ปัญญาของฝูงชน
อ่าน: 4640ปัญญาของฝูงชน!!! เฮอะ ฝูงชนมีปัญญาด้วยหรือ?!?!
สังคมปัจจุบันนี้ มีความแตกแยก ความไม่พอใจ “คนอื่น” มากกว่าในสมัยก่อนมากมาย มาย้อนดูแล้ว ส่วนหนึ่งคงเป็นเพราะการผูกขาดความถูกต้องและความดีไว้กับตัวเอง ทำให้รู้สึกว่าสิ่งที่เราทำนั้น ถูกต้องดีแล้วทั้งนั้น สิ่งที่คนอื่นทำ ยังไงก็ไม่ถูกใจ เขาผิด เขาชั่ว เขาโง่ ฯลฯ โบ้ยอย่างนี้ง่ายกว่า เหมาะกับสมองที่คุ้นเคยกับนิสัยฉาบฉวย รีบร้อน และขาดความไว้ใจ
คนเรามีความแตกต่างกัน ต่อให้เป็น “พวกเดียวกัน” ก็ยังคิดไม่เหมือนกัน นับประสาอะไรกับที่ “เป็นอีกพวกหนึ่ง”
แต่ที่แปลกก็คือสังคมปัจจุบัน เน้นไปที่ความแตกต่าง เหมือนสมัยสงครามโลกที่อีกฝ่ายหนึ่งถูกป้ายสีในทางไม่ดีต่างๆ นานา ทำธุรกิจก็พยายามถล่มคู่แข่งด้วยวิชามารทุกรูปแบบ; เลี้ยงเด็กก็เช่นกัน ถ้าไม่ปล่อยปละละเลยไปเลยโดยอ้างไม่มีเวลายกเหตุผลมาอ้างสารพัด ก็ควบคุมเข้มงวดจะทำให้เด็กเป็นเหมือนที่ตัวเองคิด โดยไม่รู้ว่าเด็กเลียนแบบตัวเองอยู่ตลอดเวลาอยู่แล้ว (เด็กเริ่มเรียนรู้โดยการเลียนแบบ รวมทั้งการเอาแต่พูดโดยไม่ทำอะไรด้วย)
ในความแตกต่าง คนสติดีต่างก็ต้องการให้สังคมดีทั้งนั้น คงเห็นพ้องกันได้โดยทั่วไปว่าสังคมปัจจุบันนี้ ยังปรับปรุงได้อีกมาก ยังมีเรื่องอีกเยอะที่ต้องทำ แต่เรากลับใช้เวลาในการวิพากษ์วิจารณ์ความแตกต่่าง จนจะไม่เหลือเวลาที่จะลงมือทำอะไรแล้ว… แต่การไม่พูดจากันจนเข้าใจ อยู่ดีๆ ก็ทำไปเลยนั้น อาจวิปริตพอกันนะครับ… มีวิปลาสกว่านั้นคือการตัดสินด้วยอคติ คือไม่ต้องฟังอะไรก็ตัดสินได้แล้ว ปราดเปรื่องขั้นเทพจริงๆ
ที่นำเรื่องนี้มาพูด ก็เพราะมีกลุ่ม Team Thailand ร่วมออกแบบประเทศไทย บน Facebook ซึ่งเริ่มต้นด้วยดี แต่ไปๆ มาๆ ชักกลายเป็นการบ่นและเรียกร้องไปเรื่อยๆ ตามสมัยนิยม (ในความเห็นของผมนะครับ)
พูดกันให้เป็นธรรม กลุ่มนี้ก็เพิ่งเริ่ม สมาชิกยังทะยอยเข้ามา ก่อนเข้ามา คงมีความกดดันที่อยากจะระบายอยู่แล้ว ไม่อย่างนั้นก็ไม่มีเหตุผลที่จะต้องออกแบบประเทศไทยใหม่ แต่ลองนึกถึงสถานการณ์ที่มีคนระบายความเครียดไว้ในที่ที่คนผ่านไปผ่านมา พอคนใหม่เข้ามาก็ระบายไว้อีก แล้วก็มีแต่คนระบายสิ่งปฏิกูลเอาไว้ แล้วก็ยืนจับกลุ่มคุยกันอยู่แถวนั้นแหละ ยืนดมไปเรื่อยด้วยอารมณ์ร่วม…
ถ้าเป็นผมกำลังอยู่ในบ่อสิ่งปฏิกูลอยู่นะครับ ผมจะหาทางขึ้นมาก่อน ไปล้างเนื้อล้างตัวเสีย แทนที่จะมาวิเคราะห์ว่าสิ่งปฏิกูลนี้เป็นของใคร เหม็นมากน้อยแค่ไหน ประกอบไปด้วยอะไรบ้าง คุณลักษณะทางเคมีเป็นอย่างไร เอาคนปล่อยของมาลงโทษ ฯลฯ แต่ก็นั่นล่ะนะครับ ต่างคนต่างจิตต่างใจ ถ้าหากไม่มีความเชื่อใจกันบ้างเลย ทุกอย่างจะเอาอย่างใจเราโดยไม่ต้องฟังคนอื่นเลย แล้วดันรวมกลุ่มกันทำไม
ทุกอย่างในโลก เมื่อมองจากมุมที่ต่างกัน ก็จะเห็นแตกต่างกัน — คนคนเดียวกัน เมื่อเปลี่ยนมุมมอง ก็เป็นเช่นเดียวกัน ต่อให้มองทรงกลม แสงเงาก็แตกต่างออกไป
ปัญหาที่ไม่ค่อยยอมถามตัวเองกันก็คือทำไมมุมมองของเราเท่านั้นจึงถูกต้อง ทำไมเราจึงขาดความเคารพในมุมมองที่แตกต่างออกไป แน่ใจได้อย่างไรว่าเรา “รู้” ทั้งหมดและไม่มีทางผิดเลย เป็นไปได้ไหมว่าอัตตาใหญ่จนบังความจริงอีกด้านหนึ่งไว้เสียหมด
ฝูงชนที่มีความรู้ ก็จะมีความคิดเห็นของปัจเจกชนอยู่มากมาย เพราะแต่ละคนมองด้วยมุมที่แตกต่างกัน แต่ฝูงชนที่มีปัญญา ย่อมเปลี่ยนความแตกต่างให้เป็นประโยชน์ส่วนรวมได้ ถ้ามีข้อเสนอ A กับ B ฝูงชนที่มีปัญญาอาจเลือก C ซึ่งดีกว่าทั้ง A หรือ B หรือ ±A±B ส่วนจะเชื่ออะไรหรือไม่เชื่ออะไรนั้น ชาวพุทธก็ควรยึดหลักกาลามสูตร ละอคติหรือการตัดสินเอาไว้ก่อนที่จะได้รับข้อมูล เมื่อได้ข้อมูลมาแล้ว ก็ยังไม่ต้องรีบร้อนเชื่อหรือไม่เชื่อหรอกนะครับ ท่านไม่ได้กำลังทำข้อสอบแข่งกับเวลาอยู่นะ
ใครที่ไม่กล้าดูตัวเอง ก็ควรจะดูตัวเองบ่อยๆ นะครับ ทำไมจึงดึงดันด้วยทิฏฐิมานะอย่างนั้น ทำไมจึงต้องเอาความคิดของเราไปยัดเยียดให้คนอื่นด้วย มีเหตุผลอะไรก็แสดงไป ถ้ามันเป็นความคิดของเรา ก็พิมพ์ไปซิครับ จะทำอะไร ก็อธิบายความไปเรื่อยๆ ไม่เห็นต้องพาดพิงหรือแช่งชักใคร แล้วไม่เห็นต้องรอให้ใครพินาศไปก่อนหรือตั้งเงื่อนไขอื่นจึงจะเริ่มขยับ ความตั้งใจดีที่มีมาตั้งแต่ต้นหายไปไหน ระหว่างที่อธิบายอยู่ ก็ฟังและพิจารณาไปเรื่อย เรียนรู้ไปเรื่อย
ถ้าปล่อยของกันจนจะหมดแล้ว ลองเปลี่ยนมาลงมือทำเองกันบ้างดีไหมครับ ถ้าสิ่งที่คิดไว้เป็นสิ่งที่ดีเหมือนอย่างที่พยายามหว่านล้อมคนอื่น ทุกคนก็ได้ประโยชน์ทันทีโดยไม่ต้องรอให้ใครพินาศลงไปก่อน ไม่ว่าจะมีปัญหาอะไร ปัญหาคงจะไม่หายไปด้วยการพูดถึงมันเฉยๆ หรอกครับ
9 ความคิดเห็น
ที่วัดบางแห่งจะเขียนไว้
ในสังคมอินเทอร์เน็ตหรือโลกออนไลน์ในปัจจุบัน พิจารณาแล้วก็มีคนประเภทนี้ครบถ้วนเช่นเดียวกัน…
เจริญพร
ปัญหามันไม่หายด้วยการพูดเฉยๆ นี่เห็นด้วยค่ะ
ทีนี้ เรื่องการแก้ปัญหา…มันเป็นการใช้ปัญญาแหล่ะ ว่าปัญหานั้น มันควรเป็นปัญหาหรือเปล่า …คนเรานี้ถ้าเอาตัวที่เรียกว่าปัญหามาพิจารณา…ปัญหามันก็แค่ความคาดหวังลบความเป็นจริงคูณร้อย…ลดความคาดหวังลง หรือเพื่อความเป็นจริงขึ้นไป…ลดตัวคูณลง จากร้อยเป็นสิบ จากสิบเป็นหนึ่งเป็นศูนย์..ปัญหาบางทีมันก็ไม่ใช่ปัญหา…แต่ถ้ายังมองเป็นปัญหาก็ค่อยพิจารณาต่อว่าจะแก้ไขเพื่ออะไร ด้วยวิธีไหน และหวังว่าผลควรจะเป็นประโยชน์กับใคร
ถ้าใช้การไตร่ตรอง พิจารณา เอาพรหมวิหารสี่มาใช้ ถ้ามีเมตตากัน การแก้ปัญหามันก็มักจะไปทางที่ก่อมากกว่าทำลาย …มีกรุณาต่อกัน เห็นอกเห็นใจกัน มันก็พอจะทำให้ปัญหาหนักแค่ไหนก็พอจะเบาลงได้ …นี่ยังมีมุทิตาและอุเบกขา ที่จะทำให้การแก้ไขปัญหามันพอมองเห็นหนทาง
คนที่คอยมองดูความพินาศของคนอื่นเขาเรียกว่า คนอาฆาต..แบบนั้นกี่ปีกี่ชาติ ชีวิตก็ไม่มีความสุขเพราะมัวแต่เปรียบเทียบและติดตามดูเรื่องราวของคนอื่นตลอดเวลา กลัวเขาเป็นสุขกว่าตน
เลิกอาฆาตก็ด้วยการเข้าใจในไตรลักษณ์ และเห็นว่าคนทุกคนก็เหมือนๆกัน มีร่างกายที่เต็มไปด้วยสิ่งสกปรกเหมือนกัน ต้องการความสุขเหมือนกันฯลฯ
เฮ้อ..พูดแล้วยาว…ที่พูดนี้คือสิ่งที่กำลังฝึกๆๆๆ ในการมองชีวิตและการมองปัญหา ทุกวันๆๆ น่ะค่ะ
ผมคิดว่าผู้ที่ใช้ Facebook เข้าไปดูได้เองตามลิงก์ในบันทึกข้างบน จะเห็นแบบฝึกหัดเยอะแยะครับ
เพิ่ม: สลายความขัดแย้ง, นิติศาสตร์ รัฐศาสตร์ และ เศรษฐศาสตร์แนวพุทธ
อ่านความเห็นที่สามผ่านๆ พอมาถึงความเห็นที่สีว่า “อธิบายยาก” จึงต้องกลับไปอ่านความเห็นที่สามอีกครั้ง… ก็มีบางอย่างผุดขึ้นมาในคลองความคิด “ติณวัตถารโก”
ตามความเห็นของอาจารย์สร้อย… สิ่งนั้นเป็นปัญหาหรือไม่ ? หรือปัญหาอยู่ที่คน ? … นี้ประเด็นแรก
ความคาดหวังขึ้นอยู่กับความเห็นของแต่ละคน ซึ่งทุกรื่องเป็นสิ่งที่ไม่ได้ดังใจในขณะนั้น บ่งชี้ไปถึงว่า อัตตา หรือ ตัวกูของกู… นี้ประเด็นต่อมา
เมื่อถึงตอนนี้ คิดว่าเข้าใจสิ่งที่อาจารย์สร้อยต้องการให้เข้าใจแล้ว “ติณวัตถารโก” ก็ผุดขึ้นมา
ติณวัตถารโก เป็นวิธีการระงับอธิกรณ์ตามพระวินัย คือเรื่องที่เกิดขึ้นเพราะโจทย์หรือกล่าวหากัน พระรูปโน้นกล่าวหาพระรูปนี้ สงฆ์กลุ่มนี้กล่าวหาสงฆ์กลุ่มโน้น ในเรื่องต่างๆ เล็กบ้างใหญ่บ้างจนเกิดความสับสนวุ่นวายจับประเด็นเรื่องราวของปัญหาไม่ถูก…
พระพุทธเจ้าจึงทรงบัญญัติ ติณวัตถารโก โดยให้ทุกคนเข้าร่วมประชุมแล้วสวดยกเลิกเรื่องราวโจทย์จันต่างๆ … วิธีการนี้ มีอุปมาว่า เหมือนกลบสิ่งที่ไม่สะอาดด้วยหญ้า ไม่ให้เกิดกลิ่นที่ไม่พึงประสงค์
การที่จะให้วิธีการนี้สำเร็จได้ก็ต้องอาศัยเมตตาซึ่งกันและกัน… ซึ่งเรื่องราวทั้งหมด น่าจะใกล้เคียงประเด็นที่อาจารย์สร้อยให้ความเห็นมา…
(ไม่แน่ว่าจะตรงประเด็นหรือไม่… แต่รู้สึกขำๆ ตัวเอง หนังสือก็ไม่ได้เรียนและไม่ได้สอนแล้ว ทำแต่เรื่องอื่น แต่จริงๆ วิธีคิดแบบนักศึกษาหรือนักวิชาการทำนองนี้ ยังมีอยู่เต็มพุง 5 5 5…)
เจริญพร
โดยทั่วไป โลกจะมีความรู้สึกว่า มีปัญหาจึงต้องแก้ไข แก้ได้เป็นฮีโร่ แก้ไม่ได้กลายเป็นไม่มีความสามารถ จะต้องโดนบ่น ด่า ค่อนขอดต่อไปตามโลกธรรม; ปัญหาซึ่งเกิดไปแล้วนั้น เป็นเรื่องที่เกิดในอดีต จะบอกไม่เอาหรือเอาใหม่ก็ไม่ได้
ปัญหาจะเป็นปัญหาจริงๆ ก็ต่อเมื่อมันยังเกิดอยู่-เหตุยังคงอยู่ หรืออาจจะลุกลามไปในอนาคตเพราะรู้ไม่เท่าทันหลุมพรางต่างๆ … ส่วนปัญหาที่ยังไม่เกิด เป็นประเด็นก็ต่อเมื่อตั้งตนอยู่ในความประมาท ไม่เตรียมพร้อมไว้
บางปัญหายิ่งแก้ยิ่งยุ่งเป็นลิงแก้แห-เหมือนออกกฏระเบียบมาแก้ปัญหาเรื่องคน
[เยภุยยสิกา] มีลิงก์ไปสามคามสูตร/สาธารณียธรรมน่าอ่านครับ — ปัญญาของ(หมู่)สงฆ์ ช่วยกันคิดเพื่อประโยชน์ของสงฆ์ อาจมีทางออกที่ไม่เหมือนกับภิกษุรูปใดรูปหนึ่งคิด
กราบนมัสการพระอาจารย์ค่ะ
ประเด็นเป็นเช่นนั้น..แต่เพราะไม่มีความรู้ทางธรรมมากพอที่จะใช้คำอธิบาย… เลยอธิบายแล้วไม่เข้าใจง่ายๆ เหมือนที่พระอาจารย์อธิบายค่ะ
กราบสามครั้ง
[...] ปัญญาของฝูงชน [...]
http://www.prasong.com/%e0%b8%9a%e0%b8%97%e0%b8%84%e0%b8%a7%e0%b8%b2%e0%b8%a1/%e0%b8%a7%e0%b8%b4%e0%b9%80%e0%b8%84%e0%b8%a3%e0%b8%b2%e0%b8%b0%e0%b8%ab%e0%b9%8c-%e0%b8%81%e0%b8%b2%e0%b8%a3%e0%b8%95%e0%b8%a3%e0%b8%a7%e0%b8%88%e0%b8%aa%e0%b8%ad%e0%b8%9a%e0%b8%9e%e0%b8%b7%e0%b9%89%e0%b8%99%e0%b8%97%e0%b8%b5%e0%b9%88%e0%b9%80%e0%b8%aa%e0%b8%b5%e0%b9%88%e0%b8%a2%e0%b8%87%e0%b8%96%e0%b8%b9%e0%b8%81%e0%b8%99%e0%b9%89%e0%b8%b3%e0%b8%97%e0%b9%88%e0%b8%a7%e0%b8%a1%e0%b8%88%e0%b8%b2%e0%b8%81%e0%b9%81%e0%b8%9c%e0%b8%99%e0%b8%97%e0%b8%b5%e0%b9%88%e0%b8%a0%e0%b8%b2%e0%b8%9e%e0%b8%96%e0%b9%88%e0%b8%b2%e0%b8%a2%e0%b8%97%e0%b8%b2%e0%b8%87%e0%b8%ad%e0%b8%b2%e0%b8%81%e0%b8%b2%e0%b8%a8/
[...] ทางเลือกนำสู่สิ่งที่ดีกว่า แต่… ปัญญาของฝูงชน Tags: การตรวจสอบ, น้ำท่วม, [...]