ดิน

โดย Logos เมื่อ 12 March 2009 เวลา 0:08 ในหมวดหมู่ ประสบการณ์ชีวิต #
อ่าน: 5660

เมื่อเย็น รับพี่ตากับน้องเขียวไปพบครูบากับผู้เชี่ยวชาญดิน (Soil Physics) กับภรรยาของท่าน สักครู่ครูปูก็ตามมา แล้วป้าจุ๋มก็มาสมทบในช่วงเย็น ปรากฏว่าท่านเคยอยู่กรมวิชาการเกษตร และรู้จักกับป้าจุ๋มมาก่อน แต่ลาออกจากราชการไป 15-16 ปีแล้ว

อย่างไรก็ดี นั่งฟังการบรรยายแบบ non-stop ก็นับได้ว่าเป็นการเปิดหูเปิดตาเหมือนกัน มีประเด็นที่ผมจดมาสองสามเรื่อง

1. เวลาเราพูดถึงคุณภาพของดิน มีอยู่สามเรื่องที่ต้องดูไปพร้อมๆ กัน คือ

  • ความเป็นกรด เป็นด่าง ของดิน (pH)
  • ความร่วนซุยของดิน (ประเด็นของน้ำ อากาศในดิน และประสิทธิภาพของราก)
  • ปริมาณและสัดส่วนของธาตุอาหารในดิน

การใส่ปุ๋ย(ธาตุอาหาร)อย่างบ้าคลั่งประดุจยาวิเศษ โดยไม่เข้าใจองค์ประกอบของดินและการเจริญเติบโตของพืช จึงเป็นการสูญเปล่า ยิ่งทำยิ่งจน ส่วนคนขายปุ๋ยยิ่งรวย

2. ท่านแจ้งว่ามีแผนที่ดิน ออนไลน์อยู่ที่ www.soil.doae.go.th เมื่อผมถามว่าเป็นแผนที่หรือเป็น cross section ของดิน (มีชั้นดิน มีความลึก) ท่านว่าอย่างนั้นก็มี — เว็บนี้ กลับบ้านมาตรวจสอบ พบว่าเป็นบริการตรวจสอบชุดดินของกรมส่งเสริมการเกษตร โดยเราต้องให้พิกัด GPS ไป แล้วทางกรมจะค้นให้ว่าดินตรงตำแหน่งนั้นเป็นดินชุดใด ในขณะนี้ ไม่พบว่ามีข้อมูลหรือแผนที่ชั้นดินแต่อย่างใด เรื่องนี้ก็ต้องเข้าใจว่าท่านไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญทางไอที จึงอาจให้คำตอบไม่ตรงนัก แต่ผมก็เชื่อว่ากรมมีข้อมูลนี้อยู่ แต่ไม่ได้เปิดเผยออกมาทั้งหมด

3. ชาวไร่ ชาวนา ที่เผาที่ทางของตน เป็นการทำร้ายตัวเองโดยไม่รู้ตัว พืชเจริญเติบโตโดยอาศัยคาร์บอนในดินไปสร้างเป็นเชลลูโลส เมื่อเผา คาร์บอนกลายไปเป็นก๊าซ แถมไนโตรเจนในดินหายไปหมด ส่วนฟอสฟอรัสหายไป 50% — อย่างนี้ จะต้องใส่ปุ๋ยอีกเท่าไหร่ จึงจะฟื้นคุณภาพดินให้กลับมาสู่สภาพเดิม ยิ่งทำยิ่งจน ผลผลิตต่ำลงเรื่อยๆ

« « Prev : บทเรียนจาก Star Trek

Next : เพลงชาติ » »


ผู้ใช้ Facebook สามารถให้ความเห็นที่นี่ได้ โดยกด Like เพื่อแสดงตัว

18 ความคิดเห็น

  • #1 bangsai ให้ความคิดเห็นเมื่อ 12 March 2009 เวลา 1:10

    แผนที่ดินของกรมพัฒนาที่ดินมีครับ  มีแผนที่ดินเค็มด้วยซึ่งเป็นลูกระเบิดใหญ่ของอีสาน (นัก soil Science ทราบเรื่องนี้ดี)
    ผมเคยไปหาความรู้เรื่องดินอีสานที่กรมทรัพยากรธรณีภาคอีสาน(ขอนแก่น) บังเอิญส่วนใหญ่เป็นรุ่นพี่รุ่นน้องกันจึงได้ทราบข้อมูลที่น่าสนใจมากๆที่คนทั่วไปไม่ค่อยทราบรายละเอียดกัน  เช่นรายละเอียดเรื่อง แอ่งโคราช แอ่งสกลนคร soil dome ใต้แผ่นดินอีสาน การขยายตัวของเกลือบนผิวดินของภาคอีสาน การทำเขื่อนใต้ดิน ฯลฯ

    แผนที่ดินเค็ม โดยกรมพัฒนาที่ดิน และแผนที่น้ำใต้ดิน ของกองน้ำบาดาล กรมทรัพยากรธรณี มีประโยชน์มากๆ ๆๆ ทั้งชาวบ้าน ทั้งนักพัฒนา แม้กระทั่งนักธุรกิจพัฒนาที่ดิน เช่นเศรษฐีจะกว้านซื้อที่ดินเพื่อทำบ้านจัดสรร  หากไม่ทราบว่าใต้ดินที่กว้านซื้อมานั้นเป็นดินเค็ม น้ำใต้ดินเค็ม  ราคาที่ดิน ราคาบ้านตกฮวบทันที

    ผมทำงานกับโครงการไทย-ออสเตรเลีย กิจกรรมหนึ่งคือการพัฒนาแหล่งน้ำดื่มน้ำใช้ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เป็นช่วงที่ โครงการให้งบประมาณกองน้ำบาดาล กรมทรัพยากรธรณีพิมพ์แผนที่มาตราฐานเรื่องน้ำใต้ดินของภาคอีสาน พร้อมทำคู่มืิอด้วยทุกจังหวัด  (ปัจจุบันน่าจะทำทั่วประเทศแล้วนะ) แต่คนส่วนใหญ่ไม่ทราบ  และกรมเองก้ไม่ค่อยประชาสัมพันธ์ (คล้ายๆ หวงอะไรทำนองนั้น) แต่หากทางราชการทำหนังสือขอก็ไม่น่ามีปัญหา

    เรื่องดินนั้น เรามีนักดินที่มีความรู้มาก และสำนักงานที่ดินจังหวัดก็มีแผนที่ทุกจังหวัดเรื่องชนิดดินคุณสมบัติดินและแนวทางการฟื้นฟูคุณภาพดิน แบบวิเคราะห์ดินทั้งจังหวัด  มีหมดครับ  เพราะช่วงที่เราทำการวิเคราะห์พื้ันที่จังหวัด Agro-ecosystem analysis (AEA) นั้น เราก็ใช้ข้อมูลแผนที่ดินจาดสำนักงานพัฒนาดินของแต่ละจังหวัดซึ่งละเอียด ใช้ได้มีแผนที่ใน scale มาตราฐาน ยกเว้นว่าเขาหวงความรู้พวกนี้ครับ

    ประเด็นเรื่องดินคือ การทำงานให้ความรู้เรื่องนี้แก่ประชาชนล้มเหลว การปลุกสำนึกล้มเหลว เรื่องนี้ผมจึงติติงสถาบันการศึกษาที่สร้างนักประชาสัมพันธ์ไปสนับสนุนธุรกิจหมดสิ้น เพราะเงินดี  แต่นักประชาสัมพันธ์ฝีมือดี  มาสร้างแก๊ก เด้ดๆ แล้วให้ชาวบ้านเกิดสำนึกช่วยกันฟื้นฟูสภาพดินให้ดีขึ้น  ไม่มี ไม่มี ราชการก็มีแต่อบรม  “ทั้งอบทั้งรม” ทั้งปีทั้งชาติ  การฝึกอบรมก็ทำแบบเอาปริมาณ แล้วก็จบกันไป

    หลักการดี  มีหมอดินในหมู่บ้าน  แต่ที่มีประสิทธิภาพน้อยมาก…..

    ดินกับปุ๋ย….
    กรมส่งเสริมการเกษตรนั่นแหละเป็นคนนำปุ๋ย NPK เข้ามาในเมืองไทย  และยังใช้มาจนปัจจุบัน จากราคา 200 บาทต่อ 50 กิโลกรัมมาจนมากกว่า 1000บาท ต่อกิโลกรัม  พ่อค้ารวยไม่รู้เรื่อง…

    เรารู้แล้วว่า พืชที่จะเติบโตนั้นไม่ใช่กินอาหารเพียง NPK เท่านั้น ยังมีธาตุอาหารอีก 10 ชนิด ที่พืชต้องการ ราชการซึ่งเป็นแหล่งวิชาการก็ยังส่งเสริม NPK แล้ว เจ้า NPK นี่แหละที่ตกค้างในดิน เมื่อค้างมากๆ และฝนตกลงมาก็ชะล้างเจ้าพวกที่ตกค้างลงไปใน “บ่อสร้าง” หรือบ่อน้ำตื้นที่ชาวบ้านอีสานนิยมบริโภคตามวัฒนธรรมการบริโภคของเขา  ก็ดื่มเอาสารเหล่านี้ไปด้วย  แล้วก็เกิดโรคตามมามากมาย  คณะแพทย์ศาสตร์ มหิดลเคยออกสำรวจคุณภาพน้ำบ่อสร้างในอีสาน พบว่ามีค่าสารปนเปื้อนเหล่านี้มากกว่าที่จะใช้ดื่มได้  แต่ชาวบ้านไม่รู้…….เวรกรรมจริงๆ…..บางบ่อแพทย์เหล่านั้นเสนอให้กลบทิ้ง

    ชาวบ้านบางแห่งเริ่มรู้ว่า การเอามูลหมู มาหมัก เอาน้ำที่ได้จากการหมักเป็นปุ๋ยอินทรีย์ ไปใส่ พ่น ฉีดทางใบ ใส่ที่โคนมันสำปะหลัง จะเพิ่มผลผลิตจาก 3 ตันต่อไร่เป็น 8 ตันไปจนถึง 15 ตันต่อไร่ ทั้งนี้เพราะ น้ำหมักมูลหมู มีธาตุอาหารครบทั้ง 10+ 3 ตัว 3 ตัวหลังคือ NPK ส่วนสิบตัวนั้นก็ล้วนที่พืชจำเป็นต้องใช้ทั้งสิ้น…..  ทำไมระบบโฆษณาที่มีอิทธิพลในระบบธุรกิจจึงไม่มีใครเอามาใช้เพื่อการพัฒนาความรู้แก่เกษตรกรบ้าง….  ผมเคยนำเรื่องนี้ไปปรึกษากับผู้ให้เงิน เขาก็ไม่สนใจ  เราก็ทำในระดับซึมลึก คือ การเอาเกษตรกรที่สนใจจริงๆไปดูงานคนที่สำเร็จแล้วเปิดเวทีคุยกันทั้ง BAR และ AAR การเปิดเวทีแลกเปลี่ยนแบบ Non structure dialogue  แต่การทำงานพัฒนานั้นต้องใช้หลายๆวิธี ผสมผสานกัน ใช้เพียงแบบใดแบบหนึ่งไม่พอเพราะคนเรานั้น คลิกด้วยกระบวนการที่แตกต่างกัน  บางคนต้องเคาะกะโหลก  บางคนต้องกราบไหว้ บางคนต้องสัมผัสจริง บางคนต้องถ้าทาย กระแทกกระทั้น  สารพัดวิธี นั่นหมายถึงเราต้องรู้และเข้ามจคน นั่นหมายถึงเราต้องใกล้ชิด และคลุกคลีกับชาวบ้านจึงจะออกแบบกระบวนการเรียนรู้ได้เหมาะสม ไม่ใช่แบบใดแบบหนึ่งแล้วใช้ได้หมด  นี่แหละที่ผมเขียนว่า คนทำงานพัฒนานั้นเหมือน “เข็นครกขึ้นภูเขา” ยากจริงๆ ละเอียดอ่อนมาก…

    อ้าว..น้ำลายแตกฟองซะแล้ว…อิอิ

  • #2 Logos ให้ความคิดเห็นเมื่อ 12 March 2009 เวลา 1:17
    โหพี่บางทราย ความคิดเห็นยาวกว่าบันทึกผมเสียอีกครับ เก็บกดหรือครับ อิอิ

    เรื่องนี้ผมฟังแล้วสงสารชาวไร่ชาวนา ที่ตกเป็นเหยื่อนายทุนและระบบครับ แต่ว่าสงสารอย่างเดียวคงไม่ทำให้อะไรดีขึ้น หากมีทางแก้ไขได้ บางทีก็ควรมีแปลงสาธิต แสดงให้เห็นว่าปุ๋ยอย่างเดียว ช่วยอะไรไม่ได้ เหมือนกินเครื่องดื่มชูกำลังโดยไม่กินข้าว ในที่สุดตายแน่

  • #3 sutthinun ให้ความคิดเห็นเมื่อ 12 March 2009 เวลา 7:12

    เหมือนฟ้าประทาน กำลังจะเขียนเรื่องเกี่ยวกับพวกนี้พอนี้
    ขออนุญาตจับแพะชนแกะผสม10 เพราะจะต้องเตรียมเนื้อหาไปคุยกับผู้ใหญ่เร็วๆนี้
    เรื่องแปลงสาธิต แบบฉบับเราน่าสนใจ  เพราะการทำงานด้วยกระเป๋าชาวบ้าน กับทำแบบกระเป๋าทางการ มีข้อจำกัด และได้ข้อมูลแตกต่างกัน

  • #4 bangsai ให้ความคิดเห็นเมื่อ 12 March 2009 เวลา 8:10

    ขอแก้ข้อมูล soil dome เป็น salt dome หรือภูเขาเกลือ ซึ่งกรมพัฒนาที่ดิน และกรมทรัพยากรธรรมชาติ มีแผนที่หน้าตัดขวาง cross section ด้วยครับว่ายอดภูเขาอยู่ที่ไหน ความลึกเท่าไหร่ กินพื้นที่บริเวณไหนบ้างของจังหวัดต่างๆในภาคอีสาน

    พี่ถือคติว่ามาทำงานอีสานก็ต้องเข้าใจกายภาพของอีสานด้วยครับ

  • #5 น้ำฟ้าและปรายดาว ให้ความคิดเห็นเมื่อ 12 March 2009 เวลา 8:28

    ย้าฮู้ เจ๋งค่ะ ได้แนวทางในการสำรวจดินแย้ว อิอิอิ

  • #6 Logos ให้ความคิดเห็นเมื่อ 12 March 2009 เวลา 9:30
    ในเมื่อ input คือพิกัด ดูเหมือนว่าทางกรมจะไปเปิดแผนที่ดู แล้วตอบกลับมาว่าเป็น “ชุดดิน” แบบใดครับ น่าจะอนุมาณได้ว่าข้อมูลของกรมนั้น อยู่ในรูปของ GIS อยู่แล้ว กรมอาจจะไม่มีวิธีการที่ดี ที่จะแสดงข้อมูลเหล่านี้ หรือไม่ก็ต้องการจำนวนผู้ลงทะเบียนไปใช้เป็นตัวชี้วัดอะไรสักอย่าง

    น่าเสียดายที่ข้อมูลที่มีอยู่ กลับไม่ได้เปิดเผยออกมาเพื่อให้ประชาชนเอาไปต่อยอดได้

  • #7 handyman ให้ความคิดเห็นเมื่อ 12 March 2009 เวลา 9:48
    • เรื่อง สงสารชาวไร่ชาวนา ที่ตกเป็นเหยื่อนายทุนและระบบ นั้น อยู่ในหัวใจผมมาตลอดเช่นกัน เพราะเป็นเด็กบ้านนอกขนานแท้ 
    • แม้การงานจะทำให้ต้องห่างออกมานาน  คิดอะไรไว้หลายๆอย่าง ที่น่าจะผลักดันออกมาแชร์กับหมู่ญาติ แล้วนำสู่การทดลอง ปฏิบัติ จนมีผลให้เหยื่อถูกล่ายากขึ้น .. ขอเวลาอีกนิด ให้ยกภูเขาออกจากอกได้บ้างแล้ว ผมจะร่วมลุยครับ
  • #8 น้ำฟ้าและปรายดาว ให้ความคิดเห็นเมื่อ 12 March 2009 เวลา 12:29

    ระดมสมองแบบสุนทรีย์คราวที่แล้วพี่สุกรีบอกให้เบิร์ดไปเอา CD-ROM GIS ดินที่สถานีพัฒนาดินเชียงราย แต่ยังไม่ได้ไปเอาเดี๋ยวจะหนีงานออกไปดูค่ะ ถ้ายังไงจะส่งข่าวบอกนะคะ เพราะคิดว่าเค้าไม่ได้นำลงเว็บแต่มี GIS แน่นอนค่ะ

  • #9 nontster ให้ความคิดเห็นเมื่อ 12 March 2009 เวลา 14:56

    ไม่เคยเข้าไปสัมผัสเองแต่เคยได้ยินมาว่า จะไปเปลี่ยนอะไรที่เค้าเคยทำมันก็ไม่ง่าย การนำเทคโนโลยีใหม่เข้าไปบางครั้งทำให้ผลผลิตตกฮวบ เพราะบางอย่างต้องใช้เวลา แต่ความน่าเชื่อถือต่อนักวิชาการลดลงทันที ผลคือชาวบ้านเข็ด แล้วก็ทำอย่างเดิมๆต่อไป

  • #10 Logos ให้ความคิดเห็นเมื่อ 12 March 2009 เวลา 18:18
    #9 ส่วนหนึ่งของปัญหาก็น่าจะอยู่ตรงนี้ล่ะครับ ชาวบ้านไม่อยากเปลี่ยน เค้าไม่รู้ว่าเปลี่ยนแล้วดีอย่างไร ต่อให้เริ่มต้นให้ เค้าก็ไม่ทำต่อ

    ก็ลองกันให้เห็นชัดๆ ซิครับ ชาวบ้านเค้าตัดสินใจเองได้

  • #11 bangsai ให้ความคิดเห็นเมื่อ 12 March 2009 เวลา 20:24

    หน่วยงานภายใต้กระทรวงเกษตรที่เล่น GIS มีมากมาย และกรมอื่นๆกระทรวงอื่นก็มีมาก เพราะเป็น trend ใครๆก็ทำ แต่ต่างโปรแกรม ต่างรายละเอียดกัน จะเอามาบูรณาการกันเป็นเรื่องใหญ่ ผมเคยทำงานกับโครงการ ADB กับกรมชลประทาน และหยิบเอาเรื่องนี้มาพิจารณากัน(ผมไม่ได้รับผิดชอบโดยตรงนะครับ แค่อยู่ในทีม รับผิดชอบงานอื่น แต่รับรู้)  พบว่าเป็นงานใหญ่ เพราะไม่มีใครยอมใคร ยึดของเดิมที่ทำมาแล้ว ไม่ต้องการเปลี่ยนแปลงไปตามใคร อิอิ มันก็เลย เหมือนเพลง “มันต้องถอน“  ที่กำลังดังตอนนี้…อิอิ  เฮ่อ ประเทศไทย ทวีมีชัยชะโย…..

  • #12 bangsai ให้ความคิดเห็นเมื่อ 12 March 2009 เวลา 20:51

    งานที่เราทำนั้น ทำทั้ง

    • แปลงศึกษา ทดลอง แปลงสาธิต แล้วจัดระบบการสนรุปบทเรียนแบบ Non Classroom Discussion
    • จัดกลุ่มสนใจแลกเปลี่ยนกัน Interested Group Exchange
    • ศึกษาดูงาน คนที่ประสบผลสำเร็จ Excursion
    • การเยี่ยมเยือนแปลงและการแลกเปลี่ยน แนะนำ Visiting and Coaching
    • การสรุปเป็นเอกสารง่ายๆสำหรับชาวบ้าน

    ทั้งหมดนี้ก็เพื่อเอาวิชาการไปให้ชาวบ้านได้เข้าใจ เอาหลักการไปให้ชาวบ้าน ผสมผสานกับพื้นเดิมของเขา ความเชื่อ วัฒนธรรมประเพณี ลักษณะเฉพาะของชนเผ่า ความซับซ้อนของวิชาการ ฯลฯ

    นักวิชาการที่ทำงานชุมชนต้องรู้เรื่องวิชาการดี อันนี้เขามีเต็มอยู่แล้ว  แต่มักขาด ทักษะการทำำงานกับชาวบ้าน…
    ตรงข้าม นักพัฒนาชนบท เก่งเรื่องการทำงานกับชาวบ้าน แต่ด้อยเรื่องวิชาการที่จะเอามาประยุกต์ให้ชาวบ้าน 

    น้อยคนที่จะมีความสามารถทั้งสองส่วน…..  อย่าง “ปาลียน” เป็น Soil scientist  แต่คุณสมบัติพิเศษเขาคือ ชอบ สนใจวัฒนธรรมชุมชน วิถีชุมชน ซึ่งอาจจะเรียกว่า ติดดิน…

    ชาวบ้านบางกลุ่ม แม้หลักการวิชาการจะแสนง่าย(ของเรา)  แต่สำหรับชาวบ้านแล้ว สับสน ไม่เข้าใจ เพราะใหม่สำหรับเขา จึงทำผิดพลาดแบบเราไม่เชื่อก็มีมาก 

    …ที่เรียกว่า พูดง่าย ทำยาก…

  • #13 bangsai ให้ความคิดเห็นเมื่อ 12 March 2009 เวลา 20:54

    ดังนั้น  เราพบบ่อยๆที่ผู้มาทำงานใหม่ ปริญญาตรี หรือแม้จบปริญญาโท  พอมาทำงานกับชาวบ้าน   อิอิ เบ๊อะๆบ๊ะๆ ไปเลย..  ต้องใช้เวลาพักใหญ่ หรือน้อย ก็ขึ้นอยู่กับการปรับตัวของเขา….

  • #14 Lin Hui ให้ความคิดเห็นเมื่อ 13 March 2009 เวลา 11:00

    ความจริงเรื่องดินนี้ เป็นเรื่องกำปั้นทุบดิน  แต่ความเป็นจริงนั้นทุกคนที่เรียนมาทางด้าน ภูมิศาสตร์กายภาพ ธรณีวิทยากายภาพ และวิทยาศสาตร์เกี่ยวกับดิน ย่อมรู้ว่าดินเกิดจากสลายตัวของหินแม่ที่อยู่ในพื้นที่นั้นๆ (พาเรนแมทิเรียน ) ตอนนี้พิมพ์อังกฤษไม่ได้ค่ะ
    นั้นคือต้นทุนของดินในแต่ละพื้นที่ ไม่ว่าจะหน่วยดินชุดดิน ย่อมให้ข้อมูลกว้างมาก ในความเป็นจริงดินของแต่ละพื้นที่ ผ่านการใช้มาตั้งแต่โบราณกาลมาแล้ว ย่อมมีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นไม่หยุดหย่อน ตามวิถีชีวิต วิธีการใช้ดินที่แตกต่างกัน จึงมีความจำเป็นต้องตรวจคุณภาพของดิน และน้ำ ก่อนลงมือใช้ดินอย่างชาญฉลาด การตรวจสอบคุณภาพดิน จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง รวมทั้งน้ำในพื้นที่นั้นๆด้วย ซึ่งควรจะมีการตรวจ ทั้ง 3 อย่าง
    1.คุณภาพ ทางด้านกายภาพของดิน,น้ำ
    2.คุณสภาพ ทางด้านชีวภาพของดิน,น้ำ
    3.คุณภาพทางด้าน เคมีของดิน,น้ำ
    เป็นข้อมูลพื้นฐาน ในการวางแผน ทำการเกษตรอินทรีย์ เกษตรปราณีต
    เราต้องถามตัวเองก่อนว่า เราทำอะไรได้บ้างระดับไหน อะไรบ้างที่ทำไม่ได้ แล้ว ควรไปหานักวิชาการด้านไหน เฉพาะเจาะจงลงไปด้านนั้นโดยตรง ที่เข้าใจความเป็นจริงในปัจจุบัน เนื่องจากมีเทคโนโลยี่ที่พัฒนาไม่หยุดยั้ง จำเป็นที่ควรใช้เทคโลโลยีทุ่นแรงด้วย
    ลืมบอกไปว่าในดินที่สลายตัวของหินแม่ที่มีสารพิษ ดินย่อมมีสารพิษด้วย นอกจากนั้นสิ่งแวดล้อมที่มีพิษโดยธรรมชาติ และพิษที่เกิดจากฝีมือมนุษย์ การจัดการเรื่องดินย่อมแตกต่างกันออกไปค่ะ

  • #15 sothorn ให้ความคิดเห็นเมื่อ 13 March 2009 เวลา 19:43

    อ. วิวัฒน์ ศัลยกำธร บอกว่า เราต้อง “คืนชีวิตให้แผ่นดิน” เพราะดินมันตาย ไร้ซึ่งจุลินทรีย์

  • #16 ป้าจุ๋ม ให้ความคิดเห็นเมื่อ 14 March 2009 เวลา 23:58

    -ป้าจุ๋มได้มีโอกาสเข้าร่วมฟังการสนทนาแบบ0ne way traffic ด้วยในวันนั้น ก็น่าสนใจดี
    -ส่วนเรื่องข้อมูลดินที่ว่านำGPSไปจับเพื่อบอกพิกัดที่ดินเกษตรกรว่าอยู่ตรงไหนนั้น คงคิดว่าจะนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาแก้ปัญหาให้เกษตรกรหรือ??? ยังสงสัยเพราะการทำเช่นนั้นจะรู้แต่เพียงว่าบริเวณนั้นเป็นดินชุดอะไร และ สมรรถนะดินน่าจะปลูกพืชอะไรได้บ้างเท่านั้นเอง และข้อมูลสมรรถนะที่ดินนี้น่าจะทำมานานกว่า 40 ปีแล้วค่ะ ซึ่งทำโดยกรมพัฒนาที่ดินร่วมกับผู้เชี่ยวชาญต่างประเทศ (ไม่แน่ใจว่าตอนหลังมีการ up date ข้อมูลหรือเปล่า) ถ้าหากไม่แล้ว  ข้อมูลน่าจะใช้ประโยชน์ได้น้อย อย่าลืมว่าที่ดินทางการเกษตรนี่ค่อนข้างจะdynamic คือมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา การทำการเกษตรนาน แบบขาดหลักการอนุรักษ์ดินร่วมด้วย จึงมีการชะล้างพังทะลายร่วมไปอีกนอกจากธาตุอาหารที่ถูกremoved ไปกับผลผลิตทุกปีทุกปี โดยที่ไม่มีการเติมหรือเติมไม่เพียงพอทำให้ธาตุอาหารพืชในดินdepleteไปมากจึงมีไม่เพียงพอต่อการเจริญเติบโตของพืชที่ปลูกในระยะเวลาต่อๆมาหรือมีการเติมไม่ได้สัดส่วนทำให้ขาดความสมดุลของธาตุอาหารพืช ก็จะเป็นปัญหาเช่นกัน
    -การเกษตรบ้านเรามีปัญหาสาเหตุส่วนหนึ่งน่าจะมาจาก 1.ผู้ที่ไม่รู้จริงแต่ชอบชี้ และมีโอกาสชี้บ่อยด้วย    
    2.มักมีโครงการแบบฉาบฉวยขาดความต่อเนื่องในยุคที่นักการเมืองเฟื่องฟูและประชานิยม หลายๆเรื่องเช่นพยายามคิดว่าจะนำเทคโนโลยีใหม่มาแก้ปัญหา โดยการซื้อเครื่องGPS และอะไรต่อมิอะไรมากมาย ไม่แน่ใจว่าใช้ได้คุ้มค่าแค่ไหน ไม่ได้เป็นคนปฏิเสธเทคโนโลยีใหม่ ยอมรับว่าดีมากและก็พยายามตามให้ทันเท่าที่จะได้ไม่ตกยุค ตัวอย่างที่ว่าไม่ค่อยจะเข้าใจอีกอย่างเช่นยุคที่ส่งเสริมการทำเกษตรอินทรีย์มีการซื้อปุ๋ยอินทรีย์แจกเกษตรกรบางกลุ่ม รายละ 1-2 กระสอบ(แถมบางกระสอบเป็นปุ๋ยที่ไม่ได้มาตรฐานอีก)หมดงบประมาณแผ่นดินไปตั้งมากมาย และปุ๋ย 1-2 กระสอบนั้นอาจปรับปรุงดินได้แค่5-10 ตารางวาเท่านั้นเอง      
    3.ตัวเกษตรกรเองบางส่วนขาดความตั้งใจจริงและเอาใจใส่เท่าที่ควร คอยแต่จะอ้าแขนรอรับความช่วยเหลือจากทางการเอะอะแจกฟรี  เหมือนเราเลี้ยงลูกไม่ให้โต ขาดความอดทน และไม่ยอมคิดเลยคิดไม่เป็น  
    4. ต้องยอมรับว่าสิ่งแวดล้อมตอนนี้เปลี่ยนไปมาก ทั้งภูมิอากาศ โรค แมลง ดังนั้นจะทำแบบเดิมๆก็คงจะยากสักหน่อย ต้องมีการปรับเปลี่ยนวิธีการให้ทันกับเหตุการณ์  รับรองไปได้ไม่มีคำว่าสิ้นหวัง ยังมีความหวังหากตั้งใจกันจริงๆ
    -รู้สึกจะเป็นการบ่นไปเสียแล้ว
    -มีสิ่งหนึ่งที่สนับสนุนความคิดของคุณLogosคือว่าก็ ชาวบ้านไม่อยากเปลี่ยน เค้าไม่รู้ว่าเปลี่ยนแล้วดีอย่างไร ต่อให้เริ่มต้นให้ เค้าก็ไม่ทำต่อ ลองกันให้เห็นชัดๆ ซิครับ ชาวบ้านเค้าตัดสินใจเองได้ ใช่เลยค่ะ
    -ตัวอย่างดินที่สวนป่าครูบา เป็นตัวอย่างของดินที่depleteมาก เคยไปเก็บตัวอย่างดินที่นั่นมาวิเคราะห์หาค่าทางเคมีรวมทั้งปริมาณธาตุอาหารพืชทุกอย่างมีน้อยมากๆ จนดูเหมือนว่าไม่น่าจะปลูกอะไรได้เลย แต่ครูบาใช้วิธีปลูกป่าสร้างป่าปล่อยให้ใบไม้ร่วงมาคลุมดินปีแล้วปีเล่าจนดินเริ่มมีชีวิตคืนมาได้ระดับหนึ่ง มีเห็ดธรรมชาติกลับคืนมาได้เลี้ยงชาวบ้านแถบนั้นไปอาศัยเก็บเห็ดกินในหน้าฝน มีสิ่งมีชีวิตกลับคืนมามากมาย มีไข่มดแดง มีแย้ และอื่นๆที่เป็นอาหารธรรมชาติ และยังได้พยายามทำการเกษตรแบบปราณีต 1 ไร่ให้ดูว่าไม่ต้องมีที่ดินมากก็สร้างรายได้ได้มีการปลูกหมุนเวียนตลอดปี มีผักพอกินเหลือก็ขายและยังมีอื่นๆอีกหลายอย่างที่ค่อยไป เช่นเลี้ยงวัว เลี้ยงหมู ไก่ไข่ ไก่เนื้อ ไก่ต๊อก ไก่งวง เป็ดเทศ นกกระจอกเทศ มีให้ดูที่นั่น ที่นั่นเป็นเพียงจุดเดียวที่ทำให้เห็นในเชิงประจักษ์ พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าทำได้ ลองช่วยกันทำหลายๆทำเช่นที่นั่นให้ทั่วทั้งอิสาน ทำอย่างต่อเนื่อง ไม่นานอิสานจะเป็นแผ่นดินทองได้
    -คุณบางทรายสัมผัสของจริงมามากเลยรู้มากเห็นมาก จึงเขียนได้ยาวมาก ดีค่ะระบายๆออกมาบ้าง สบายใจขึ้นบ้างไหมค่ะ อีกหน่อยพวกเราพี่น้องเฮฮาจะระดมสมองช่วยกันคิดช่วยกันทำค่ะและคิดว่าน่าจะทำได้ค่ะ
    -ปัญหาทางการเกษตรมีเรื่องที่จะคุยได้อีกยาวค่ะ หากช่วยกันจริงจังประเทศไทยเราหรือแม้แติอิสานที่ว่าแย่ิ ก็ไม่ได้แย่อย่างที่คิดค่ะ ทำได้ค่ะ

  • #17 ลานซักล้าง » ปุ๋ยสั่งตัด (3) ให้ความคิดเห็นเมื่อ 17 March 2009 เวลา 0:05

    [...] สำหรับเรื่องของชุดดิน ถ้ารู้พิกัด ก็สามารถถามกรมพัฒนาที่ดินตามบันทึกดินได้ แต่ถ้าไม่มี GPS โปรแกรมสามารถจะ “เดา” ชุดดินจากเนื้อดิน สีดิน ชิ้นส่วนหยาบ ร่วมกับจังหวัดที่ตั้งได้ [...]

  • #18 ลานซักล้าง » ไร่นาหลังน้ำลด ให้ความคิดเห็นเมื่อ 26 November 2010 เวลา 13:00

    [...] [เผาอ้อย] [ดิน] [...]


แสดงความคิดเห็น

ท่านอยากจะเข้าระบบหรือไม่


*
To prove you're a person (not a spam script), type the security word shown in the picture. Click on the picture to hear an audio file of the word.
Click to hear an audio file of the anti-spam word


Main: 0.24129390716553 sec
Sidebar: 0.21696710586548 sec