชาวบ้านมากหน่อย จนทำให้สำเนียงเปลี่ยนแปลงไปบ้าง. ก็หมายความว่าความเปลี่ยนแปลงนี้มาจากความเคยชิน หรือการฟังเสียงที่เขาพูดกัน.

มีอีกอย่างหนึ่งที่เปลี่ยนแปลงไป. ลองฟังเสียงพูดทางวิทยุ จะมีความแปลกใจอยู่อย่างหนึ่งว่าภาษาไทยนี้ มีตัวอักษรที่ออกเสียงได้มากจริง แต่ภาษาต่างประเทศก็ยังมีเสียงที่ภาษาไทยพูดไม่ได้. แต่ก่อนนี้ “สถานีรถไฟ” ท่านเรียกว่า “สะเตชั่น” เพราะว่าไม่สามารถที่จะออกเสียงว่า “สฺเตชั่น”. คือ “ตัว ส” กับ “ตัว ต” หรือ “ตัว ถ” ควบกันไม่ได้. แต่มาสมัยนี้ ตรงข้าม อะไรที่แต่ก่อนนี้ควบกันไม่ได้ ก็ควบกันได้ อย่างเช่นคำว่า “สตางค์” เราเรียกว่า “สะตางค์” มาตั้งนานแล้ว. อาจจะเป็นเพราะว่าเดี๋ยวนี้ “สตางค์” ไม่ค่อยใช้กันแล้ว เพราะว่าไม่มีราคาค่างวด แต่คำว่า “สตางค์” ก็ยังใช้กันอยู่ก็ออกเสียงว่า “สฺตางค์” ทำให้แปลกใจว่าถูกต้องหรือเปล่า ที่จะออกเสียงว่า “สฺตางค์”. อันนี้ฟังแล้ว ก็มีความฉงนว่าภาษาไทยเมื่อก่อนนี้ จะพูดว่า “สฺตางค์” ไม่ได้ ออกเสียงไม่ได้. อย่างภาษาแขกเขาก็ออกเสียงอย่างนี้ไม่ได้ อย่างคำว่า “ดาว” ภาษาอังกฤษ คือ “สฺตาร์” เขาจะออกเสียงก็ไม่ได้. ภาษาแขกเขาต้องออกเสียงว่า “อิสฺตาร์” ถ้าไม่ออกเสียงว่า “อิสฺตาร์” เขาออกเสียงไม่ได้. ภาษาไทยก็ออกเสียง “สฺตาร์” ไม่ได้ ต้องออกเสียงว่า “สะตาร์” เช่นเดียวกับคำว่า “สะตางค์”.

อันนี้ก็เปลี่ยนแปลงไป ตัวอักษรภาษาอังกฤษว่า “เอส เอช” (sh) หรือภาษาฝรั่งเศสว่า “ซี เอช” (ch) ซึ่งภาษาไทยไม่มี ต้องออกเสียงเป็น “เชอะ” ตัว “ชอ” หรือ “ฉอ”. แต่ว่าเดี๋ยวนี้เขาออกเสียงตัว “ชอ” หรือตัว “ฉอ” เหมือน “เอส เอช” (sh) ก็น่าแปลกใจ. แปลก อย่างพูดว่า “ฉัน” ก็กลายเป็น “ฉาน” (shun). “ฉาน” นี้หรืออะไรพรรค์อย่างนี้ เขาก็ออกเสียงได้. แต่ว่าภาษาไทยไม่มี. “ฉันมาที่นี่” กลายเป็น “ฉาน (shun) มาชี่นี่” อะไรอย่างนี้ และก็ยังมีอีกมากหลาย ที่เปลี่ยนแปลงไป.

นอกจากนั้นก็มีการเปลี่ยนแปลงของวรรณยุกต์. เสียงจะสูงขึ้นไปเรื่อย เสียงโทกลายเป็นเสียงตรี เสียงตรีกลายเป็นเสียงจัตวาเลยทำให้ฟังดูแปลก เป็นอย่างนี้ได้อย่างไร. จะมาจากภาษาฝรั่งก็เป็นไปได้ แต่บางคนที่ไม่รู้ภาษาฝรั่งก็ออกเสียงอย่างนี้. มีความเปลี่ยนแปลงแน่. ความเปลี่ยนแปลงนี้มาจากอะไร. ได้เคยพูดกับศาสตราจารย์ชาวสวีเดน ซึ่งเขามีความรู้ในด้านภาษาศาสตร์. ก็ถามเขาว่ามาจากอะไร ก็ได้ตกลงว่า มาได้จากหลายอย่าง จากการฟังภาษาต่างประเทศ แล้วก็อยากจะพูดแบบชาวต่างประเทศ จนติดตัว ข้อหนึ่ง. แต่อาจจะเป็นมาจากความเปลี่ยนแปลงของอวัยวะสำหรับเปล่งเสียง เพราะมีสายเลือดต่างประเทศ. คนที่มีเชื้อชาติต่างกัน จะมีสำเนียงต่างกัน เพราะมีรูปร่างของอวัยวะสำหรับเปล่งเสียงต่างกัน. อย่างเวลาเราฟัง แม้เราไม่ได้เห็นหน้า เช่นในจอโทรทัศน์แต่ฟังเสียงเท่านั้นเอง ก็พอฟังได้ว่าผู้พูดมีเชื้อแขก หรือเชื้อจีน เชื้อฝรั่ง. เราฟังได้ เพราะว่ามีการออกเสียงแตกต่างกัน.

แต่ทำไมภาษาจึงเปลี่ยนไปเช่นนี้. คนไทยก็ไม่ได้เปลี่ยนแปลงทางเชื้อชาติมากเท่าไร อาจจะมีคนที่มีเลือดที่ปนบ้าง ก็เป็นได้ แต่ก็ไม่ได้มากมายจนเหลือเกิน. อาจจะเปลี่ยนแปลง เพราะเหตุว่าความเป็นอยู่ของคน อย่างเช่นอาหารทำให้ร่างกายเราแตกต่างไป. ก็สังเกตได้ว่า คนสมัยก่อนกับคนสมัยนี้ รูปร่างหน้าตาเปลี่ยนไปบ้างอาจจะทำให้การเปล่งเสียงนี้เปลี่ยนไป. ก็หมายความว่าอาหาร หรือความเป็นอยู่การบำรุงรักษาร่างกายเปลี่ยนไป. ถ้าเป็นเช่นนั้นก็อาจพอทนได้. เพราะว่าส่วนมากที่เห็น ประชาชนในประเทศไทยก็มีอนามัยที่ดีขึ้น อันนี้ไม่ใช่การโฆษณาประสิทธิภาพของรัฐบาล แต่ในเมืองไทยนี้มีความเปลี่ยนแปลงไป และเข้าใจว่าอนามัยดีขึ้น อาหารการกิน ก็เปลี่ยนแปลงไป. แต่อย่างไรก็ตาม เท่าที่เห็นในระยะหลายสิบปีที่ผ่านมาจะบอกว่าไม่ดีขึ้นก็ไม่ได้ ก็มีความเปลี่ยนแปลงในทางที่ดี.

ข้อนี้โดยมากเราชอบพูด “โอ้ สมัยก่อนนี้ดีอย่างโน้นดีอย่างนี้ มาสมัยนี้มันเละเทะมันยุ่ง” ข้อนี้เคยปรารภกับ “ท่านโกลด้า เมียร์” ซึ่งนายกรัฐมนตรีแห่งอิสราเอล ซึ่งเคยมา เดี๋ยวนี้ท่านสิ้นบุญไปแล้ว. จำได้ว่าเมื่อคุยไปคุยมาได้เอ่ยว่าแต่ก่อนนี้ ชีวิตดูจะดีสบายง่ายกว่าในสมัยนี้ ท่านโกลด้า เมียร์ นี้ตอบว่า “ไม่ใช่อย่าไปเข้าใจอย่างนั้น สมัยก่อนนี้มีความแร้นแค้น อย่างยิ่ง ลำบากอย่างยิ่ง. ในสมัยนี้อาจจะมีสถานการณ์ที่ไม่ดี มีการทะเลาะเบาะแว้งกันมาก แต่ว่าชีวิตการเป็นอยู่ก็นับว่าดีขึ้น. คนก็มีความคิด สามารถที่จะแสดงความคิดได้ดีขึ้น. ความเป็นอยู่ในทางร่างกายทั่วๆ ไป ถ้าเฉลี่ยแล้ว ก็นับว่าดีขึ้น”. ตอนนั้น ที่พบ ท่านโกลด้า เมียร์ เราอายุยังไม่มากนัก ท่านโกลด้า เมียร ์ เป็นผู้ใหญ่. มาเดี๋ยวนี้ เราก็ต้องถือว่านับว่าเป็นผู้ใหญ่ เพราะว่าหลายปีมาแล้ว. ก็ชักจะเห็นคล้อยตามกับท่านโกลด้า เมียร์. เรากลายเป็นท่านผู้เฒ่าเหมือนกัน. แต่ว่าที่ว่าอย่างนี้ ก็เห็นว่าความเป็นอยู่ดีขึ้น. ความเป็นอยู่ดีขึ้น เพราะทำไม ก็เพราะคนชักจะเข้าใจว่าต้องช่วยกัน.

คราวนี้ก็จะขอเล่าเรื่องว่าทำอะไรบ้าง ขอเล่านิทาน ก็ไม่ใช่นิทาน เป็นเรื่องที่ได้ผ่านมาเมื่อไม่กี่วันนี้. ไปอยู่ที่ภาคอีสานประมาณสองสามอาทิตย์ และได้ไปเยี่ยมที่แห่งหนึ่งคือ อำเภอเขาวง จังหวัดกาฬสินธุ์ ไปดูเขาทำงาน ก็รู้สึกว่า มีความก้าวหน้ามาจากที่เคยเห็น เขาวง มาเมื่อสิบปีก่อน. เมื่อสิบปีก่อนนี้ รู้สึกแร้นแค้นอย่างยิ่ง เดี๋ยวนี้ก็ไม่ใช่แร้นแค้น แต่คนก็มีความขยันหมั่นเพียร มีความตื่นตัวมากเห็นเขาทำงานทำการดีขึ้น และก็เป็นคนที่ค่อนข้างจะยิ้มแย้มแจ่มใส. เขาได้มาทำพิธีบายศรีให้อย่างร่าเริง ก็รู้สึกว่าน่าชื่นชมและน่ายินดี. เมื่อเห็นอย่างนั้นแล้ว ก็อยากจะไปดูที่แห่งหนึ่งที่น่าจะพัฒนาให้ดีขึ้นได้. จึงไปดูแห่งหนึ่ง ที่ได้เห็นจากเฮลิคอปเตอร์เพราะว่าวันนั้นไปเครื่องบินเฮลิคอปเตอร์ จากสกลนครไปถึงอำเภอเขาวง.

การไปเฮลิคอปเตอร์นี้ มีความสุขความสบายขึ้น เพราะว่าถ้าไปรถยนต์ จะใช้เวลาถึงชั่วโมงครึ่ง หรือสองชั่วโมง แต่ไปเครื่องบินเฮลิคอปเตอร์ จะใช้เวลาเพียงยี่สิบห้านาที เป็นการทุ่นเวลาทุ่นกำลัง. การไปเฮลิคอปเตอร์ทุกครั้ง ก็นึกถึงว่าจะต้องสิ้นเปลืองแต่ถ้าใช้เฮลิคอปเตอร์นั้นในทางที่เกิดประโยชน์มากที่สุด ก็จะคุ้มค่า. ฉะนั้นก็ต้องพยายามดู สำรวจที่ทาง และพอดีก็ผ่านที่แห่งหนึ่ง ซึ่งเป็นที่ที่เหมาะสมในการเก็บกักน้ำ โดยที่จะไม่ทำให้ประชาชนเดือดร้อนแต่ประการใด เพราะจะไม่ท่วมที่ทำมาหากินของเขาเลย จึงเห็นว่าที่ตรงนั้นเหมาะสม. ได้เห็นจากเฮลิคอปเตอร์ก็จดเอาไว้อยู่ตรงไหน.

ลงมาถึงพื้นแล้ว ก็ได้บอกกับเจ้าหน้าที่ ว่าจะไป ณ ที่ตรงนั้นๆ. ถึงเวลาก็แล่นรถไป เข้าไปถึงหมู่บ้านที่อยู่ใกล้สถานที่นั้น. ฝ่ายเจ้าหน้าที่ ทั้งตำรวจทั้งช่างชลประทาน ไม่แน่ใจว่าจะมีทางไปถึงที่ตรงนั้น จึงเอาชาวบ้านคนหนึ่งมาเป็นมัคคุเทศก์นำทาง. ผู้ที่นำทางนั้น ก็นำไป แห่งหนึ่ง เป็นทางแยกที่เลี้ยวซ้าย เลี้ยวขวา. เขาบอกให้เลี้ยวซ้าย ก็สงสัยเหมือนกันว่าทำไมเลี้ยวซ้าย. แต่เขาก็บอกให้เลี้ยวซ้าย. เลี้ยวซ้ายผ่านโรงเรียน ผ่านโรงเรียนแล้วก็เลี้ยวขวา. เลี้ยวขวานั้น ก็เข้าไปในทางที่เรียกได้ว่าลำลองอย่างมากๆ เป็นทางที่เขาเต้น “ดิสโก้” กัน. คือที่เต้น “ดิสโก้” นี่ เพราะว่ารถมันแกว่งไปแกว่งมา เหมือนเต้น “ดิสโก้” ก็เลยเรียกว่า “ทางดิสโก้”. แล่นไปตาม “ทางดิสโก้” นั้นไกลพอสมควร ประมาณสักสองกิโลเมตรก็ไปถึงที่แห่งหนึ่ง. เขาบอกว่าหยุด หยุดตรงนั้น. มืดแล้ว เห็นมีแต่นา. คนที่นำทางก็บอกว่า “นึกว่าอยากจะมาตรงนี้” เราบอกว่า “ไม่ใช่ อยากจะมาดูตรงที่เป็นทางน้ำ ที่เหมาะสมกับการทำโครงการ รูปร่างคล้ายๆ เป็นแก่ง”. เป็นอันกลับ กลับมา “ดิสโก้” อีกสองกิโลเมตร แล้วมาที่หมู่บ้าน. แล่นตรงไป แล้วเดินอีกสองร้อยเมตรก็ไปถึงที่ที่ถูกต้อง และช่างชลประทานเขาก็เห็นว่า เหมาะสมสำหรับทำโครงการ.

แล้วมาถามชาวบ้านที่อยู่ที่นั่น ว่าเป็นอย่างไรปีนี้. เขาบอกว่าเก็บข้าวได้แล้วข้าวก็อยู่ตรงนั้น กองไว้. เราก็ไปดูข้าว ข้าวนั้นมีรวงจริงแต่ไม่มีเม็ด หรือรวงหนึ่งมีสักสองสามเม็ด. ก็หมายความว่าไร่หนึ่ง คงได้ประมาณสักถังเดียว หรือไม่ถึงถังต่อไร่. ถามเขาทำไมเป็นเช่นนี้. เขาก็บอกว่าเพราะไม่มีฝน เขาปลูกกล้าไว้ แล้วเมื่อขึ้นมาก็ปักดำ. ปักดำไม่ได้เพราะว่าไม่มีน้ำ ก็ปักในทราย ทำรูในทรายแล้วปักลงไป. เมื่อปักแล้วตอนกลางวันก็เฉามันงอลงไป แต่ตอนกลางคืนก็ตั้งตัว ตั้งตรงขึ้นมาเพราะมีน้ำค้าง แล้วในที่สุดก็ได้รวงแต่ไม่มีข้าวเท่าไร. อันนี้เป็นบทเรียนที่ดี เขาก็เล่าให้ฟังอย่างตรงไปตรงมา. แสดงให้เห็นว่าข้าวนี้เป็นพืชที่แข็งแกร่งมาก ขอให้ได้มีน้ำค้างก็พอ. แม้จะเป็นข้าวธรรมดาไม่ใช่ข้าวไร่. ถ้าหากว่าเราช่วยเขาเล็กน้อยก็สามารถที่จะได้ข้าวมากขึ้นหน่อย พอที่จะกิน. ฉะนั้นโครงการที่จะทำ มิใช่จะต้องทำโครงการใหญ่โตมากนัก จะได้ผล ทำเล็กๆ ก็ได้. จึงเกิดความคิดขึ้นมาว่าในที่อย่างเช่นนั้น ฝนก็ดีพอสมควร แต่ลงมาไม่ถูกระยะเวลา เมื่อลงมาไม่ถูกระยะเวลา ฝนก็ทิ้งช่วง ข้าวก็ไม่ดี.

วิธีแก้ไขคือต้องเก็บน้ำฝนที่ลงมา. ก็เกิดความคิดว่าอยากทดลองดู สักสิบไร่ในที่อย่างนั้น. สามไร่จะทำเป็นบ่อน้ำ คือเก็บน้ำฝนแล้วถ้าจะต้องใช้บุด้วยพลาสติคก็บุด้วยพลาสติค ทดลองดู. แล้วอีกหกไร่ทำเป็นที่นา ส่วนไร่ที่เหลือนั้น ก็เป็นที่บริการหมายถึงทางเดินหรือเป็นกระต๊อบ หรืออะไรก็แล้วแต่. หมายความว่า น้ำสามสิบเปอร์เซ็นต์ ที่ทำนา หกสิบเปอร์เซ็นต์ ก็เชื่อว่าถ้าเก็บน้ำไว้ได้ จากเดิมที่เก็บเกี่ยวข้าวได้ไร่ละหนึ่งถังถึงสองถัง ถ้ามีน้ำเล็กน้อยอย่างนั้น ก็ควรจะเก็บเกี่ยวข้าวได้ไร่ละประมาณสิบถึงยี่สิบถัง หรือมากกว่าอาจจะถึง สามสิบก็ได้. สมมุติว่า สิบเท่าก็ยี่สิบถังหมายความว่า ที่หกไร่ปัจจุบัน ที่ได้ไร่ละหนึ่งถัง ก็จะได้ ยี่สิบถัง. ยี่สิบเท่าหรือถ้านับเอาง่ายๆ ว่าสิบเท่า ที่หกไร่จะเท่ากับ หกสิบไร่. ทั้งหมดสิบไร่ เท่ากับได้ผลเท่ากับหกสิบไร่ของเขาปัจจุบัน จึงควรจะใช้ได้. ก็พยายามที่จะวางแผนนี้.

วันรุ่งขึ้นได้ข่าวมาว่าที่ตรงนั้น ที่เรา “ดิสโก้” ไป มีชาวบ้านสองคน เขาบอกว่า เขาขอบริจาคที่ดินคนละห้าไร่ เพื่อที่จะทำโครงการตามอัธยาศัย. อันนี้ไม่ต้องไปซื้อเขา ไม่ต้องเวนคืนเขา. เขาเข้าใจว่าพยายามที่จะช่วยเหลือ แม้จะรู้ว่าโครงการที่จะช่วยเหลือนี้เป็นโครงการทดลอง มิใช่เป็นโครงการที่พิสูจน์มาแล้ว เขาก็ให้. แสดงให้เห็นว่าชาวบ้านมีความเข้าใจในการพัฒนา ชาวบ้านจริงๆ ไม่ใช่ชาวบ้านกรุงเทพ ฯ ที่ปลอมตัวไปเป็นชาวบ้านต่างจังหวัด. คนหนึ่งมีสิบไร่ เขาแบ่งให้ ห้าไร่. อีกคนมีเก้าไร่ เขาแบ่งให้ ห้าไร่. จึงจะทำโครงการนี้ได้. ถ้าทำโครงการนี้สำเร็จ ก็หมายความว่าที่ต่างๆ ในอำเภอเขาวงที่แห้งแล้งจริงๆ หรือที่อื่นก็ตาม จะทำได้ทั้งนั้น. ปีหน้าก็คงได้ทราบผลของการทดลองนี้.

ที่เล่าให้ฟังดังนี้ อย่างยืดยาว ก็เพื่อให้เห็นว่าชาวบ้านปัจจุบันนี้เป็นคนที่รู้จักการสละที่เพื่อพัฒนาท้องที่ของตัว. แล้วเขาก็ไม่ได้มีข้อแม้อะไร ไม่ได้บอกว่าถ้าทำสำเร็จแล้ว จะขออย่างนั้นอย่างนี้ เขาไม่ได้บอกเลย เขาบอก ขอให้ตามอัธยาศัย. แสดงให้เห็นว่าคนที่ถือกันว่าเป็นคน ที่เรียกกันว่าเป็นคนบ้านนอก เขารู้ว่าพัฒนาประเทศทำอย่างไร. โดยมากคำว่าบ้านนอกนี่ก็พูดอย่างไม่ค่อยดีนัก แต่ว่าคนที่เป็นชาวบ้านจริงๆ. เขารู้ว่าจะต้องทดลอง ต้องใช้ความคิด แล้วมีการทดลอง เสียก็เสียไป แต่ว่าน่าจะได้. ฉะนั้นเมืองไทยนี้มีความหวังที่จะพัฒนาให้อยู่ได้ แต่ว่าจะต้องใช้ คำว่าเสียสละ ก็อาจจะเบื่อคำว่าเสียสละ. ต้องรู้จักคำว่าสามัคคี ก็อาจจะเบื่อคำว่าสามัคคี. อะไรๆ ก็ให้สามัคคีกัน ให้อะไรกัน ให้เมตตากัน. คำเก่าๆ เหล่านี้ยังมีผลดีแต่ว่าคนเราสมัยนี้อาจจะลืม เพราะว่ามันเปลี่ยนแปลง สถานการณ์มันเปลี่ยนแปลงไป. ที่ตะกี้พูดว่าจะเล่าเรื่อง ก็เล่าเรื่อง ไม่ใช่นิทานเป็นเรื่องจริงที่เกิดขึ้นเมื่อสองสามวันนี้. แต่ว่าท่านคงเข้าใจว่าทำไมเล่าให้ฟัง เพื่อที่จะให้ท่านทั้งหลายมีหวังว่าพัฒนาได้ ไม่ใช่ไม่มีหวัง แต่ว่าจะต้องคิดให้ดีๆ.

ที่ตะกี้ใช้คำว่า “นิทาน” ก็เพราะว่าคิดอยู่ในใจถึงนิทานเรื่องหนึ่ง ซึ่งจะแสดงให้เห็นว่าคนเดี๋ยวนี้เปลี่ยนแปลงไป. แต่ก่อนนี้ทุกคนรู้จักนิทานนี้ แต่ว่าสมัยนี้เข้าใจว่าไม่ค่อยรู้จัก คือคิดถึงนิทานว่า “ยายกะตา ปลูกถั่วปลูกงา”. ไม่ทราบว่าใครรู้จักนิทานนี้บ้าง. “ยายกะตาปลูกถั่วปลูกงาให้หลานเฝ้า แต่หลานไม่เฝ้า ไปเล่นว่าว”. อันนี้ดูท่าทางก็จะเป็นสิ่งธรรมดาว่าหลานนั้น ไม่อยากที่จะเฝ้า เพราะอยากเล่นว่าว. แต่สมัยนี้เขาไม่เล่นว่าวกันแล้ว สมัยนี้เขาไปเล่นเครื่องคอมพิวเตอร์. ก็หมายความว่า “ยายกะตาปลูกถั่วปลูกงาให้หลานเฝ้า หลานไม่เฝ้า ไปเล่นคอมพิวเตอร์”.

อันนี้เรื่องก็เปลี่ยนแปลงไป แต่ถ้าเล่าอย่างนี้ เรื่องก็ล้มเหลวไปหมด เพราะว่ามันไม่เป็นเรื่องเดิม. ถ้าเล่าว่า “หลานไม่เฝ้าไปเล่นคอมพิวเตอร์” คนสมัยนี้ก็คงคัดค้านอยู่แล้ว “ทำไม ‘ยายกะตาปลูกถั่วปลูกงา’. สมัยนี้การเกษตรนี้ไม่ถูกต้องแล้ว ไม่ควรจะปลูกควรจะสร้างโรงงานให้เป็น ‘นิค’ ยายกะตานี่ท่านโบราณเสียเหลือเกิน ไม่ไหว”. แต่ว่าในเรื่อง “ยายกะตา” ท่านปลูกถั่วปลูกงา. ความจริงเรื่องนี้มันเกิดขึ้นจริงๆ เมื่อเพียงสิบกว่าปีเท่านั้นเอง. เมื่อตา ไม่ใช่ยาย ตาปลูกถั่วปลูกงาให้หลานเฝ้า. หลานไม่เฝ้า เพราะหลานยังไม่เกิด. เรื่องนี้เป็นเรื่องจริง ตาได้ปลูกงาไว้ แล้วหลานก็ไม่เฝ้า เพราะหลานยังไม่เกิด เดี๋ยวนี้หลานอายุสิบขวบกว่าๆ แล้ว. ถ้าเดี๋ยวนี้ปลูกงา หลานก็คงเฝ้า. แต่อาจจะไม่เฝ้าก็ได้ เพราะหลานอาจจะไปเขียนรูป. สมัยนี้นิทานก็จะเปลี่ยน คือเปลี่ยนเรื่องไป.

ต่อจากนั้นที่หลานไม่เฝ้าในเรื่องเดิม. กามากินถั่ว กินงา เจ็ดเม็ดเจ็ดทะนาน. ยายมายายด่า ตามาตาตี. หลานนั้นก็ไปหานายพรานให้นายพรานยิงอีกาให้ร่วงลงมา นายพรานไม่ยอม. นายพรานนั้นน่ะใช้ธนู ถ้าสมัยนี้ก็ไม่ใช้ธนู. จะใช้ธนูยิงอีกามันครึเต็มที เขาใช้ปืนกัน แต่ว่าในเรื่องนิทาน นายพรานใช้ธนู. เด็กก็ไปหาหนูให้มากัดสายธนูของนายพราน. เจ็บใจจริง หนูไม่เอา หนูไม่กัด. เมื่อหนูไม่กัด เด็กก็โกรธหนู ก็ไปหาแมว ให้ไปกัดหนู แมวไม่เอา บอกไม่กัด. เด็กก็โกรธ ก็ไปหาหมา ให้หมากัดแมว หมาบอกไม่เอา ไม่กัด ก็โกรธ. ตอนนี้ก็ยังไม่ค่อยเข้าใจว่าทำไมไปหาค้อน ไปหาค้อนให้ยอนหูหมา คือแยงหู. เรื่องคงเป็นไปหาค้อนให้มาตีหัวหมา แต่ว่าค้อนก็ไม่ยอมตีหัวหมา. เมื่อค้อนไม่ยอมก็ไปหาไฟ ให้ไฟมาเผาด้ามของค้อน ไฟไม่ยอมเผา. เลยไปหาน้ำให้มาดับไฟ น้ำก็ไม่ยอมดับไฟ. ก็ต้องไปหาตลิ่ง ให้ถล่มลงมาทับน้ำ. ตลิ่งก็ไม่ยอมถล่ม. จะทำอย่างไร ไปหาช้างให้เหยียบตลิ่ง ช้างบอกไม่เอา ไม่ใช่เรื่อง. ก็ไปหาแมงหวี่ ไปหาแมงหวี่ให้มาตอมตาช้าง แมงหวี่บอก “เอา”.

นี่ แมงหวี่นี่เขาเอา ก็จะมาตอมตาช้าง ช้างก็กลัว ก็จะมาเหยียบตลิ่ง ตลิ่งก็กลัว ก็จะมาทับน้ำ น้ำก็กลัว ก็จะมาดับไฟ ไฟก็กลัว ก็จะไปเผาค้อน ค้อนก็กลัว ก็จะไปตีหัวหมา หมาก็กลัว ก็จะไปกัดแมว แมวก็กลัว ก็จะไปกัดหนู หนูกลัว ก็เลยจะไปกัดสายธนูของนายพราน นายพรานบอก หวงน่ะ ก็จะต้องไปยิงอีกา. ตกลงอีกาก็กลัวเลยคาย ถั่ว งา เจ็ดเม็ด เจ็ดทะนาน. คายออกมาแล้วยายกะตาก็พอใจ. ตอนแรกยายมายายด่า ตามาตาตี ก็เลยไม่ต้องด่าไม่ต้องตีแล้ว กาก็คายแล้ว. อันนี้ก็มีของแปลกประหลาด กินไปแล้วคายออกมา แล้วก็จะงอกขึ้นได้อย่างไร. อันนี้ก็ไม่ทราบเทคโนโลยีสมัยโน้นไม่เหมือนสมัยนี้. แต่เรื่องทั้งหมดนี้ เล่าให้ฟัง เพราะว่าบางท่านอาจจะทราบ แต่ลืมไปแล้ว ว่าเรื่องเป็นอย่างไร. ให้เห็นว่าสมัยก่อนนี้คิดกันอย่างไร ข้อหนึ่ง เล่านิทานให้เด็กฟังอย่างไรข้อหนึ่ง แล้วอีกข้อหนึ่ง ให้เห็นได้ชัด ว่าในการใดก็ตาม ถ้าทุกคนบอกว่าไม่ใช่เรื่อง ก็จะไม่ได้ทำอะไรเลย. และเด็กนั้นแทนที่จะหาวิธีแก้ไขเรื่อง “อีกามากินถั่วกินงา” กลับไล่เบี้ยไปเรื่อยๆ จนเรื่องมันไม่เป็นเรื่อง. ลงท้ายแมงหวี่ก็ยอมไปตอมตาช้าง.

ก็ดูรูปร่างว่าเรื่องนี้มันไม่เข้าเรื่อง แต่ในที่สุดก็ได้เรื่อง เพราะว่าอีกาก็คายถั่วงาเป็นที่เรียบร้อย. ยายมาก็ไม่ต้องด่าแล้ว ตามาก็ไม่ต้องตี. สมัยนี้มันก็เป็นอย่างนี้เหมือนกัน เรื่องราวอะไรพูดอะไรอย่าง แล้วอีกคนก็มาแย้ง แย้งไปคนละเรื่อง แบบพูดคนละเรื่องเดียวกัน. แล้วการปกครอง หรือการทำงาน มันจะดำเนินไปได้อย่างไร มันจะได้ผลอย่างไร ถ้าทำอะไรแล้วนอกเรื่องไปเรื่อย ไม่เอาตรงตามจุด. ถ้าเอาตรงตามจุด แก้ไขปัญหาอะไรต่างๆ ก็ไม่ยาก. แล้วพูดอะไร ให้พูดง่ายๆ ตามข้อเท็จจริงและแก้ตรงนั้น แก้ตรงข้อเท็จจริง. ไม่ใช่ไปหาวิธีที่จะแกล้งช้าง. แต่มันก็ได้ผล แกล้งช้างแล้วก็มาได้ผลที่ถั่วกะงา อีกาก็คายออกมา นั่นมันได้ผล. เด็กสมัยใหม่จะบอกว่า เด็กสมัยโน้นฟลุ้คมาก ที่ทำให้ได้ผล. แต่สมัยนี้มันไม่ได้ผล ส่วนมากคนสมัยนี้ ทำอะไรไม่ค่อยได้ผลอยู่. อย่างหนึ่งก็เพราะว่าพูดคนละทางกัน เรื่องราวเป็นอย่างไรไม่พูดตรงจุดนั้น. แล้วลงท้ายใครเอาหัวชนฝาก็ชนะไป. แต่ที่จริงมันไม่ดี มันไม่ถูก.

ถ้าดูจุดของปัญหาแล้ว ก็แก้ไขปัญหาได้. นี่ก็ได้เสนอวิธีให้ตกลงกัน ว่าจะใช้ประโยชน์ของเขตตรงนั้นอย่างไร ร่วมกันระหว่างสองประเทศ. หรือจะใช้ประโยชน์ว่ายิงกัน แต่ต้องไม่ยิงให้เลยเขตนั้น. ก็อาจจะเป็นยุทธกีฬาที่จะมาท้าดวลกัน ดวลยิงที่แห่งเดียวกัน. แล้วถ้าสมมุติว่า เขายิงโดนตรงยอด เรายิงบนยอดนั้น เราก็ฉลองกันได้ว่า เอ้อ ทั้งสองประเทศยิ่งแม่น. แล้วประเทศอื่นๆ ในโลกนี้ เขาก็จะเห็นว่าแถวนี้ภูมิภาคนี้คนค่อนข้างจะฉลาด.

เมื่อวานซืนนี้ ได้พูดกับ ลูกเสือชาวบ้าน ขอร้องให้เขาคิดว่าเมืองไทยดีอย่างไร. เดี๋ยวนี้มีความสงบพอควร. ทุกทวีปในโลกนี้ มีการทะเลาะกันอย่างร้ายแรง แล้วเขาได้รับประโยชน์อะไรมั้ย ทุกคนก็ตายกันหมด อย่างที่เขาตายเป็นแสน แล้วก็มีหวังจะตายเป็นล้านมีประโยชน์อะไร. ของเราอย่าไปเอาอย่าง. เราเอาอย่างมานานแล้วเราทำตัวอย่างมามากแล้ว ตอนนี้เราอย่าไปเอาอย่างที่เขาทำกันให้ดูในทวีปทั้งหมด. ก็ที่เอ่ยว่ามีทั้งทวีปอาฟริกา อเมริกา เอเซีย แล้วก็ยุโรป ตีกันทั้งนั้น ขออย่าให้เป็นอย่างนั้น.

ถ้าไม่ให้เป็นอย่างนั้น หมายความว่าทุกคน จะเป็นข้าราชการจะเป็นพ่อค้า ประชาชน เป็นใครก็ตามที่ถือตัวว่าเป็นคนไทย ต้องมีความคิดหน่อย ให้มีความคิดที่เรียกว่าใช้ปัญญาเฉียบแหลมหน่อย. หยุดคิดสักนิดเดียวก็พอ คือว่าเรามีปัญหาอะไรแทนที่จะอ้าปากทันทีที่จะพูดไป เราหยุดคิดสักนิด. ถ้าฝึกไว้ดีๆ แม้แต่วินาทีเดียวก็พอ. แล้วก็ไม่ทำผิด. เมื่อไม่ทำผิดแล้ว เรื่องนั้นก็ไม่เกิดเป็นเรื่องร้าย เป็นเรื่องดีทั้งนั้น. ที่ขออย่างนี้ เพราะว่า มาเห็นข่าวต่างๆ ทั่วโลก มันน่าเศร้าที่สุด ถ้าหากว่าเราประเทศไทยสักประเทศหนึ่งในโลกมีความสงบ มันก็จะดี. ตอนนี้เราจะเป็นตัวอย่างสำหรับประเทศอื่น เราไม่ต้องทำอะไรอื่น. เราทำอะไร ให้คิดให้ดีๆ แล้วจึงทำ ทำไป จึงจะถือได้ว่าเป็นไทย.

ตอนนี้ก็มาถึงเรื่อง… อาจจะไม่ควรจะพูด เพราะว่าจะเสียสัมพันธไมตรีหรือเสียไปแล้วก็ไม่ทราบ แต่ว่าหูตูบ หมู่นี้ ฟัง ไอ้ “สี่เก้าหนึ่ง” “สี่เก้าหนึ่ง” นี่บอกว่าเป็นของไทย ทางโน้นก็บอกว่าเป็นของพม่า. ความจริงนั้นตามหลัก “สี่เก้าหนึ่ง” นั้นเป็นเขตแดน. มันก็เป็นครึ่งหนึ่งของพม่า ครึ่งหนึ่งของไทย. ตอนนี้ ถ้าเป็นเช่นนั้นจะตกลงกันอย่างไร. ถ้าหากว่าพม่ายืนบนยอด เราต้องฟันครึ่งของพม่าคนนั้น. คือถ้ายื่นหัวมาทางฝั่งของเราก็ตัดหัวมันเลย ไม่ผิด. แต่ว่าถ้าเรายื่นแขนไปทางโน้นเขาจะฟันเราบ้าง เขาก็ไม่ผิด.

แล้วจะถือนโยบายไหน จะทำอย่างไร. คือ “สี่เก้าหนึ่ง” นี้ตามข้อตกลงที่วางไว้เป็นเขตแดน ตรงยอดพอดี. กว้างเท่าไหร่ก็ยังไม่พูด เพราะว่าถ้าเขียนบนแผนที่ไอ้เส้นที่เขียนนั้น ขยายขึ้นถึงส่วนขนาดของจริง มันก็จะกว้างหลายเมตรอยู่ กว้างมาก. ในเขตนั้นเราไม่ทราบว่าเป็นเขตแดนของประเทศไหน. อันนี้ก็เป็นตัวอย่างเท่านั้นเอง. ทั่วตลอดในเขตแดนไทยกับต่างประเทศเป็นปัญหาอย่างนี้ทั้งนั้น. ไม่ทราบว่าตรงไหนเป็นเขตไทย เขตไหนเป็นเขตต่างชาติ. ถึงโดยมากในเขตแดนระหว่างประเทศ ทุกประเทศ ทุกแห่งที่ทำกันอย่างมีวัฒนธรรมเขตแดน คือหลักเขตแดน อยู่แห่งหนึ่ง แล้วก็มีระยะหนึ่งที่ไม่ใช่ประเทศนี้ ไม่ใช่ประเทศโน้น. ถึงจะทำให้เกิดไม่มีปัญหา คือแก้ปัญหาได้. บางประเทศในต่างประเทศ ในยุโรปก็มีบ้านหลังคาเรือนเดียวกัน ประตูข้างหนึ่งอยู่ประเทศหนึ่ง ประตูอีกข้างหนึ่งอยู่อีกประเทศ. อันนี้มี.

แต่เขาก็ไม่บ้าบอที่จะมาบอกว่า จะมายึดกันไป ยึดกันมา. ต้องมีข้อตกลงกันว่าเขตที่ชายแดนที่วางเอาไว้สองข้างนั่นล่ะ อย่าไปทำกิจกรรมอะไร. หรืออีกอย่างก็ทำกิจกรรมร่วมกัน. ที่จริง ถ้าทั้งสองฝ่ายถอย แล้วก็ต่างคนต่างยิงปืนใหญ่ใส่กันบน “สี่เก้าหนึ่ง” นั้น ให้เหลือสี่เก้าศูนย์ ก็หมดเรื่องไป. หมดเรื่องไม่ต้องทำอะไร. แต่ใครก็อย่าไปยืนบนนั้น จะเป็นไทยหรือเป็นพม่า อย่าไปยืนบนนั้น เพราะว่าทั้งสองฝ่ายจะยิงปืนใหญ่ใส่. อันนี้เป็นข้อตกลงที่ทำได้. แล้วเป็นการดีเพราะว่าเป็นการฝึกทหารปืนใหญ่ให้ยิงให้แม่นๆ . ต้องยิงพอดีบนเขตแดนบนเส้นนั้น ก็ใช้ได้ ไม่ถูกปรับ. แต่ถ้ายิงสั้นไปก็มาโดนประเทศของตัว ถ้ายิงยาวก็รุกรานเขา. ก็อาจจะต้องมีข้อตกลงว่าเขตแดนนี้ ที่จะยิง จะกว้างเท่าไหร่. อันนี้เป็นการเสนอวิธีแก้ไขปัญหานี้. เพราะเหตุว่า ถ้าปัญหานี้มีต่อไป คนไทยด้วยกันจะตีกัน. แทนที่จะเป็นสงครามกับต่างประเทศจะกลายเป็นสงครามในประเทศ. แล้วมันก็ไม่น่าปรารถนา ไม่ได้อะไร ลงท้ายเราก็ต้องเสีย “สี่เก้าหนึ่ง” ต้องเสียไปแน่ ถ้าเราทะเลาะกันเอง. เพราะฉะนั้นเรื่องนี้ ขอให้ดูถึงจุดของปัญหา.

นี่ก็ได้มาพูดเรื่องราวยืดยาว ทั้งเล่านิทาน ทั้งเล่าเรื่องราวต่างๆ ให้ฟังก็นึกว่าถ้าหากท่านทั้งหลายช่วยกันคิด. อะไรที่ผ่านมาก็ถือว่าผ่านไปแล้ว. ถ้าพูดอย่างนี้ก็อาจจะว่าไม่ถูก. แต่ว่า “ผ่านไปแล้ว” หมายความว่าถือบทเรียนของเรื่องนั้นๆ. แล้วก็ไม่ใช่ว่าจะไม่เป็นผลต่อไป เป็นผล ผู้ใดทำอะไร ก็เป็นผลทั้งนั้น. แต่ว่าอย่ามาตั้งเป็นเงื่อนไขมากเกินไปเท่านั้นเอง. ทำอะไรที่สร้างสรรค์ แล้วทุกคนจะสบายใช้ความคิด ที่เรียกว่าสร้างสรรค์นี้ หมายความถึงความคิดที่ถูกตรง ที่ใช้ความรู้ ใช้ความที่เรียกว่าใจเย็น. คือไม่ใช่เรื่องที่ตัวเองจะได้อะไร ตัวเองจะไม่ได้อะไร. แต่ว่าเรื่องจะสำเร็จเรียบร้อยสำหรับประเทศหรือไม่ อย่างน้อยที่สุดสำหรับส่วนรวม. ไม่ได้ห้ามที่จะเถียงกัน ต้องเถียงกัน ถกเถียงกันเท่าไหร่ เท่าไหร่ ก็ได้ แต่ขอให้ถกเถียงด้วยเหตุและผล. มีเหตุอะไรก็เป็นผลอย่างนั้น. ฉะนั้น ที่ได้ชักนิยายต่างๆ มาให้ฟัง เล่านิทานให้ฟัง เล่าเรื่องให้ฟัง ก็ความจริงสำหรับแค่นี้. ทุกคนก็คงเดาใจได้ว่า อยากจะพูดแค่นี้ “ขอร้องให้ทำอะไรให้เป็นเรื่องเป็นราว อย่าให้เกิดเรื่องราว”. ฉะนั้นก็ขอให้ท่านทั้งหลายได้เข้าใจ และช่วยกันพิจารณา ช่วยกันสร้างสรรค์.

ทั้งนี้ที่พูดในวันนี้เพราะว่าอายุยังไม่หกสิบห้า. พรุ่งนี้อายุหกสิบห้าแล้ว ก็ไม่รับรองว่าจะพูดอย่างนี้อีก อาจจะพูดอย่างอื่น. คราวก่อนนี้ บอกว่าให้พบกัน ในสองปีคือ ในวันที่ ๔ ธันวาคม ๒๕๓๖. วันนี้ก็เหมือนว่าไม่นับ แต่ว่าความจริงก็นับเหมือนกัน. ก็ขอพบกันใหม่ ปี ๒๕๓๖ ๔ ธันวาคม และในระหว่างนี้ ขอให้รักษาตัวให้ดี ให้มีกำลังทั้งกาย ทั้งใจ เข้มแข็ง ปัญญาเฉียบแหลม. ก็ขอให้ทุกคนประสบความสำเร็จ ในสิ่งที่คิดดีแล้ว ทำดีแล้ว ขอให้ได้ประสบความเจริญทุกประการ.

« « Prev : ทุนค่าสมัครสอบเพื่อรับประกาศนียบัตรพนักงานวิทยุสมัครเล่นขั้นต้น

Next : ข้างบ้าน » »


ผู้ใช้ Facebook สามารถให้ความเห็นที่นี่ได้ โดยกด Like เพื่อแสดงตัว

ความคิดเห็นสำหรับ "พระราชดำรัส วันเฉลิมพระชนมพรรษา ๔ ธันวาคม ๒๕๓๕"

ไม่มีความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็น

ท่านอยากจะเข้าระบบหรือไม่


*
To prove you're a person (not a spam script), type the security word shown in the picture. Click on the picture to hear an audio file of the word.
Click to hear an audio file of the anti-spam word


Main: 0.16922402381897 sec
Sidebar: 0.12694191932678 sec