ค่าย TT&T รุ่น 1
อ่าน: 5273ผู้บริหารระดับกลางจากTT&T ไปเรียนรู้ที่สวนป่า 5 รุ่น เห็นครูบาวิ่งรอกแล้ว ผมเห็นใจมากครับ จึงอยากไปช่วยแบ่งเบาภาระบ้าง แต่ก็ยังมีอีกเหตุผลหนึ่ง คือเมื่อคนทำงานมีใจสู้ ผมก็อยากไปร่วมให้แง่คิดบ้าง จะได้มาก ได้น้อย หรือไม่ได้อะไรเลย ก็แล้วแต่ครับ เมื่อให้ไปแล้ว ไม่มียึกยัก — ในส่วนที่ผมสังเกตเห็นและได้พูดคุย สถานการณ์ของบริษัทไม่ได้เป็นเหมือนกับที่ถูกถ่ายทอดปรุงรสมาไม่รู้กี่ตลบ แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะปกตินักจนเต๊งแฉะเรื่อยเจื้อย ทำเป็นทองไม่รู้ร้อนได้
ไปถึงสวนป่าเอาตอนพลบค่ำเมื่อวานนี้ เขียนบันทึกไว้แล้ว แต่ไม่ได้เขียนยาวเพราะว่าไฟดับ ทำให้จอมือถือดูสว่างมาก ล่อแมลงมากวน เป่าไล่เดี๋ยวก็กลับมาอีก ก็เลยเขียนออกมาเป็นบันทึกห้วนๆ นะครับ
เมื่อคืนทีมงานแนะนำวิทยากรที่เพิ่งมาถึงใหม่ มีตั้งหลายเรื่องที่ผมไม่ได้เขียนไว้ในบล็อก (เพราะมันยุ่งยากไม่มีประโยชน์ต่อผู้อ่าน) แต่ก็เล่าได้ถูก แปลว่าทำการบ้านมาแฮะ จากนั้นก็มีการคุยกันนิดหน่อย ก็ไม่ต้องแนะนำตัวกันซ้ำอีก ไม่ใช่เรื่องสำคัญว่าเราเป็นใคร แต่สำคัญที่ทำอะไรต่างหาก ตั้งใจว่าอยากจะถามอะไรก็ให้ถาม ส่วนวิธีการของผม มักตอบไม่ตรงคำถาม! แต่ตอบเรื่องที่อยากตอบแบบที่คิดว่ามีประโยชน์ต่อผู้ฟังมากกว่า ดังนั้นจึงใช้เวลาบ้างที่จะเล่าถึงประสบการณ์ชีวิต ในส่วนที่น่าจะเกี่ยวกับสถานการณ์ที่ผู้ฟังประสบอยู่
ในเมื่อเปิดโอกาสให้ถามได้โดยอิสระแล้ว โปรแกรมของวันนี้จึงลดเหลือแค่ Management exercises เตรียมไปจากบ้านสองชุด คือ Marshmallow Challenge กับ Brain Writing ทั้งสองอัน เคยเขียนบันทึกเอาไว้แล้ว เข้าใจไม่ยาก แต่คุณค่าของเกมอธิบายในห้อง ครูบาวิจารณ์ว่าสนุกมาก เหมาะมาก แต่ว่าเนื่องจากเมื่อคืนไฟดับ เลยจัดสรรอุปกรณ์ไม่ได้ เอามาทำในระหว่างที่บรรยาย กลับเป็นการดึงสมาธิขอผู้ฟังให้สนใจว่านี่มันเรื่องบ้าบออะไร ก็ดีไปอย่าง!
- Marshmallow Challenge: ประสบการณ์การสร้างหอคอย [ทีม]
- Brain Writing: ประสบการณ์ Brainwriting กระตุ้นความคิดใหม่ อิงการระดมสมอง
สำหรับชาวค่าย TT&T รุ่น 1 ที่หาบันทึกนี้เจอ ผมคิดว่าผู้ไปเยี่ยมสวนป่าอีก 4 รุ่น น่าจะได้ประเด็นที่ดีกว่า หากเขาเจอ exercise ทั้งสองด้วยความแปลกใหม่ (และประหลาดใจ) แบบที่ทุกท่านเคยผ่านมาเป็นครั้งแรกนะครับ ผมทิ้งอุปกรณ์ โน๊ตสำหรับประเด็นต่างๆ ไว้ให้แล้ว ถ้าหากจะใช้เล่นกันอีกก็ยินดี — เกมก็คือเกม สำคัญตรงการอธิบายประเด็นครับ
เสียดายที่ต้องบรรยาย จับเวลา ตอบคำถาม และดูแต่ละกลุ่ม ผมจึงไม่ได้ถ่ายรูปปฏิกริยาและผลงานของทั้ง 8 ทีมมา แต่เข้าใจว่าคงมีรูปอยู่ในกล้องอื่นๆ ครับ… อ้อ ปล่อยมุกไปหลายชุด ไม่มีแป็กสักเม็ด
รูป 4 รูป ถ่ายเมื่อเช้า
- พร่องไปเยอะ: ลอมฟางกองใหญ่ พร่องไปแล้วครึ่งหนึ่ง
- เขียว…ได้อีก: ต้นไม้ได้ฝนบริเวณทางเข้า
- ของเล่นใหม่: เครื่องสับกิ่งไม้ อยู่ระหว่างคอกวัวทั้งสอง กิจการเป็นล่ำเป็นสัน วัวอ้วนปี๋
- วาสนายายฉิม: เดินไปเดินมา ไม่ต้องหิ้วตะกร้า ก็ได้เห็ดเป็นกอบเป็นกำ
ทีแรกผมคิดว่าจะกลับบ้านพรุ่งนี้ พอดีครูบาจะต้องเข้ากรุงเทพมาประชุม เมื่อคืนเรียนถามดู บอกว่าจะบินเข้ากรุงเทพ เช้านี้คุยกันอีก ผมก็บอกว่าเมื่อคืนได้นอนเต็มที่แล้ว ดังนั้นกลับกรุงเทพวันนี้เลยก็ได้ ก็ตกลงจะไปด้วยกัน คิดว่าจะออกจากสวนป่าสักสิบเอ็ดโมง (ครูบาคงไม่อยากให้ขับกลับคนเดียว แต่บอกว่าอยากคุยด้วย)
ผมบรรยายช่วงเช้าจบอีก 15 นาทีจะสิบเอ็ดโมง ทิ้งไว้ให้ครูบาสรุปครับ ส่วนตัวเองวิ่งไปเก็บของอย่่างรวดเร็ว พอจะออกเดินทาง ที่ไหนได้ ขาย จปผ๑/๒ ได้ 40 เล่ม เลยนั่งแจกลายเซ็นกัน มีถ่ายรูปหมู่ด้วย กว่าจะเสร็จได้ออกเดินทางก็เที่ยงพอดี
ทีนี้ครูบามีประชุมสำคัญตอนสี่โมงเย็น มีเวลาแค่สี่ชั่วโมงจากบุรีรัมย์ไปกระทรวงศึกษา จะไปยังไงทันล่ะครับ ก็เลยไปส่งครูบาที่สนามบิน ส่วนตัวผมก็ขับกลับบ้าน แต่ GPS ดันแนะนำเส้นทางผ่านบุรีรัมย์-นางรอง-สีคิ้ว แทนที่จะเป็นสตึก-พิมาย-โคราช-สีคิ้ว… เออ ก็ดีเหมือนกัน ไม่ได้ขับเส้นทางนี้นานแล้ว อันนี้แสดงว่าเส้นนางรองกับเส้นพิมาย ระยะไม่ต่างกันมากนักหรอกครับ
สี่โมงสิบห้า ครูบาโทรมาถามทาง ขณะนั้นยังติดอยู่บนถนน ส่วนผมนั้น ลงทางด่วนมาแล้ว อีกสองสามกิโลเมตรก็จะถึงบ้านอยู่แล้ว
« « Prev : มาบ่อย
Next : แนวคิดเกี่ยวกับภัยพิบัติและการจัดการ » »
17 ความคิดเห็น
กรี๊ดด…..
แล้วสวนป่ามีสต๊อค จปผ สำหรับรุ่นต่อไปพอไหมคะ (งก ๆ) :p
ต้นไม้ใบหญ้าดูเขียวครึ้ม หนาตาดีแท้ ภาพสุดท้ายนั่นตรงทางจะไปอาคารหกเหลี่ยมหรือเปล่าคะ อากาศชุ่มชื้นขนาดเจอเห็ดกันถ้วนหน้างี๊เลยเหรอคะ อารายกาน วันนี้ของปีที่แล้วหนูก็อยู่สวนป่านา
เชอะ!
ทาง TT&T ขอ จปผ๑/๒ ที่ยังเหลืออยู่จากที่ขนไป (เหลือ 36 กับ 24 เล่ม) เก็บไว้ที่สวนป่า เพื่อจำหน่ายให้รุ่นอื่นๆ ที่อาจจะสนใจ หากขายได้ ก็จะฝากเงินไว้ที่ครูบาครับ หากขายไม่ได้ ก็จะคืนหนังสือเข้าสต็อค — ยอดขายวันนี้ อัพเดตบัญชีกับตัดสต็อคแล้ว บรรณาธิการดูบัญชีได้ที่เดิม
ภาพสุดท้าย เป็นทางเข้าทางเก่า (จนถึงประมาณเฮฯ5) พอเข้ามาแล้ว ต้องเลี้ยวขวาผ่านเตาเผาถ่าน 5 เตาครับ ตอนนี้มีรั้วไม้ไผ่ขึ้นมาตลอดแนว
ไม่อยากจะคุยว่า…สุดยอดยังไงๆๆๆๆ
บอกไม่ถูก เล่าได้ไม่ถึงใจ นอกจากจะถึงตา
มาดูกันเอาเอง แล้วจะรู้ว่า เทวดาเป่ามนต์อะไรไว้ที่สวนป่า
จึงถูกล่าลายเซ็นจนผมเกือบตกเครื่องบิน อิ
ไม่รู้ว่าจะช่วยได้อย่างไร เอาใจช่วยไปก่อนนะ
แต่ค่ายนี้ ไม่ว่ามาแล้วจะเก็บอะไรไปได้หรือไม่ ถ้าเกิดผลบวกขึ้น นั่นละครับ น่ายินดีที่สุดเลยครับ
#4 ทุกคนก็มีข้อจำกัดไม่เหมือนกัน (และว่างไม่เท่ากัน/ไม่ตรงกัน) พี่สบายใจได้เลยครับ
เคยเล่นเกมคล้าย ๆ กับสร้างหอคอย แต่ต่างก้ันบ้าง ส่วนอีกเกมไม่เคยเล่น…น่าสนใจค่ะ
การเล่มเกมเป็นการกระตุ้นสมองซีกขวา ซึ่งเป็นส่วนที่ควบคุมความคิดสร้างสรรค์ สุนทรียะต่าง ๆ เมื่อสมองซีกขวาได้รับการกระตุ้น จะเกิดเส้นใยสมองย่อย ๆ เชื่อมต่อกันมากขึ้น สมองอีกซีกจึงได้รับการกระตุ้นไปด้วยเช่นกัน ประสิทธิภาพของสมองโดยรวมจึงดีขึ้น
การกระตุ้นสมองทั้งสองซีกไม่ว่าซีกใดซีกหนึ่งจึงมีประโยชน์โดยรวมเช่นเดียวกัน แต่ปัจจุับันระบบต่าง ๆ มักจะมีระบบที่ช่วยกระตุ้นสมองซีกซ้ายมากกว่า ดังนั้นนักจิตวิทยา นักวิทยาศาสตร์จึงส่งเสริมให้คนหันว่ากระตุ้นสมองซีกขวามากกว่า (งานวิจัยว่าไว้เช่นนั้น)
และที่ได้แน่ ๆ ก็คือ เมื่อสมองมีการเชื่อมต่อกันมากขึ้น ก็ทำให้การคิด การใช้่ตรรกะก็มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นด้วย สรุปรวมว่าการเล่นเกมทำให้สมองพัฒนาในด้านที่ไม่ค่อยได้ใช้และได้มองเห็นว่าเรามีโครงสร้างทางความคิด อย่างไรอีกด้วย
อ้อ…นอกจากนี้ส่วนตัวคิดว่า การได้กลับไปเล่นเหมือนเด็ก ๆ อีกครั้ง ก็ทำให้รู้สึกดีค่ะ
ตัวเกมสร้างหอคอยเป็นรูปแบบ ส่วนตัวเนื้อหาสาระคือประเด็นชวนคิดที่พูดหลังจากนั้น เกมนี้เป็นเพียงเครื่องมือชวนคิด ซึ่งผมไม่ได้บอกว่าจะต้องคิดอย่างไร — เป็นคนนอก จะไปรู้อะไรดีนักหนา — แต่เชื่อว่าใจว่า ผู้บริหารจะจับประเด็นไปปรับใช้ภายใต้ข้อจำกัดในพื้นที่รับผิดชอบของตนได้เอง
ดูเผินๆ คือการสร้างหอคอยให้สูง แต่มีอะไรซึมอยู่ในนั้นเยอะครับ ทุกทีมมีทรัพยากรเท่ากัน มีเป้าหมายร่วมที่ชัด ไม่ว่าทำได้สำเร็จหรือไม่ ก็มีบทเรียน+แง่คิดเสมอ สิ่งที่แต่ละคนได้ ก็ได้เอง เป็นประสบการณ์ส่วนตัว ผมไม่ได้เฉลยว่าจะทำอย่างไร ไม่ได้ตัดสิน เตรียมไม้วัดความสูง(ไว้ขู่) แต่พอหมดเวลาก็ไม่ได้วัดหรอกครับ ความสูงเป็นแค่ดัชนีชี้วัด เรื่องที่อยากให้พิจารณาคือทุกทีมมีทรัพยากรเท่ากัน มีเป้าหมายเหมือนกัน จะจัดการอย่างไรให้ดีที่สุดต่างหาก
มีอยู่ทีมหนึ่งมีความคิดริเริ่มน่าสนใจ ถามผมว่าเชือกนี้ตัดได้ไหม ผมก็บอกว่าได้ซิครับ เป็นทรัพยากรที่ให้ไปแล้ว จะทำอย่างไรก็ทำ; เขาแยกเชือกเป็นเส้นเล็กๆ เอามาพยุงหอคอย ซึ่งแม้จะสร้างไม่สำเร็จ เพราะเชือกที่โยงหอคอยไว้กับพื้น ไม่ได้เสริมสร้างความแข็งแรงของหอคอย ถ้าแตกแรงออกมา จะเข้าใจว่าทำไม อันนี้ต่างกับเสาโทรคมนาคมซึ่งตัวเสามีความแข็งแรง แต่เส้นสปาเก็ตตี้งอได้/หักได้ ไม่มีความแข็งแรง แต่ก็เห็นว่าเขาใช้ทุกอย่างที่มีจนหมด
ทีมที่สร้างสูงที่สุดนั้น ไม่ได้สร้างหอคอยที่ “สูง” เลยครับ ทีมนี้ใช้โครงสร้างที่มั่นคง จึงทำงานได้สำเร็จ ถ้าเป็นโครงสร้างที่สูง แต่ยืนอยู่ไม่ได้โดยอิสระ รับน้ำหนักไม่ได้ ก็จะไม่สำเร็จ! อันนี้แสดงให้เห็นว่าความสำเร็จในการยกเอาดินน้ำมันซึ่งมีน้ำหนัก จะต้องมีส่วนสนับสนุนเพื่อให้เกิดผล แม้ว่าเส้นสปาเก็ตตี้ด้านล่าง จะไม่ได้สัมผัสดินน้ำมันเลย แต่ถ้าไม่มีข้างล่าง ก็ไม่มีข้างบนเช่นกัน
เกมนี้มีต้นทุน เส้นสปาเก็ตตี้เบอร์ 3 แบบกลม ราคา 64 บาท เชือกรัดของหนึ่งม้วน ~20 บาท เทปกาวย่นหนึ่งม้วน ~15 บาท ดินน้ำมันสำหรับเด็กขนาดแท่งชอล์ก 8 สี 25 บาท รวมประมาณ 130 บาท (ซื้อที่คาร์ฟูร์) ใช้สำหรับคนสามสิบกว่าคน ได้สองรอบ เฉลี่ยคนละ 2 บาท แต่บทเรียนที่คนเล่นและคนดูได้ไป น่าจะมีค่ามากกว่านั้นเยอะนะครับ
ส่วนอีกอัน Brain Writing ความจริงก็ไม่ใช่เกมนะครับ เป็นเทคนิคการเสาะหาความคิดใหม่ๆ ในเวลาสั้นๆ จากทุกคนซึ่งมองปัญหาต่างกัน มีคำถามให้หนึ่งคำถาม ให้ทุกคนเขียนความเห็นมาในสองนาที หมดเวลาแล้วเวียนไป แต่ว่าทีนี้พอมีความเห็นใหม่เวียนมา ให้เวลาสองนาทีเท่ากันเขียนคำตอบสำหรับคำถามเดิมอีกคำตอบหนึ่งที่ไม่ซ้ำกับที่เคยเขียนไปแล้ว *หรือไม่* ก็ปรับปรุงความเห็นที่ผู้อื่นเขียนมาก็ได้ หมดเวลาแล้วเวียนอีก
กลุ่มหนึ่งมีสี่คน ใน 8 นาทีก็จะเวียนครบรอบ ให้แต่ละกลุ่มวงคำตอบที่คิดว่าดีที่สุดเอาไว้ (ตัดสินใจกันเอง) ผมไม่ตรวจคำตอบ ไม่ชี้ว่าอันไหนดีหรือไม่ดี ไม่ได้ถามด้วยซ้ำไป ว่าคำตอบที่แต่ละกลุ่มเลือกว่าดีที่สุดนั้นคืออะไร นั่นไม่ใช่ประเด็นครับ
ใน 8 นาที แต่ละกลุ่มเขียนมา 16 ความเห็น มีแปดกลุ่ม เราได้ 128 ความเห็น
ถ้าประชุมกัน จะได้สักกี่ความเห็น — ถ้าระดมสมอง จะได้แสดงความคิดเห็นไหม
ถึงแม้ว่าทั้ง 128 ความเห็น จะไม่ใช่ว่าเหมาะสมทุกอัน เมื่อรวบรวมมาแล้ว ก็อาจจะเห็นความคิดดีๆ โผล่ขึ้นมาบ้างก็ได้ ซึ่งถ้ายังไม่ชัด สามารถเชิญมาแสดงความคิดเห็น สอบถามเพิ่มเติมในภายหลังก็ได้
เทคนิคอย่างนี้ ไม่ต้องเกรงใจกัน ทุกคนได้เสนอความคิดเห็นของตัวเอง ไม่ต้องเกรงใคร (ไม่ถามชื่อด้วยซ้ำไป) น่าจะเหมาะสำหรับองค์กรที่ต้องการความคิดใหม่ๆ เพื่อการเปลี่ยนแปลง
ตามไปอ่าน Brain Writing ดูจะคล้าย ๆ เทคนิคการวิจัยที่เรียกว่า “เดลฟายด์” หลักการก็คือการระดมความคิดเห็นโดยหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้ากัน ลดอิทธิพลจากตำแหน่ง สถานภาพ เพศ อายุ… แต่ก็ต่างกันในบางรายละเอียด
เพียงแต่ Brain Writing ที่ว่าเป็นการใช้ช่วงเวลาสั้น ๆ ในการระดมความคิดได้อย่างหลากหลาย แต่เดลฟายด์ใช้เวลามากกว่า
ส่วน Brain Writing ไม่เลือกผู้ให้ความคิดเห็น แก้ปัญหาความยืดยาดของ Brainstorming อ่านรายละเอียดจากลิงก์ในบันทึกครับ — ถ้าเริ่มต้นที่ขอความเห็น “ผู้เชี่ยวชาญ” แล้ว ก็เป็นการใช้อคติไประดับหนึ่งแล้วเช่นกัน
ไม่ได้ตั้งใจจะเีถียงหรือมองต่างซะทุกทีนะคะ…
ความจริงแล้ว การขอความเห็นจากผู้เชี่ยวชาญ อาจเป็นขั้นตอนลัดตรงในการเสาะหา คัดกรองข้อมูลที่เกี่ยวข้องที่สุดของงานวิจัยหรือเปล่า?
ยกตัวอย่าง หากทำวิจัยเรื่อง “รองเท้าสตรี” แต่ไปสอบถามขอความเห็นจาก ผู้ชาย ก็อาจได้มุมมองที่กว้าง ๆ ที่มองว่ารองเท้าลักษณะอย่างไรที่ผู้ชายคิดว่าเหมาะกับผู้หญิง แต่จริง ๆ แล้ว ผู้ทีใช้รองเท้าที่จะผลิตจริง ๆ คือผู้หญิง ข้อมูลที่ต้องการและตรงจุด จึงควรที่จะได้มาจากผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย
ในขณะที่ Brain Writing เป็นเทคนิควิธีในการที่จะได้ข้อมูล ความคิดในระดับกว้าง ๆ … เพราะที่สุดแล้วก็ต้องนำความคิดที่ระดมมาได้อย่างมากมายนั้น มาคัดกรองอีกครั้ง
และส่วนตัวคิดว่า อคติจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อตัดสินเรื่องใดก็ตาม ด้วยสิ่งอื่นที่ไม่เป็นไปตามเหตุผลที่แท้ัจริง…ค่ะ
ผู้เชี่ยวชาญ มักลึกแต่แคบ ไอน์สไตน์เคยกล่าวไว้ว่า No problem can be solved from the same level of consciousness that created it. ถ้ามีผู้เชี่ยวชาญแล้วไม่มีปัญหา ก็ไม่น่าจะมีอะไรต้องแก้… แต่ปัญหามีอยู่ แล้วแปลว่าอะไร
ความเป็นผู้เชี่ยวชาญ มีค่าก็ต่อเมื่อบริบทของประสบการณ์ในอดีตของเขา ตรงกับปัญหาของเรา อย่างนี้จึงจะเป็นทางลัด ทำให้เราได้คำตอบอย่างรวบรัด นำไปใช้ได้เลย ไม่ต้องเข้าใจอะไรมาก
แต่ถ้าบริบทของปัญหาไม่ตรงกัน ความเห็นผู้เชี่ยวชาญก็เป็นเพียงความเห็นเท่านั้น แต่เรากลับแยกไม่ออกว่าเป็นคำแนะนำที่ดีหรือไม่ เพราะว่าผู้เชี่ยวชาญไม่ยอมบอกว่าไม่รู้ และกำลังคาดเดาบนเหตุผลที่เขาเห็น (ซึ่งก็ไม่แน่ว่าจะเข้าใจถูกหรือไม่) เหมือนถามอาจารย์ซึ่งมีความรู้มากกว่าเราแต่ไม่ได้เชี่ยวชาญในทุกเรื่อง
คนอยู่ใกล้ชิดเหตุการณ์ อยู่หน้างานแท้ๆ เห็นปัญหา เห็นข้อจำกัด กลับไม่ถาม ไปถามผู้เชี่ยวชาญซึ่งไม่รู้ปัญหา ไม่รู้ข้อจำกัด… โอเค ถึงจะได้คำตอบที่ฟังดูมีเหตุผลมา น่าเชื่อถือมาก ยังไงเราก็ต้องมาพิจารณาก่อนอยู่ดีครับ
อคติคงไม่ใช่การตัดสินใจด้วยสิ่งที่ไม่เป็นไปตามเหตุผลที่แท้จริงหรอกครับ ถ้ารู้ว่าอะไรเป็นเหตุผลที่แท้จริงแล้ว การไปถามผู้เชี่ยวชาญ ก็แค่ให้ท่านยืนยันความคิดของเราเท่านั้น (และมีคนโบ้ยได้ถนัดๆ) อคติคือการตัดสินใจเชื่อ-ไม่เชื่อล่วงหน้าโดยไม่ได้พิจารณา
กับผู้เชี่ยวชาญ พูดมาผมก็ฟังนะครับ แต่ผมก็มักจะมีมุมมองของผมเองเหมือนกัน
ทีนี้ Delphi method เป็นเหมือนการขอให้โฟกัสกรุ๊ป (ที่ไม่ได้ clueless) ช่วยออกความเห็นเกี่ยวกับอะไรสักอย่างที่ยังไม่เกิดขึ้น คุณภาพของคำตอบขึ้นกับคุณภาพของคำถาม แต่ถ้าจะสรุปว่าคำตอบจะถูกต้องแน่นอนมีเหตุผล สรุปเร็วไปหรือเปล่าครับ
เถียงผู้ใหญ่และเป็นผู้ใหญ่ที่มีประสบการณ์รวมทั้งฉลาดกว่าเรา… ไม่ค่อยดีเท่าไหร่ เพราะทำให้เสียความมั่นใจ ถึงขั้นเสียความรู้สึกได้ เพราะผู้ที่เด็กกว่า โง่กว่า ประสบการณ์น้อยกว่ามักจะหวั่นไหวหากต้องทำสิ่งที่กระทบกับ Self อันน้อยนิดที่กำลังพยายามสร้างอยู่…ฮา ๆ
แต่…ความรู้สึก “วางใจ” ในโลก(เสียบ้างในบางครั้ง) จะทำให้เรากล้าที่จะเถียงหรือทำสิ่งที่อันตรายต่อความมั่นใจในความฉลาด (โง่น้อย) ของเรา ก็เหมือนเรารู้ว่า พ่อแม่พี่น้องเพื่อนสนิทคงไม่ทำร้ายเราหรอก แม้จะเถียงกันเอาเป็นเอาตาย และเราก็มักจะงี่เง่า ๆ และพูดโง่ ๆ บ้าง
บางทีปัญหาก็คือ เราไม่เข้าใจคำว่า การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ตัวเองชอบเรียกว่า “เถียงอย่างสร้างสรรค์” ไม่ใช่เถียงกัน สรรค์หาวาทะต่าง ๆ มาเชือดเฉือนกันแทบตาย … ทั้งที่ความจริงก็พูดเรื่องเดียวกัน แต่คนละ Frame (of reference) เถียงไปก็ไม่เกิดมรรคผล เสียดายเวลา…
ส่วนในข้อความที่ว่า No problem can be solved from the same level of consciousness that created it. นั้นเห็นด้วยค่ะ หากพูดแบบภาษาง่าย ๆ ก็ หนอนในกองอาจม มองไม่เห็นกองอาจม (อาจม-ขี้) ก็ย่อมรู้สึกดีและมีความสุขกับกองอาจมนั้น
ประเด็นเรื่องประสบการณ์ตรงของคนหน้างานก็เป็นสิ่งหนึ่งที่ต้องฟัง แต่ต้องวิเคราะห์ สังเคราะห์เพิ่ม เพราะก็อาจเข้าทำนองหนอนในกองอาจม…(ไม่ได้ตั้งใจดูถูก) เมื่่ออยู่กับสิ่งใด ก็เคยชินกับสิ่งนั้น ไม่อยากเปลี่ยน และระบบอัตโนมัติของสมองก็จะหาวิธีการที่จะอ้างความคิดของตนให้ชอบธรรม… ดังนั้นฟังได้ ต้องใส่ใจ แต่ก็ต้องหาคนนอกที่ไม่มีผลได้ผลเสียมาช่วยมองด้วย
สำหรับ Delphi ก็คือการขอ consensus จากประสบการณ์ของผู้เชี่ยวชาญ ที่มีบริบทของประสบการณ์ในอดีตของเขา ตรงกับปัญหาของเรา … นั่นเองค่ะ และต้องทำหลาย ๆ ครั้งจนข้อมูลอิ่มตัวแล้ว “สรุปเร็วไปหรือเปล่า”…อาจตอบยาก เพราะเวลาผ่านไป ความจริงและข้อสรุปบางอย่างก็ต้องเปลี่ยนตาม ดังนั้นจะสรุปอะไร ก็ต้องระบุว่า ณ เวลานี้ บริบทนี้…จึงสรุปเช่นนี้
สำหรับคำว่า “อคติ” เห็นด้วยค่ะ ตัวเองมองคำนี้ในมิติที่ตื้นเกินไป
ชอบบรรยากาศแบบนี้…คิดเองว่าทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ได้ดี ไม่ใช่มีแต่คนที่ฉลาด เก่ง ถูก (ต้องแล้วคร๊าบ) อยู่คนเดียว คนอื่น ๆ ก็จะค่อย ๆ ถอยห่างออกไป เพราะ…เอือมระอา เบื่อที่จะแลกเปลี่ยนเรียนรู้…กับคนที่ฉลาดอยู่คนเดียว ไม่เลือกที่เลือกทาง (ข้อนี้เป็นความคิดส่วนตัวนะคะ)
ขอบคุณสำหรับข้อคิดและความรู้ต่าง ๆ ที่ให้ค่ะ
ยายฉิมเก็บเห็ด “กะปู้” ขอรายงานตัว สวัสดีพ่อครูบา และ ท่าน CEO ข้าวโพดที่ซื้อฝากใครไม่รู้แต่ได้แจมด้วย หวานอร่อยค่ะกลับถึงหาดใหญ่วันนี้ทำงานวันแรก เคลียร์งานเสร็จ แวะเข้ามาสมัครสมาชิกเลยค่ะ ไปสวนป่า ได้ความรู้เยอะมาก ๆ ต้นไม้ใบหญ้า หลายอย่างที่ไม่รู้จัก เอ๊ะ ต้นฮว่านง๊อก บ้านเราก็มี ปลูกไว้ดูเขียวดี พ่อครูบาเอามาผัด ๆ ๆ ขอบอก อร่อยมั๊ก ๆ ใครจะไปรู้ว่ามะเขือพวงเอามาทอดไข่เจียว ก็อร่อยได้อีก โดยเฉพาะเห็ดกะปู้ กินได้จริง ๆ แฮะ อร่อยด้วยล่ะ
พ่อครูบา สอนให้รู้ว่าการอยู่ในสภาวะที่ไม่พร้อม เราต้องปรับตัวอย่างไร พ่อไม่บอกนะ คิดเอาเอง เห็นภาพเลยค่ะ ไฟดับ ทุกคืน จุดเทียนก็นั่งเสวนากับเพื่อน ๆ ได้ พอไฟมาแยกย้ายกันไปนอน ( ไม่อยากเห็นหน้ากันว่างั้นเถอะ )
ท่าน CEO ร่างกลม แต่ โค…ตร เก่งฮ่ะ ประสบการณ์การเพี้ยบ ตอบไม่ค่อยตรงคำถาม แต่ สาระล้นเหลือ ท่านบอกว่า ท่านบอกว่าคิดเอาเอง เออ จริง
เกมส์ที่นำมาให้เล่น เหมือนเด็ก ๆ แต่ ไม่ง่ายนะ ในกลุ่มคิดเยอะ เวลาจำกัด เกือบไม่สำเร็จ ดีที่เตรียมแผน 2 ไว้ ได้มาครึ่งทาง ฉุกคิดจากเกมส์ว่า บางครั้งคิดจะทำอะไรในสภาวะที่ไม่พร้อม เวลาจำกัด ต้องทำอะไรที่ง่าย ๆ ผิดพลาดแก้ไขได้ทัน ขอบคุณสำหรับข้อคิดดี ๆ จากทั้ง 2 ท่านค่ะ จะแวะข้ามาใหม่นะคะ เอกสารรอเซ็นต์เพียบค่ะ ไปทำงานก่อนนะคะ
#13 เอ่อ… ยายฉิมคนไหนครับ แฮ่ เยอะแยะไปหมดเลย คือมีคุณสงวนศักดิ์@ยะลา คนเดียวที่มาแนะนำตัว
เกม Marshmallow Challenge ที่เอาไปให้เล่นนั้น ที่จริงน้ำหนักบนยอดหอคอยเป็นก้อน marshmallow ผมเห็นวางขายอยู่เหมือนกัน แต่เป็นของนำเข้า ก็เลยเปลี่ยนเป็นดินน้ำมันแทน; เกมนี้เหมือนเน้นที่ “สูง” ซึ่งเป็นคำย่อมาจาก “สร้างให้สำเร็จโดยให้สูงที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้”
ระหว่าง สูง กับ สำเร็จ นั้น ถ้าให้น้ำหนักไม่เหมือนกัน ก็จะเป็นอย่างที่เห็นกันในหลายๆ กลุ่มนั่นล่ะครับ
ฝากบอกเพื่อนๆ ด้วยว่าถ้าอยากได้หนังสือเพิ่ม ดูได้ที่นี่ครับ ราคารวมภาษีและค่าส่งทางไปรษณีย์แล้ว
WoW
สุดยอด อ่านแล้วปิ้ง !!!
รอแต่นำไปปฏิบัติและปรับใช้นะเนี่ย
ในสังคมไทย มักจะเจอปัญหาพูดมากไม่ถูกที่ถูกเวลา คือเวลาต้องการสร้างสรรค์ดันไม่พูด เช่น ประชุม ระดมสมอง เสนอแนวทางแก้ปัญหา แต่ลองให้นินทาว่าร้ายใคร ใครไม่ดีอย่างไรคิดออก พูดได้ดีที่เดียว ดังนั้นวิธีการ Brain Writing จึงเหมาะมากในการระดมสมองแบบสังคมไทย
[...] ไปอ่านบันทึก เรื่องค่าย TT&T รุ่นที่ 1 มีประเด็นที่สนใจเพิ่มจากบันทึกคือการได้อ่านความเห็นต่างๆ ของหลายๆคนในนั้น …อ่านแล้วรู้สึกว่า การจะเขียนความเห็นต้องอาศัย “ความกล้า” ที่จะมองต่าง มองเหมือน เห็นต่าง เห็นเหมือนแล้วไม่พอ ยังมีเรื่อง “ความกล้า” เขียนบอกแสดงความคิดเห็นของตัวเองในบันทึกของคนอื่นๆ ด้วย [...]