ธุรกิจจิ๋ว ในฐานะจุดเริ่มต้นของการฟื้นฟู
อ่าน: 3617พอเขียนเรื่องการฟื้นฟู ก็คงจะมีคนบ่จอยเท่าไหร่ที่พื้นที่ของตนท่วม/หนักท่วมนาน ในขณะที่พื้นที่อื่นน้ำลดแล้วครับ
(หาเรื่องโดนด่า) สภาพน้ำท่วมส่วนใหญ่เป็นไปตามภูมิประเทศ มีเหมือนกันที่น้ำลดช้าเพราะต่อคิวกันไปเข้าตามทางระบายน้ำ จะระบายออกจากพื้นที่หนึ่ง ก็จะไปท่วมอีกพื้นที่หนึ่ง ถ้าหากว่ากำลังการระบายน้ำไปลงแม่น้ำหรือทะเลไม่ได้เพิ่มขึ้นตามไปด้วย บางกรณีระบายเท่าไหร่ก็ไม่หมด เพราะว่าน้ำที่ไหลเข้ามาในพื้นที่ยังมากกว่าหรือเท่ากับน้ำที่ระบายออกไป
อย่างไรก็ตาม เมื่อพูดถึงการฟื้นฟู ของจากโครงสร้างพื้นฐานซึ่งเป็นหน้าที่ของรัฐแล้ว การฟื้นฟูที่มีความหมายต่อชีวิตประชาชนที่สุด คือการทำให้คนทุกคนมีงานทำ พอมีชีวิตอยู่ต่อไปได้ มีกำลังบูรณะความเสียหายที่เกิดขึ้น ในชุมชนแถบชานเมือง คาดว่าจะมีผู้เดือดร้อนเป็นจำนวนมาก งานไม่มี เงินไม่มี ความหวังก็ไม่มี
เมื่อเกือบสามปีก่อน ผมเขียนบันทึกเรื่อง [ธุรกิจจิ๋ว] เอาไว้ ให้ความหมายในทางกว้างไว้ว่าเป็นงานบริการแบบง่ายๆ เช่นรับตัดหญ้า แต่งสวน รดน้ำต้นไม้ ทำแก้เครียด/แก้เหงา ไม่ต้องลงทุนอะไรมาก เดินไปทำงานในซอยได้เลย ได้ค่าตอบแทนเล็กน้อยดีกว่าอยู่เปล่าๆ
ความคิดเรื่องธุรกิจจิ๋วกลับมาอีกครั้ง ในฐานะที่จะเป็นเครื่องกระตุ้นเศรษฐกิจระดับปัจเจก ช่วงนี้น้ำเริ่มลดลง จะต้องมีการระดมทำความสะอาดกันขนานใหญ่ อาทิเช่น
- ผู้ที่ตกงานอาจจะรวมกลุ่มกันสักสามคน รับทำความสะอาดบ้านเรือนที่น้ำลดแล้ว (3 คน พันบาทต่อวัน โดยขนเครื่องมือจำพวกแปรง ไม้กวาดมาเอง — อาจจะมีอยู่แล้ว หากทำความสะอาดบ้านของตัวเองแล้ว)
- หมู่บ้านที่น้ำลดแล้ว รับกู้หมู่บ้านที่น้ำยังไม่ลด โดยขนกระสอบทรายไปล้อมไว้ แล้วสูบน้ำออก
- ให้เช่าเครื่องสูบน้ำ รวมค่าสึกหรอแต่ไม่รวมค่าน้ำมัน
- ขายอาหารดีลิเวอรี่ คือทำครัวร้อนจากพื้นที่ใกล้ๆ และเอาเรือเข้าไปขายตามหมู่บ้าน
- เรือพุ่มพวง ขายสิ่งจำเป็นในภาวะน้ำท่วม (รถพุ่มพวงคือรถสองแถวที่ขับเข้าไปตามหมู่บ้าน มีทั้งในเมืองและในชนบท ขายไข่ ผัก ผลไม้ ฯลฯ)
- เรือพายหรือเรือเครื่องที่รับส่งคนในหมู่บ้าน หรือในซอย อาจจะรับซื้อของจากปากซอยและนำส่งให้ คิดค่าส่ง 5 บาท โดยประสานงานกับร้านค้าที่ปากซอยไว้ให้เขาจัดแยกเป็นใส่ถุงให้
ทั้งหมดนี้ ตั้งอยู่บนหลักการสองอัน ว่าควรเห็นอกเห็นใจกันในภาวะยากลำบากครับ ขายได้แต่อย่าเอากำไรมากนัก ทุกคนก็เดือดร้อนเหมือนๆ กันทั้งนั้น และไม่ได้เป็นโปลิโอครับ (ไม่งอมืองอเท้า) ข้างบ้านมีรถ และ/หรือ มีเรือ ชวนกันไปหารายได้เลย
เนื่องจากพื้นที่ประสบภัย กระจัดกระจายกันอยู่ และการเดินทางยังลำบากอยู่ จึงเป็นเรื่องที่ไม่สมควรทำจะลุยถั่วไปเสี่ยงหาพื้นที่เอง แต่พื้นที่ที่ต้องการความช่วยเหลือ ควรจะประกาศให้ชัดว่าต้องการอะไรบ้าง เพื่อที่ว่าคนขายจะไม่เสียค่าเดินทางแห่กันไปแล้วไปแย่งกันขายจนในที่สุดก็ต้องขึ้นราคาเพื่อให้คุ้มกับค่าเดินทาง (ทราบครับว่าต่างกับทฤษฎีอุปสงค์-อุปทาน)
ถ้ามีเว็บในลักษณะจับคู่ pleas & pledges อย่าง http://form.thaiflood.com/ หรือแบบถึกที่สุด ก็แปะความต้องการไว้ที่หน้าหมู่บ้านเลยครับ ถ้าความต้องการอันไหนมีคนรับทำแล้ว ก็ให้ดึงป้ายนั้นออกไปเลย
แต่ถ้าคนมาขายของถึงบ้าน ขายข้าวผัดถุงเต่งๆ ราคา 15-20 บาท แทนที่จะเป็นกล่องละ 40 บาทแล้วกินไม่หมด หรือว่าเศรษฐีจะทำความสะอาดบ้าน ก็ช่วยคนตกงานให้มีรายได้แถมงานเสร็จเร็วขึ้น ก็ไม่เลวไม่ใช่หรือครับ
Next : ฟื้นฟูไม่ใช่แค่ทำให้เหมือนเก่า » »
ความคิดเห็นสำหรับ "ธุรกิจจิ๋ว ในฐานะจุดเริ่มต้นของการฟื้นฟู"