อิฐกระดาษ อิฐต้นไม้
อ่าน: 8376บ้านดินนั้น ใช้เนื้อดิน(เหนียว) พอกไฟเบอร์ซึ่งหาได้ง่ายและเป็นโพลีเมอร์ที่มีอยู่มากที่สุดในโลก (คือเซลลูโลส) อาทิ หญ้าแห้ง เยื่อไม้ กก ต้นข้าว อ้อย ฯลฯ เมื่อพอกดินลงบนไฟเบอร์ รอจนแห้ง ไฟเบอร์ก็จะยึดดินไว้ด้วยกันด้วยพันธะไฮโดรเจนในเซลลูโลส… เออ อธิบายไป ก็เท่านั้นแหละ
เอาเป็นว่าเราเอาดินพอกพวกหญ้าแห้ง ก็จะยึดดินให้รวมกันได้ เอาไปสร้างเป็นผนังได้ครับ เป็นหลักการธรรมดาของการสร้างบ้านดิน
ทีนี้ถ้าเราไม่ใส่ไฟเบอร์/เซลลูโลสลงไปเลย ก็ยังโอเคนะครับ แต่ว่าต้องปรับนิดหน่อยเพราะความแข็งแรงต่ำลง ถึงกระนั้น เราก็ยังสามารถปั้นเป็นก้อนอิฐ แล้วจึงเอาก้อนอิฐมาเรียงเป็นบ้านอีกทีได้เหมือนกัน
ดินที่สวนป่า แทบไม่มีสภาพเป็นดินเลย ไม่ใช่ดินเหนียว ไม่ใช่ดินร่วน ไม่จุลินทรีย์ในดิน เวลารดน้ำลงไป เหมือนทรายแฉะๆ (ไม่รู้เหมือนกันว่าปลูกต้นไม้มากมายได้ยังไง) ถ้าจะใช้ดินสวนป่า ทำโครงสร้างแข็งแรง ต้องปรับปรุง โดยใส่ผสมซีเมนต์ลงไปครับ ผลงานก็คือ “อาคาร” ทั้งหมดในสวนป่า
ทีนี้ในเมื่อใช้ซีเมนต์เป็นตัวยึดแล้ว ถามว่าใส่ดินลงไปทำไม ก็ใส่ลงไปเพื่อเพิ่มเนื้ออิฐไงครับ หากคิดที่จำนวนก้อนเท่ากัน อิฐแบบผสมดิน จะใช้ซีเมนต์น้อยกว่าแบบปูน+ทราย
ฝรั่งมองเรื่องนี้แล้วคิดว่า มีกระดาษที่ใช้แล้วก็ทิ้งลงถังขยะเหลืออยู่เต็มไปหมด เมื่อมองย้อนกลับไปที่กระบวนการผลิตกระดาษแล้ว ก็พบว่ากระดาษมาจากเยื่อกระดาษ เยื่อกระดาษคือเซลลูโลส ดังนั้นหากไม่นำไปรีไซเคิล น่าจะเอากระดาษเหล่านี้มาใช้แทนฟางไปสร้างบ้านดินได้เหมือนกัน จึงมีการทดลองทำดู ผลก็คือได้อิฐที่มีความแข็งแรง
อิฐแบบนี้ เรียกว่า papercrete
ส่วนผสมของ papercrete ที่ผสม ส่วนละ 200 แกลลอน (ประมาณ 900 ลิตร)
- น้ำ 160 แกลลอน (727 ลิตร)
- กระดาษ 60 ปอนด์ (27 กก.)
- ปูน 1 ถุง ขนาด 94 ปอนด์ (43 กก.)
- ทราย 65 ปอนด์ (29 กก.)
ผสมแล้วตีจนแหลกให้เข้าเป็นเนื้อเดียวกัน ผมคิดว่าเอากระดาษแช่น้ำให้เปื่อยยุ่ย แล้วตีกระดาษเปียกจนแหลกก่อน จึงค่อยผสมปูนและทราย น่าจะง่ายกว่าเยอะนะครับ
ส่วนผสมอันนี้ จะนำลงเทในบล็อคขนาด 30 x 61 x 13 ซม. ได้ 25-30 ก้อน คิดเป็นปริมาตรรวม 0.6-0.7 ลูกบาศก์เมตร หรือ 600-700 ลิตร
จากลิงก์ที่ให้ไว้ข้างบน จะเห็นว่าหลังจากตากแดดจนน้ำระเหยออกไปหมด ปริมาตรลดจาก 900 ลิตร เหลือ 600-700 ลิตร — หายไป 200-300 ลิตรแม้ว่าที่จริงเราผสมน้ำถึง 727 ลิตร อิฐในลักษณะนี้ จึงมีโพรงอากาศเล็กๆ อยู่ภายใน มีความแข็งแรง แต่ก็เป็นฉนวนความร้อนอย่างดีอีกด้วย ทนไฟ ทนปลวก
ที่เขียนเรื่องนี้ ก็เพราะครูบาปรารภถึงคอกสัตว์ อย่างกวาง ซึ่งขี้ตกใจ แล้วกระโดดได้สูงด้วย ถ้าทำคอกตามแบบฟาร์มกวางทั่วไป ก็จะแพงมาก
ถ้าเอาไว้ทำคอกสัตว์ เราก็อาจจะไม่จำเป็นต้องทำอิฐตันทั้งก้อนหรอกนะครับ ทำอิฐเป็นตัว U ได้ โดยหลังจากเทลงไปสักสามในสี่ของแบบแล้ว เอาไม้กดลงไปตรงกลาง ไล่เนื้ออิฐให้ขึ้นมาจนเต็มไม้แบบ เอาเนื้ออิฐที่ล้นออกมา ไปทำก้อนใหม่ได้อีก — ถ้าใช้เนื้ออิฐเพียงสามในสี่ของแบบ ก็หมายความว่าจำนวนอิฐ จะเพิ่มขึ้นอีก 33% จาก 25-30 ก้อน กลายเป็น 33-40 ก้อน
ทีนี้ถ้าไม่ใช้กระดาษ เราน่าจะใช้เปลือกไม้ เศษใบไม้หรือกิ่งไม้ที่สับละเอียดแล้ว เอามาทุบให้แหลก แล้วใส่แทนกระดาษได้ในสัดส่วนเดียวกัน
แบบนี้ อาจลดราคาคอกสัตว์ที่อยากทำได้หลายสตางค์ครับ
ปีนี้ต้นปีแล้งจัด กลางปีเปียกจัด สงสัยว่าปลายปีจะหนาวจัดเช่นกัน
ถ้าอิฐแบบนี้ทนความร้อนได้ดี ก็หมายความว่าถ้านำมาสร้างที่พักชั่วคราว ก็จะกันความหนาวเย็นจากภายนอกและเก็บความร้อนไว้ภายในได้ดีเช่นกัน
« « Prev : นักการศึกษา วิพากษ์การศึกษา
Next : สุนทรพจน์วันจบการศึกษา » »
6 ความคิดเห็น
บ้านอิฐดินซีเมนต์ จะช่วยเรื่องปรับอุณหภูมิได้ดี หน้าร้อนจะเย็น หน้าหนาวจะอุ่น
ตรงนี้รู้สึกได้ชัดเจน มาลองเมื่อไหร่ก็เมื่อนั้น ได้เลย
กำลังมองว่าจะเอามูลสัตว์มาผสม น้ำ-ดิน-ปูน-ขี้วัว- แล้วทดลองทำอิฐ
ชาวจีนที่อพยพมาเข้าไทยยุคแรกๆจะใช้ดินสร้างบ้าน
ทำก้อนใหญ่ๆ เรียงอิฐ เรียงคลุมไปถึงหลังคา แล้วมุงหลังคาอีกที
ทั้งบ้านเป็นฉนวน รักษาอุณหภูิได้ดี
ข้อเสียคืดเมืองไทยฝนตก ความชื้นสูง
ทำให้ปอดชื้น เจ็บป่วยได้
-มายุคนี้ถ้าดัดแปลง ทำบ้านดินแบบจริงๆจังๆ ไม่ใช่นิทรรศการโชว์
จะเป็นการเรียนรู้ ด้านการพึ่งตนเอง เรื่องที่อยู่อาศัย
-ในหมู่บ้านคนยากจนที่อินเดีย
ชาวบ้านยังอยู่บ้านดิน หลายร้อยล้านคน
ชาวอัฟริกา ก็มีวิธีสร้างบ้านด้วยภูมิปัญญาเขาเอง
ผมยังชอบบ้านในกระโจม แบบอินเดียแดง และแบบยิบซี
ฝันว่าจะไปลองนอนดูสักวัน
แล้วกลับมาทดลองทำ
เรื่องบ้าน ยิ่งคิดยิ่งสนุก แต่ได้ลงมือทำจะมีความสุขมาก
บ้านชายป่าก็เอาใบไม้ก็ได้ เพราะใบไม้ก็เป็นเซลลูโลส เปลือกไม้
เป็นการคืนสู่สามัญ แต่ยกระดับขึ้นมาจากดั้งเดิม อีกหน่อยอาจจะมีหมู่บ้านดิน เพราะวัสดุก่อสร้างแพงเกินไปนะครับ
ที่จริงเศรษฐกิจพอเพียงนั้น ใช้ความรู้มหาศาลเลยครับ แล้วเป็นความรู้แบบสหวิทยาการด้วย เนื่องจากเรื่องของชีวิตนั้น รู้ด้านใดด้านหนึ่งไม่พอ [รู้ลึก โง่กว้าง]
อินเดียเขาเอาขี้วัวแปะไว้ฝาบ้าน ช่วยให้ความอบอุ่นในหน้าหนาว เวลาอยากได้เชื้อเพลิงทำอาหารก็ไปแกะเอามาใช้ เป็นก่ารเก็บเชื้อเพลิงสำรองไว้ใช้งานตลอดปีไปด้วย เวลาที่แปะเอาไว้ที่ฝาบ้าน มีลวดลายต่างๆแปลกตาดี
[...] สืบเนื่องจากบันทึก [อิฐกระดาษ อิฐต้นไม้] [...]