หมู่บ้านโลก (4)
ผู้ที่ศึกษาทางพุทธมาบ้าง จะเข้าใจว่าชีวิตเป็นไปตามกฏของไตรลักษณ์ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ไม่สามารถกำหนด บังคับ ควบคุมได้ หากแต่ชีวิตนั้นมีค่า ไม่ควรปล่อยเวลาและศักยภาพทิ้งให้สูญเปล่า (”เรื่องใหญ่ของมนุษย์ มีอยู่แค่เรื่องเดียว คือเรื่องความไม่รู้ ว่าเรื่องใดน่ารู้” — คิดจากความว่าง โดยดังตฤณ)
ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงนั้น เมื่อนำมาปฏิบัติให้ได้ผลแล้ว ชีวิตจะไม่ตกต่ำลง เนื่องจากปัจจัยสี่มาจากดิน เป็นการเก็บกินไม่ใช่ทำกิน ดำรงชีวิตอยู่ได้โดยไม่ต้องเป็นลูกจ้าง ในเมื่อมีชีวิตอยู่ได้ หากสิ่งใดที่ทำแล้วเกิดคุณค่า ต่างเป็นกำไรของชีวิตทั้งนั้น ในเมื่อทุกคนเป็นนายจ้างของตนเอง จะทำกำไรได้มากเท่าไหร่ ก็แล้วแต่ว่าทำสิ่งที่เกิดประโยชน์ต่อคนอื่นหรือไม่ และขยันขันแข็งเพียงใด
แต่ว่าร่างกายมีความเสื่อมเป็นธรรมดา คนจำเป็นต้องหาเครื่องมือผ่อนแรงช่วยให้ เครื่องมือเหล่านี้จะเปลี่ยนพลังงานรูปหนึ่งเป็นอีกรูปหนึ่ง มีส่วนต่างที่เกิดเป็น “งาน” ขึ้น ซึ่งงานตรงนี้ เรานำเอามาใช้ผ่อนแรง เช่นแทรกเตอร์ ปั้นจั่น ปั๊มน้ำ ลิฟต์ รถยนต์ เครื่องปรับอากาศ เตา ฯลฯ คงจะพูดไม่ได้ว่าอะไรจำเป็นกว่าอะไร เนื่องจากแต่ละคนมีความจำเป็นที่แตกต่างกัน
ที่กลับมาอัพเดตความคืบหน้าของโครงการหมู่บ้านโลกหลังจากไม่ได้เขียนมาปีหนึ่งนี้ ผมไม่ได้ตั้งใจจะทำให้ใครเสียกำลังใจ ตรงกันข้ามเลยครับ ตลอดเวลาตั้งแต่เริ่มทำโครงการนี้มาอย่างเงียบๆ (ซึ่งเพิ่งประกาศอย่างเป็นทางการเมื่อสิ้นปีที่แล้ว) ผมได้เรียนรู้อะไรมากมาย อยากนำประสบการณ์นี้มาแบ่งปัน เพื่อให้ผู้ที่คิดจะออกจากระบบเมืองแล้วกลับสู่วิถีธรรมชาติ ได้มองเห็นประเด็นและเตรียมตัวต่างๆ ล่วงหน้า ตั้งความคาดหวังให้ใกล้เคียงกับความเป็นจริง เมื่อพาครอบครัวออกไปสู่วิถีนี้แล้ว จะได้ไม่ต้องผิดใจกันว่ามันไม่เป็นอย่างฝันที่โรแมนติค มีอะไรจะต้องทำอีกเยอะเลย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในระยะแรก ถ้าคิดว่าจะไปตายเอาดาบหน้า อาจได้เจอดาบเร็วกว่าที่คิดเพราะความไม่รอบคอบครับ
เรื่องความมั่นคงสามแนวทางสำหรับสวนป่าและหมู่บ้านโลกนั้น กล่าวไปแล้วในบันทึกที่แล้วว่าอาหารไม่เป็นห่วงเลย น้ำมีเรื่องที่ต้องปรับปรุงและปรับปรุงได้ไม่ยาก ส่วนเรื่องที่ยังไม่ได้พูดนั้นคือเรื่องพลังงาน
ปัจจุบันนี้ โลกใช้พลังงานจากฟอสซิลเป็นหลัก ในรูปของผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมี มีทฤษฎีต่างๆ มากมายว่าน้ำมันใช้แล้วหมด หรือแม้แต่น้ำมันไม่มีวันหมดไปจากโลก ต่างฝ่ายต่างมีข้อสนับสนุนทฤษฎีของตน แต่ข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นคือราคาน้ำมันมีแนวโน้มที่แพงขึ้นเรื่อยๆ การขนส่งและค่าครองชีพจะมีปัญหาจนกระทั่งการขนส่งหยุดลงเพราะเจ๊งหมด ถึงตอนนั้นอาหารและน้ำก็จะต้องหาเอาในท้องถิ่นเท่านั้น หากท้องถิ่นพึ่งตนเองในเรื่องอาหารและน้ำไม่ได้ เช่นตามเมืองซึ่งต้องซื้ออาหารจากชุมชนที่อยู่ไกลออกไปเกินระยะเดินถึง (หรือแม้แต่ที่ครูบาเคยประมาณคร่าวๆ เมื่อหลายปีก่อนว่าแต่ละอำเภอ “ขาดดุลย์” ค่าไข่ เดือนละหกล้านบาท โดยซื้อไข่ที่นำมาจากถิ่นอื่นหรือซื้อจากรถพุ่มพวงก็ตาม ถ้ากินไข่มาก ทำไมไม่เลี้ยงเอง) เมื่อคราวคนกรุงเทพอพยพหนีน้ำท่วม ก็ทำเอาชาวบ้านงงกันไปรอบหนึ่งแล้ว ว่าหาซื้อน้ำดื่มและไข่ไม่ได้เลย
หากเกิดสงครามในตะวันออกกลางหรือในอ่าวเปอร์เซีย ราคาน้ำมันจะพุ่งกระฉูดจนการขนส่งหยุดชะงักหมด รัฐจะควบคุมไม่ได้เลย เมื่อราคาน้ำมันขึ้น ราคาก๊าซก็จะขึ้นตาม ไฟฟ้าซึ่งใช้ก๊าซผลิตเป็นส่วนใหญ่ก็จะขึ้นด้วย ต้นทุนการผลิตและการขนส่งจะขึ้นตามหมด ข้าวของแพง ไม่ได้แก้ด้วยการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ครับ แต่แก้ด้วยการหาแหล่งพลังงานใหม่ จัดระบบโลจิสติกส์ใหม่ ย้ายแหล่งบริโภคเข้าหาแหล่งผลิต และในส่วนที่ย้ายไม่ได้ก็ผลิตอาหารในท้องถิ่น เช่นหลังคาห้องแถว หน้าต่างในคอนโด ที่รกร้างของหมู่บ้านจัดสรร ฯลฯ
ถามว่าสวนป่ามีวัตถุดิบสำหรับผลิตพลังงานหรือไม่ ที่จริงมีเยอะครับ แต่ไม่เคยนำมาใช้เลย พลังงานของสวนป่านั้นได้แก่แสงแดดและ biomass สำหนับแสงแดดนั้น โหย เนื้อที่มหาศาล มีที่โล่งแจ้งอยู่หลายบริเวณ สามารถรับแสงแดดได้ตลอดวัน ผมสนใจ solar thermal มากกว่า photo voltaic เพราะความร้อนเปลี่ยนเป็นพลังงานรูปอื่นได้ง่าย ส่วนการเปลี่ยนแสงเป็นไฟฟ้านั้น มีการลงทุนที่สูง แต่ถ้าทำได้ ก็จะสะดวกดีครับ พลังงานลมก็เกิดจากการถ่ายเทความร้อนที่เกิดจากแสงอาทิตย์ตกกระทบโลก แต่ลมมีปัญหาที่ต้นไม้ในสวนป่าสูงใหญ่ กังหันที่จะรับลมเต็มที่จะต้องสูงมากเหมือนเสา Wifi คือ 40 เมตร ซึ่งค่าก่อสร้างคงแพงเหมือนกัน ดังนั้นเรื่องพลังงานแสงอาทิตย์ ก็คงจะทดลองอะไรหลายๆ อย่าง อาจเป็นเซลแสงอาทิตย์ขนาดเล็กแบบ isolated circuit ไม่เชื่อมกับระบบจ่ายไฟฟ้าของ กฟภ. ใช้ให้พอวันต่อวัน แล้วไปทำ solar thermal หรือว่าทำเตาเอาความร้อนมาปั่นไฟฟ้าเสริม
ส่วนของ biomass ยิ่งน่าสนใจใหญ่ เนื่องจากป่าขนาด 600 ไร่ มีกิ่งไม้ใบไม้หักหล่นอยู่มากมาย ถ้าปล่อยให้ย่อยสลายในป่าโดยไม่มีการจัดการ ก็จะเกิดก๊าซมีเทนอันเป็นก๊าซเรือนกระจกที่มีความร้ายแรง ดังนั้นถ้าเราเอากิ่งไม้มาเผาเป็นถ่าน biochar นอกจากจะนำไปใช้ปรับปรุงดิน (หรือขาย) ได้แล้ว ก็ยังนำความร้อนจากการเผามาปั่นไฟฟ้าได้ด้วย ไฟฟ้าที่ได้มา เอามาชาร์ตแบตเตอรี่ ทำรถการเกษตรพลังไฟฟ้า เอาไว้ขนไม้ หรือเอาไว้วิ่งระหว่างบ้านปากช่องกับอำเภอ (เที่ยวละ 12 กม. วินมอเตอร์ไซค์จากตลาดในอำเภอคิดร้อยบาท ถ้ามีเอารถมอเตอร์ไซค์วิ่งเอง ค่าน้ำมันไปกลับครึ่งลิตรไม่รวมค่าสึกหรอ 20 บาท ดังนั้นเก็บเที่ยวละ 10 บาทต่อคนต่อเที่ยวก็เหลือแหล่แล้ว) เอาใบไม้สับแช่น้ำแล้วนำมาผสมกับดิน อัดเป็นอิฐใช้ก่อสร้าง ประหยัดค่าวัสดุก่อสร้าง จะขายหรือจะจ่ายอิฐเป็นค่าแรงก็ได้ อิฐอัดขายกันก้อนละ 12 บาท แต่ค่อนข้างขาดแคลนทั่วประเทศ รายละเอียดวิธีการทำเรื่องเหล่านี้ เขียนไปหลายครั้งแล้วครับ
สวนป่ามีศักยภาพเรื่องพลังงานมาก ทั้งนี้เป็นผลจากการปลูกป่าเมื่อ 30 ปีที่แล้ว นำความอุดมสมบูรณ์กลับมาสู่แผ่นดิน การนำศักยภาพของป่ากลับมาใช้ ต้องอาศัยความรู้และเครื่องมือมากเหมือนกัน แต่ไม่ใช่เรื่องเหลือวิสัยหากจะทำ ป่าต้องตัดแต่งกิ่ง ยิ่งตัดก็ยิ่งแตก ตัดแต่งหมุนเวียนกันไป ก็เหมือนจะมี biomass หมุนเวียนไม่จำกัดครับ
biomass คือพลังงานแสงอาทิตย์ที่เก็บกักไว้ในรูปพลังงานในพันธะทางเคมี (ของเซลลูโลส) เมื่อทำลายพันธะทางเคมี biomass ก็จะปล่อยพลังงานที่เก็บกักไว้ออกมา เช่นเดียวกับการเผาน้ำมันซึ่งเป็นไปในลักษณะเดียวกัน แต่เนื่องจากเราเผาด้วยความรู้ ใช้กระบวนการ carbonization gasification หรือ pyrolysis (เป็นการเผาที่จำกัดปริมาณออกซิเจน) เถ้าถ่านที่เหลืออยู่มีสภาพเป็น bio carbon มีความบริสุทธิ์สูง แต่ปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ออกสู่บรรยากาศน้อยกว่าการเผาในที่โล่งแจ้งหรือการย่อยสลายตามธรรมชาติ บรรดาผู้สนับสนุน biochar เรียกวิธีการนี้ว่าเป็นการกักเก็บคาร์บอน (carbon sequestration) ไว้ในรูปของแข็งที่มีเสถียรภาพเป็นพันปี กระบวนการนี้เรียกว่า Bio-energy with carbon capture and storage ความคุ้มค่าและเหตุผลว่าทำไมจึงควรจะทำอย่างนี้ ศึกษาได้ในลิงก์ดังกล่าว
เรื่องพลังงาน สำรองน้ำมันไว้เท่าไหร่ก็ไม่พอครับ ควรเก็บ biomass ไว้ ต่อให้ต้นไม้ตายก็ไม่เป็นไร ในที่สุดเราจะเผาอยู่ดี
ความคิดเห็นสำหรับ "หมู่บ้านโลก (4)"