เขื่อนพลาสติก
อ่าน: 5483กำแพงกั้นน้ำนั้น เป็นหลักการถ่ายเทแรงดันของน้ำลงสู่ดิน
ด้านที่มีน้ำสูงกว่าจะดันกำแพงออกไป ถ้ากำแพงถ่ายแรงลงดินได้ไม่ดีพอ กำแพงก็จะพัง ดังนั้นกำแพงกั้นน้ำชั่วคราว เช่นกำแพงกระสอบทราย ก็จะมีน้ำหนักมากครับ แล้วยิ่งกว่านั้นยังต้องมีฐานกว้างอีก นอกจากเป็นแรงเสียดทานระหว่างชั้นแล้ว ยังเป็นการกระจายแรงออกไปด้วย
เพื่อที่จะหาวิธีสร้างเขื่อนกันน้ำ ผมไปเจอคลิปที่ US Army Corps of Engineering (USACE) ทดสอบระบบป้องกันน้ำท่วม เป็นการทดสอบผลิตภัณฑ์สามอย่างคือ
USACE ทดสอบเขื่อนชั่วคราวพวกนี้ ก็เพื่อเลือกผลิตภัณฑ์ไปใช้ป้องกันภัยพิบัติในประเทศ และใช้สำหรับงานก่อสร้างต่างๆ ด้วยครับ เค้าเลือก RDFW ซึ่งก็น่าสนใจจริงๆ ผมค้นต่อ พบว่ามีสิทธิบัตรด้วย (แต่ถ้าเค้าไม่ได้มาจดสิทธิบัตรในเมืองไทยด้วย สงสัยว่าจะไม่คุ้มครองในเมืองไทยนะครับ)
เมื่อไปอ่านสิทธิบัตร ยิ่งน่าสนใจใหญ่เลยครับ
คือเค้าใช้พลาสติกตัดเป็นแถว ขึ้นเป็นรูปกล่อง แล้วถมทรายลงไปจนเต็มกล่อง พลาสติกแค่รักษาทรายไว้เป็นรูปร่างกล่อง ไม่ให้ไหลลงมากองกันข้างล่าง ต่อพลาสติกกันทางยาวจนกลายเป็นเขื่อน เพราะว่าพลาสติกไม่ได้รับแรง ดังนั้นเอารถแทรกเตอร์/แบ็คโฮขึ้นไปวิ่งบนเขื่อนยังได้เลย! น้ำหนักของรถกดลงบนทราย ซึ่งถ่ายต่อไปให้กับดินอีกทีหนึ่ง
ไม่รู้จะอธิบายยังไงครับ คือเค้าเอาพลาสติกแผ่นมา ตัดเป็นแถวยาว แล้วตัดร่องเอาไว้ เพื่อใช้พลาสติกที่ตัดไว้อีกชิ้นหนึ่ง ขัดทางขวาง ก็จะได้รูปกล่องหลายๆ กล่อง เรียกว่าเป็นเซลก็แล้วกันครับ (คลิกบนรูปเพื่อดูรูปขยาย)
ดูเหมือนถาดทำน้ำแข็ง แต่ด้านนอก จะเห็นพลาสติกโผล่อยู่ ตรงนี้เขาตัดเป็นล็อกเพื่อต่อกับเซลอื่น สังเกตว่าแผงที่มีแถบสี จะสูงกว่าปกตินิดหนึ่ง
แล้วก็เอามาต่อกันเป็นแถวยาวครับ โดยล็อคแต่ละเซลเข้าด้วยกัน *ยังไม่ต้องใส่ทราย* ทรายเอาไว้ใส่หลังสุดเมื่อเรียงพลาสติกจนได้ความสูงที่ต้องการแล้ว เมื่อเรียงชั้นต่อๆ ไป ให้กลับหัวเอาแถบสี (ที่สูงกว่าปกติ) ลงข้างล่างครับ
เมื่อดูพลาสติกใกล้ๆ ก็เห็นว่ามีความหนา แต่ยังอ่อนตัวพอบิดได้บ้าง
อันที่น่าสนใจคือว่า RDFW พับได้โดยไม่ต้องแกะออกครับ พับได้สองแบบด้วย ซึ่งในคลิปอันแรก เป็นการคลี่จากการพับแบบแรก
แบบแรก พับแล้วเป็นสี่เหลี่ยมแบนๆ อีกแบบหนึ่งพับแล้วมีความหนาแต่กินพื้นที่น้อยกว่า
สงสัยว่าต้องลองทำเล่นซะแล้ว…
ป.ล. ถ้าไม่เชื่อว่าเขื่อนแบบนี้จะทำงานได้ (ที่จริงก็ไม่ควรเชื่ออะไรง่ายๆ) ลองดูคลิปนี้ดูครับ
« « Prev : การจราจรหน้าเคาน์เตอร์ธนาคาร
ความคิดเห็นสำหรับ "เขื่อนพลาสติก"