ประชาคมต้นน้ำของโคราช
อ่าน: 3942โคราชไม่มีภัย มาทำอะไรกันอยู่ที่นี่? มาอยู่ที่นี่เพราะ ถ้ามาเมื่อมีภัยเกิดขึ้นแล้ว ก็จะสายเกินไปที่จะป้องกัน แล้วภัยก็จะเกิดขึ้นอีก ซ้ำซาก ไม่รู้จักจบสิ้น
จริงอยู่ที่ว่ามนุษย์กระจ้อยร่อย ไม่มีปัญญาต่อกรกับพลังของธรรมชาติได้ แต่มนุษย์ที่มีปัญญา ไม่ท้อแท้ง่ายๆ เมื่อมองเห็นปัญหา ก็ต้องพยายามแก้ไข แต่ถ้ามันเกินกำลัง ควรจะหาวิธีบรรเทาหรือผ่อนคลาย ไม่ทำตนเหมือนคนเป็นโปลิโอทางสมองนะครับ
ลำน้ำมูลเวลาท่วมแล้ว มีคนได้รับผลกระทบเป็นล้านคน เราคิดต้นน้ำมาจากอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ แต่ก็มีต้นน้ำอื่นๆ อีกด้วย
นโยบายทางภาครัฐ ชี้ชัดว่าต้องพยายามทุกวิถีทางที่จะป้องกันเขตเศรษฐกิจเอาไว้ให้ได้ แต่ชาวบ้านที่ไม่ได้อาศัยอยู่ในเขตเศรษฐกิจ ก็เป็นคน มีเลือดมีเนื้อเช่นกัน จะต้องได้รับการปกป้องดูแลเช่นกัน น้ำจากอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่และอุทยานแห่งชาติทับลาน ไหลลงไปยังแอ่งโคราชตามแม่น้ำมูล หล่อเลี้ยงอีสานใต้ แต่ทางฝั่งต้นน้ำนี้ นำไม่ได้ไหลมาจากแหล่งใดแหล่งหนึ่ง แต่กลับแยกกันมาถึงสี่สายใหญ่ๆ ลำตะคอง ลำพระเพลิง ลำเชิงไกร ลำสะแทด มีเขื่อนและอ่างเก็บน้ำคอยควบคุมน้ำอยู่
แล้วน้ำท่วมได้อย่างไร? มีสองสาเหตุใหญ่ๆ ครับ คือ (1) ปริมาณน้ำฝน มามากกว่าความจุของอ่างเก็บน้ำ/เขื่อน น้ำจึงล้นลงมา และ (2) มีน้ำส่วนอื่นที่ไม่ได้มาจากเขาใหญ่/ทับลานอีกด้วย น้ำส่วนนี้ ไหลตามสะดวกไม่มีการหน่วง ไม่มีการจัดการ
พื้นที่รอบๆ สีคิ้ว มะเกลือใหม่ มิตรภาพ ลาดบัวขาว คลองไผ่ หนองน้ำใส หนองหญ้าขาว กฤษณา เป็นพื้นที่รับน้ำฝนขนาดใหญ่ มีพื้นที่รวมกันกว่าล้านไร่ (1,600 ตารางกิโลเมตร) คราวที่เกิดน้ำท่วมใหญ่ครั้งที่ผ่านมา มีปริมาณฝน 250 มม. คูณกันแล้ว ได้เป็นปริมาณน้ำถึง 400 ล้านลูกบาศก์เมตร มากกว่าความจุของเขื่อนลำตะคองเสียอีก เมื่อน้ำส่วนนี้ ไหลโดยอิสระ จากที่สูงชันลงไปตามลุ่มน้ำ เมืองโคราชจึงเละไงครับ ทั้งท่วมเร็วและแรงครับ
ดร.สุรเจตต์ มาให้ความรู้เกี่ยวกับการคาดการณ์สภาวะอากาศ ความหมายก็คือการระบุความเสี่ยงต่อภัยจากปริมาณน้ำฝนและพายุฝน เมื่อรู้ความเสี่ยง จึงเตรียมการระวังป้องกันได้ ทางชุมชนจะต้องหาคนมารับความรู้และเครื่องมือ เพื่อประโยชน์ในการเฝ้าระวังป้องกันพื้นที่ (ไม่ง่ายหรอกครับ แต่เมื่ออยากจะลอง ก็น่าจะได้ลอง)
ทาง thaiflood เสนอความคิดเรื่อง personal weather station ชุมชนจัดการกันเอง (ซื้อเอง ดูแลเอง อ่านผลเอง ตัดสินใจเอง thaiflood ไม่ได้เอาของมาขาย) ข้อมูลเปิดสู่สาธารณะทั้งหมด นำมาเสริมกับข้อมูลของทางราชการแล้วใช้ในการดูแลความเป็นอยู่ของตนเอง — การตัดสินใจบนความไม่รู้ การไม่มีข้อมูล หรือบนอคติ ยากจะเป็นการตัดสินใจที่ดี
ในการประชุมสองวันนี้ อาจจะดูเหมือนเน้นหนักที่ลุ่มลำตะคองซึ่งมีคนอาศัยอยู่มาก มีประชาคมในโคราชจากหลายพื้นที่ต้องการเข้ามาร่วมประชุมด้วย แต่ด้วยข้อจำกัดของสถานที่ ตลอดจนความหลากหลายของข้อจำกัดและบริบท หากเปิดให้ทุกคนเข้ามาพร้อมกัน การประชุมอาจหาข้อสรุปอะไรไม่ได้เลย เนื่องจากจะใช้เวลามากมายกับการทำความเข้าใจบริบทของแต่ละพื้นที่ ดังนั้นจึงขอออกเดินก้าวแรกให้ได้ก่อน ภายหลังจึงถอดบทเรียนของกระบวนการ ไปขยายผลยังประชาคมในลุ่มน้ำอื่นๆ ทั้งในและนอกโคราช คงจะดีกว่าจะพยายามหาคำตอบที่ครอบจักรวาลซึ่งอาจหาไม่ได้หรือใช้ไม่ได้ แม้ทุกคนจะแฮบปี้ว่าได้มีเอี่ยว แต่ไม่สามารถแก้ปัญหาอะไรได้เลย
ความสวย ชัยชนะ ความสำเร็จ เป็นของชั่วคราว
แต่ ความงาม ความดี และความถูกต้อง เป็นของถาวร– รศ. ดร. นิกร วัฒนพนม
วันที่ 14 เดือนหน้า คงจะได้ไปประชุมอีก และคงได้ร่วมกิจกรรมร่วมใจปลูกป่าหลังคาโคราชครับ
« « Prev : ประชุมกับ CSR โคราชอีกที
6 ความคิดเห็น
ผมเสนอว่า เรามาเขียนโครงกันวิจัยทำงานกันดีไหมครับ เอาโคราชเป็นต้นแบบ ทำให้สำเร็จแบบบูรณาการ ที่ได้ประโยชน์หลายต่อ เช่น ป้องกันภัยพิบัติยามฝนบ้า ยามฝนสงบก็กลายเป็นเพิ่มผลผลิตการเกษตร การประมง อุตสาหกรรม ลดการเคลื่อนย้ายพลเมืองออกนอกพื้นที่ ส่งผลต่อพฤติกรรมเยาวชน อนาคตของชาติ และ ๙ล๙
โครงการวิจัยมันมีเสน่ห์อยู่อย่าง คือ มันบีบให้เราต้องทำสิ่งท้าทายที่เสนอไว้ให้เสร็จทันเวลา ได้ผลตามที่คุยโวไว้ในเอกสารเสนอโครงการ
ผมว่า ดีกว่าอยู่ว่างๆ นะ ถ้าเอา ผมเอาด้วยคน
โคราชมี ๓๖ ลุ่มน้ำ ฝนตกเฉลี่ยปีละ ๙๐๐ มิล (ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยประเทศไทย สองเท่า) ครั้งหนึ่งผู้ว่าลงทุนจ้างนักวิชาการอิสราเอลมาให้คำปรึกษา สิ่งแรกยิวถามคือ ฝนตกเฉลี่ยเท่าไหร่ พอรู้ว่า ๙๐๐ ยิวถึงกับเจอนะจังงัง คิดไม่ออก สมองตื้อไปหมด ถามกลับว่า ตก ๙๐๐ เนี่ยมัน “แล้ง” ไปได้อย่างไร อีนี่จ๋านไม่ข้าวจายนะนายจ๋า (ยิวเชื้อสายแขก)
ทั้งนี้เพราะเมืองยิวฝนตก ๓๕๐ มิล ต่อปี แต่เขาส่งผลผลิตการเกษตรส่งขายนอก ทำกำไรได้มหาศาล
แผ่นดินนี้ดีทุกอย่าง ยกเว้นมีคนไทยอยู่
แล้วก็อย่างที่พี่ว่า จะแก้ปัญหาน้ำท่วมโดยไม่สนใจปัญหาภัยแล้งนั้น ไม่น่าจะถูกต้อง ซึ่งผู้เชี่ยวชาญก็แนะนำแบบเดียวกัน แต่ตอนนี้ ชาวบ้านกำลังประสาทเสียกับน้ำท่วมเนื่องจากเริ่มเข้าหน้าฝนแล้ว เดือนหน้าคงจะเสี่ยงมากขึ้น ปีที่แล้วเสียหายกันหนัก ยังหลอนอยู่เลยครับ
ที่บ้านเกิด ไม่ค่อยมีปัญหาเรื่องน้ำ เพราะมีโครงการหลวงหลายโครงการ
อาจจะเป็นเพียงไม่กี่จังหวัดในภาคอีสาน ที่นับว่าโชคดี เช่นนี้ ..
เสียดาย .. หลายคน ยังไม่เห็นคุณค่า แห่งความพยายามบางอย่างเหล่านั้น
ขอบคุณที่แบ่งปันค่ะ ..
ครอบครัวที่โคราาทำได้แค่เรื่องเตรียมความพร้อมค่ะิ เพราะทางครอบครัวญาติพี่น้องเราเจอมาเต็มๆ เมื่อปีที่แล้วเสียหายหนักมากๆ อาม่าเลยบอกให้ตรียมความพร้อมตั้งแต่เนิ่นๆ ถึงแม้ต้องเผชิญอีกก็คงเสียหายน้อยลงบ้างค่ะ