ประปาภูเขา
อยู่บนเขา ยังพอหาน้ำได้จากลำธารหรือตาน้ำครับ เพียงแต่ว่าลำธาร ตาน้ำ หรือน้ำตก ไม่ได้มีอยู่ทั่วไป
ข้อมูลจากอาสาดุสิต แจ้งว่าระบบประปาภูเขาในพื้นที่กรุงชิง ถูกน้ำป่าพัดเสียหายหมด จะต้องทำใหม่ ได้รับบริจาคท่อพลาสติกจากมูลนิธิซิเมนต์ไทยมาจำนวนหนึ่ง คงจะพอทำประเดิมได้สักหมู่บ้านหนึ่ง
เดิมทีเดียวประปาภูเขา เริ่มต้นจากการลำเลียงน้ำผ่านท่อไม้ไผ่ผ่าครึ่ง ซึ่งจะต้องไหลจากที่สูงลงที่ต่ำ แม้หมู่บ้านจะตั้งอยู่ในที่ที่ไม่มีแหล่งน้ำ ก็ยังใช้น้ำจากที่สูงได้ พื้นที่ภูเขาไม่ได้เรียบสนิท ดังนั้นรางน้ำอาจจะต้องลอยอยู่เหนือพื้น ซึ่งน้ำหนักจะทำให้เกิดความเค้น ทำให้ไม้ไผ่แตกหักเสียหาย หรือถ้าเจอน้ำป่าเข้า ก็ต้องซ่อมแซม
ต่อมามีการใช้ท่อพลาสติกซึ่งสะดวกกว่าไม้ไผ่ เนื่องจากท่อพลาสติกเป็นท่อปิด รักษาแรงดันได้ ประปาภูเขาที่ใช้ท่อพลาสติก จึงตกท้องช้างได้ ตราบใดที่ปลายท่อที่แหล่งน้ำ(ฝาย) อยู่สูงกว่าปลายท่อที่จะใช้น้ำ(ที่หมู่บ้าน) ตามหลักการของกาลักน้ำ ประปาภูเขาที่ใช้ท่อพลาสติกในลักษณะนี้ ยังใช้หลักของแรงโน้มถ่วงเช่นเดิม เนื่องจากท่อพลาสติกในขนาดใหญ่และมีความแข็งแรงกว่าไม้ไผ่ ประปาภูเขาในลักษณะนี้ สามารถนำน้ำเป็นปริมาณมาก มาจากที่ไกลๆ เช่นมาจากภูเขาลูกอื่นก็ได้ — ถ้าจะให้ดี ก็ควรฝังท่อพลาสติกในดิน จะได้ไม่มีปัญหากับน้ำป่า แต่ผมเข้าใจว่าไม่มีใครทำกัน และยอมซ่อมแซมระบบหากเกิดน้ำป่าขึ้น
ในกรณีที่ไม่มีทุนรอนมากนัก เช่นเป็นบ้านที่อยู่โดดเดี่ยว อยู่ห่างไกลจาก “ประปา” และสภาพภูมิประเทศไม่โหดมาก เราอาจใช้สายยางรดน้ำต้นไม้แทนท่อพลาสติกได้ จะทำให้ต้นทุนถูกลง แต่ว่าสายยางเหล่านี้มีจุดอ่อนที่จะต้องระวังสี่ห้าอย่าง คือ
- สายยางปกติ ทนแรงดัน 5 บาร์ (5 เท่าของแรงดันบรรยากาศ) คิดเป็นความสูงของน้ำ 10.3m x 5 = 51.5 เมตร อันนี้หมายความว่า สายยางตกท้องช้างได้ไม่เกิน 51.5 เมตร
- สายยางรดน้ำแบบนี้ มักไม่ค่อยยาว ซึ่งหมายความว่าจะมีจุดเชื่อมต่อมากมาย แต่ละจุดจะต้องทนแรงดันของน้ำได้; แต่ถ้าสายยางไหลจากฝายไปยังบ้าน ไล่ไปตามระดับความสูงไม่มีตกท้องช้าง อย่างนี้ชิลชิลครับ
- ควรฝังสายยางไว้ใต้ดิน(ตื้นๆ) เพื่อหลีกเลี่ยง UV จากแสงแดดซึ่งจะทำให้พลาสติกเสื่อม สูญเสียความแข็งแรง และลดผลกระทบของน้ำป่า
- เนื่องจากสายยางมีขนาดเล็ก จึงนำน้ำไปได้น้อย ดังนั้นทางปลายทาง ควรจะมีบ่อพัก ให้อยู่สูงกว่าบ้าน(และสวน)ที่จะใช้น้ำสัก 5-10 เมตร น้ำส่งจากแหล่งน้ำอื่นมาที่บ่อพักทีละน้อย แล้วค่อยต่อจากบ่อพักไปใช้อีกที ควรจะมีสัก head 5-10 เมตร ซึ่งน่าจะพอสำหรับเลี้ยงบ้านไม่กี่หลัง
- เนื่องจากน้ำส่งมาจากแหล่งน้ำที่อื่นได้ทีละน้อย บ้านควรจะมีการทำ rain water harvest เองเหมือนกัน เพื่อดักน้ำฝนที่ตกลงในบริเวณใกล้เคียง ขุดร่องตื้นๆ พาน้ำฝนที่ตกบนเขาแถวนั้นมาลงบ่อพัก เพื่อที่จะได้มีน้ำสำรองมากพอ อย่างน้อยสัก 7 วันของปริมาณนำที่ใช้
Next : ตกหล่น » »
2 ความคิดเห็น
พี่เองและโครงการ ก็ทำเรื่องประปาภูเขามาหลายจุด ถูกต้องอย่างที่คอนกล่าวมาทั้งหมด ประปาภูเขายังมีประโยชน์มากมาย เช่นเป็นจุดร่วมที่ระดมความร่วมมือของชาสบ้านในการรักษาป่าไม้ ชาวบ้านช่วยกันปลูกป่าเสริม และดูแลต้นน้ำ มีการทำฝายแม้วเป็นระยะๆ มีการดูแลความสอาด มีเวรยามง่ายๆที่ช่วยกันเป็นหูเป็นตา
มีปัญหาเกี่ยวกับระบบราชการอยู่บ้างเหมือนกัน เช่นที่ดงหลวง ชาวบ้านบอกว่ามีน้ำภูเขาข้างบนน้ำดีมาก อยาด้สนอให้โครงการพัฒนาเป็นน้ำประปาภูเขา เราก็ชวนวิศวกรขึ้นไปดู พร้อมกับกลุ่มชาวบ้านขึ้นถึงยอดเขาเพื่อสำรวจสภาพต่างๆแล้วก็ทำ Proposal เสนอให้ Project พิจารณา ซึ่งทาง สปก.ที่เป็นเจ้าของ Project บอกว่าทำไม่ได้เพราะเป็นพื้นที่ของกรมป่าไม้ ต้องให้กรมป่าไม้อนุญาติเป็นหนังสือก่อน กรมป่าไม้ก็ไม่อนุญาต เพราะอยู่ในลุ่มน้ำ A
ชาวบ้านก็ไม่ย่อท้อ ยอมอดทน อีกหลายปีต่อมา ท่านสุรยุทธ เป็นนายก และท่านมีเบื้องหลังกับดงหลวง จึงพยายามสนับสนุนเต็มที่รื้อเรื่องนี้ให้กรมป่าไม้ทบทวนใหม่ แต่แล้วท่านสุรยุทธก็ต้องหมดวาระไป โครงการประปาภูเขาที่ดงหลวงแห่งนี้ก็ยังไม่ได้ทำ นี่จะเข้าปีที่ 10 แล้ว สงสารชาวบ้านจริงๆ
แต่อีกหลายจุดทำได้ครับ และใช้ประโยชน์ได้ดีมากครับ ใช้ระบบฝังท่อลงใต้ดินครับ แต่ปัญหาคือ ชาวบ้านไม่รู้จักประหยัด เปิดน้ำทิ้งไปเสียหายโดยไร้ประโนยชน์ (ชาวบ้านบางคนนะ) นี่แหละงานเชิงสังคมมวลชนจึงทำกันไม่มีจบสิ้น
เรื่องกรุงชิงนั้น ข่าวมาจากพื้นที่คืนนี้ ยังไม่ค่อยดีครับ ถ้าสนใจ เอาไว้ไปเล่าที่เฮโคราชดีกว่านะครับ