แนวคิดเกี่ยวกับภัยพิบัติและการจัดการ

โดย Logos เมื่อ 7 August 2010 เวลา 14:06 ในหมวดหมู่ สังคม ชุมชน ครอบครัว #
อ่าน: 5072

แน่นอนว่าไม่มีใครที่อยากให้เกิดภัยพิบัติขึ้น เมื่อเกิดขึ้นคราใด ก็จะมีความเสียหายอย่างหนักเกิดขึ้นในทันที แต่ส่วนหนึ่งเป็นเพราะว่าภัยพิบัติไม่ได้เกิดขึ้นบ่อย บางทีก็ทำให้เราประมาท คิดไปว่าพื้นที่ที่อาศัยอยู่มีความปลอดภัย จึงไม่ได้เตรียมทางหนีทีไล่ไว้

ภัยธรรมชาติเกิดขึ้นเป็นวงกว้าง เมื่อเกิดขึ้นแล้ว ในที่สุดแล้ว ทั้งรัฐและเอกชนจะเข้ามาช่วยเหลือ แต่ปัญหาคือผู้ประสบภัยจะต้องอยู่ให้ได้ก่อนที่ความช่วยเหลือจะเข้ามาถึง

ยังมีภัยอื่นๆ ซึ่งแม้ไม่สร้างความเสียหายร้ายแรงหรือเป็นวงกว้างเท่าภัยธรรมชาติขนาดใหญ่ เช่นสึนามิ ไต้ฝุ่น แผ่นดินไหวรุนแรง แต่ก็สร้างความเสียหายจนชีวิตไม่สามารถดำเนินต่อไปได้อย่างปกติ เช่นภัยแล้ง น้ำท่วม ดินถล่ม ลมกรรโชก พายุ โรคพืช การจราจรติดขัด ไฟฟ้าดับ น้ำประปาไม่ไหล ฯลฯ ภัยต่างๆ เหล่านี้ แม้จะไม่เสียหายร้ายแรงเท่าภัยพิบัติขนาดใหญ่ แต่ก็เกิดขึ้นบ่อยกว่ามาก และมีผลกระทบต่อชีวิตของผู้คนในพื้นที่โดยตรง

โดยเหตุที่พื้นที่กว่าสามร้อยล้านไร่ของแผ่นดินไทย มีความแตกต่างกันมาก อีกทั้งภัยต่างๆ ไม่สามารถทำนายล่วงหน้าได้ (อาจจะยกเว้นเส้นทางพายุ ซึ่งก็ไม่สามารถรู้ได้แน่ชัดว่าจะรุนแรงขนาดไหน) การเตรียมพร้อมจากส่วนกลาง จึงไม่สามารถที่จะป้องกัน แก้ไข บรรเทาความทุกข์ยากที่เกิดขึ้นได้ทัน

ดังนั้นชุมชนคนในแต่ละพื้นที่ จึงต้องเข้าใจความเสี่ยงภัยของตน เพราะความเสี่ยงในแต่ละพื้นที่ไม่เหมือนกัน จะใช้การเตรียมการ หรือการจัดการความเสี่ยงแบบเดียวกันไปหมดไม่ได้

การแก้ไขเหตุการณ์จากภัยพิบัติ เช่นการให้ความช่วยเหลือบรรเทาทุกข์ การสร้างหรือซ่อมแซม จะอย่างไรก็เกิดความเสียหายขึ้นแล้ว จะต้องใช้เวลาและทรัพยากรเป็นจำนวนมาก ไม่ทันต่อความต้องการของผู้ประสบภัยเสมอๆ การเข้าใจความเสี่ยงในพื้นที่และหาทางป้องกันไว้ก่อน จึงน่าจะเป็นวิธีการที่ดีกว่า

ยกตัวอย่างเช่น พื้นที่นากว้างใหญ่นอกเขตชลประทาน มีโอกาสทั้งเกิดความแห้งแล้งจากกรณีฝนไม่ตก จึงควรขุดแหล่งน้ำของชุมชนไว้ใช้ร่วมกัน แต่หากฝนตกหนัก แหล่งน้ำชุมชนก็จะเป็นพื้นที่รองรับน้ำ สามารถบรรเทาน้ำท่วมฉับพลันได้บ้าง ในพื้นที่ที่ถูกไถจนเตียน ดินถูกแดดเผาได้โดยตรงเป็นพื้นที่กว้างใหญ่ ก็จะทำให้มีความร้อนสะสมในดินสูง เมื่อดินร้อน ทำให้เมฆก่อนตัวเหนือพื้นที่ได้ยากขึ้น พื้นที่แบบนี้ มีโอกาสที่จะเกิดลมกรรโชก หรือพายุฤดูร้อนได้ง่าย เราสามารถลดโอกาสที่จะเกิดความเสียหายจากพายุลมกรรโชกได้โดยปลูกไม้ยืนต้นที่มีความหนาแน่นพอสมควร ติดกันเป็นกลุ่มก้อน เช่นป่าชุมชน หากมีลมกรรโชก แนวของกลุ่มต้นไม้จะดันลมให้ลอยข้ามต้นไม้ไป ทำให้ผลของลมต่อบ้านหรือยุ้งฉางมีน้อยลง ยิ่งกว่านั้น ร่มเงาของไม้ใหญ่ จะช่วยลดอุณหภูมิภายใต้ร่มเงาของไม้ ทำให้เกิดกระแสลมอ่อนๆ เย็นสบาย

ตามแนวทางการจัดการภัยสากล แบ่งเหตุการณ์เกี่ยวกับการจัดการภัยที่ทำให้ชีวิตไม่สามารถดำเนินไปตามปกติได้เป็น 4 ขั้นตอน คือ

  1. การป้องกันและเตรียมพร้อม เป็นการประเมินภัยคุกคาม ประเมินจุดอ่อน ประเมินความเสี่ยง กำหนดมาตรการป้องกัน รวมทั้งเเรื่องที่เกิดจากความตั้งใจและไม่ตั้งใจ ภัยธรรมชาติ รวมทั้งการเตรียมความพร้อม เช่นถ้าหมู่บ้านตั้งอยู่กลางหุบเขา ก็มีความเสี่ยงจากน้ำป่า แต่ถ้าภูเขามีความเสี่ยงต่อดินถล่ม การหนีน้ำขึ้นเขาจะไม่ใช่การทางหนีทีไล่ที่ดี เป็นต้น เรื่องเช่นนี้ ต้องศึกษาเตรียมการล่วงหน้า
  2. การควบคุมภาวะฉุกเฉิน เป็นการกำหนดวิธีการในการระงับเหตุอลหม่านที่เกิดขึ้น ซึ่งครอบคลุมทั้งก่อนเกิดเหตุ ระหว่างเกิดเหตุ การระงับเหตุ จนกระทั่งยุติเหตุการณ์ไว้ได้ รวมถึงวิธีในการเตือนภัย ในส่วนนี้ มักจะเป็นหน้าที่ของส่วนกลาง แต่ว่าพื้นที่ประสบเหตุก็จำต้องเตรียมพร้อมสำหรับการประสานงานเช่นกัน เช่นให้ข้อมูลเกี่ยวกับความเสียหายอย่างถูกต้องรวดเร็ว เพื่อที่ความช่วยเหลือจะได้มายังพื้นที่อย่างถูกต้องรวดเร็ว
  3. ความอยู่รอดของผู้ประสบภัย ในระหว่างที่เหตุการณ์ยังดำเนินอยู่ หรือเป็นช่วงหลังเหตุการณ์แล้วแต่มีความเสียหายจนชีวิตปกติไม่สามารถดำเนินต่อไปได้ เช่นแหล่งน้ำสะอาด แหล่งอาหาร พื้นปลอดภัยสำหรับพำนักชั่วคราว พลังงานสำรอง หรือระบบโทรคมนาคมเพื่อติดต่อประสานงานกับผู้ที่จะมาช่วยเหลือ เป็นต้น
  4. การฟื้นฟู เพื่อที่จะช่วยให้วิถึชวิตของผู้ประสบภัย กลับสู่สภาพปกติให้เร็วที่สุด อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้มักเป็นความช่วยเหลือในระยะยาวอย่างน้อยก็ยาวกว่ากระแสความสนใจของสังคมมีต่อภัยที่เกิดขึ้นมาก

แม้ว่าคนไทยมีน้ำใจช่วยเหลือกันและกันในยามทุกข์ยาก ดังปรากฏมาตั้งแต่มหาวาตภัยถล่มแหลมตะลุมพุกในปี พ.ศ.2505 อันเป็นเหตุให้จดทะเบียนจัดตั้งมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ในพระบรมราชูปถัมภ์ ตลอดจนหน่วยงานส่วนกลางมีหน้าที่ที่จะช่วยบรรเทาทุกข์ที่เกิดขึ้นกับอาณาประชาราษฎร์ แต่ผู้ประสบภัยก็ยังต้องมีชีวิตอยู่ได้จนความช่วยเหลือมาถึง

เมื่อเกิดภัยพิบัติขึ้น ความสูญเสียต่อชีวิตส่วนหนึ่ง เป็นเพราะไม่ได้เตรียมการวางแผนและฝึกซ้อมไว้ล่วงหน้า เมื่อเกิดเหตุจึงไม่รู้ว่าควรจะทำอย่างไร

« « Prev : ค่าย TT&T รุ่น 1

Next : แล้งจัดมาครึ่งค่อนปี ตอนนี้น้ำท่วม แล้วจะทำอย่างไร » »


ผู้ใช้ Facebook สามารถให้ความเห็นที่นี่ได้ โดยกด Like เพื่อแสดงตัว

1 ความคิดเห็น


แสดงความคิดเห็น

ท่านอยากจะเข้าระบบหรือไม่


*
To prove you're a person (not a spam script), type the security word shown in the picture. Click on the picture to hear an audio file of the word.
Click to hear an audio file of the anti-spam word


Main: 1.5597951412201 sec
Sidebar: 1.2749738693237 sec