ถอดบทเรียนอาสา

โดย Logos เมื่อ 16 August 2011 เวลา 23:10 ในหมวดหมู่ การจัดการความรู้, สังคม ชุมชน ครอบครัว #
อ่าน: 3894

วันนี้มีโอกาสดีที่ได้นั่งฟังอาสาดุสิต ถอดบทเรียนการลงพื้นที่ช่วยเหลือผู้ประสบภัยในหลายจังหวัดทางภาคเหนือ

หลังจากพายุนกเตนผ่านไปและน้ำท่วมไปรอบหนึ่งแล้ว ก็ยังเกิดฝนตกหนักซ้ำอีก มีน้ำป่าและโคลนถล่ม ในเขต อ.วังชิ้น แพร่ และ อ.สบเมย แม่ฮ่องสอน ทีมงานอาสาดุสิต จึงลงพื้นที่บรรเทาทุกข์ยาวนาน โดยส่งภารกิจ 2-6 ลงพื้นที่ประสบภัย มีแบ๊งค์ ขับรถ 4×4 ขึ้นไปจากกำแพงเพชรไปยังสบเมย ซึ่งเป็นรถเพียงคันเดียวที่ขนของเข้าพื้นที่ประสบภัยได้ มีกวางมาจากขอนแก่น ลงพื้นที่วังชิ้นก่อนรอบหนึ่ง มากรุงเทพ แล้วย้อนกลับไปสบเมยอีกรอบหนึ่ง มีเปาว์ซึ่งไปน่าน วังชิ้น ป่วยจนเข้าโรงพยาบาลที่เชียงใหม่ ถึงกระนั้นระหว่างที่ไข้ลงก็ยังมาช่วยขนของไปสบเมย มีอ๊อดและโบ้ซึ่งอยู่ตลอดตั้งแต่วังชิ้นยันสบเมย มีปูตามไปจัดการของบริจาคแต่ถูกห้ามเข้าพื้นที่ประสบภัยเนื่องจากมีอันตราย (และตามไปดูคนป่วย ฮา)… ขอบคุณอาสาสมัครทุกท่านที่เสียสละความสุขสบายส่วนตัว ไปเสี่ยงภัย เพื่อคนไทยร่วมชาติที่ไม่เคยรู้จักกันมาก่อน แต่รู้ว่าทุกข์ยากเกินจะอยู่เฉยๆ ขอบคุณผู้บริจาคทุกท่าน ด้วยน้ำใจและปัจจัยต่างๆ ทำให้อาสาสมัครสามารถนำความช่วยเหลือลงไปสู่ผู้ประสบภัยได้ด้วย ขอบคุณภาคีเพื่อนพ้องที่ทำงานอยู่ในพื้นที่อยู่แล้ว

อาสาดุสิตมีลักษณะที่แปลกอยู่อย่างหนึ่ง คือไม่ใช่แค่ไปแจกของ หรือเดินไปเดินมาเพื่อถ่ายรูป แต่นำความรู้และไปกระตุกแนวคิดใหม่ๆ พยายามให้ชาวบ้านช่วยเหลือตัวเองได้ด้วย เรื่องอย่างนี้ อาศัยความรู้ ความทุ่มเท ที่สุดแล้ว ชาวบ้านก็จะต้องยืนอยู่บนขาของตัวเองให้ได้ ส่วนการแก้ไขนั้น ก็ต่างกับการแก้ไขสถานการณ์ที่เราเห็นกันโดยทั่วไป การแก้ไขสถานการณ์นั้นที่จริงเป็นการเลื่อนปัญหาไปไว้ในอนาคต โดยที่ไม่ได้แก้อะไรไปเลย เมื่อสาเหตุยังอยู่เหมือนเดิม ชาวบ้านก็มีโอกาสโดนอีก หมดตัวซ้ำซากอยู่อย่างนี้

การถอดบทเรียน ไม่ใช่การมาปล่อยของ แต่เป็นการระลึกถึงบทเรียน+ประสบการณ์ที่ผ่านมาตามความเป็นจริง ไม่ว่าดีหรือร้ายมันก็ผ่านไปแล้ว หากแต่ถ้าเราเอาสิ่งที่ผ่านไปย้อนมาเป็นบทเรียนได้ ทำได้ดังนี้ตัวอาสาสมัครก็จะเก่งขึ้นและรอบคอบขึ้นเรื่อยๆ และหากผู้ฟังอื่นๆ ที่ไม่ได้ลงพื้นที่ รู้จักฟังอย่างหาความหมาย จับประเด็นให้ดี ก็สามารถจะเรียนรู้ประสบการณ์นั้นได้บางส่วน แถมยังช่วยกันขุดบางประเด็นที่อาจมองข้ามไปได้ เพื่อให้งานช่วยเหลือผู้ประสบภัยเดินหน้าไปอย่างที่ควรจะเป็น

ในส่วนของรายละเอียด iwhale ถ่ายวิดีโอไว้ เรื่องพวกนี้ก็จะไม่เขียนล่ะครับ เพราะมีบริบทของพื้นที่ต่างๆ ซึ่งหากไม่ได้ตาม ไม่ได้สื่อสาร+สอบถามมาตั้งแต่ต้นก็อาจจะหลงเข้าใจผิดไปได้

ข้อสังเกตที่ผมเห็นคือ

  1. ความพร้อมของอาสาสมัคร — ไม่ว่าจะเตรียมตัวอย่างไร ก็จะไม่ฟิตพอดีกับภัยพิบัติ เนื่องจากภัยพิบัติแต่ละครั้งแตกต่างกันเสมอ ตลอดจนเป็นไปไม่ได้ที่จะขนทุกอย่างที่ต้องการใช้ ลงไปยังพื้นที่ประสบภัย แต่ถึงอย่างไร ก่อนลงพื้นที่ก็ต้องเตรียมพร้อมให้เหมาะที่สุด จะต้องมีการประชุมสรุปสถานการณ์ล่วงหน้าก่อนลงพื้นที่-ด้วยข้อมูลที่มี เพื่อที่อาสาสมัครแต่ละคนจะได้เตรียมตัวอย่างเหมาะสม การลงพื้นที่ควรจะทำประกัน(อะไรก็แล้วแต่)เอาไว้ พื้นที่ประสบภัยเป็นพื้นที่เสี่ยง ไม่ใช่ที่ที่จะไปเที่ยวเล่น ทีมที่ลงพื้นที่ก็ควรสื่อสารกลับมายังศูนย์บ่อยเท่าที่ทำได้ เพื่อให้เห็นภาพเดียวกัน ทีมเสริมที่จะตามไปจะได้พร้อมมากขึ้น เครื่องไม้เครื่องมือก็ควรจะมีให้เท่าที่เป็นไปได้ เช่นจะไปลุยน้ำ ควรมีเครื่องป้องกันหรือยาป้องกันฉี่หนู กางเกงกันน้ำ รองเท้ากันตะปูที่มีปุ่มใหญ่
  2. เรือ — เมื่อของไปถึงพื้นที่กระจายความช่วยเหลือแล้ว ความช่วยเหลือจะยังไม่ถึงมือผู้ประสบภัย ส่วนใหญ่เป็นเพราะขาดเรือที่จะนำความช่วยเหลือไปส่ง มีเรื่องไม่น่าเชื่อ พื้นที่ใกล้กัน เทศบาลอยู่สูง น้ำท่วมแค่เข่า มีเรือเหล็กสองลำ กับเรือหางยาวของชาวบ้าน แต่เรือเหล็กกินน้ำลึก (สงสัยบรรทุกหนัก) วิ่งไปบนถนนเดี๋ยวก็ติด พอน้ำลด เรือก็ค้างอยู่บนบก ส่วนเขตของ อบต. อยู่ต่ำกว่า รถเข้าไม่ได้เพราะน้ำลึก แต่ไม่มีเรือสักลำ ขอยืมเรือกันหรือ? ลืมไปซะเถิดครับ TiT อรกว… สงสัยต้องหาวิธีสร้างเรืออย่างง่ายๆ แต่แข็งแรง แบบที่ส่งแต่วิธีสร้างกับวัตถุดิบลงพื้นที่ ชาวบ้านก็สร้างได้เองแล้ว ความคิดตรงเรื่องเรือตรงนี้เยี่ยมเลยครับ
  3. ข้อมูลความต้องการของพื้นที่ — ชาวเมืองคิดแบบชาวเมือง ชาวบ้านคิดแบบชาวบ้าน เมื่อชาวเมืองคิดแทนชาวบ้าน ก็มักออกมาเป็นการระดมถุงยังชีพไปยังพื้นที่ มีมาม่า ปลากระป๋อง (ลองกินมาม่าหรือปลากระป๋องอย่างเดียวสักสองวันซิครับ) แต่ไม่มีน้ำมันพืช ซีอิ๊ว/น้ำปลา ยาที่ถูกกับสถานการณ์เช่นยาแก้โรคน้ำกัดเท้า ยาหยอดตา ยาคลายเครียดที่ต้องให้หมอจ่ายให้ หรือว่านมเด็ก ผ้าอ้อม เสื้อผ้า… ถุงยังชีพนั้นเป็นสิ่งจำเป็น เพื่อช่วยให้ผู้ประสบภัยยังพอประทังชีวิตอยู่ได้ แต่ถุงยังชีพไม่ควรจะเป็นสูตรสำเร็จสำหรับอะไรทั้งสิ้น หากผู้บริจาคซึ่งมีจิตใจเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่อยู่แล้ว จะใส่ใจอีกสักนิด ก็จะได้ยินความต้องการที่แท้จริงของพื้นที่ประสบภัยครับ ข้อมูลที่ดีควรจะชัดเจน ว่าอะไร ที่ไหน เมื่อไหร่ ไม่ใช่ข้อมูลที่อ้างมาลอยๆ สถานการณ์ในพื้นที่ประสบภัยเปลี่ยนแปลงเร็วมาก การลงเวลาสถานการณ์จึงเป็นเรื่องสำคัญ

ที่จริงยังมีอีกสองข้อ แต่ไม่เขียนแล้วล่ะครับ

« « Prev : น้ำกำลังจะท่วม ทำอะไรดี

Next : เรือกู้ชาติ พับได้ » »


ผู้ใช้ Facebook สามารถให้ความเห็นที่นี่ได้ โดยกด Like เพื่อแสดงตัว

4 ความคิดเห็น

  • #1 bangsai ให้ความคิดเห็นเมื่อ 17 August 2011 เวลา 16:58

    ขอชื่นชมมากครับทีมอาสา แม้ผมเองจะไม่ได้มีส่วนอะไรเลย แต่ก็ตามข่าวอยู่

    เป็นเจตนาที่ดี แค่นี้ก็เหลือล้นแล้ว แต่การมานั่งสรุปเพื่อยกระดับความช่วยเหลือให้เหมาะสมกับ Needs ยิ่งจะยกระดับความช่วยเหลือให้เหมาะสม มากขึ้นไปอีก กาารทำ Needs assessment เป็นเรื่องควรทำแต่ใครทำ ทำอย่างไร ไม่ง่ายนะครับในสภาวะแบบนั้น ใครจะมัวไปนั่งถามว่าต้องการอะไร ท่านที่ผ่านงานมามากย่อมประเมินเบื้องต้นได้ก่อน แล้วการทำ assessment หากมีกำลังและมีความเป็นไปได้ แต่หากไม่มีกำลัง ไม่มีความเป็นไปได้ ก็ต้องประเมินจากประสบการณ์ตรงของท่านอาสาทั้งหลาย ผมเชื่อว่า บทเรียนคงยกระดับความช่วยเหลือให้ ตรงกับ needs มากขึ้น แต่แค่เจตนาที่ลงไปทำก็สาธุท่วมหัวแล้วครับ

  • #2 Logos ให้ความคิดเห็นเมื่อ 17 August 2011 เวลา 17:16
    มียิ่งกว่านั้นอีกครับพี่ ทำเหมือนกับที่ อ.หมอประเวศเขียนไว้ในคำนิยม จปผ๑ ถือโอกาสนี้ re-educate ชาวบ้านไปเลยเท่าที่ทำได้ ว่านอกจากการแบมือขอแล้ว ทำเองก็ได้ ไม่แพง ไม่ยาก ใช้ความรู้ระดับมัธยมก็เข้าใจแล้ว แถมถูกใจ+ทันใจกว่าการขออีก

    Needs assessment ในสถานการณ์อลหม่าน นอกจากถามแล้วยังต้องประเมินเองด้วยครับ เพราะว่าคนที่ถาม ก็บอกได้เท่าที่เขาเห็น ซึ่งเมื่อลงไปดูสถานการณ์ (แบบคนนอกซึ่งไม่ได้อินเหมือนผู้ประสบภัย จึงมีสติแจ่มใสกว่า) แล้วค่อยร้องขอมายังส่วนกลาง มักจะตรงประเด็นและได้ประโยชน์กว่าครับ ยิ่งกว่านั้น การลงพื้นที่ภาวะวิกฤต ยังสามารถระบุได้ว่าใครเป็นตัวจริง ใครไม่ใช่ ใครช่วยชาวบ้านจริงๆ ใครชี้นิ้ว ใครเหมาะสำหรับประสาน ใครเป็นผู้นำ และใครกลวงครับ

    ตอนนี้ที่ทางยังไม่ค่อยเรียบร้อย เอาไว้มีโอกาส จะขอเชิญพี่มาให้ความรู้และถ่ายทอดประสบการณ์เรื่องงานพัฒนานะครับ เรียนเชิญไว้ก่อนเลย

  • #3 bangsai ให้ความคิดเห็นเมื่อ 17 August 2011 เวลา 20:27

    การ re-educate นั้นดีมาก บางทีในยามปกติไม่คิด ไม่ได้คิด คิดไม่ออก เพราะมีเรื่องอื่นดึงวิถีไปหมด เหมือนคนกรุงเทพฯ หรือในเมืองทั่วไป หากไฟดับ หลายครอบครัวไม่รู้จะทำอย่างไร เพราะเคยชินกับการมีไฟฟ้าตลอดนับสิบๆปี หลายสิบปี พอไฟดับที เพิ่งนึกออกว่า เออ เราต้องเตรียมตัวอย่างนั้นอย่างนี้

    แนวคิด re-educate นั้นน่าจะบันทึกประสบการณ์และทำตัวอย่าง เอาตัวอย่างมาบันทึก คิดเล่นๆนะครับว่า ทำต้นฉบับให้ชุมชนเสี่ยงทั้งหลายเอาไปศึกษาเรียนรู้ต่อเนื่อง ให้จังหวัด เทศบาล อบต ซึ่งมีงบประมาณ เอาไปเผยแพร่ต่อไปครับ บทเรียนนี้มีคุณค่ามากครับ

  • #4 Logos ให้ความคิดเห็นเมื่อ 17 August 2011 เวลา 22:24
    ความจริงการ re-educate นั้น เริ่มจากการฟัง แล้วหาสิ่งที่เหมาะ+ที่เข้ากับบริบทของพื้นที่ เป็นความคิดไปแลกเปลี่ยนกันครับ ไม่ทำแบบจับเอาสูตรสำเร็จยัดกระโหลกเด็ดขาด เพราะว่าอะไรที่ใช้ได้ในที่อื่นอาจไม่เหมาะกับพื้นที่นั้น (เป็นสูตรไม่สำเร็จ)… ส่วนจะทำหรือไม่ทำ รับความคิดนั้นทั้งดุ้นหรือจะดัดแปลงเอา ชาวบ้านตัดสินใจเองครับ เค้ารู้จักพื้นที่+ข้อจำกัดดีกว่าเราเสียอีก เพียงแต่ในภาวะทุกข์ยากนั้น บางทีนึกอะไรไม่ออก ก็หลงไปว่าไม่มีทางออก จึงต้องเรียกร้อง… ส่วนความคิดดิบๆ ก็หาเอาในลานปัญญานี่ล่ะครับ ของดีจะมีค่า ก็ต่อเมื่อเรารู้ค่าของมัน เอาไปใช้ให้เกิดประโยชน์ได้

    คิดว่าจะมีสิ่งตีพิมพ์ออกมาหลายอย่างนะครับ… ในส่วนบันทึกของผมนั้น ได้อนุญาตผู้ที่ขอไปไปตีพิมพ์แล้ว ซึ่งถ้ามีเวลาน่าจะเรียบเรียงใหม่ เพราะว่าผู้อ่านหนังสือเป็นคนละกลุ่มกับแฟนบล็อกของผมครับ คงไม่คุ้นกับวิธีกระทุ้งแบบบ้าบอของผมหรอกครับ


แสดงความคิดเห็น

ท่านอยากจะเข้าระบบหรือไม่


*
To prove you're a person (not a spam script), type the security word shown in the picture. Click on the picture to hear an audio file of the word.
Click to hear an audio file of the anti-spam word


Main: 0.11974477767944 sec
Sidebar: 0.13604211807251 sec