บทเรียนจากสวนป่า 4-9 พ.ค.
อ่าน: 3836ไปสวนป่าเที่ยวนี้ เป็นครั้งที่ยี่สิบเห็นจะได้ แต่เป็นทริปยาวที่สุด และน่าจดจำเหลือเกิน ประสบการณ์ชีวิตเป็นประสบการณ์เฉพาะตัว ไม่มีวันใดเวลาใดเลยที่ทุกอย่างเหมือนเดิม ต่อให้ดูหนังในโรงหนังสองรอบ ผู้ชมก็ไม่เหมือนกัน
สวนป่าคราวนี้ ต้นไม้ฟื้นขึ้นจากฝน ต่างกับเมื่อสองอาทิตย์ที่แล้วซึ่งเป็นคราวที่คณาจารย์และนิสิตแพทย์ไปเยี่ยมสวนป่า คราวนี้พักที่กุฏิริมป่าที่แม่หวีจัดให้ เหมาะกับการปลีกวิเวก อากาศยังคงร้อนอบอ้าว สำหรับคนที่ทำงานอยู่ในห้องแอร์และมีความสะดวกสบายตามควร อาจจะคิดว่าเป็นเรื่อง “ลำบาก” “ไม่ได้” “ไม่ไหว” หรืออะไรต่อมิอะไรที่จะยกมาเป็น “เหตุผล” ซึ่ง “เหตุผล” นี้เป็นเพียงความคิด ถ้าใครๆ ก็อยู่ได้ ทำไมผมจึงจะอยู่ไม่ได้ — แต่ในอีกมุมหนึ่ง สักสิบกว่าปีก่อน เคยพาลูกน้องโขลงหนึ่งไปทำเวิร์คช็อปที่แพริมน้ำซึ่ง “ไม่มีอะไรเลย” เตรียมข้าวสาร น้ำ ปากกา ฟลิปชาร์ต กับเทปสองหน้าไป ส่วนวัตถุดิบสำหรับปรุงอาหาร ก็ซื้อเอาจากเรือที่มาขาย แล้วทำอาหารกินกันเอง ผมรู้สึกสนุก แต่ลูกน้องแซวแบบขำๆ ว่า “พี่สนุกอยู่คนเดียว สงสัยไม่เคยลำบาก” เออหว่ะ! ลืมคิดประเด็นนี้ไป แต่ผมก็อยากเห็นว่าใครเป็นยังไงเหมือนกันครับ
ไปสวนป่าเที่ยวนี้ ผมขับรถเรียบร้อยมาก เพราะว่าเพิ่งหายจากอาการโลกหมุนไม่กี่วันก่อนเดินทาง คราวนี้ป้าจุ๋มไปด้วย ก็เลยขับไปเรื่อยๆ ขาไปมีความสิ้นเปลืองเชื้อเพลิง 5.6 ลิตร/100 กม. ขากลับดีขึ้นมานิดหนึ่ง ได้ 5.5 ลิตร/100 กม. ขับด้วยความเร็วคงที่ ทิ้งระยะห่างจากข้างหน้า ไม่ต้องเบรค/เร่งเยอะนัก ก็สามารถประหยัดน้ำมันได้เยอะเลย
กลุ่มผู้มาเยือนสวนป่าคราวนี้ มีสี่กลุ่มคือ
- กลุ่มบ้านมกรา อาจารย์โสรีช์ โพธิแก้ว คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 5-9 พ.ค.
- กลุ่มแพทย์รังสีวิทยา อาจารย์จิตเจริญ ไชยาคำ มหาวิทยาลัยขอนแก่น 5 พ.ค.
- กลุ่มนักศึกษากิจกรรมค่ายบัณฑิต อาจารย์มนัส ปรีวาสนา มหาวิทยาลัยมหาสารคาม 8 พ.ค.
- กลุ่มนักศึกษาปริญญาเอก อาจารย์ศักดิ์พงศ์ หอมหวล คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม 8-9 พ.ค.
ดูทั้งสี่กลุ่มแล้ว เห็นว่าแม้มาจากคนละพื้นฐาน แต่หากจะมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้เกี่ยวกับชีวิตแล้ว คงจะไม่อยู่นอกทางของสวนป่า แล้วอีกอย่างหนึ่ง แต่นับผู้มาเยือนดูแล้ว ประมาณห้าหกสิบท่านแล้วเป็นช่วงเวลาที่ยาวด้วย ชาวเฮไม่ว่าใกล้หรือไกล ต่างก็จัดตารางไปรวมตัวช่วยกันมาก ดังนั้นก็เป็นโอกาสดีที่จะได้เจอพี่น้องอีก
เมื่อสองอาทิตย์ก่อน ผมจัดกิจกรรมปั้นดินเหนียวโดยตั้งเงื่อนไขว่า (1) ให้ปั้นพระ (2) ระหว่างปั้นไม่ให้พูดกัน (3) ไม่ตัดสินเมื่อปั้นเสร็จ ได้รับฟีดแบ็คว่าสนุกและมีอะไรซ่อนอยู่มาก แถมมีชาวเฮบอกว่าอยากปั้นด้วย จึงเรียกร้องว่าจะเอาอีก ก็เลยจัดให้ครับ ขับรถไปซื้อดินเหนียวไปสวนป่า เป็นการทดสอบว่าหายจากโลกหมุนแล้ว กรณี นศพ.นั้น มีสามประเด็น ใช้การปั้นพระ(ที่จริงคือการปั้นดินเป็นรูปพระ)เป็นการบอกว่าไม่ได้เป็นเรื่องที่ทำเล่นๆ ที่ไม่ให้พูดกันเพื่อบอกว่ามีการสื่อสารในรูปแบบอื่นนอกเหนือจากการใช้คำพูด-ซึ่งในหลายกรณีก็ไม่สามารถสื่อความได้อย่างสมบูรณ์ และที่ไม่ตัดสินตามธรรมเนียมนั้น เป็นเพราะงานของแพทย์นักจิตวิทยาหรืองานที่เกี่ยวกับปัญหาของคนนั้นไม่ได้จบเมื่อคนไข้เดินออกนอกห้องไป
ปรากฏว่าทั้งสี่กลุ่มที่เห็นพระหกองค์ที่รุ่นแรกปั้น แตกหักเสียหายเนื่องจากการแห้งของดินไม่เท่ากัน เกิดการแก้ปัญหาโดยสามกลุ่มปั้นพระนอน แต่อีกกลุ่มแม้จะปั้นปางสมาธิก็ระมัดระวังเรื่องความแข็งแรงเป็นอย่างดี ต้องรออีกสักสามวันจึงจะรู้ผลครับ พี่บางทรายบอกว่าถ้าพระให้บทเรียนอะไรได้ก็ตาม พระที่ปั้นนั้นกราบได้แม้ไม่ได้ผ่านพิธีพุทธาภิเษก เพราะพระเป็นครู ก็ดีแล้วที่หนีไปนอน เพราะว่าใครได้อะไรไป ก็ได้ไปด้วยตัวเอง ผมไม่ได้พูดอะไรให้เขาเชื่อผม (รู้สึกว่าตัวเองเป็นคนไม่พูดมาก ยกเว้นเวลาที่มีเรื่องที่น่าพูด) ต้องขอบคุณท่านจอมป่วนที่มาช่วยถามให้
เย็นนั้นก็มีเรื่องระทึกคืออาจารย์โสรีช์เดินออกไปสำรวจสวนป่าท่านเดียว อาจารย์เดินไปไกลกว่าที่ผมซึ่งมาสวนป่าแล้วยี่สิบครั้งเคยเดินเสียอีกครับ พอพระอาทิตย์คล้อยต่ำก็หาทิศทางไม่เจอ แบตโทรศัพท์ก็อ่อนแรงไม่รู้จะหมดเมื่อไหร่ พวกเราพอรู้ข่าวก็ออกตามหา ผมเดินหาสักกิโลเมตรหนึ่ง แล้วก็ขับรถไปกับหมอจอมป่วน เลยไปเกือบถึงถนนโน้น อิอิ แต่อาจารย์ก็กลับมาได้เองโดยตามเสียงนกยูงกลับมา เรื่องนี้มีบทเรียนว่า น่าจะมีแผนที่สวนป่า และมีเครื่องหมายอยู่ตามแยกต่างๆ [แผนที่ดาวเทียม] เมื่ออาจารย์กลับมาแล้ว (ฝีมือน้าอึ่งอ๊อบ ใช้กระบวนการนอกระบบ) ฝนก็ตกทันที ทำให้เปียกกันไปตามๆ กัน ผมไม่รีบอาบน้ำสระผม ก็เลยทำท่าจะเดี้ยงเอา ขอตัวไปนอนก่อนโดยไม่ได้ร่วมถอดบทเรียนพร้อมกินพญามือเหล็กไปสามเม็ด หมอจอมป่วนก็กรุณาช่วยดำเนินการถอดบทเรียนให้ ซึ่งหมอเล่าว่าสนุกและดี ขอบคุณครับ — ไม่ว่าใครจะได้อะไรไป ก็ได้ไปแล้วนะครับ เรียนรู้เอง ไม่ติดค้างกัน
บ่ายวันก่อนวันเดินทางกลับ นอนตื่นสายโด่ง โผล่ออกมาหน้ากุฏิได้ยินเสียงครูบาตั้งวงคุยกันอยู่กับกลุ่มของอาจารย์ศักดิ์พงศ์และกลุ่มบ้านมกรา ก็เลยนอนฟังที่เก้าอี้ฮ่องเต้ที่ครูบาให้คนยกมาตั้งไว้ใกล้ๆ เผลอหลับไปอีก ตื่นขึ้นมาอีกที อ้าว…เสียงเงียบไปแล้ว เลยเดินไปดู ถูกโยนไมค์ใส่ทันทีครับ เล่าเรื่องเป้าหมาย(อันยิ่งใหญ่)เช่นการพัฒนาอินเทอร์เน็ตว่าในวันแรกที่ทำนั้น มองไม่เห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์เลย [แม้แต่อาจารย์ที่ผมเคารพนับถือ ก็ยังว่าบ้า] แต่ก็ทำเพราะรู้ว่าเมืองไทยน่าจะมี ใครจะเห็นหรือไม่เห็น ก็ไม่สำคัญเท่ากับว่าได้ทำในสิ่งที่สมควรทำหรือไม่ เล่าเรื่องแนวคิดในการจัดการ การตัดสินโดยความไม่รู้/ไม่ได้ทำว่าเป็นเรื่องน่าเศร้า
พี่ครูอึ่ง (หัวหลัก) ขอความเห็นเรื่องการตั้งเป้าหมาย ผมได้ยินหมอป่วนแนะว่าอย่าตั้งเป้าให้ทำลายกำลังใจของตัวเอง ซึ่งผมเห็นด้วยครับ แต่ผมก็แนะว่าหาเป้าที่เป็นประโยชน์ร่วมกันเป็นหลักชัยอันใหญ่ก่อน แล้วค่อยๆ ทำไป อย่ายอมให้อะไรเป็นเงื่อนไขขัดขวางเลย [น่าจะจัดเป็น Think globally, act locally ได้] สองคำแนะนำนี้ ไม่ได้ขัดกันหรอกนะครับ ที่เหมือนกันอย่างยิ่งคือไม่มี “ความสำเร็จ” ใด ที่ไม่ได้เกิดจากการกระทำ — ทุกคำแนะนำมีบริบท (และสมมุติฐาน) กำกับอยู่เสมอ จึงไม่ควรจะฟังแต่ว่าแนะนำอะไร แต่จะต้องเข้าใจบริบทของคำแนะนำด้วยครับ
สี่เหลี่ยม — อ.ไพศาล
พี่บางทรายนำตารางสี่เหลี่ยมมาให้ดู แล้วถามว่ามีรูปสี่เหลี่ยมจตุรัสกี่รูป คำตอบคือ 30 รูป [รายละเอียด]
ประเด็นสำคัญไม่ใช่ว่าใครตอบถูกหรือไม่ แต่เวลาเรามองอะไร ก็ต้องฉุกคิดว่ายังมีมุมมองอื่นที่เราหลงลืมหรือไม่ ทุกอย่างทุกเรื่องมีหลายมุมมอง ทำไมมุมมองของเราเท่านั้นจึงถูกต้อง
แนะนำตัวแบบออต — อ.สำรวย
ออตไม่แนะนำตัวเอง แต่ขอให้ชาวเฮแนะนำออตตามที่มองเห็น ผมคิดว่าเรื่องนี้อาศัยความกล้าหาญเป็นอย่างมากนะครับ ความกล้าจะเกิดไม่ได้เลยหากไม่มีความไว้วางใจกัน ซึ่งเป็นสิ่งที่ขาดหายไปในสังคมนี้ ทำให้เกิดความแตกแยกกันขนาดหนัก
ว่ากันที่จริง ชาวเฮก็กระจายกันอยู่ทั่วทุกภูมิภาค ออตเองก็งานยุ่ง ไม่ค่อยได้เจอกัน แต่ที่ฟังดูชาวเฮต่างสัมผัสได้ถึงความละเอียดอ่อน และความงดงามของจิตใจ จากงานศิลปะวัฒนธรรม จากการที่ทำกับเด็กพิเศษ จากงานเขียนในบล็อก ซึ่งหากมองแค่ทางกายภาพ ก็จะเห็นแค่ออตเป็นคนออกแบบปกหนังสือเจ้าเป็นไผ
ลองทำสิ่งที่ไม่เคยทำ แล้วจะเกิดบทเรียนเอง — อ.สุธี
หมอจอมป่วนใช้ประโยคนี้ น่าจะเข้าใจง่ายกว่าประโยคที่ผมใช้ “คิดเหมือนเดิม ทำเหมือนเดิม ผลก็เหมือนเดิม”
ผมไม่ชอบตุ๊กแกเป็นอย่างยิ่ง แหะๆ มีตุ๊กแกร้องอยู่หลายตัวรอบๆ กุฏิซึ่งมีผึ้งมาทำรังอยู่โดยรอบหลายรัง (ไม่เป็นรวงเพราะผึ้งแทรกตัวเข้าไปทำรังในร่องไม้) ในห้องก็มีลูกแมงป่องอยู่ด้วย สัตว์พวกนี้เขาอยู่ของเขาอย่างนั้นมาตั้งนาน ครูบายกเก้าอี้ฮ่องเต้มาตั้งไว้ใกล้ๆ ซึ่งกุฏินี้อยู่ริมป่า เลยลองนอนเลย หลับไปด้วยครับ หมอว่าเรากลัวเค้า เค้าก็กลัวเรา อืม…ท่าจะจริงแฮะ เราคิดแต่ว่าเรากลัวเขาจะมาใกล้ แล้วก็หยุดคิดแค่นั้นเพราะหลอน เอาตัวเองเป็นใหญ่เสมอ
ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นไปตามหลักเหตุปัจจัย และเชื่อมโยงกันหมด — อ.โสรีช์
ได้ฟังการอธิบายและตัวอย่างแล้ว น่าจะกลับไปอ่านอิทัปปัจจยตากับไกวัลยธรรมอีกรอบหนึ่ง
มุมมองของคนสมัยใหม่ มักมองทุกสิ่งทุกอย่างเป็นภาพนิ่ง เห็นเหตุ ก็แก้เหตุ แต่แก้แล้วเกิดผลอื่น ทำให้ไม่พอใจอีก ก็แก้อีก จนวุ่นวายไปหมด บางทีอาจควรเปลี่ยนวิธีมองเป็นมุมมองจากองค์รวมบ้าง
ล้างแก้ว — อ.จันทรรัตน์
ในส่วนถามตอบกับ อ.โสรีช์ พี่สร้อยยกข้อสังเกตว่าเพื่อนพี่น้องเรา กินแล้วเผลอไผลไม่ล้าง เราก็ล้างให้ ทำไมคนอื่นกินแล้วไม่ล้าง ต้องไปตั้งข้อรังเกียจว่าเขาเป็นคนอื่นจึงไม่ล้างให้ อืม…จริงแฮะ ก็แค่ล้างแก้วล้างจานเหมือนกัน
……
เอาแค่นี้ก่อนนะครับ ชักยาวแล้ว แบ่งท่านอื่นเขียนบ้าง
« « Prev : วันลา
Next : นักการเมืองแนะนำ “วิธีขายความคิด” ให้นักการเมือง » »
3 ความคิดเห็น
ถ้าหาทางกลับไม่เจอ โทรกลับมาบอก แล้วก็ให้แหงนหน้าขึ้นเหนือขอบฟ้ารอบๆ มองหาแสงสีเขียวเดินไปทางนั้น จะส่องยอดไม้หรือแม้งค์น้ำตอนกลางคืน ก็จะเห็นตำแหน่งได้ชัด หรือว่ากลางวันเอาไว้ชี้ต้นไม้ตอนเดินชมป่า ก็ยังเห็นเป็นจุด
[...] เมื่อคืนวันพฤหัส พี่ครูอึ่งส่ง SMS มา (ขอบคุณนะครับ) บอกว่า อ.โสรีช์ ออกทีวีไทยตอนนี้อยู่ค่ะ แต่ตอนนั้น ผมไปอาบน้ำ จึงไม่ได้ยินเสียงสัญญาณโทรศัพท์ — เมื่อคราวที่ ดร.โสรีช์ โพธิแก้ว พาลูกศิษย์ปัจจุบันและอดีตบุกสวนป่าเมื่อกลางปีที่แล้ว เป็น session ที่ลึกซึ้งและสนุกประทับใจมากครับ [บทเรียนจากสวนป่า 4-9 พ.ค.] [...]
[...] และเขียนบันทึกไว้เรื่อง [บทเรียนจากสวนป่า 4-9 พ.ค.] และ [สิ่งหนึ่ง นำสู่อีกสิ่งหนึ่ง] [...]