บ้านป้องกันหนาวในป่าเมืองร้อน

อ่าน: 3595

บ้านเมืองหนาวจำเป็นไหมสำหรับเมืองไทย?

พูดยากครับ โลกเปลี่ยนแกนหมุนยากยกเว้นจะถูกชนด้วยดาวขนาดใหญ่จนเปลี่ยนโมเมนตัมเชิงมุมไปได้ แต่ถ้าถูกชนแบบนั้น ทุกชีวิตบนโลกคงดับสูญไปหมด ไม่ต้องห่วงอะไรแล้ว ต่างกับที่พวก pseudoscience พยายามจะบอก ในเมื่อแกนหมุนเปลี่ยนแปลงได้ยาก เขตเส้นศูนย์สูตรก็จะรับพลังงานจากดวงอาทิตย์มากกว่าเขตอื่น จึงหนาวเย็นได้ยาก

แต่ไม่ใช่ว่าเป็นไปไม่ได้นะ เพราะความหนาวเย็นเป็นของไหล และไม่มีอะไรไปกั้นมันไว้ ช่วงฤดูหนาวที่ผ่านมา(ในซีกโลกเหนือ) เราก็เห็นปรากฏการณ์ที่ไม่คิดว่าจะเกิดขึ้นมากมาย พื้นที่ที่ไม่มีหิมะตก หิมะก็ตก เขตหนาว หนาวจะสาดน้ำร้อนไปในอากาศ แข็งจนกลายเป็นฝุ่นน้ำแข็งกลางอากาศไม่ทันตกถึงพื้น ในเมืองไทย อากาศหนาวจัดทางตอนเหนือและอีสานเหนือ ที่สวนป่าในบุรีรัมย์ อุณหภูมิลงต่ำได้ถึง 12ºC ทางเหนือ อุณหภูมิยอดหญ้าต่ำถึง -3ºC แต่หิมะยังไม่ตก เพราะความชื้นในอากาศไม่ถูกต้อง ต่อไปใครจะรู้ว่า อีสานจะเป็นสวิตเซอร์แลนด์ เชียงใหม่จะเป็นไอติมหรือไม่…

เมื่อเดือนกรกฎาคม 2555 ผมขออนุญาตครูบาสร้างบ้านเพื่ออยู่อาศัยในสวนป่า ย้ายเข้าบ้านกลางเดือนพฤศจิกายน หนาวพอดี ถ้าไม่สร้างบ้าน โดยที่ยังนอนกระต๊อบที่ไม่มีฝาเหมือนที่นอนมาตั้งแต่หน้าฝน (เดือนมิถุนายน) ผมคงหนาวแย่

บ้านนี้ ใต้ถุนยกพื้นเพียง 60 ซม. ไม่ได้สูงมากเพราะอายุเราก็มากขึ้นเรื่อยๆ ตอนนี้ยังเดินขึ้นได้สบาย แต่เมื่อแก่ตัวลง จะลำบากขึ้นเรื่อยๆ บ้านของ ส.ว. ไม่ควรเล่นระดับครับ จึงเป็นบ้านชั้นเดียว โธ่ สร้างบ้านอยู่ในป่า ที่ทางเยอะแยะ ขยายทางราบได้สบายนะครับ

ครึ่งล่างของผนังบ้าน เป็นอิฐดินซีเมนต์ ซึ่งอัดเองที่สวนป่า ก่อไว้สูงเมตรกว่าๆ เท่านั้นเพื่อไม่ให้เป็น dead load กดฐานรากมากเกินไป เหนือจากอิฐเป็นผนังโครงเหล็กสองชั้น ชั้นนอกเป็นสมาร์ทบอร์ด ชั้นในเป็นยิปซั่ม ตรงกลางเป็นช่องว่าง ผนังบ้านทั้งสองส่วน เป็นฉนวนความร้อนที่ดี อุณหภูมิในบ้านกันนอกบ้าน ต่างกันได้ 4ºC ไม่มากนัก แต่พออยู่ได้สบายนะครับ หน้าร้อน ในบ้านเย็น หน้าหนาว ในบ้านอุ่น ประตูหน้าต่าง ผมไม่เปิดเลย ถ้าอึดอัด เปิดพัดลมให้อากาศหมุนเวียน สบายจริงๆ

หลังคาขนาด 132 ตร.ม. ของบ้านนี้เป็นเพิงหมาแหงน ใช้เมทัลชีตวางบนโครงเหล็ก (ทั้งแป ทั้งจันทัน ทั้งโครงผนังบ้าน) มีความแข็งแรง รับน้ำหนักได้พอสมควรหลายร้อยกิโล (เวลาคนงานแห่กันขึ้นไปทำงาน) ในเมื่อเป็นเพิ่งหมาแหงน อากาศร้อนจะวิ่งจากด้านต่ำไปออกด้านสูงเองโดยอัตโนมัติ มีชายคารอบบ้าน ทางด้านต่ำ มีรางน้ำฝน เก็บน้ำฝนสำรองไว้ได้มาก

ถ้ามีหิมะตก จะมีน้ำหนักหิมะกดลงบนหลังคามากครับ บ้านนี้ใช้โครงเหล็ก มีวิธีจัดการหิมะได้ง่ายโดยไม่ต้องปีนขึ้นไปกวาด คือที่ชายคาหลังบ้าน จุดเตา(อั้งโล่) เอาความร้อนใส่เข้าไปตรงชายคาด้านหลังคาเตี้ย ความร้อนจะไหลไปออกอีกด้านหนึ่งทางช่องว่างระหว่างหลังคาเมทัลชีทกับฝ้าซึ่งกันการแผ่รังสีความร้อนจากหลังคาในหน้าร้อน ทำอย่างนี้สามารถละลายหิมะบนหลังคากลับมาเป็นน้ำดื่มด้วย

ถ้าหิมะตกหนัก บ้านที่ยกไว้จะบรรเทาภาวะหิมะท่วมรอบบ้านได้บ้าง แล้วพื้นบ้านที่ยกไว้ 60ซม ใต้ถุนโล่ง เอาเตาเล็กไปใส่ข้างใน ก็จะให้ความร้อนกับพื้นบ้านได้ ทำให้ในบ้านอบอุ่นสบาย หน้าหนาวที่ผ่านมายังไม่ต้องใช้วิธีนี้ครับ ยกบ้านสูงกว่านี้ เสี่ยงว่าตอหม้อจะรับโมเมนต์ของบ้านที่เกิดตอนแผ่นดินขยับไม่ไหว เดี๋ยวบ้านพัง

แต่ในภาวะวิกฤติ อยู่คนเดียวไม่รอดครับ ต้องอยู่กันเป็นชุมชนที่ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน มีทักษะหลากหลาย ผสมผสานกันได้ เนื่องจากว่าไม่มีใครทำอะไรได้ทุกอย่าง

สรุปคือ

  1. ยกบ้านให้สูงขึ้น
  2. หลังคารองน้ำฝนกักเก็บไว้ให้ได้
  3. หลังคาโครงเหล็ก กระจายแรง แข็งแรงพอรับน้ำหนักหิมะ
  4. หลังคาเป็นเพิงหมาแหงน มีฝ้า เพื่อใส่ความร้อนเข้าไปที่ชายคาและละลายหิมะออกจากหลังคา
  5. ผนังบ้านเป็นฉนวนความร้อน หน้าหนาวจะอุ่น หน้าร้อนจะเย็น
  6. ดูทางลมให้ดี

« « Prev : โรงเรียนกนกศิลป์พิทยาคม 25 มค 2557

Next : นักศึกษาแพทย์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี » »


ผู้ใช้ Facebook สามารถให้ความเห็นที่นี่ได้ โดยกด Like เพื่อแสดงตัว

ความคิดเห็นสำหรับ "บ้านป้องกันหนาวในป่าเมืองร้อน"

ไม่มีความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็น

ท่านอยากจะเข้าระบบหรือไม่


*
To prove you're a person (not a spam script), type the security word shown in the picture. Click on the picture to hear an audio file of the word.
Click to hear an audio file of the anti-spam word


Main: 0.11323094367981 sec
Sidebar: 0.12581396102905 sec