หมู่บ้านโลก (2)
ปลายเดือนก่อน เขียนเรื่อง [หมู่บ้านโลก] ไป ปรากฏว่ามีผู้สนใจความคิดนี้คุยต่อหลังไมค์กันพอสมควรครับ
วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยี (เดิมชื่อวิทยาลัยเกษตรกรรม) น่าจะเหมาะที่สุดเรื่องการใช้เทคโนโลยีชาวบ้าน สร้างเครื่องมือเอนกประสงค์สำหรับงานเกษตรกรรมและวิถีชีวิตของชาวบ้าน เพื่อให้มีเครื่องมือที่ใช้งานได้ในราคาที่ถูกมาก สร้าง ซ่อม และบำรุงรักษาได้เอง เลิกนิสัยซื้อแหลก อาจจะมีโอกาสตั้งตัวได้เสียที… แต่เอาเข้าจริง ไม่มีอะไรอย่างนั้นหรอกครับ
จากที่เคยไปเที่ยวดูที่แถวสะแกราช [คนเมืองแบบคนป่า คนป่าแบบคนเมือง] วันนี้มีโอกาสคุยกับคุณน้องคนที่พาไปเที่ยวอีก เขามีที่ดินที่ให้ชาวบ้านเช่าไปปลูกเป็นไร่มัน เป็นเนินเขา ¼ ลูกและเป็นที่ราบอีกส่วนหนึ่ง เป็นสัญญาเช่าปีต่อปี น่าเสียดายที่ดินนี้ แม้อยู่ในที่ที่อากาศดี มีลำธารไหลผ่านข้างที่ การคมนาคมสะดวก น้ำไฟหาได้ไม่ยาก และไม่ใช่โซนที่ใช้ปุ๋ยเคมีหรือยาฆ่าหญ้า — แต่ถ้ามองแบบคนเมืองแล้ว คงคิดว่าน่าจะทำรีสอร์ตมากที่สุด ซึ่งผมเห็นด้วยบางส่วนครับ ว่าที่นี้สวยจริงๆ แต่ยังคิดไม่ออกว่าจะทำรีสอร์ตกันทั้งอำเภอได้อย่างไรเหมือนกัน เหมือนทำอะไรก็ทำตามกันไปหมด
คราวที่แล้ว ไปยุให้คุณน้องและคุณหน่อยทำโรงปลูกเห็ด รายได้ดี มีคนมารับซื้อถึงที่ แถมผลิตไม่พอด้วยซ้ำไป มีรายได้ประจำเพิ่มขึ้นเดือนละหลายหมื่น ก็เอามาโปะเป็นค่าใช้จ่ายประจำในกรณีที่เขาจะทำที่พักแถวโน้น (ซึ่งเหมาะกว่าแถวนี้)
แต่ช่วงนี้มีภัยเกิดภัยต่างๆ ขึ้นต่อเนื่องมาตั้งแต่กลางปีที่แล้ว เรามีอาสาสมัครกู้ภัย มีสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ ซึ่งเป็นมืออาชีพในการกู้ภัยบรรเทาทุกข์ และมีมูลนิธิและอาสาสมัครอิสระอีกมากมาย ที่เต็มใจจะช่วยเหลือผู้ประสบภัย แต่จะดีกว่านี้ไหมหากอาสาสมัครเหล่านี้ ไม่เพียงแต่ช่วยให้ผู้ประสบภัยผ่านพ้นภัยพิบัติไปได้ แต่ถือโอกาสนี้ ให้แง่คิดมุมมองและความรู้ใหม่สำหรับกระบวนการฟื้นฟู เพื่อที่จะพลิกฟื้นชีวิตผู้ประสบภัยไปเลย โดยไม่ต้องใช้หลักสูตรและมาตรฐานของกระทรวงศึกษาธิการ ความรู้เหล่านี้ ให้ไว้กับอาสาสมัครที่ผ่านการอบรมไว้พิจารณาตามความเหมาะสม+ความต้องการของพื้นที่ และชาวบ้านเป็นผู้เลือกเองว่าจะใช้อะไรหรือไม่
การฟื้นฟูไม่ควรจะเป็นการพยายามจะทำให้ทุกอย่างกลับไปเหมือนเดิม ควรจะทำให้ชีวิตชาวบ้านดีกว่าเดิมต่างหากครับ แต่แน่ล่ะ อาสาสมัครที่ทำงานฟื้นฟู ก็ไม่มีทรัพยากร (คน เวลา เงิน) พอที่จะอยู่กับชาวบ้านไปได้ตลอด สิ่งที่อาสาสมัครทิ้งไว้ได้ คือความรู้ครับ ที่จริงชาวบ้านนั้น รู้จักบ้าน และรู้ข้อจำกัดของตนเอง ดีกว่าอาสาสมัครอย่างแน่นอน เพียงแต่บางที ด้วยความคุ้นชิน ด้วยความกลัว ด้วยความที่ไม่มีใครทำ ด้วยความมึนตึบกับความสูญเสีย ก็เลยไม่กล้าที่จะเปลี่ยนแปลง กรณีอย่างนี้ เพียงแต่สะกิดนิดเดียว เขาก็พลิกชีวิตของเขาได้ ซึ่งนั้นแหละเป็นการช่วยที่ได้ประโยชน์มากที่สุดแล้ว
ดังนั้น ก็จะฝันต่อว่าจะทำเป็นศูนย์ความรู้เกี่ยวกับชีวิตนอกเมืองครับ สร้างคนต้นแบบ ปลูกต้นไม้เยอะๆ ไม่อยากรับเงินของส่วนราชการ เพราะไม่เชื่อเรื่องวิธีวัดผลแบบปั่นเอาจำนวนเยอะๆ ซึ่งไม่รู้เหมือนกันว่าชาวบ้านจะได้อะไรขึ้นมา สู้สร้างคนที่ใช้ได้ออกไปรับใช้สังคมน่าจะดีกว่า — ทางเอกชน ในเมื่อไม่มีผลประโยชน์ให้กับเขาโดยตรงแล้ว คงจะยาก — จะขอรับบริจาค ก็คงไม่ได้พอที่จะทำอะไร เพราะเมื่อไม่มีไฟลนก้น เราก็มักจะไม่ขยับ ต่อเมื่อไฟลามมาใกล้ ก็สายเกินไปเสียแล้ว — ดังนั้น ก็คงต้องควักกระเป๋าเองเหมือนกับที่เคย
อย่างไรก็ตาม ศูนย์ฯ นี้ เป็นโอกาสที่จะพัฒนาคนเรื่อง
- ระบบข้อมูลสำหรับการจัดการภัยพิบัติ: ไม่ใช่แค่เอาข้อมูลจากที่โน่นที่นี่มาแบ่งปันกันหรอกครับ แต่จะต้องพิจารณาเหตุผล+ความเป็นไปได้เป็น และรู้ว่าจะต้องทำอะไรต่อ
- พลังงานทดแทน: น้ำ ลม ไฟ
- การใช้ biochar ปรับปรุงดิน - พลังงานจาก biomass
- ปลูกต้นไม้หลายระดับ: ใต้ดิน ไม้พุ่ม ไม้เตี้ย ไม้กลาง ไม้ใหญ่ ไม้ใบ ไม้ผล ไม้หน่อ ไม้ดอก พืชไร่ หลีกเลี่ยงพืชเชิงเดี่ยว
- รู้จักคิดนอกตำราอย่างเหมาะสม แสวงเครื่องเป็น ผลิตชุดความรู้
- สร้างเครื่องจักรกลสำหรับผ่อนแรง ใช้ความรู้และฝีมือมากกว่าใช้เงิน
- เป็นศูนย์อบรมสำหรับอำเภอใกล้เคียง ไม่ทำรีสอร์ต จะเป็นศูนย์แลกเปลี่ยนความรู้ต่างหาก ถ้าอยากใช้เงินก็ไปพักใกล้ๆ เลือกได้ตามระดับราคาที่ต้องการ แต่ถ้าไม่ได้ต้องการเรียนรู้ อยู่กับบ้านก็ดีนะครับ
- ถ้าไม่มีคิวอบรม เปิดเป็นศูนย์สันทนาการเชิงทักษะและความรู้ มีที่ตั้งหลายสิบไร่ คงมีมุมสงบพอเปิดเป็นศาลาปฏิบัติธรรมได้
« « Prev : โดมสำหรับพักพิงชั่วคราว
Next : มายากล » »
2 ความคิดเห็น
น่าสนใจมาก และยินดีเป็นอาสาสมัครเท่าที่เวลาอำนวยด้วยเสมอครับ
แต่ขอเสริมว่า ทำเป็นสถานสงเคราะห์คนชราที่มีคุณภาพพร้อมกันไปด้วย จะดีไหม โดยเอาคนพวกนี้มา re-educate แล้วให้เป็นกำลังสำคัญในการทำงานขับเคลื่อนองค์กรนี้ ที่จะขยายออกไปเป็นสาขาทั่วประเทศในที่สุด
ที่สำคัญ ..ต้องเลี้ยงตัวเองได้ด้วย
เรื่องการดูแล สว.นั้น มีอยู่ในแผนนะครับ ผมเคยพูดกับหลายท่านแต่ไม่ได้เขียนไว้ในบันทึกนี้ กลัวว่าจะงงว่าจะทำอะไรกันแน่ คือว่ายังไงผมก็ต้องดูแลพ่อแม่ครับ ในเมื่อทำให้พ่อแม่แล้ว ทำให้ สว.ท่านอื่นก็ไม่ได้เพิ่มภาระอะไร เพียงแต่ว่าหากเปิดเป็นสถานสงเคราะห์ ก็จะเจอกฏระเบียบอะไรแปลกๆ ครับ — ถ้าเป็น day care (ระหว่างลูกหลานไปเที่ยวสมบุกสมบันแถวนั้น) คงพอไหว จำพวกงานศิลปะ ทำสวนเล็กๆ ถ่ายทอดประสบการณ์ชีวิต ฯลฯ อะไรที่มีคุณค่า ไม่ทำให้เหงา และกลับไปทำที่บ้านได้น่ะครับ — เวลาว่างที่ไม่มี “ลูกค้า” ก็เอามาทดลอง+เรียนรู้+ผลิตชุดความรู้เรื่องการพึ่งตนเอง เครื่องจักรกลทางการเกษตรที่สร้างเอง ฯลฯ
ส่วนเรื่องเลี้ยงตัวเองได้นั้น น่าจะอิงกับการเกษตรครับ ผมสนใจพวก biomass gasification(ต้นกำลัง) และพลังงานทดแทน(แดด น้ำ ลม) สวนไผ่(biomass) wood pellet(biomass) ทานตะวัน(น้ำมัน) เอกมหาชัย(น้ำมัน) เห็ด ข้าว แป้ง มัน มะรุม เอาของเหลือใช้มาทำอิฐ เตาเผาอิฐ ปั่นไฟฟ้า/อบแห้งพืชผลทางการเกษตร ฯลฯ… ชักเพ้อเจ้อแล้ว
ท้ายที่สุดแล้ว มันเหมือนเป็น “การลงทุน” ร่วมกันของสังคม เพียงแต่ไม่ต้องการผลตอบแทนเป็นเงินหรือประโยชน์ส่วนตัว — เมื่อวานมีถามมาอีกว่าผมจะย้ายไปอยู่ตรงนั้นเลยหรือเปล่า ก็เลยตอบไปว่าผมไม่ได้คิดจะอยู่ในเมืองมาตั้งนานแล้วครับ ติดขัดที่พ่อแม่แก่แล้วจะพาท่านไปลำบากก็ใช่ที่ แต่ถ้าหากเริ่มต้นได้ ย้ายไปอยู่ที่อากาศดีๆ ก็ไม่เลวครับ ส่วนเวลาที่มีประชุม ก็ค่อยวิ่งเข้าเมืองไป