รุกขธรรมชาดก - อานิสงส์ของหมู่คณะ
ฟังพระพรหมเมธี (วัดเทพศิริทราวาส) เทศน์ในงานบำเพ็ญพระราชกุศลพระอัฐิ สมเด็จพระพี่นางเธอฯ ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทได้ยินเรื่องรุกขธรรมชาดก จึงไปค้นพระไตรปิฎก ปรากฏความสั้นๆ ดังนี้ครับ
๔. รุกขธรรมชาดก
ต้นไม้โดดเดี่ยวย่อมแพ้ลม[๗๔] มีญาติมากเป็นความดี อนึ่ง ต้นไม้ที่เกิดขึ้นในป่าหลายต้นเป็นการดี ต้นไม้ที่ขึ้นอยู่โดดเดี่ยว ถึงจะเป็นต้นไม้งอกงามใหญ่โตสักเท่าใด ลมก็ย่อมพัดให้ล้มลงได้.
ซึ่งค้นอรรถกถาต่อ ก็ได้ความเป็นเรื่องราวดังนี้ครับ
ในอดีตกาล ครั้งพระเจ้าพรหมทัตเสวยราชสมบัติอยู่ในกรุงพาราณสี ท้าวเวสวรรณมหาราชที่ทรงอุบัติพระองค์แรกจุติ ท้าวสักกะทรงตั้งท้าวเวสสวรรณองค์ใหม่ ในคราวเปลี่ยนแปลงท้าวเวสสวรรณนี้ ท้าวเวสสวรรณองค์หลัง ส่งข่าวไปแก่หมู่เทพยดาว่า จงจับจองต้นไม้ กอไผ่ พุ่มไม้ และลดาวัลย์ เป็นวิมานในสถานที่อันพอใจแห่งตนๆ เถิด.
ครั้งนั้น พระโพธิสัตว์เสวยพระชาติเป็นรุกขเทวดา ณ ป่ารังแห่งหนึ่ง ในหิมวันตประเทศ ทรงประกาศบอกเทพที่เป็นหมู่ญาติว่า เมื่อท่านทั้งหลายจะจับจองวิมาน จงอย่าจับจองที่ต้นไม้อันตั้งอยู่บนเนิน แต่จงจับจองวิมานที่ต้นไม้ตั้งล้อมรอบวิมานที่เราจับจองแล้วในป่ารังนี้เถิด. บรรดาเทวดาเหล่านั้น พวกที่เป็นบัณฑิต ก็กระทำตามคำของพระโพธิสัตว์ จับจองวิมานต้นไม้ที่ตั้งล้อมวิมานของพระโพธิสัตว์ ฝ่ายพวกที่มิใช่บัณฑิตต่างพูดกันว่า พวกเราจะต้องการอะไรด้วยวิมานในป่า จงพากันจับจองวิมานที่ประตูบ้าน นิคม และราชธานี ในถิ่นมนุษย์กันเถิด ด้วยว่าพวกเทวดาที่อยู่อาศัยบ้านเป็นต้น ย่อมประสบลาภอันเลิศ และยศอันเลิศ แล้วพากันจับจองวิมานที่ต้นไม้ใหญ่ๆ อันเกิด ณ ที่อันเป็นเนินในถิ่นมนุษย์
ครั้นอยู่มาวันหนึ่ง เกิดลมฝนใหญ่แม้ถึงต้นไม้ที่ใหญ่ๆ ในป่า มีรากมั่นคง ต่างมีกิ่งก้าน ค่าคบ หักล้มระเนระนาดทั้งรากทั้งโคน เพราะโต้ลมเกินไป. แต่พอถึงป่ารัง ซึ่งตั้งอยู่ชิดติดต่อกัน ถึงจะพัดกระหน่ำ ทุกๆ ด้านไม่ส่างซา ก็ไม่อาจทำให้ต้นไม้ล้มได้สักต้นเดียว. หมู่เทวดาที่มีวิมานหักต่างก็ไม่มีที่พำนัก พากันจูงมือเด็กๆ ไปป่าหิมพานต์ แจ้งเรื่องราวของตนแก่เทวดาผู้อยู่ในป่ารัง เทวดาเหล่านั้นก็พากันบอก เรื่องที่พวกเหล่านั้นพากันกระเซอะกระเซิงมา แด่พระโพธิสัตว์.
พระโพธิสัตว์กล่าวว่า ขึ้นชื่อว่า ผู้ที่ไม่เชื่อถือถ้อยคำของหมู่บัณฑิต แล้วพากันไปสู่สถานที่อันหาปัจจัยมิได้ ย่อมเป็นอย่างนี้ทั้งนั้น เมื่อจะแสดงธรรม จึงกล่าวคาถาความว่า :-
“หมู่ญาติยิ่งมีมากได้ยิ่งดี แม้ถึงไม้เกิดในป่า เป็นหมวดหมู่ได้เป็นดี (เพราะ) ต้นไม้ที่ตั้งอยู่โดดเดี่ยว แม้จะใหญ่โตเป็นเจ้าป่า ย่อมถูกลมแรง โค่นได้” ดังนี้
« « Prev : จะแก้ปัญหาได้อย่างไร ในเมื่อไม่รู้ว่าปัญหาคืออะไร
ความคิดเห็นสำหรับ "รุกขธรรมชาดก - อานิสงส์ของหมู่คณะ"