ครัวลอยฟ้า

โดย Logos เมื่อ 20 September 2011 เวลา 16:20 ในหมวดหมู่ สังคม ชุมชน ครอบครัว, เทคโนโลยีชาวบ้าน #
อ่าน: 4983

บ่ายสามโมงเมื่อวานนี้ iwhale ขอให้ช่วยระดมทุนเพื่อซื้อเสื้อชูชีพ 50 ตัว โดยจะนำไปให้ รพ.อินทร์บุรี ซึ่งอาสาดุสิตไปเยี่ยมและเห็นความเดือดร้อนมาเมื่อสองวันก่อน สี่โมงเย็น คุณปรีดา คนทุพลภาพมืออาชีพ ก็จัดทำเว็บเรียบร้อย ซึ่งภายในเวลาข้ามคืน ก็สามารถระดมทุนสำหรับชูชีพ 50 ตัวได้ครบ… ที่จริงมีเหลืออีกด้วย ดังนั้นโปรแกรมนี้ จึงขยายเป็นการระดมทุนจัดหาชูชีพสำหรับโรงพยาบาลในพื้นที่ประสบอุทกภัย เพราะว่าโรงพยาบาลอื่นๆ ก็คงมีปัญหาเดียวกัน ขออนุโมทนาด้วยครับ… “คนไทย มีน้ำใจ ไม่ทิ้งกัน”

เมื่อวานมีผู้บริจาคประเดิมให้ 20 ตัว ไปรับเมื่อวาน และวันนี้อาสาดุสิตกำลังเดินทางไปสิงห์บุรีเพื่อส่งมอบเสื้อชูชีพล็อตแรกให้โรงพยาบาล เรื่องความปลอดภัย รอไม่ได้เลยครับ และเมื่อไปถึงตรงนั้นแล้ว ทีมก็จะไปดูพื้นที่วัดปากคลองมะขามเฒ่า ใกล้กับวัดธรรมามูลวรวิหารซึ่งเคยไปทอดกฐิน อยู่กันคนละฝั่งของแม่น้ำ

ตอนน้ำท่วมน่านเมื่อต้นเดือนที่แล้ว อำเภอเมืองยังพอจะโอเค แต่อำเภอภูเวียงซึ่งอยู่ติดกันทางตะวันออกถูกตัดขาด มีแม่น้ำน่านคั่น น้ำเชี่ยวมาก ตอนนั้นเสนอให้ทำตั้งเสา ขึงสลิง ทำกระเช้าส่งของข้ามน้ำไป เรื่องนี้ไม่เกิดขึ้นไม่ว่าด้วยเหตุผลอะไรก็ตาม ผมคิดว่าเป็นความคิดที่ดีที่ช่วยให้ชาวบ้านพอจะช่วยตัวเองได้บ้าง เรื่องอย่างนี้ ใครๆ ก็รู้ครับ เพียงแต่เวลาทุกข์ท่วมท้น อาจนึกไม่ออก อาสาสมัครที่เข้าไปในพื้นที่ ก็เพียงแต่สะกิดความคิดเท่านั้น เคารพการตัดสินใจของชาวบ้านซึ่งรู้ข้อจำกัดของตัวเองดีกว่าคนนอก อาสาสมัครไม่ควรที่จะนำของไปแจกเพียงอย่างเดียว เป็นโอกาสที่จะใช้ความรู้พลิกฟื้นชีวิตของชาวบ้าน ก็ใช้โอกาสนี้ให้คุ้มค่า ถึงอย่างไรอาสาสมัครก็ไม่ได้อยู่ตรงนั้นตลอดไป ให้ความคิดทิ้งเอาด้วยไว้ดีกว่าไหมครับ

ทีนี้ก็มีเรื่องละสิครับ กระแสน้ำเชี่ยวมาก ฝั่งตะวันตกที่ชาวบ้านอาศัยอยู่ จมน้ำหมด ฝั่งตะวันออกเป็นภูเขา เข้าออกถนนสายเอเซียได้ ตั้งเต้นท์ช่วยเหลือชาวบ้านได้ แต่ถ้าให้ชาวบ้านมารับความช่วยเหลือ ก็จะมีอันตรายมากเนื่องจากความแรงของกระแสน้ำ ส่วน อบต.ซึ่งตั้งฐานอยู่ฝั่งตะวันออก เอาความช่วยเหลือลงเรือไปแจก ก็ไม่ไหวเหมือนกัน ทำมาสักพักแล้ว กำลังจะหมดแรง ในที่สุดแล้ว ก็คงประกาศให้อพยพ และตัดไฟฟ้า

ตาม พรบ.ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ. ๒๕๕๐ มาตรา 29 เมื่อสั่งอพยพแล้ว ไม่ออกจากพื้นที่ไม่ได้ครับ

มาตรา ๒๙ เมื่อเกิดหรือใกล้จะเกิดสาธารณภัยขึ้นในพื้นที่ใดและการอยู่อาศัย
หรือดำเนินกิจการใด ๆ ในพื้นที่นั้นจะเป็นอันตรายอย่างร้ายแรง ผู้บัญชาการ รองผู้บัญชาการ ผู้อำนวยการกลาง  ผู้อำนวยการจังหวัด ผู้อำนวยการอำเภอ และผู้อำนวยการท้องถิ่นโดยความเห็นชอบของผู้อำนวยการอำเภอ จะประกาศห้ามมิให้บุคคลใด ๆ เข้าไปอยู่อาศัยหรือดำเนินกิจการใดในพื้นที่ดังกล่าวก็ได้ ประกาศดังกล่าวให้กำหนดระยะเวลาการห้ามและเขตพื้นที่ที่ห้ามตามที่จำเป็นไว้ด้วย

หากชาวบ้านอพยพออกมา ก็จะหมดห่วงเรื่องความปลอดภัยไปเปลาะหนึ่ง แต่ผมก็ไม่สงสัยเช่นกัน ว่าจะไม่ได้เตรียมที่ทางเอาไว้พอ — เข้าใจครับ ว่ามันยุ่งมาก มีล้านเรื่องที่ต้องทำในเวลาเดียวกัน ที่เป็นอย่างนี้เพราะไม่ได้ทำแปดแสนเรื่องไว้ก่อนล่วงหน้า

ถ้าถึงขั้นสั่งอพยพแล้ว ก็คงจะมีสถานที่ปลอดภัย ซึ่งต้องเตรียมการเอาไว้ล่วงหน้าตามแผนป้องกันภัยของจังหวัดครับ แต่ถ้าหากยังไม่ถึงขั้นนั้น มีคำแนะนำจากกระทรวงสาธารณสุข

เมนูอาหารที่เหมาะในการช่วยเหลือผู้ประสบภัย ไม่บูดง่าย ได้แก่ ไข่ต้ม ไข่เค็ม น้ำพริกต่าง ๆ กุนเชียงทอด หมูทอด หมูแผ่น หรือเป็นข้าวเหนียวนึ่งธรรมดา ข้าวหลามที่ไม่ใส่กะทิ ขนมปังกรอบ จะเก็บไว้ได้หลายวัน หลีกเลี่ยงการบริจาคขนมปังปอนด์เพราะมีอายุสั้นประมาณ 5-7 วัน และขึ้นราง่าย ผู้ประสบภัยบางราย โดยเฉพาะเด็กอาจไม่สังเกต หรือฉีกเฉพาะส่วนที่ขึ้นราทิ้ง กินเฉพาะส่วนที่ยังไม่ขึ้นรา ซึ่งจะเป็นอันตรายต่อสุขภาพ และอาจแจกผลไม้ เช่น กล้วยน้ำว้า ส้ม ฝรั่ง ชมพู่ ให้ผู้ประสบภัย และแจกนมกล่องยูเอชทีให้เด็ก ก็จะช่วยให้ผู้ประสบภัยได้รับสารอาหาร วิตามินครบถ้วนยิ่งขึ้น ช่วยเสริมภูมิต้านทานโรค ไม่ป่วยง่าย…

หลายๆ ภัยพิบัติที่ผ่านมา ได้เรียนรู้จากมืออาชีพ อย่างน้อยสององค์กรคือมูลนิธิสว่างฯ และมูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง เมื่อมีภัยใหญ่ จะมีเต้นท์ประกอบอาหารของมูลนิธิ ส่งลงพื้นที่ทันที ปรุงอาหารสดจำนวนมากแจกจ่าย เลี้ยงผู้ประสบภัยและเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานอยู่

แต่กำลังของอาสาสมัครนั้น ไม่พอสำหรับพื้นที่ประสบภัยอันกว้างใหญ่อย่างนี้หรอกครับ

ทีนี้ ถ้ายังไม่วิกฤตถึงขนาดที่สั่งอพยพ ที่ไหนๆ ที่น้ำท่วม ถ้าไปบอกให้ชาวบ้านอพยพ เค้าไม่ไปกันหรอกครับ อันนี้ก็พอเข้าใจครับ หมดตัวแล้ว ก็รู้สึกเสียดายที่ยังเหลืออยู่นิดเดียวคือบ้าน ในเมื่อชาวบ้านไม่ยอมย้าย การหุงหาอาหารก็จะเป็นปัญหาครับ จะเอาของไปแจกก็ไม่สามารถจะแจกตลอดไปได้ จะดีกว่าหรือเปล่าถ้าช่วยให้ชาวบ้านพึ่งตัวเองได้บ้าง

ผมคิดถึงครัวรวมครับ ใช้นั่งร้านก่อสร้างมาต่อให้สูงกว่าระดับน้ำ แต่ไม่ต่อเกินสองชั้น ถ้าน้ำลึกมากหรือเชี่ยวมาก ควรจะอพยพออกจากพื้นที่มากกว่าดันทุรังอยู่ ถ้าน้ำระดับเมตรเดียว อย่างนี้ตั้งนั่งร้านเล็กๆ ทำครัวรวมได้ครับ มีเตาหุงข้าวรวม มีเตาผัด ใช้เครื่องปรุงรวม บ้านไหนมีอะไรก็เอามาช่วยกัน แบ่งกันทำ แบ่งกันกิน เราอาจจะได้ความเป็นชุมชนกลับคืนมา

ที่คิดถึงนั่งร้าน ก็เพราะแข็งแรงพอควร น้ำหนักไม่มาก ถอดประกอบได้ ขนส่งได้ด้วยรถกระบะ น้ำหนักไม่มาก ไม่ต้านน้ำ และราคาพันกว่าบาทครับ ตัวอย่าง (ผมไม่รู้จักร้านนี้ หรือร้านขายวัสดุก่อสร้างไหนๆ เลย) แต่ละชุด ตั้งเตาได้ตัวหนึ่ง และพอสำหรับโต๊ะเครื่องปรุง ไม่ใช้ไฟฟ้า ตั้งนั่งร้านไว้บนลานคอนกรีตเพื่อที่ว่าจะได้ไม่ต้องทำฐานราก ถ้าร้อนก็ไปตั้งใต้ร่มไม้สิครับ

« « Prev : คิดแบบร่วมมือ

Next : การสื่อสารจากมุมที่แตกต่าง » »


ผู้ใช้ Facebook สามารถให้ความเห็นที่นี่ได้ โดยกด Like เพื่อแสดงตัว

ความคิดเห็นสำหรับ "ครัวลอยฟ้า"

ไม่มีความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็น

ท่านอยากจะเข้าระบบหรือไม่


*
To prove you're a person (not a spam script), type the security word shown in the picture. Click on the picture to hear an audio file of the word.
Click to hear an audio file of the anti-spam word


Main: 0.79676699638367 sec
Sidebar: 0.47507691383362 sec