ปลูกต้นไม้เอาใบ

อ่าน: 4687

บันทึกนี้เกี่ยวเนื่องกับบันทึกที่แล้วครับ ขอเอาภาพเดิมกลับมาดูกันใหม่อีกที

ดูตรงเส้นสีส้มซึ่งสะท้อนพลังงานของดวงอาทิตย์ออกไปนะครับ การสะท้อนนี้เกิดโดยปัจจัยต่างๆ ที่แตกต่างกัน และมีผลไม่เท่ากัน ตัวบรรยากาศของโลกเองสะท้อนพลังงานแสงอาทิตย์ออกไป 6% เมฆชั้นสูง/ชั้นกลาง/ชั้นต่ำ สะท้อนแสงอาทิตย์ออกไป 20% ส่วนที่เหลืออีก 4% นั้น แสงแดดตกกระทบพื้นแล้วแผ่ออกในรูปรังสีอินฟราเรด

เอาล่ะ เราคงผ่านความแห้งแล้งกันมาคนละหลายๆ ครั้ง ซึ่งนอกจากบ่นแล้ว ก็ไม่ได้ทำอะไรไม่ใช่หรือครับ… แน่นอน เวลาแล้งเป็นเพราะฝนไม่ตกต่อเนื่องเป็นเวลานาน… แต่ไม่รู้ว่าเคยสังเกตท้องฟ้าหรือเปล่าครับ ว่าเวลาที่แล้งนั้น มักหาจะหาเมฆเหนือหัวไม่เจอสักก้อน ไม่ว่าจะเป็นเมฆในระดับไหน

เมื่อไม่มีเมฆ การสะท้อนพลังงานจากดวงอาทิตย์กลับออกไปในอวกาศด้วยเมฆ (20%) ก็ไม่มีน่ะซิครับ อย่างน้อยก็ตรงที่เราอยู่ พอไม่มีอะไรกั้นแล้ว พลังงานจากดวงอาทิตย์ก็ตกลงมากระทบผิวโลกมากขึ้น (เป็น 51%+20%) ยิ่งร้อนหนักเข้าไปใหญ่ รังสียูวีก็เยอะ นอกจากผิวเสียแล้ว ฮิวมัสในดินก็จะสลายตัวเร็ว ดินเสื่อม พืชรับความซวยไป

เมื่อดินร้อน น้ำผิวดินหาย น้ำใต้ดินแห้ง พืชพันธุ์ธัญหารก็เสียหาย… เมื่อเมฆหายไป ก็ควรจะหาอะไรมาบังแดดแทนเมฆครับ ซึ่งนั่นคือใบไม้ไง!

พลังงานแสงที่ตกกระทบใบไม้ ใบไม้ก็สังเคราะห์แสงไป ดูดเอาน้ำและแร่ธาตุผ่านรากและลำต้น ดูดคาร์บอนไดออกไซด์จากอากาศ ไปสร้างความเจริญเติบโตไปตามกระบวนการ… แสงที่ผ่านใบไม้ลงมาไม่ได้ ก็เกิดเป็นร่มเงาอยู่ข้างใต้ ดินไม่ร้อน น้ำใต้ดินไม่สูญเสียจากการระเหยเนื่องจากโดนแดดเผา ลดอัตราการเสื่อมของดิน (ดินดาน ดินแตกระแหง กลายเป็นทราย ฯลฯ)

ก็จริงอยู่ที่เวลาอากาศแล้งจัด ต้นไม้ผลิใบเพื่อลดการคายน้ำ ใบไม้ที่ร่วงลงดินก็ปล่อยมันไว้อย่างนั้นล่ะครับ เพราะว่ามันย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ คืนธาตุอาหารที่ต้นไม้ยืมมาสร้างใบกลับไปสู่ดินอีกทีหนึ่ง แต่ระหว่างที่ใบไม้ยังไม่ย่อยสลาย มันบังบังแดดให้แก่พื้นดินได้สักพักครับ

เมืองไทยไม่เป็นมหาอำนาจ เพราะเราไถแหลก

ไม่ใช่เรื่องรีดไถหรอกครับ ครูบาเคยตั้งข้อสังเกตว่าคนกรุงเทพไปไหน มันก็ถางแหลก ที่จริงไม่เฉพาะคนกรุงเทพหรอกครับ คนเมืองหรือคนที่วิถีชีวิตไม่ได้เชื่อมกับวิถีธรรมชาติ ก็มักจะทำอย่างนี้

  • ทำไร่ (ของเล่นเศรษฐี): ถางจนราบ
  • ทำไร่ (คนจน): บุกรุกป่าแล้วถางจนราบ
  • ให้เช่าที่ทำนา: ถางจนราบ
  • เช่าที่ทำนา: ต้นไม้บนคันนาก็ไม่เอาไว้เหมือนกัน
  • ทำรีสอร์ต: รีสอร์ตก็ไถได้
  • ปลูกป่า: ถางเหมือนกัน ป่าของฉัน ต้นไม้อื่น “ออกไปๆๆๆ”
  • สร้างบ้าน สร้างโรงงาน: อืม…ปรับพื้นที่ให้เรียบ ฆ่าต้นไม้ให้หมด แล้วค่อยปลูกใหม่ ซึ่งก็ไม่เหมือนเดิม

เราทำลายไม้ยืนต้นไปแทบกลี้ยงประเทศ ขนาดอยู่บนเขายังตามไปจัดการได้เลย แล้วเราก็เอาไม้ล้มลุกลงแทน มองลงมาจากดาวเทียม สีเขียวจัดอันเป็นลักษณะของป่าสมบูรณ์เหลืออยู่น้อยแล้ว

ถ้ามีใบไม้คอยสังเคราะห์แสงอยู่ พลังงานแสงแดดส่วนหนึ่งจะถูกเปลี่ยนไปเป็นพลังงานเคมี สร้างอาหารให้พืช ดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ คายออกซิเจน แต่ถ้าไม่มีใบไม้คอยสังเคราะห์แสง พลังงานแสงแดดตกกระทบพื้น แล้วเปลี่ยนเป็นความร้อน ทำให้ดินเสื่อม (แล้วก็โบ๊ะปุ๋ยเคมี ยิ่งใส่ ก็ยิ่งจน แต่ก็ยังทำ) น้ำผิวดินแห้ง น้ำใต้ดินหด ดินยิ่งร้อน เมฆยิ่งก่อตัวยากครับ [สร้างเมฆอีกที]

ดังนั้น จึงควรเปลี่ยนวิธีคิดเสียใหม่ ปลูกต้นไม้เพื่อให้ได้ใบไม้ ส่วนผล ลำต้น เป็นผลพลอยได้ครับ

ใบไม้เป็น แก้มลิงขนาดจิ๋ว ที่ลอยอยู่กลางอากาศ หลังฝนตก มักจะมีหยดน้ำติดอยู่ที่ปลายใบไม้ครับ หนึ่งใบก็มีไม่เกินหนึ่งหยด คำนวณดูแล้ว ก็ไม่ได้เยอะอะไร แต่ถ้าร้อยล้านใบ ก็ร้อยล้านหยดเหมือนกันนะครับ — แก้มลิงกลางอากาศพวกนี้ มีลักษณะพิเศษ คือมันแห้งเอง วันรุ่งขึ้นพร้อมรับน้ำฝนปริมาณเท่าเดิม

« « Prev : โลกร้อนจากมุมของพลังงานแสง

Next : ภาษีอีกแล้ว » »


ผู้ใช้ Facebook สามารถให้ความเห็นที่นี่ได้ โดยกด Like เพื่อแสดงตัว

4 ความคิดเห็น

  • #1 sutthinun ให้ความคิดเห็นเมื่อ 2 March 2011 เวลา 15:14

    แค่ใบไม้อย่างเดียวประโยชน์ก็เกินคุ้มแล้ว
    ดังนั้นการช่วยกันปลูกต้นไม้จึงควรเป็นหน้าที่ของพวกเราทุกคน
    ถ้าอัตราทำลาย มากกว่าการปลูกเสริม
    โลกมีหวังละลายแน่ๆ

  • #2 ทวิช จิตรสมบูรณ์ ให้ความคิดเห็นเมื่อ 2 March 2011 เวลา 20:08

    ผมเคยถามว่า  ฝนกับป่า อะไรมาก่อนกัน  (ปัญหาไก่ไข่)

    ผมค่อนข้างโน้มเอียงไปในแนวทางว่า ป่ามาเพราะฝน ไม่ใช่ฝนมาเพราะป่า

     

    แรกพระเจ้าสร้างโลก ก็ไม่มีป่าไม้สักต้น

    แต่มันมีฝนตกเป็นจุดๆ ตามสภาพทางฟิสิกส์ของโลก

    พอฝนตก มีความชื้น ครบจตุรธาตุ ดินน้ำลมไฟ มันก็เกิดพืช

    บริเวณใดที่ฝนไม่ตก มันก็ไม่มีพืช ก็เป็นทะเลยทราย

     

    ใต้ทะเลทรายมีน้ำมันมาก เกิดจากซากพืชสัตว์ทับถม

    แสดงว่ามีป่ามาก่อนจะเป็นทะเลทราย?

    แสดงว่าที่เป็นทะเลทรายเพราะฝนเลิกตก

    เนื่องจากลมเปลี่ยนทิศ (ไม่ใช่เพราะคนตัดไม้หมด เพราะร้อยล้านปีก่อนมนุษย์ยังไม่มีด้วยซ้ำไป)

     

    ผมเคยคิดตะแบงขนาดว่า ถ้าอยากให้ฝนตกมากๆในเมืองไทย

    ให้ถางป่าให้หมด แล้วฉาบด้วยปูนทั้งประเทศ

    เพราะพอฝนตกลงมา มันก็ระเหยขึ้นไปหมดอย่างรวดเร็ว  ไม่ดูดซับไว้ด้วยต้นไม้ใบหญ้า หรือ รากพืชเลย

    พอระเหยเร็ว ก็เป็นเมฆเร็ว ก็ตกกลับมาเป็นฝนเร็วกว่าปกติอีก ตกซ้ำตกซากอยู่นั่นแหละ

     

    ขณะนี้โลกร้อนขึ้น ส่งผลทางอ้อมอย่างเหลือเชื่อ คือ

    ทะเลทรายสองสามแห่งในโลกนี้ เขียวขึ้นอย่างเหลือเชื่อ  (ถ้าจำไม่ผิดหนึ่งในนั้นคือ sahale ซึ่งไม่ใช่ ซาฮาร่า นะครับ)

    เพราะพอโลกร้อนขึ้น มันจะอุ้มไอน้ำได้มากขึ้น  (ความชื้นสัมพัทธ์ของ คุณหมอสาวตา)

    ไอน้ำที่มากขึ้นนี้นี้ทำให้พืชทะเลทรายเขียวขึ้น

     

    แสดงว่าโลกมันมี feedback mechanism หรือเรียกว่ามีภูมิคุ้มกันในตัวของมันอยู่พอควร

     

    ผมเคยทำสมการคำนวณเรื่องโลกร้อน พบว่า  C02 ที่เพิ่มขึ้นส่งผลทางตรงให้โลกร้อน ที่มีผลเพียง 10% เท่านั้น แต่ผลโดยอ้อมคือมันไปเพิ่มไอน้ำ ซึ่งมีผลให้โลกร้อนถึง 90% ผมส่งไปตีพิมพ์ในวารสาร nature มันไม่ยอมลงให้ผม  ป่านนี้ฝรั่งบางคนที่มันรีวิวเอกสารวิจัยผมมันคงลอกไอเดียผมไปใช้งานแล้วแหละ

     

    ใช่ว่าผมอยากเห็นโลกโกร๋นนะครับ ส่วนตัวแล้วผมก็รักสีเขียว ผมเสนอให้ประเทศไทยเราลดการทำนาลงด้วยซ้ำ เอาแค่พอกิน ที่เหลือปลูกป่าให้หมด ซึ่งผมคิดว่าปลูกป่าแล้วฝนจะตกน้อยลงนะครับ เพราะอากาศจะเย็นมากขึ้น เนื่องจากการคายน้ำของใบไม้ทำให้เกิด evaporative cooling นั่นเอง  พออากาศเย็นลง การระเหยของน้ำจืด น้ำทะเล น้ำจากผิวดินก็น้อยลง ฝนก็จะตกน้อยลงด้วย

  • #3 Logos ให้ความคิดเห็นเมื่อ 2 March 2011 เวลา 22:40
    ขอข้ามเรื่องที่จะต้องตอบยาวๆ ไปก่อนนะครับ

    ผมเล่าเหตุการณ์เป็นข้อสั้นๆ หลายๆ ข้อก็แล้วกันครับ

    • ปี 2553 น้ำในเขื่อนมีน้อยมากมาตั้งแต่ต้นปี ฝนทิ้งช่วง เจอปล่อยน้ำจากเขื่อนอีกวันละ 20-30 ล้านคิวมาจนกลางปี จนปริมาณน้ำในเขื่อนภูมิพลเหลือแค่ 1% ของปริมาณน้ำกักเก็บที่ปล่อยได้; มีน้ำจากเขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนศรีนครินทร์ เขื่อนวชิราลงกรณ์ปล่อยมาช่วย ตัวเขื่อนต่างๆ เหลือน้ำในระดับวิกฤตทั้งนั้น เขื่อนป่าสักแห้งสนิท เขื่อนลำตะคองแห้งจนรีไซเคิ้ลน้ำไม่ได้ (ขณะนี้เขื่อนสิริกิติ์กลับมามีน้ำมากเพราะฝนหนักเมื่อปลายปีที่แล้ว)
    • หน่วยงานน้ำก็ประกาศแต่ปริมาณน้ำในเขื่อนที่ไม่ได้แยกแยะ ว่ามันมีตั้งครึ่งที่ปล่อยออกมาไม่ได้ ทำให้เกิดความเข้าใจผิดว่าน้ำยังพอมี พ่อยกแม่ยกรัฐบาลก็เชียร์กันจังเลย [ปัญหาเรื่องน้ำ]
    • ปีนี้ปริมาณน้ำในเขื่อนภูมิพลต่ำกว่าปีที่แล้วเล็กน้อย แต่คาดการณ์ว่าอากาศจะแล้งจัดและยาวนาน ฝนจะมาช้า; ปริมาณน้ำในเขื่อนศรีนครินทร์ เขื่อนวชิราลงกรณ์ ต่ำกว่าปีที่แล้วเขื่อนละหลายพันล้านคิว (รายละเอียดคลิกบนรูปแผนที่ประเทศไทยทางขวา แล้วคลิกที่ชื่อเขื่อนต่างๆ)
    • ปีนี้จะไม่มีแหล่งน้ำสำรองปล่อยน้ำมาช่วยได้ ทุกพื้นที่จึงต้องใช้สติปัญญาของตนอย่างเต็มที่ ในการบริหารจัดการน้ำ จะมารอจนแห้งตายหมดแล้วค่อยมาร้องรัฐบาล ไม่เวิร์คหรอกครับ
    • ปีที่แล้ว การทำฝนเทียมในระยะแรก (ประมาณหนึ่งเดือน) ไม่เวิร์คเหมือนกัน เพราะว่าดินร้อน ด้วย lapse rate และความชื้นสัมพัทธ์ ไอน้ำก็ไม่จับตัวเป็นเมฆ — มีข่าวทุจริตสารเคมีว่าทำฝนเทียมแล้วไม่มีฝน เรื่องการทุจริตนั้นผมไม่ทราบครับ แต่ถ้าปล่อยให้ดินถูกเผายาวนาน ทำฝนเทียมยังไง เมฆก็ไม่มา — ดังนั้นการทำฝนเทียมตั้งแต่เวลานี้ จึงเป็นการตัดสินใจที่ชอบแล้ว
    • จริงอยู่ที่อากาศร้อนขึ้น ก็มีแนวโน้มจะมีไอน้ำในอากาศมากขึ้น แต่ไอน้ำก็ไม่ได้ไปอยู่ในที่ที่ต้องการจะให้อยู่อยู่ดี เพราะดินที่ร้อนไล่ไอน้ำไปหมด ทำให้ก่อตัวเป็นเมฆฝนเหนือพื้นที่ที่ต้องการฝนได้ยากครับ
    • บันทึกนี้ เสนอปลูกหลังคาให้แผ่นดินด้วยใบไม้ เพราะผมไม่เชื่อว่าจะทำฝนเทียมได้ในทุกพื้นที่

    เห็นด้วยอย่างมากเรื่องการลดพื้นที่การทำนาลงครับ

  • #4 sutthinun ให้ความคิดเห็นเมื่อ 3 March 2011 เวลา 10:28

    ::: เรื่องน่าจัดคุยกันกลางทะเลทราย จะได้รู้ซึ้งว่าถ้าไม่มีต้นไม้มันเป็นฉันใด?
    ใบไม้เป็นแก้มลิงมินิ ลำต้นไม้เป็นเขื่อนกักเก็บน้ำไว้
    แลวค่อยๆปล่อยให้ระเหิดทางใบ ช่วยให้อากาศชุ่มชื้น
    ::: ช่วงนี้แล้งจัด สงสารแต่ต้นไม้ไม่มีขาเดินเข้าร่ม


แสดงความคิดเห็น

ท่านอยากจะเข้าระบบหรือไม่


*
To prove you're a person (not a spam script), type the security word shown in the picture. Click on the picture to hear an audio file of the word.
Click to hear an audio file of the anti-spam word


Main: 0.13917589187622 sec
Sidebar: 0.27484893798828 sec