พาหนะสำหรับเดินทางระยะไกลในน้ำเชี่ยว
อ่าน: 3446ยิ่งเห็นข้อมูลผู้ประสบภัย ยิ่งรู้สึกว่าภัยครั้งนี้ครอบคลุมพื้นที่กว้างใหญ่ และรุนแรงในแง่ที่กระทบต่อการดำเนินชีวิตประจำวันของชาวบ้านเป็นจำนวนมาก
มีชาวบ้านหลายพื้นที่ ที่ถูกตัดขาดเป็นระยะเกิน 10 กม. พายเรือมารับความช่วยเหลือก็ไม่ไหว ครั้นไม่ออกมาก็จะถูกลืมหรือถูกมองข้ามไป หากว่าไฟฟ้าไม่ดับและการสื่อสารยังใช้ได้ โทรออกมาบอก อบต. (หรือ สพฉ. 1669 ขอให้ช่วยประสานกับมูลนิธิในบริเวณนั้น) อาจจะเป็นความหวัง แต่ถ้าโชคไม่ดี เจ้าหน้าที่มีงานล้นมือ มีคนต้องการความช่วยเหลือทั่วไปหมด ความช่วยเหลือก็ไม่มาเสียที อย่างนี้ชาวบ้านมีแต่ตายกับตายครับ
ทางออกนั้น คงไม่มีทางอื่นนอกจากจะหาวิธีเดินทางออกมารับความช่วยเหลือกลับเข้าในหมู่บ้าน แต่ก็มีปัญหาใหญ่ตามมาอีก คือน้ำเชี่ยวมาก หากน้ำไม่แรง ใช้แพราคาหน่วยเป็นพันบาทยังพอไหว แต่ถ้าน้ำแรงขนาดเรือราคาหลายหมื่นบาท (หรือเป็นแสน) ล่มได้ จะต้องหาวิธีอื่นที่ดีกว่า เรื่องนี้คงจะเกินกำลังของชาวบ้าน แต่หากผู้ที่มีความรู้ มีกำลังจะช่วย ก็จะเป็นอานิสงส์แรงครับ
เรื่องพาหนะในน้ำเชี่ยวนั้น ผมคิดถึงไฮโดรฟอล์ย จะใช้กำลังคน หรือใช้เครื่องก็แล้วแต่ หลักการใช้โครงเป็นแพหรือเรือคาตามารัน (เรือหลายลำตัว) ที่หากไม่เคลื่อนที่ก็ลอยได้ แต่เมื่อเคลื่อนที่ ใต้ท้องเรือก็จะมีปีกสร้างแรงยก ทำให้ลำตัวเรือลอยขึ้นเหนือน้ำ การที่ลำตัวเรือไม่สัมผัสผิวน้ำ จะลดแรงต้านของน้ำ ทำให้ไม่ต้องการแรงขับมากนัก นอกจากนั้นก็ยังทนต่อความแรงของกระแสน้ำได้ดีกว่าเรือหรือแพธรรมดา
ในส่วนของใบพัด อาจใช้อะไหล่ใบพัดลมพลาสติก จริงอยู่อาจแตกหักเสียหายได้ แต่ใบขนาด 12 นิ้ว ราคาไม่เกิน 50 บาท ต่างกับใบพัดเรือซึ่งมีขนาดเล็กกว่า โกยน้ำต่อรอบได้น้อยกว่าจึงต้องการเครื่องเรือรอบจัดเพื่อโกยน้ำด้วยอัตราหมุนสูง และไม่สามารถใช้กำลังคนได้ แต่หากใช้ใบพัดพัดลมขนาด 12 นิ้ว ก็อาจจะขับเคลื่อนโดยจักรยาน หรือเครื่องตัดหญ้าสะพายบ่าได้
ดูคลิปพอได้ไอเดียกันนะครับ
อันแรกเป็นโครงจักรยาน ซึ่งเมื่อถีบไป ก็จะไปหมุนใบพัด ใต้โครงจักรยาน มีปีกเพื่อสร้างแรงยก
อันที่สองเป็นเรือคาตามารัน และเช่นเดียวกัน ใต้ลำเลือเป็นปีกจมอยู่ในน้ำ เมื่อเรือเคลื่อนไป ปีกสร้างแรงยก
ต่อมาเป็นหลักการของแพหรือคาตามารัน ซึ่งพลิกคว่ำได้ยาก
แล้วก็เป็นพาวเวอร์เซิร์ฟบอร์ด (กระดานโต้คลื่นติดเครื่อง)
อันสุดท้ายนี้ น่าเกลียดที่สุด คือเรือยาง ติดเครื่องตัดหญ้า แต่เปลี่ยนใบตัดหญ้าเป็นใบพัด
ถ้ากล้าลอง ก็อาจจะพบเห็นทางออกแปลกๆ ครับ แต่ถ้าหากจะรอซื้อ รอบริจาค ก็รอต่อไปเถิดครับ ไม่ว่ากันอยู่แล้ว
Next : วันหนึ่งที่เต้นท์อาสาดุสิต@ไทยพาณิชย์ » »
1 ความคิดเห็น
เป็นแนวทางที่ผมคิดว่าน่าสนใจมากๆ ช่างในชนบททำได้ ผมมีความเชื่อเช่นนั้น หากเอา แบบไปให้เขา แต่ดูเหมือนว่าพื้นที่ที่มีกระแสน้ำแรงอาจจะลำบากสักหน่อย แต่พื้นที่น้ำนิ่ง หรือไม่แรง ก็ใช้ได้
อีกประการหนึ่ง สมัยที่ผมทำงานเป็นคณะกรรมการติดตามการเลือกตั้ง หลายสิบปีก่อน มีบริษัทมือถือแห่งหนึ่งให้ขอยืมมือถือใหม่เอี่ยมแจกให้เจ้าหน้าที่ทั่วประเทศเพื่อติดตาม และรายงานเรื่องราวต่างๆ มาสมัยนี้มีมือถือรุ่นเก่ามากมายแต่พอใช้ได้ หรือประเภทตกรุ่น น่าที่จะรับบริจาก หรือบริษํทบริจาค จัดการเอาไปให้ชุมชนที่ถูกตัดขาดเพื่อใช้สื่อสาร แน่นอนคงทำได้ระดับหนึ่ง เพราะมีข้อจำกัดมากมาย เช่น ไม่มีไฟชาร์ต คลื่นไม่มี แม้กระทั่งใช้ไม่เป็น ฯลฯ แต่ผมคิดว่าไม่มีวิธีวิธีหนึ่งที่เบ็ดเสร็จ ไม่มีเครื่องมือใดเครื่องมือหนึ่งที่เบ็ดเสร็จ ก็คงใช้ทุกอย่างทุกวิธีที่สามารถจะทำได้ ที่มีปัจจัยเอื้อ
คนละไม้คนละมือนั่นแหละครับ ที่ใดใช้เครื่องมือใดได้ก็ทำ เพื่อบรรเทาก่อน
ที่ตลาดวิเศษชัยชาญเท่าที่ผมเติบโตมาไม่เคยมีน้ำท่วมมากเท่าปีนี้ ไฟใหม้ใหญ่มาแล้วมาน้ำท่วมอีก กว่าจะฟื้นตัวคงใช้เวลาพอสมควร แต่คนในตลาดมีทางออกมากกว่าคนในชนบทห่างไกล
เรามีวิทยาลัยเทคนิคในทุกภาค แต่ละภาคมีหลายแห่ง ผมเคยเห็นวิทยาลัยเทคนิคไปเปิดเต้นท์รับบริการรถมอเตอร์ไซด์ฟรีตามข้างถนนยามมีประเพณีสงกรานต์ ผมว่าหากมีใครเอาแนวคิดงานสร้างเครื่้องมือเหล่านี้ไปให้เอาทุนไปให้เขาคงยินดีทำนะครับ เป็น exercises ที่มีประโยชน์มาก จะเป็นจุดคิดให้เด็กๆอาชีวะกลุ่มนี้คิดสร้างงานอื่นๆเพื่อท้องถิ่นเขาอีกด้วย ทั้งในด้านการเกษตรและการมีส่วนร่วมแก้ไขอุบัติภัยในท้องถิ่นเขา รวมไปถึงสถาบันเหล่านี้ด้วย