ปัญหาเรื่องน้ำ

โดย Logos เมื่อ 12 July 2010 เวลา 2:23 ในหมวดหมู่ สังคม ชุมชน ครอบครัว #
อ่าน: 4724

เรื่องนี้เขียนซ้ำซาก บ่น โวยวาย แต่เป็นเรื่องวิกฤติจริงๆ ครับ

ผมเป็นกังวลมากเพราะว่าดูเหมือนว่าชาวบ้านจะรอฟ้ารอฝนกันไปเรื่อยๆ ใครลุยลงข้าวนาปีไปแล้ว ป่านนี้ก็คงเจ๊งแล้วเพราะไม่มีน้ำ มีฝนตกมาแว๊บๆ แต่ก็ไม่มีการเตรียมตัวเก็บกักน้ำฝนไว้ จะรอน้ำจากระบบชลประทานอย่างเดียว โดยที่ไม่เข้าใจเลยว่าระบบชลประทานนั้น วิกฤติมากแล้ว

ขณะที่เขียนนี้ ทางทิศเหนือ น้ำในเขื่อนภูมิพลเหลือไม่ถึง 3% ของปริมาณน้ำที่ปล่อยออกมาได้ ถ้าเหลือ 0% ต่อให้มีน้ำอยู่ในเขื่อนบ้างก็ปล่อยออกมาไม่ได้ (นอกจากจะทุบเขื่อน) เขื่อนสิริกิติ์เหลือน้อยกว่า 6% ทางด้านตะวันตก เขื่อนศรีนครินทร์เหลือน้อยกว่า 38% อาจจะช่วยลุ่มแม่กลอง/ลุ่มเจ้าพระยาตอนล่างได้ แต่ว่าพื้นที่อื่นนั้น ส่งน้ำไปช่วยไม่ได้เพราะน้ำไหลลงที่ต่ำเสมอ เขื่อนวชิราลงกรณ์เหลือต่ำกว่า 6% ส่วนทางใต้ เขื่อนรัชชประภาเหลือน้อยกว่า 50% และเขื่อนบางลางเหลือน้อยกว่า 35%

ไม่ได้เขียนถึงเขื่อนอื่น เพราะไม่มีเขื่อนใดเลยเหลือปริมาณน้ำที่จะปล่อยออกมาได้เกิน 100 ล้านลูกบาศก์เมตร หมายความว่าที่คิดว่าจะปล่อยน้ำมาช่วยได้นั้นไม่จริงครับ แต่ที่หนักหนาสาหัสจริงๆ คือเขื่อนอุบลรัตน์ต้นแม่น้ำชี และเขื่อนลำตะคองต้นแม่น้ำมูล เหลือน้ำอีกนิดเดียวครับ — ตั้งแต่ต้นปีนี้ เขื่อนทุกเขื่อทั่วประเทศ ขาดทุนน้ำอย่างย่อยยับ ถ้าฝนไม่ตกหนักเหนือเขื่อนทุกเขื่อน (ซึ่งยากมาก) ปีหน้าจะหนักกว่าปีนี้อีกครับ จนป่านนี้ยังไม่รู้ตัวอีก!

ยุโรป และอเมริกากำลังร้อนจัดเป็นประวัติการณ์ จะทำให้น้ำแข็งละลาย อาจมีท่วมจนแปลงพืชผลทางการเกษตรเสียหาย ถ้าโชคดีไม่ท่วมช่วยนี้ ก็จะทำให้ปริมาณน้ำจืดสำรองร่อยหรอลง และอาจจะเกิดอาการขาดน้ำในฤดูกาลต่อๆ ไป ทางบ้านเราจะเร่งผลผลิตออกมาก็ไม่ได้ เพราะไม่มีน้ำเหมือนกัน

มีความพยายามทำฝนเทียม แต่ฝนจะตกได้ก็ต้องมีความชื้นในอากาศก่อน จึงจะไปบังคับความชื้นให้กลั่นตัวเป็นฝน [เติมน้ำในอากาศ] เมื่อฝนตก ถ้าตกเหนือเขื่อน เขื่อนก็เก็บน้ำไว้ แต่ถ้าตกใต้เขื่อน หรือตกไม่ใกล้บริเวณเขื่อน เราปล่อยน้ำทิ้งไปเฉยๆ เรื่องนี้ต้องรีบแก้ไขครับ

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานแนวคิดแก้มลิง มีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นไหนบ้าง ที่ลงทุนทำสถานที่เก็บกักน้ำสำหรับชุมชน [เขื่อนส่วนตัว] คงไม่ติดแหงกอยู่กับประโยคที่ว่า ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว หรอกนะครับ ตื่นได้แล้ว!

คงเป็นแบบครูบาว่าไว้ คนกรุงเทพไปไหน มันก็ถางแหลก ตอนนี้วัฒนธรรมเมืองแพร่ผ่านทีวี ทำให้เราถางป่ากันทั่วประเทศ คิดจะมาปลูกป่าตอนนี้ ทันซะที่ไหน ตอนจะถางทำไมไม่คิดก่อน… วิธีปลูกพืชก็ต้องเปลี่ยนแปลงครับ [ทำนาโดยใช้น้ำน้อย]

ตอนนี้ จะแก้ไขปัญหา คงต้องฉวยทุกอย่างที่มีแล้วล่ะครับ สำหรับพื้นที่ที่มีภูเขา สมมุติภูเขาเป็นรูปสามเหลี่ยม มีฐาน 200 เมตร สูง 100 เมตร เราควรจะรีบไปขุดร่องทางน้ำไหล ใช้ภูเขาเป็นพื้นที่รับน้ำ ส่งน้ำมารวมกันในบ่อ ถ้าฝนตกทั่วภูเขา ไหลมาด้านเราครึ่งหนึ่ง ไหลไปอีกด้านหนึ่งของสันปันน้ำอีกครึ่งหนึ่ง พื้นที่รับน้ำฝั่งเรา คิดเป็น 10,000 ตารางเมตร ถ้าฝนตก 5 มม. สูญเสียไปกับดินบนภูเขาครึ่งหนึ่ง (ซึ่งจะไปโผล่เป็นน้ำใต้ดินและต้นน้ำลำธาร) ปริมาณฝน 2.5 มม. ได้น้ำ 25,000 ลิตร ถ้าเราใช้น้ำคนละ 100 ลิตร/วัน (ครึ่งถังสองร้อยลิตร) น้ำห้าหมื่นลิตรนี้ ใช้สำหรับหมู่บ้านขนาด 200 คนได้สองวันกว่าๆ จากการที่ฝนตกไม่หนักแค่วันเดียว — ฟังดูไม่เยอะเลย แต่น้ำนี้ได้ฟรี ขอแรงคนสัก 30 คน มาช่วยกันทำแหล่งเก็บน้ำสำหรับหมู่บ้าน ก็จะมีความเสี่ยงเรื่องการขาดแคลนน้ำน้อยลงมาก

ยังไม่จบหรอกครับ ทุกพื้นที่ของประเทศไทย มีฝนตกเฉลี่ย 1,000 มม./ปี ทั้งนั้น ทางใต้สูงกว่าตัวเลขนี้เยอะ น้ำฝน 1,000 มม. ตกบนภูเขานี้ สูญเสียไปครึ่งหนึ่ง ก็ยังเป็นปริมาณน้ำ 5 ล้่านลิตร หรือใช้สำหรับหมู่บ้าน 200 คนได้ถึง 8 เดือน… อย่างนี้จึงผ่านแล้ง ผ่านหนาวได้ครับ

บ่นเยอะแล้ว บันทึกหน้าจะเขียนเรื่องการนำเอาน้ำไปใช้งานโดยไม่ต้องใช้ไฟฟ้า หรือน้ำมัน

« « Prev : ขุดบ่อบาดาลแบบชาวบ้าน

Next : สูบน้ำจากแหล่งน้ำตื้น » »


ผู้ใช้ Facebook สามารถให้ความเห็นที่นี่ได้ โดยกด Like เพื่อแสดงตัว

6 ความคิดเห็น

  • #1 ป้าจุ๋ม ให้ความคิดเห็นเมื่อ 12 July 2010 เวลา 3:46

    ปัญหาเรื่องน้ำคงไม่ใช่เรื่องเล่นอีกต่อไปนะคะ สำหรับทั้งประเทศไทยและทั่วโลก และขณะนี้คนไทยก็ยังไม่ตื่นจริงๆค่ะ เห็นบางแห่งยังเปิดน้ำทิ้ง ก๊อกที่สาธารณะที่หยดทิ้งทั้งวันทั้งคืน ก็ไม่มีการแก้ไขและการใช้น้ำที่ไม่คุ้มค่าอีกมากมาย…ส่วนใหญ่เราไม่ค่อยได้รับการสั่งสอนให้เห็นคุณค่าของน้ำ…ต่างก็เลยเฉยเมย

    วันนี้ป้าจุ๋มแวะไปที่ไร่พฤกษาประดับของคุณอา ก็ร่มรื่นดี น้ำไหลตลอดเวลาเช่นเดิมค่ะ ก่อนกลับป้าจุ๋มได้แวะไปดูแปลงของคุณจินดา ปรากฎว่าก็มีน้ำก็ไหลดีเช่นกันค่ะ(เพราะอยู่เหนือสวนคุณอา)  แต่ในสวนมีหญ้าขึ้นเต็มไปหมด(คงเจอฝนและไม่มีใครดูแล)
    อีกอย่างเรื่องปลูกป่าก็อาจจะช้าไปหน่อย แต่ก็ยังดีกว่าไม่ทำอะไรเลย พวกไม้โตเร็วทั้งหลายน่าจะรีบๆช่วยกันปลูกนะคะ ดูอย่างเอกมหาชัยที่วัดพระบาทห้วยต้ม ขนาดเจอแล้งอย่างนั้นยังโตได้ดีทีเดียว ถ้าผ่านฝนปีนี้ไปอีกคงจะโตขึ้นได้อีกมาก
  • #2 freemind ให้ความคิดเห็นเมื่อ 12 July 2010 เวลา 12:06

    แวะมาอ่านบันทึกนี้แล้ว ก็มาคิด ๆ ว่าในฐานะของคนกทม.ที่ใช้น้ำจากท่อประปา จะทำอะไรได้บ้าง

    เมื่อราวต้นเดือนมิถุนายน เลยคิดเล่น ๆ ว่าจะประหยัดน้ำกันอย่างไร เพราะปีนี้ฝนน้อยและปัญหาฝนแล้ง น้ำขาดแคลนก็รุนแรงมาก

    • ต่อรางน้ำฝน ลงถังพลาสติกเก็บน้ำไว้ใช้สำหรับรดน้ำต้นไม้ … ถูกบ่นมากว่าเกะกะ รกเลอะ ไม่คุ้มกับแรงงาน เวลาที่ต้องไปคอยเก็บน้ำฝนเล็ก ๆ น้อยแค่นั้น แต่ก็พยายามอธิบายว่าอย่าคิดเพียงว่า มีเงินจ่ายค่าน้ำได้ จะใช้ยังไงก็ได้ น้ำที่เราใช้มีต้นทุนมากกว่าที่เราคิด… ประหยัดค่าน้ำได้เป็นเพียงผลพลอยได้ แต่มีผลมหาศาลที่เราไม่เห็น
    • ทำโครงการ “แต้มสะสมน้ำ”  กับหลาน ๆ วัย 4-13 ปี ใครประหยัดน้ำได้ 1 ขัน (ประมาณ 800 cc) ได้ 1 แต้ม ทุกวันอาทิตย์นำมาโชว์ ใครได้มากที่สุด ให้เลือกรางวัลได้เอง (ไม่เกิน 200 บาท) ซึ่งก็คงไม่ได้ช่วยให้ประหยัดน้ำได้มากมายนัก แต่คิดว่าได้ ปลุก และ ปลูก จิตสำนึกของการรักษ์น้ำให้แก่สมาชิกรุ่นเยาว์ในบ้าน ตอนนี้จ่ายเงินไปกว่า 1000 บาท รวมประหยัดน้ำได้กว่าหมื่นลิตรแล้วค่ะ…ภูมิใจ ๆ ;)
  • #3 bangsai ให้ความคิดเห็นเมื่อ 12 July 2010 เวลา 16:23

    ขอต่อ freemind ครับ
    คนกรุงเทพฯใช้น้ำประปา แต่ไม่ทราบว่าน้ำประปานั้นเอาน้ำมาจากไหน….
    จากหลายแหล่ง หนึ่งในนั้นคือ เขื่อนจากเมืองกาญจนฯ และน้ำจากป่าห้วยขาแข้งไหลลงเขื่อนแห่งนี้ เคยมีการพูดกันว่า คนกรุงเทพฯต้องออกไปดูแลรักษาป่าห้วยขาแข้งด้วย (ผมเคยทำงานที่นี่ 5 ปี) นี่อาจเป็นอีกวิธีหนึ่งที่กระตุ้นสำนึกอีหลายคนที่ไม่เข้าใจ

    แหย่คนกรุงว่าคิดอย่างไรครับ..

  • #4 Logos ให้ความคิดเห็นเมื่อ 12 July 2010 เวลา 16:34
    แหม เสียดายที่ตอบพี่บู๊ดไม่ได้เพราะว่าผมเป็นคนเมืองนนท์ครับ ฮาๆๆๆ

    เรื่องนี้ก็น่าคิดครับ คนเมืองไม่ว่าเมืองไหน ชอบคิดว่ามีเงินก็ซื้อเอาได้เสมอ แต่ไม่คิดว่าเวลาของขาดตลาดไม่มีจะขายแล้ว มีเงินหรือไม่มีเงินก็ไม่มีของเหมือนกัน

  • #5 sompornp ให้ความคิดเห็นเมื่อ 12 July 2010 เวลา 17:01

    ช่วงนี้ถ้ามีการพูดถึงเรื่องการขาดแคลนน้ำ และปัญหาการกักเก็บน้ำ รวมไปถึงการแก้ปัญหา
    วิธีการแก้ปัญหาที่ได้ยิน(บ่น)มาคือ รัฐบาลแก้ปัญหาไม่ถูกต้อง ทำไมไม่สร้างเขื่อนกักเก็บน้ำเวลาเรามีน้ำมาก ๆ ทำไมไม่หาวิธีที่จะดูแลพื้นที่จากน้ำท่วม และผันเอาน้ำนั้นมาเก็บไว้ใช้ยามขาดแคลน @*($*@$@^$*^@*%@$
    คำตอบของน้าก็คือ ทุกอย่างที่คุณว่านะมี แต่คุณรอแต่คนอื่นมาทำให้ ถ้าคุณ ชุมชน สังคม ฯลฯ ไม่ช่วยกันทำ รอแต่คนอื่น #%#@^*$%#(*$R$&@%R@*& เราก็ต้องประสบกับปัญหาแบบไม่สิ้นสุดนั่นแหละ อิอิอิ
    กลับไปกินกล้วยที่บ้านดีกว่า (ลืมไป … ยังไม่สุก…อิอิอิ)

  • #6 Logos ให้ความคิดเห็นเมื่อ 12 July 2010 เวลา 17:09
    นโยบายของผู้ว่าฯ แพร่ที่จะสร้างล้านฝายแทนเขื่อนแก่งเสือเต้น เป็นนโยบายที่ดีครับ การสร้างฝายไม่เกินกำลังคนในพื้นที่สร้างกันเอง ไม่ต้องทำลายป่า เป็นแก้มลูกลิงซึ่งเมื่อมีปริมาณเยอะๆ ก็เหมือนกับมีเขื่อนขนาดย่อมๆ กระจายกันอยู่ทั่วไป

    บริษัทห้างร้าน ทำ CSR โดยการออกเงิน แล้วให้ “ผู้ใหญ่” ไปเปิดงาน ยกป้าย ถ่ายรูป… อย่างนี้อยากแหวะ… ถ้าจะทำจริง ก็สปอนเซอร์พนักงานไปทำ ไปคลุกอยู่กับชาวบ้านสักอาทิตย์หนึ่ง ให้ไปเรียนจากชาวบ้าน จึงจะเข้าใจว่าเมืองไทยนี้มันเป็นยังไง นั่นแหละ สำนึกของการอยู่ร่วมกันจึงจะไหลเวียนในองค์กร เหมือนพลังชี่… แล้วถ่ายรูปกิจกรรมอย่างนี้มาลง Annual Report แจกผู้ถือหุ้น ยังจะน่าชื่นชมเสียกว่าอีกครับ


แสดงความคิดเห็น

ท่านอยากจะเข้าระบบหรือไม่


*
To prove you're a person (not a spam script), type the security word shown in the picture. Click on the picture to hear an audio file of the word.
Click to hear an audio file of the anti-spam word


Main: 0.11559319496155 sec
Sidebar: 0.13022589683533 sec