การกำหนดตำแหน่งให้แม่นยำขึ้น

โดย Logos เมื่อ 18 July 2010 เวลา 0:07 ในหมวดหมู่ คอมพิวเตอร์ การใช้งาน โปรแกรม #
อ่าน: 5457

วิธีการที่ตรงที่สุดในการกำหนดตำแหน่งพิกัดบนพื้นโลก คือการรับสัญญาณเวลา (เพื่อคำนวณตำแหน่ง) จากดาวเทียม โดยอุปกรณ์และวิธีการที่เรียกว่า Global Positioning System หรือที่เรียกกันว่า GPS

เดิมที GPS ใช้ในกิจการทหารเท่านั้น แต่หลังจากปี 2526 ที่เครื่องบินของสายการบินเกาหลี ที่บินจากอลาสก้าจะไปโซล เกิดพลัดหลงเข้าไปในน่านฟ้าของโซเวียต จึงถูกเครื่องบินรบของโซเวียตยิงตก ทำให้ผู้โดยสารและลูกเรือทั้ง 267 คนเสียชีวิตทั้งหมด ประธานาธิบดีเรแกน จึงมีคำสั่งให้เปิดใช้สัญญาณ GPS สำหรับกิจการพลเรือนได้ ทำให้ตลาด GPS เริ่มต้นตั้งแต่สมัยนั้น ราคาลดลง ความแม่นยำเพิ่มขึ้น

อย่างไรก็ตาม GPS มีข้อจำกัดหลายอย่างเช่นกัน สัญญาณลงมาจากฟ้า ถ้าจะรับสัญญาณ GPS ได้ ก็ต้องมองเห็นท้องฟ้า ซึ่งบางทีก็ถูกบังโดยหลังคา หรือตึกสูง

ต่อมาในปี 2544 เกิดเหตุการก่อการร้ายที่เวิล์ดเทรดเซ็นเตอร์ในนิวยอร์ค ทำให้มีผู้เสียชีวิตและติดอยู่ภายใต้ซากปรักของตึกเป็นจำนวนมาก หลังจากถอดบทเรียนหลังเหตุการณ์แล้ว ทาง กสทช.ของสหรัฐ​ (FCC) ได้ออกประกาศให้โทรศัพท์มือถือทุกเครื่องที่จะขายในตลาดสหรัฐ จะต้องมีความสามารถที่จะบอกตำแหน่งโดยประมาณได้ (A-GPS) เอาไว้ใช้ช่วยเหลือเจ้าหน้าที่ในการระบุตำแหน่งของเหตุการณ์ (กรณีโทรเข้า 911 หรือ 411)

ในการนี้ สถานีสัญญาณของโทรศัพท์มือถือ จะทำงานเช่นเดียวกับดาวเทียม GPS โดยส่งสัญญาณออกไปจากสถานีฐานที่รู้พิกัดของที่ตั้งที่แน่นอน โทรศัพท์มือถือจะความแรงของวัดสัญญาณที่รับได้จากสถานีฐานต่างๆ ความแรงของสัญญาณแปรผันเป็นปฏิภาคกับระยะห่างยกกำลังสอง ดังนั้นก็สามารถคำนวณระยะห่างจากสถานีต่างๆ ได้ด้วยวิธี Trianglulation ทำให้ระบุตำแหน่งของโทรศัพท์มือถือโดยประมาณได้ รายละเอียดอยู่ใน Mobile phone tracking

ดังนั้น เราจะเห็นโทรศัพท์รุ่นใหม่ๆ ที่จะส่งเข้าไปขายในสหรัฐ มี A-GPS กัน*ทุกเครื่อง* ไม่ว่าจะมี GPS จริงๆ ที่รับสัญญาณจากดาวเทียมหรือไม่

อย่างไรก็ตาม การกำหนดตำแหน่งโดยใช้สัญญาณจากสถานีโทรศัพท์มือถือ ก็มีความแม่นยำต่ำในระดับร้อยเมตร (อาจจะแม่นกว่านั้นหากมีสถานีฐานหนาแน่น และ/หรือการวัดความแรงของสัญญาณละเอียดพอ)

SKYHOOK Wireless

โทรศัพท์รุ่นใหม่ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งพวกสมาร์ทโฟน มี A-GPS และสามารถแสดงแผนที่ได้ จึงสามารถใช้ในการติดตามตำแหน่งของโทรศัพท์ได้ เพื่อแก้ไขปัญหาเรื่องความแม่นยำของตำแหน่ง ซึ่งจำเป็นสำหรับกิจการ Location-based service (เช่นส่งอาหารจานด่วน โฆษณา การแจ้งเหตุ ฯลฯ) บริษัท SKYHOOK Wireless ได้ก่อตั้งขึ้นในปี 2549 เพื่อสร้างฐานข้อมูลตำแหน่งของ Wifi access point ซึ่งมีความหนาแน่กว่าสถานีฐานของโทรศัพท์มือถืออยู่มาก

ด้วยหลักการเดียวกันกับการกำหนดตำแหน่งโดยใช้สถานีฐานของโทรศัพท์มือถือ การกำหนดตำแหน่งโดยใช้สัญญาณจาก Wifi access point จะมีความแม่นยำในระดับเดียวกับ GPS (ในระดับ 10 เมตรหรือต่ำกว่า) แต่ว่าเร็วกว่า GPS มาก

Wifi access point มีกำลังส่งต่ำ หากมองเห็นสัญญาณ ก็แปลว่าอยู่ใกล้มาก ประกอบกับพื้นที่การให้บริการมีรัศมีจำกัด Wifi access point จึงมีความหนาแน่นสูงกว่า ทำให้การคำนวณ Triangulation แม่นยำและละเอียดกว่าการใช้สัญญาณจากสถานีฐานของมือถือ เมื่อมองเห็น Access Point แล้วอ่านค่า Mac address ได้ ก็ส่ง Mac address ทั้งหลายที่มองเห็นไปเปิดตาราง(ผ่านอินเทอร์เน็ต) จะได้ตำแหน่งของ Access point ต่างๆ ในเวลาอันรวดเร็ว ทำให้คำนวณตำแหน่งพิกัดผ่านวิธี Triangulation ได้ง่ายและเร็ว

วิธีการของ SKYHOOK Wireless มีข้อดีเช่นเดียวกับ A-GPS คือใช้ภายในอาคารได้ แต่กำหนดตำแหน่งได้เร็วกว่า; มีข้อดีเช่นเดียวกับ GPS คือมีความแม่นยำ แต่ไม่ต้องรอเวลามองเห็นดาวเทียมหลายดวง (โดยปกติต้องไม่น้อยกว่า 5 ดวง) ซึ่งอาจใช้เวลาเป็นนาทีและต้องการมองเห็นท้องฟ้า; มีข้อเสียคือต้องใช้อินเทอร์เน็ต (ผ่าน Wifi หรือผ่านโทรศัพท์มือถือก็ได้)… ที่จริง อันนี้แล้วแต่บริษัทผู้ผลิตโทรศัพท์ หากไม่ต้องการให้ใช้อินเทอร์เน็ต ก็สามารถ “ซื้อ” ตำแหน่งและแผนที่จากเขา มาใส่ในโทรศัพท์มือถือได้เลย

สำหรับผู้บริโภคแล้ว การใช้งานฟรีทั้งหมด และทำงานโดยปราศจากการรู้เห็นของผู้ใช้ เช่นโทรศัพท์มือถือ (ที่เห็นปุ่ม WPS button connection) ซึ่งนั้นหมายถึงว่าทำงานร่วมกับ SKYHOOK ได้

แต่ก็มีอยู่เรื่องหนึ่งซึ่งผมว่าน่าจะช่วยกันทำให้ดีขึ้นได้

ในแผนที่ข้างบนนี้ จุดสีน้ำเงินแสดง Wifi access point ที่มีตำแหน่งอยู่ในฐานข้อมูลอยู่แล้ว ในเมื่อมีความหนาแน่นในเมืองไทยเยอะกว่าหลายๆ ประเทศที่มีดัชนีการพัฒนาทาง ICT สูงกว่าไทย — อยากถามว่าเป็นไปได้อย่างไร!

แล้วจะดีกว่านี้ไหม ถ้าเราส่งพิกัดของ Wifi access point ไปปรับปรุงฐานข้อมูล แสดงให้เห็นว่าเมืองไทยมี Access point กระจายกันอยู่ทุกพื้นที่ จึงเป็นไปไม่ได้ที่จะมีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางเครือข่ายต่ำเหมือนที่ดัชนีบอก ใครรับผิดชอบเรื่องการให้ข้อมูลนี้หนอ ทำหน้าที่ของตัวเองหรือเปล่าหนอ อายบ้างไหมหนอ

ถ้าเห็นด้วยและอยากช่วย ก็ขอเชิญกรอกข้อมูลของ Wifi access point ที่แต่ละคนมองเห็นบ้างนะครับ; ถึงจะเข้าไปใช้ไม่ได้ แต่รู้ว่ามีก็พอแล้ว; ถึงไม่รู้ Mac address ก็มีโปรแกรมอ่านค่า Mac address จากอากาศได้;อย่างเมืองท่องเที่ยวเนี่ย น่าจะมีจุดน้ำเงินเยอะๆ นะครับ ใครจะมาเที่ยว จะได้เห็นว่ามี Wifi coverage อยู่ทั่วไป ส่วนเขาจะใช้หรือไม่ใช้ก็เรื่องของเขา

การส่งพิกัด และ Mac address ไปยังฐานข้อมูล ไม่ได้เป็นการละเมิดสิทธิ์ของเจ้าของ Wifi access point เพียงแต่เมื่อเราส่งข้อมูลเข้าไปในฐานข้อมูล จะช่วยให้โทรศัพท์มือถือ หรืออุปกรณ์พกพาต่างๆ กำหนดตำแหน่งของตัวเองได้ดีขึ้น โดยที่อุปกรณ์เหล่านั้น ก็*ไม่ได้ใช้่* Access point ต่างๆ ที่เราส่งข้อมูลเข้าไป มัน*เพียงแต่ฟัง* Mac address จากอากาศแถวนั้นว่ามีใครประกาศอะไรออกมา (ซึ่งเป็นการทำงานปกติของ Wifi) แล้วส่งข้อมูลไปเทียบกับข้อมูลในฐานข้อมูล เพื่อจะได้พิกัดกลับมา แล้วเอามาคำนวณตำแหน่งของตัวเองเท่านั้น

เมื่อช่วยกันปรับปรุงฐานข้อมูลให้ตรงกับความเป็นจริงมากขึ้น จะเกิดธุรกิจ Location-based service ต่างๆ ตามขึ้นมาอีก เป็นการช่วยพัฒนาธุรกิจในบ้านเรา โปรแกรมต่างๆ ที่พัฒนาขึ้นมา สามารถส่งออกไปขายในประเทศอื่นๆ ได้ เพราะว่ามันไม่มีเรื่อง ภาษาและ UI ซึ่งเป็นข้อจำกัดของนักพัฒนาซอฟต์แวร์ไทยส่วนหนึ่งครับ

« « Prev : Thailand ICT Awards

Next : ก๊าซเชื้อเพลิงจากเศษไม้ (2) » »


ผู้ใช้ Facebook สามารถให้ความเห็นที่นี่ได้ โดยกด Like เพื่อแสดงตัว

7 ความคิดเห็น

  • #1 sutthinun ให้ความคิดเห็นเมื่อ 18 July 2010 เวลา 6:27

    โห ดีมากๆที่รู้ที่ไปที่มา และแนวทางการพัฒนาให้ถึงตัวมนุษย์ที่อยู่ทั่วโลก
    เป็นเรื่องใกล้ตัวในระยะประชิดจริงๆแล้ว วันนี้

  • #2 Logos ให้ความคิดเห็นเมื่อ 18 July 2010 เวลา 17:04
    นี่คงแปลว่าผมเขียนเรื่องทางเทคโนโลยีรู้เรื่องเหมือนกันนะครับ ฮาๆๆๆๆ
  • #3 dd_l ให้ความคิดเห็นเมื่อ 18 July 2010 เวลา 19:44

    #2 แปลว่าผมเขียนเรื่องทางเทคโนโลยี(ให้คนปกติ)รู้เรื่องเหมือนกัน

    ไม่เกี่ยวกับคนเขียนหรอก..ฮือๆๆๆๆ  คนอ่านคนนี้อ่านแล้วไม่รู้เรื่องเอ๊งงงง

  • #4 Logos ให้ความคิดเห็นเมื่อ 18 July 2010 เวลา 20:09
    แหมพี่ ถ้ายังใช้ GPD อยู่ ก็อาจจะเข้าใจเรื่องตำแหน่งพิกัดใน GPS ได้ยากนะครับ
  • #5 BM.chaiwut ให้ความคิดเห็นเมื่อ 21 July 2010 เวลา 7:15

    อารมณ์เสียตั้งแต่ยังไม่ทันสว่าง กล่าวคือ รู้สึกตัวแล้ว แต่สมองยังเหนื่อย รู้สึกว่าในความหลับยังคิดอยู่ ยังจัดระบบข้อมูลเรื่องราวไม่เสร็จ…. คนขาดๆ เกินๆ นอนอยู่นอกศาลา บ่นอะไรเสียงดัง จึงต้องลุก แล้วออกไปว่า่ ถ้าดังแบบนี้ ก็ออกไปจากวัด และยังมีประเด็นอื่นจากคนอื่นอีก…

    พอเปิดอ่านบันทึกนี้ ทำให้ใจใคร่รู้เกิดขึ้น ซึ่งนั้นคือ เรื่องรกสมองเก่าๆ จะค่อยคลายไปตามธรรมชาต (แสดงว่า คนเขียน เขียนดี)… แต่พออ่านไปลึกๆ ศัพท์แสงเยอะเกินไป คงต้องคุ้นเคยกับเรื่องนี้ จึงจะเข้าใจง่ายยิ่งขึ้น…

    เจริญพร

  • #6 Logos ให้ความคิดเห็นเมื่อ 21 July 2010 เวลา 7:20
    นมัสการครับ ที่จริงบันทึกนี้ ผมเขียนพุ่งเป้าไปที่ผู้อ่านที่มาจากนอกลานปัญญาครับ มีคนตามมาอ่านบ้างเป็นครั้งคราว

    เขียนบันทึกแต่ละเรื่องต้องคิดเยอะเหลือเกิน ถ้าง่ายไป ฝั่งหนึ่งก็เบื่อ แต่ถ้ายากไป อีกฝั่งก็เบื่อ ฮาๆๆๆๆ

    สรุปว่าไม่ควรคิดมาก อยากเขียนอะไร ก็เขียนไปเลยครับ

  • #7 Logos ให้ความคิดเห็นเมื่อ 22 July 2010 เวลา 2:57
    การทำอย่างนี้ มีศัพท์เทคนิคเรียกว่า Wardriving ครับ แล้วก็มีเครื่องมือการสแกนในโทรศัพท์มือถือต่างๆ ให้ด้วย

แสดงความคิดเห็น

ท่านอยากจะเข้าระบบหรือไม่


*
To prove you're a person (not a spam script), type the security word shown in the picture. Click on the picture to hear an audio file of the word.
Click to hear an audio file of the anti-spam word


Main: 1.2008740901947 sec
Sidebar: 1.8248579502106 sec