น้ำท่วมกลับไม่มีน้ำดื่ม (3)
เขียนต่อจาก [น้ำท่วมกลับไม่มีน้ำดื่ม (2)] ครับ
รู้สึกว่าเป็นเรื่องน่าเศร้ามาก ที่ต้องขนน้ำดื่มไปหลายร้อยกิโลเมตรไป ช่วยคนที่ติดอยู่ในพื้นที่ประสบอุทกภัยซึ่งไม่มีน้ำดื่ม ในภาวะแบบนั้น น้ำประปามักหยุดให้บริการ จะเอาน้ำแถวนั้นมาดื่มประทังกันตาย ก็ยิ่งจะรู้สึกตะขิดตะขวงใจ จะต้มก็ติดไฟลำบาก ดื่มน้ำท่วมขัง เหมือนดื่มน้ำเน่า… “เหตุผล” เยอะแยะไปหมด
ถ้าฝนยังตกอยู่ รองน้ำฝนเอาไว้ดื่มครับ ถ้ายอมอพยพไปสู่พื้นที่ปลอดภัย (ซึ่งพื้นที่ไหนก็ที่นั้น ต่่างไม่ยอมอพยพกันทั้งนั้น) ก็อาจจะใช้แสงแดดกลั่นน้ำเอาไว้ดื่มได้ ถ้าน้ำท่วมไหลมาจากที่อื่น มาขังอยู่ในพื้นที่ที่เป็นแอ่ง อันนี้ล่ะน่ากังวลที่สุดครับ
คลิปแรก เป็นการทำ slow sand filter แบบง่ายๆ จากขวด(น้ำ)พลาสติก ปิดฝาขวด เจาะรูที่ฝาขวดสำหรับให้น้ำที่กรองแล้วไหลออก ตัดก้นขวดออกจนขาด เอาใบไม้รองด้านในขวดฝั่งของฝาขวด เอาทรายละเอียดใส่ตรงกลาง เอาใบไม้รองข้างบนด้านก้นขวดที่เปิดออกแล้ว เอาหินกดทับไว้ — ตักน้ำที่ไม่ได้กรองใส่ขวด ปล่อยน้ำแรกๆ ทิ้งไป จนน้ำเริ่มใส เอาน้ำนี้ไปต้มเพื่อความปลอดภัย(ขึ้น) น้ำต้มไม่ได้ปรับสภาพทางเคมี เช่นปุ๋ย ยาฆ่าแมลง สารเคมี ฯลฯ แต่ยังดีกว่าเอาไปดื่มเลย ถ้าต้มไม่ได้ ก็น้ำนั้นเอาไปตากแดดไว้ 6-8 ชั่วโมง UVA ในแสงแดด จะฆ่าเชื้อโรคได้ (SODIS)
คลิปที่สอง ของกาชาดสิงคโปร์ (คิดแบบคนเมืองตามเคย) เค้าระดมเงินบริจาคเพื่อจะส่งไปช่วยกาชาดฟิลิปปินส์ แต่หลักการก็ง่ายดีครับ ตัวเครื่องกรองดูจะเป็น ceramic filter ซึ่งต้องการแรงดัน ก็มีลูกยางปั๊มลมเข้าไปในขวดซึ่งบรรจุน้ำที่ยังไม่ได้กรองอยู่ เมื่ออากาศเข้าไปในขวด(รอบนอก) ก็จะเกิดแรงดัน ดันน้ำผ่าน filter เข้าไปตรงแกนกลางซึ่งต่อท่อของน้ำที่กรองแล้วออกไปนอกขวด
ถ้าใช้วิธีถึกๆ ลูกยางปั๊มลมก็อาจจะเป็นที่สูบลมยางจักรยานได้ ขวดเป็นขวดน้ำอัดลมซึ่งทนแรงดันได้ดี ส่วนไส้กรองน้ำเซรามิกซื้อเอา คงไม่เกินห้าร้อยบาท แบบนี้ก็จะลดภาระการขนส่งน้ำจากระยะไกลไปช่วยได้บ้าง น้ำดื่มทั้งหนักและกินที่ เมื่อกรองแล้ว ก็เอาน้ำไปต้มหรือไปตากแดดก่อนนำไปบริโภคครับ
« « Prev : ฝายใต้ดิน
ความคิดเห็นสำหรับ "น้ำท่วมกลับไม่มีน้ำดื่ม (3)"