คุณธรรมกับวิชาการ

โดย Logos เมื่อ 20 July 2008 เวลา 4:03 ในหมวดหมู่ ข้อคิดชีวิต ปรัชญา ศาสนา #
อ่าน: 4345

พระบรมราโชวาท
ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรแก่บัณฑิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ณ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
วันพฤหัสบดี ที่ ๙-๑๑ กรกฎาคม ๒๕๓๕

…หลักของคุณธรรมคือการคิดด้วยจิตใจที่เป็นกลาง. ก่อนที่บัณฑิตจะพูดจะทำสิ่งไร จำเป็นต้องหยุดคิด เสียก่อน เพื่อรวบรวมสติให้ตั้งมั่นไม่โอนเอนและให้จิตสว่างแจ่มใส ซึ่งแรกๆ หัด อาจต้องใช้เวลาบ้าง และอาจ รู้สึกว่าทำได้ยาก. แต่เมื่อปฏิบัติฝึกฝนจนคุ้นเคยชำนาญแล้วก็ตั้งสติคิดอ่านได้คล่องแคล่วรวดเร็วขึ้น. จะแสดง ความรู้ความคิดเรื่องใด แก่ใคร ผู้ฟังก็เข้าใจได้ง่าย ได้ชัด ไม่ผิดหลักวิชา ซึ่งเท่ากับได้ปฏิบัติถูกต้องตรงตาม คุณธรรมของนักวิชาการอย่างครบถ้วน. ดังนี้ หากทุกคนปฏิบัติได้สำเร็จ จะทำให้สามารถเผยแพร่วิชาการ ทั้งหลายที่ร่ำเรียนมา ได้อย่างมีประสิทธิภาพและสอดคล้องกัน ทั้งจะเอื้ออำนวยให้กิจการทั้งปวงที่ทำ ลุล่วงได้ โดยราบรื่น และถูกต้อง. จึงใคร่ขอให้ท่านทั้งหลายคิดใคร่ครวญให้เห็นจริงพร้อมทั้งให้พยายามระมัดระวังตั้งใจ ที่จะไม่นำเอาวิชาการมาใช้เป็นอุบายโต้เถียงเอาชนะกันแต่อย่างเดียว เพราะการกระทำดังนั้นจะกลับเป็นเหตุก่อ ให้เกิดความไม่เข้าใจและขัดแย้งกันในสังคม. …


…เมื่อวันวาน ข้าพเจ้าได้พูดกับบัณฑิตในที่ประชุมนี้เป็นใจความว่า หลักของคุณธรรมคือการคิดด้วยจิตใจ ที่เป็นกลาง. ก่อนจะพูดจะทำสิ่งไร จำเป็นต้องหยุดคิดเสียก่อน เพื่อรวบรวมสติให้ตั้งมั่น และให้จิตสว่างแจ่มใส ซึ่งเมื่อฝึกหัดจนคุ้นเคยชำนาญแล้ว จะกระทำได้คล่องแคล่ว ช่วยให้สามารถแสดงความรู้ความคิดในเรื่องต่างๆ ให้ผู้ฟังเข้าใจได้ง่าย ได้ชัด ไม่ผิดทั้งหลักวิชาทั้งหลักคุณธรรม. และถ้าทุกคนปฏิบัติได้ จะทำให้สามารถเผยแพร่ วิชาการที่เรียนมาได้อย่างสอดคล้องและมีประสิทธิภาพ ทั้งจะเอื้ออำนวยให้กิจการทั้งปวงที่ทำ ลุล่วงไปได้โดย ราบรื่นและถูกต้อง. วันนี้ จะพูดกับท่านเรื่องการสร้างสรรค์และเพิ่มพูนความดีความเจริญให้แก่ตน แก่บ้านเมือง.

ความเจริญนั้นจะเกิดขึ้นได้ด้วยอาศัยปัจจัยสำคัญประกอบพร้อมกัน ๔ อย่าง. อย่างที่หนึ่ง ต้องมีคนดี มีปัญญา มีความรับผิดชอบ เป็นผู้ประกอบการ. อย่างที่สองต้องมีวิทยาการที่ดีเป็นเครื่องใช้ประกอบการ. อย่างที่ สาม ผู้ประกอบการต้องมีความวิริยะอุตสาหะ และความเพ่งพินิจอย่างละเอียดรอบคอบในการทำงาน. อย่างที่สี่ ต้องรู้จักการทำงานให้พอเหมาะ พอดี และพอควรแก่งานและแก่ประโยชน์ที่พึงประสงค์. ปัจจัยแห่งความเจริญ ดังกล่าวนี้ จะประกอบพร้อมกันขึ้นมิได้ หากบุคคลไม่พยายามศึกษาอบรมตนเองด้วยตนเองอยู่เป็นนิตย์. บัณฑิต แต่ละคนจึงควรอย่างยิ่ง ที่จะได้ตั้งใจฝึกฝนตนเองให้มีปัญญาความสามารถพร้อม ทั้งพยายามใช้ศิลปวิทยาที่มีอยู่ ประกอบกิจการงานด้วยความเพ่งพินิจ ด้วยความฉลาดรอบคอบให้พอดีพอเหมาะแก่งานแต่ละชิ้นแต่ละอย่าง. ความเจริญวัฒนาของงาน ของตัวเองและของประเทศชาติจะได้เกิดขึ้นตามที่ตั้งใจปรารถนา. …


…เมื่อวานซืน ข้าพเจ้าได้พูดกับบัณฑิตในที่ประชุมนี้เป็นใจความว่า หลักของคุณธรรมคือการคิดด้วยจิตใจที่เป็นกลาง. ก่อนจะพูดจะทำสิ่งไร จำเป็นต้องหยุดคิดเสียก่อน เพื่อรวบรวมสติให้ตั้งมั่น และให้จิตสว่างแจ่มใสซึ่งเมื่อฝึกหัดจนคุ้นเคยชำนาญแล้ว จะช่วยให้สามารถแสดงความรู้สึกความคิดในเรื่องต่างๆ ให้ผู้ฟังเข้าใจได้ง่าย ได้ชัด ไม่ผิดทั้งหลักวิชาทั้งหลักคุณธรรม. และถ้าทุกคนปฏิบัติได้ จะทำให้สามารถเผยแพร่วิชาการที่เรียนมาได้อย่างสอดคล้องและมีประสิทธิภาพ ทั้งจะเอื้ออำนวยให้กิจการทั้งปวงที่ทำ ลุล่วงไปได้โดยราบรื่นและถูกต้อง. เมื่อวานนี้ ได้พูดถึงการสร้างเสริมความเจริญของกิจการต่างๆ ว่าจะสำเร็จดังประสงค์ได้ ถ้ามีคนดีเป็นผู้ประกอบการ มีวิทยาการดีเป็นเครื่องใช้ประกอบการ มีความอุตสาหะวิริยะ และความละเอียดรอบคอบ เป็นพื้นฐานในตัวผู้ปฏิบัติ และมีการรู้จักการทำงานให้พอเหมาะพอดีแก่ประโยชน์ที่ประสงค์ เป็นหลักปฏิบัติการ. วันนี้จะพูดกับท่านถึงปัจจัยอีกอย่างหนึ่ง ซึ่งเป็นอุปการสำคัญในการปฏิบัติงานสร้างเสริมความเจริญก้าวหน้าคือความจริงใจ.

ความจริงใจต่อผู้อื่นเป็นคุณธรรมสำคัญมากสำหรับผู้ที่ต้องการความสำเร็จและความเจริญ เพราะช่วยให้สามารถขจัดปัดเป่าปัญหาได้มากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ปัญหาอันเกิดจากความกินแหนงแคลงใจและเอารัดเอาเปรียบกัน. นอกจากนั้น ยังทำให้ได้รับความเชื่อถือไว้วางใจ และความร่วมมือสนับสนุนจากทุกคนทุกฝ่ายที่ถือมั่นในเหตุผลและความดี. ผู้มีความจริงใจจะทำการสิ่งใด ก็มักสำเร็จได้โดยราบรื่น.

ความจริงใจอย่างสำคัญยังมีอีกส่วนหนึ่ง ได้แก่ความจริงใจต่อตนเอง เช่น เมื่อได้ตั้งใจจะประพฤติปฏิบัติในความดีอย่างหนึ่งอย่างใดแล้ว จะต้องติดตามรักษาความตั้งใจที่จะกระทำดังนั้นให้ได้ตลอดไป. คนที่รักษาความจริงใจต่อตนเองไว้ได้มั่นคง จะไม่เป็นคนสับปลับ หากแต่เป็นคนที่หนักแน่นเที่ยงตรง ทำอะไรตามกฎเกณฑ์ตามระเบียบ ตามเหตุผลและความถูกต้องเป็นธรรม จึงเป็นผู้สามารถสร้างสรรค์และสร้างสมความดีความเจริญให้งอกงามเพิ่มพูนยิ่งๆ ขึ้นได้ ไม่มีวันถอยหลัง. …

« « Prev : อีกครั้งหนึ่งกับพระราชดำรัส เมื่อวันที่ ๒๐ พฤษภาคม ๒๕๓๕​

Next : ตามคำขอของพี่หมอเจ๊ » »


ผู้ใช้ Facebook สามารถให้ความเห็นที่นี่ได้ โดยกด Like เพื่อแสดงตัว

4 ความคิดเห็น

  • #1 sutthinun ให้ความคิดเห็นเมื่อ 20 July 2008 เวลา 1:39

    อ่านได้ใจความ เข้าใจ สบายตา สบายใจดี

  • #2 sasinand ให้ความคิดเห็นเมื่อ 20 July 2008 เวลา 15:39

    ชอบ พระราชดำรัส ตรงนี้ค่ะ
    ความจริงใจต่อผู้อื่นเป็นคุณธรรมสำคัญมากสำหรับผู้ที่ต้องการความสำเร็จและความเจริญ เพราะช่วยให้สามารถขจัดปัดเป่าปัญหาได้มากมาย……
    คนเราถ้าไม่จริงใจกัน ก็คบกันได้ ไม่สนิทใจนัก นะคะ

  • #3 หมอเจ๊ ให้ความคิดเห็นเมื่อ 20 July 2008 เวลา 17:41

    พี่เข้ามาขอให้ลงพระราชดำรัสที่พระราชทานแก่นักศึกษามหิดล ปี 2518,2519,2522 และ 2523 ให้หน่อย ขอบคุณค่ะ

  • #4 Logos ให้ความคิดเห็นเมื่อ 23 July 2008 เวลา 22:02

แสดงความคิดเห็น

ท่านอยากจะเข้าระบบหรือไม่


*
To prove you're a person (not a spam script), type the security word shown in the picture. Click on the picture to hear an audio file of the word.
Click to hear an audio file of the anti-spam word


Main: 0.18281698226929 sec
Sidebar: 0.18134593963623 sec