โลจิสติกส์ของการบรรเทาทุกข์

โดย Logos เมื่อ 5 January 2011 เวลา 18:19 ในหมวดหมู่ สังคม ชุมชน ครอบครัว #
อ่าน: 3316

เวลาเกิดภัยพิบัติขนาดใหญ่ ก็มักจะมีการรับบริจาคเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยครับ

เรื่องนี้มีมาตั้งแต่สมัยแหลมตะลุกพุก พ.ศ.2505 มีการออกทีวีร้องเพลง ซึ่งคนที่ร้องเพลงนั่นแหละ ที่เป็นคนไปกระตุ้น(ล่วงหน้า)ให้คนรู้จักแจ้งความจำนงว่าจะบริจาค การบริจาคแบบนี้ ตั้งอยู่บนสมมุติฐานอันใหญ่ว่าเงินบริจาค จะถูกใช้ไปอย่างรวดเร็วเพื่อบรรเทาทุกข์ให้ผู้ประสบภัย การใช้จ่ายเงินบริจาค ตรงไปตรงมา ไม่รั่วไหลตกหล่น ไม่ซื้อของแพงเกินไป ไม่มีผลประโยชน์ขัดแย้ง…

ผู้รับบริจาค เป็นเพียงทางผ่านของความช่วยเหลือเท่านั้นนะครับ ที่ผ่านมา ผู้รับบริจาคทำอะไรไปแล้วบ้างเพื่อให้ผู้บริจาคเห็นว่าทุกอย่างตรงไปตรงมาอย่างที่ควรจะเป็น — รับอะไรมา จ่ายอะไรไป เปิดเผยรายการต่อผู้บริจาคและไม่ได้บริจาค เลิกงุบงิบทำกันดีไหมครับ

ทั้งการรับและการเบิกจ่าย จะต้องมีบัญชีที่โปร่งใสคอยควบคุม และเรื่องนี้กลับไม่ค่อยทำกัน จะเป็นด้วยไม่ว่างหรือคิดว่ายุ่งยากก็แล้วแต่ — ผมคิดว่าการช่วยผู้ประสบภัยสำคัญนะครับ แต่ความโปร่งใสตรงไปตรงมาต่อผู้บริจาคก็สำคัญเช่นกัน ป่วยการจะไปเรียกร้องความโปร่งใสจากคนอื่นในขณะที่ตัวเราเองก็ไม่ทำ

ลองนึกถึงสถานการณ์โกลาหลของศูนย์รับบริจาคต่างๆ — พื้นที่ก็แคบ ของบริจาคหลั่งไหลมา พอมาถึงก็ต้องรีบนำออกไปแจกทันที เหมาะหรือไม่เหมาะยังเป็นเรื่องรอง — ตรงนี้แทบไม่มีบัญชีตรวจนับเลยครับ ถ้าทำได้ ถือว่ายอดๆๆๆๆๆ มาก

การไม่มีบัญชีควบคุม ทำให้ไม่รู้ว่าของบริจาค เข้าออกเท่าไหร่ รั่วไหลไปไหนหรือไม่! ของบริจาค มอบมาด้วยน้ำใจ เพื่อผู้ประสบภัย เป็นสิ่งมีค่านะครับ จะถือว่าได้มาฟรี แล้วทำตกหล่นสูญหายไปนั้นไม่ได้ ที่เขียนนี้ไม่ได้แปลว่ามีอะไรตกหล่นสูญหายนะครับ เพราะว่าเมื่อไม่มีบัญชีควบคุมแล้ว ไม่รู้ตัวด้วยซ้ำไปว่ามีอะไรหายไปหรือเปล่า!

เวลาน้ำใจหลั่งไหลมา ข้าวของมากมาย ผู้บริจาคควรเตรียมรายการมาก่อน แล้วมาลงทะเบียนแจ้งรายการ (ตอนนี้ยังไม่มีระบบรับบริจาค) เพื่อที่ว่าจะได้รู้ว่ามีอะไรบ้าง ข้าวของที่บริจาค ก็ควรแยกแยะไว้เป็นกลุ่ม ยาสามัญประจำบ้่าน ยาพิเศษซึ่งต้องมีใบรับรองแพทย์ เครื่องนุ่งห่ม อาหารแห้ง น้ำ วัสดุก่อสร้าง ฯลฯ เพื่อที่ว่าจะสามารถจัดความช่วยเหลือให้ได้ตรงกับความต้องการ (ระบบ matching ระหว่าง pledges & pleas ซึ่งยังไม่มี)

ระบบต่างๆ เหล่านี้ ควรจะเชื่อมโยงกันได้ เพื่อที่ว่าเวลาจัดความช่วยเหลือแล้วมีการขาดเหลืออะไร จะได้ร้องขอจากศูนย์รับบริจาคอื่นๆ จัดเป็นชุดออกไปได้อย่างเหมาะสม อาจจะต้องมี packaging manager ผู้ที่คอยดูว่าจะจัดอะไรส่งไปที่ใด

ข้าวของที่ส่งไปช่วยเหลือ พยายามประสานกันระหว่างศูนย์รับบริจาค อย่าส่งไปถี่ไป หรือห่างไป อย่าให้ซ้ำซ้อน อย่าไปออกันแค่ขอบของเขตภัยพิบัติ (เพราะรถยนต์เข้าได้แค่นั้น)

แต่ก่อนที่จะรู้ว่าควรจะส่งอะไรไปที่ใด ก็น่าจะมีการสำรวจความต้องการที่แท้จริงของแต่ละพื้นที่นะครับ ยกตัวอย่างงานของกลุ่มอาสาดุสิตก็แล้วกัน (กลุ่มอื่นก็คงทำงานได้ดีแต่ไม่มีข้อมูล) ชาวบ้านประสบวาตภัย บ้านพัง เรือเจ๊ง ความช่วยเหลือล่าช้ามาก ลองนึงถึงสภาพที่บ้านก็ไม่มีอยู่ เครื่องมือทำมาหากินก็ใช้ไม่ได้ แล้วจะเอาอะไรกินกันครับ

หรืออย่างบ้านหลังนี้ ได้รับความเสียหายจากวาตภัยเล็กน้อย แต่ไม่เข้าเกณฑ์การรับความช่วยเหลือของทางหน่วยงาน ถึงแม้จะเป็นเงินไม่มาก (ประมาณห้าพันบาท) แต่ในเมื่อไม่มีเงินแล้วก็ไม่มีปัญญาจะซ่อมบ้าน แล้วก็ต้องอาศัยอยู่ในภูมิประเทศที่ฝนตกชุก ในบ้านที่หลังคารั่วต่อไปเรื่อยๆ… เพราะอาสาดุสิตสำรวจพื้นที่อย่างจริงจัง ความช่วยเหลือจึงไม่มากเกินไปและไม่น้อยเกินไป — ยังมีตัวอย่างอื่นๆ อีกเยอะครับ

หากระบบเดินอย่างนี้ได้ ก็สามารถจัดตั้งศูนย์รับบริจาคหรือ แม้แต่ศูนย์กระจายความช่วยเหลือในพื้นที่ต่างๆ ได้ด้วย แต่หากไม่มีระบบแบบนี้ เรากลับต้องไปใช้ความน่าเชื่อถือของบุคคล ซึ่งความน่าเชื่อถือของบุคคลนั้น สามารถสร้างผ่านสื่อได้ (และทำลายก็ได้เหมือนกัน) แทบจะทุกกรณี เราไม่ได้รู้จักบุคคลนั้นนานพอที่จะประเมินว่า เขาเป็นคนอย่างไร แล้วจะรู้ได้อย่างไรว่าการบริจาค เป็นไปอย่างตรงไปตรงมา ตรงตามวัตถุประสงค์ของการบริจาค และเพื่อผู้ประสบภัยจริงๆ

สิ่งของบริจาค เป็นเพียงการบรรเทาทุกข์ชั่วคราว แต่ไม่ได้ช่วยอะไรในระยะยาวเลยนะครับ ถ้าเวลาออกไปช่วยชาวบ้านผู้ประสบภัย เราจะใช้เวลาอยู่กับเขา ให้แนวคิด เสนอวิธีการในการปรับปรุงคุณภาพชีวิต ชี้ช่องทางที่จะพลิกฟื้นชีวิต ให้ความหวัง ให้กำลังใจ มันจะดีกว่าออกไปแจกของมากครับ — คราวนี้แหละ เป็นโอกาสที่คนที่มีความรู้ จะได้พิสูจน์ว่ารู้อะไร ได้เรียนความจริงเกี่ยวกับเมืองไทยใหม่อีกที

แต่ก็นั่นล่ะ ยังมีงานที่ต้องทำอีกมากนะครับ

« « Prev : หนึ่งพันบันทึกในลานซักล้าง

Next : CSR ภาคประชาชน » »


ผู้ใช้ Facebook สามารถให้ความเห็นที่นี่ได้ โดยกด Like เพื่อแสดงตัว

2 ความคิดเห็น

  • #1 BM.chaiwut ให้ความคิดเห็นเมื่อ 5 January 2011 เวลา 23:15

    อ่านย่อหน้าต้นๆ ก็ย้อนถึงตนเอง พายุทำให้หลังคาโบสถ์เสียหาย เพราะกระเบื้องไม่มีจึงต้องรอนาน ทำให้ค่าใช้จ่ายอื่นๆ ตามมา เช่น ค่าหลอดไฟและระบบไฟในโบสถ์ เมื่อคิดรวมค่าซ่อมกุฏิและตัดต้นไม้เพิ่มเข้าไป อาตมาคิดว่าน่าจะเหยียบๆ ๒ แสน…

    มีแต่คนแนะนำว่าให้เขียนป้ายรับบริจาค อาตมาก็บอกว่าเพิ่งทอดกฐินเสร็จ และเงินวัดก็ยังมี แต่เจอใครก็แนะนำให้ขึ้นป้าย เมื่อวานจึงเขียนป้ายไว้หน้าศาลาฯ ร่วมทำบุญกระเบื้องโบสถ์แผ่นละ ๓๐ บาท… เพื่อลบคำตำหนิของคนพูดมาก (……..)

    คนไทยใจบุญ ชอบบริจาคเพื่อจะมีส่วนร่วมในสิ่งที่ศรัทธา แต่นั่นแหละ เพื่อนของอาตมารูปหนึ่งเคยพูดว่า คนบางคนนั้น มีความสามารถแสวงหาผลประโยชน์ได้ทุกสถานการณ์…

    เจริญพร

  • #2 sutthinun ให้ความคิดเห็นเมื่อ 6 January 2011 เวลา 4:17

    กว่าจะเดินมาถึงจุดนี้ได้..ไม่รู้จะเกิดขึ้นได้เมื่อไหร่ ในเมื่อไม่คิดที่จะเรียนรู้แทนการอวดรู้ สังคมนี้จึงชักหน้าไม่ถึงหลัง>>ตอนนี้ยิ่งหนักเข้าไปอีก อะไรนิดๆหน่อยๆก็ตั้งงบภัยพิบัติ ต่อไปมันก็จะวิบัติทั้งปี
    “สิ่งของบริจาค เป็นเพียงการบรรเทาทุกข์ชั่วคราว แต่ไม่ได้ช่วยอะไรในระยะยาวเลยนะครับ ถ้าเวลาออกไปช่วยชาวบ้านผู้ประสบภัย เราจะใช้เวลาอยู่กับเขา ให้แนวคิด เสนอวิธีการในการปรับปรุงคุณภาพชีวิต ชี้ช่องทางที่จะพลิกฟื้นชีวิต ให้ความหวัง ให้กำลังใจ มันจะดีกว่าออกไปแจกของมากครับ — คราวนี้แหละ เป็นโอกาสที่คนที่มีความรู้ จะได้พิสูจน์ว่ารู้อะไร ได้เรียนความจริงเกี่ยวกับเมืองไทยใหม่อีกที”


แสดงความคิดเห็น

ท่านอยากจะเข้าระบบหรือไม่


*
To prove you're a person (not a spam script), type the security word shown in the picture. Click on the picture to hear an audio file of the word.
Click to hear an audio file of the anti-spam word


Main: 0.8392288684845 sec
Sidebar: 0.54097104072571 sec