คอขวด
อ่าน: 3561น้ำท่วมครั้งนี้ บางพื้นที่เกิดความแตกแยกเมื่อคนที่ประสบความทุกข์ยาก อยากจะให้น้ำลดลงเร็วๆ อยากจะให้น้ำท่วมทั่วไปหมด จะได้กระจายน้ำออกไป ทำให้น้ำที่ท่วมอยู่ลดลงเร็ว น้ำท่วมสักวันหนึ่งก็จะลด แต่ความแตกแยกนั้นยังอยู่อีกยาวนานกว่านั้นมากครับ
แต่บางพื้นที่ก็มีการช่วยเหลือเกื้อกูลกัน เช่นฝั่งหนึ่งของถนนน้ำท่วม แต่อีกฝั่งยังแห้งอยู่ ฝั่งน้ำท่วมก็ข้ามถนนมาอาศัยฝั่งที่ยังแห้ง มาเข้าห้องน้ำ มาตั้งเพิงขายปลาในขณะที่ข้าวในฝั่งแห้งยังไม่ได้เกี่ยว
ปัญหาคือน้ำมีปริมาณมหาศาลครับ น้ำต้องการที่อยู่เหมือนกัน เราไม่สามารถย้ายน้ำไปที่อื่นโดยไม่ใช้เครื่องมือกลและพลังงาน มนุษย์กระจ้อยร่อยไม่มีกำลังจะต้านทานธรรมชาติได้ ถ้าพื้นที่เป็นแอ่งคงจะต้องสูบออก อัตราและปริมาณน้ำที่จะได้ออกไปจากพื้นที่ขึ้นกับความลาดชัน ต่อให้ทะลายคันดิน น้ำท่วมก็ไม่ใช่ว่าจะลดลงอย่างฮวบฮาบหรอกครับ
มีข่าวว่าชาวบ้านที่นครสวรรค์ไม่พอใจเขื่อนเจ้าพระยาว่ากักน้ำไว้เยอะทำให้น้ำที่นครสวรรค์ยังท่วมอยู่ ความเดือดร้อนของชาวบ้านนั้นเป็นของจริง แต่นครสวรรค์มีน้ำมาก เพราะน้ำไหลลงใต้ได้ช้าเรื่องจากเข้าเขตที่ราบลุ่มภาคกลางแล้ว แต่น้ำเหนือไหลลงมาเพิ่มอย่างรวดเร็วเนื่องจากพื้นที่ลาดเอียงกว่า ดูภาพจากดาวเทียม สุโขทัย กงไกรลาศ บางระกำมีน้ำน้อยลง เนื่องจากไหลผ่านพิจิตรลงไปกองอยู่ที่นครสวรรค์ แต่น้ำจากนครสวรรค์ไปเขื่อนเจ้าพระยาที่ชัยนาท ยังไหลไปได้ช้า
6น. เช้าวันนี้ กรมชลประทานรายงานสถานการณ์น้ำว่า
ความจุของลำน้ำ (ม3/วินาที) |
ปริมาณน้ำจริง (ม3/วินาที) |
ระดับน้ำวันนี้เทียบกับ ระดับสูงสุดย้อนหลัง 20 ปี |
|
---|---|---|---|
จ.นครสวรรค์ ที่ค่ายจิรประวัติ ( C.2 ) อ.เมือง | 3,500 | 4,236 | +0.29 ม. |
จ.ชัยนาท ที่ท้ายเขื่อนเจ้าพระยา ( C.13 ) อ.สรรพยา | 2,840 | 3,703 | +10.88 ม. |
จ.สิงห์บุรี บ้านบางพุดทรา ( C.3 ) อ.เมือง | 2,340 | 2,935 | ไม่มีข้อมูลเปรียบเทียบ |
จ.อ่างทอง บ้านบางแก้ว ( C.7A ) อ.เมือง | 2,690 | 2,592 | ไม่มีข้อมูลเปรียบเทียบ |
จ.อยุธยา สะพานรถยนต์ ( C.35 ) อ.พระนครศรีอยุธยา | 1,155 | 1,280 | -0.17 ม. |
สังเกตสองช่องกลางนะครับ ปริมาณน้ำจริงมากกว่าความจุของลำน้ำ ก็แปลว่าท่วม นอกจากนั้นยังเห็นอีกว่าปริมาณน้ำมหาศาลนั้น ไหลจากนครสวรรค์ลงมาถึงอยุธยาหายไปตั้งเยอะ ทั้งนี้เป็นเพราะน้ำไหลเกินความจุของลำน้ำ จึงยกตัวขึ้นล้นตลิ่ง บ่าเข้าท่วมที่ราบลุ่มภาคกลางตลอดเส้นทางของน้ำไหล น้ำล้นตลิ่งออกไปตามความลาดเอียง จึงเหลือน้ำไหลมาถึงอยุธยาน้อยลงกว่าที่ไหลผ่านนครสวรรค์และเขื่อนเจ้าพระยามาก
ดังนั้นน้ำเหนือยิ่งลงมามาก หรือเขื่อนเจ้าพระยายิ่งปล่อยน้ำมาก น้ำก็จะยิ่งท่วมที่ราบลุ่มภาคกลาง ไม่สามารถไหลผ่านคอขวดที่โผงเผง บางบาล และเกาะเมืองอยุธยาหรอกครับ ดังนั้นข้อเรียกร้องที่ให้ปล่อยให้น้ำท่วมกรุงเทพ จึงเป็นข้อเรียกร้องที่ไม่ได้ตั้งอยู่บนความเป็นจริงทางกายภาพ วันนี้ควรจะช่วยกันหาทางเอาน้ำออกจากที่ราบลุ่มภาคกลางด้วยต้นทุนที่ต่ำที่สุดมากกว่า
ความจริงอีกอันหนึ่งซึ่งเราไม่ค่อยพูดกัน (ไม่ปรากฏในสื่อ) ก็คือพื้นที่ปราจีนบุรี มีน้ำท่วมมานานแล้ว
ดูภาพถ่ายจากดาวเทียมแล้ว จะเห็นว่าอาการหนักไม่แพ้ที่ราบลุ่มภาคกลางเลย น้ำตรงนี้ส่วนใหญ่ไหลไปลงอ่าวผ่านแม่น้ำบางปะกง แต่ว่าเส้นทางคดเคี้ยวมาก ทำให้ความจุของลำน้ำค่อนข้างน้อย (เหมือนแม่น้ำยมตรงบางระกำ)
ฝั่งตะวันออกสูญเสียพื้นที่รับน้ำเอาไปสร้างสนามบิน (หนองงูเห่าอยู่ จ.สมุทรปราการ) ในส่วนของกรุงเทพฝั่งตะวันออกซึ่งปิดประตูระบายน้ำไว้ น่าจะลองพิจารณาให้น้ำจากนครนายกผ่านคลองต่างๆ ไปลงทะเลได้บ้างนะครับ จริงอยู่ที่คลองมีขนาดเล็ก ในข้อเท็จจริงคงจะช่วยอะไรไม่ได้มาก แต่ก็แบ่งน้ำจากนครนายกให้ไหลไปตามทางลัดไปลงทะเล แทนที่จะไหลไปตามตามแม่น้ำไปปราจีนบุรีเพื่อไปลงแม่น้ำบางปะกง
ผมไม่ได้อยู่กรุงเทพ ไม่ได้เลือกผู้ว่าฯ ตามหลักของการป้องกัน กทม.อาจจะมีนโยบายให้พร่องน้ำรอฝนหนักซึ่งไม่รู้ว่าจะเกิดหรือไม่ แต่ความเดือดร้อนของพื้นที่นครนายกกับปราจีนบุรีในขณะนี้เป็นของจริงนะครับ ต้องช่วยกันทั้งกรุงเทพ(ทางผ่าน)และสมุทรปราการ(ติดทะเล)
« « Prev : วันหนึ่งที่เต้นท์อาสาดุสิต@ไทยพาณิชย์
ความคิดเห็นสำหรับ "คอขวด"