ครบรอบสี่ปีสึนามิ เหตุการณ์ที่เปลี่ยนทัศนะต่อสังคม
อ่าน: 3679หลังจากที่เคยให้สัมภาษณ์สมาคมผู้ดูแลเว็บไทยไว้เมื่อสามปีก่อน ผมไม่คิดว่าอยากจะพูดอะไรเกี่ยวกับเหตุการณ์นี้อีกหรอกครับ แต่ยังมีอีกประเด็นหนึ่งซึ่งผมไม่ได้พูดไว้ตอนนั้น คือเหตุการณ์สึนามิ ได้เปลี่ยนมุมมองและทัศนคติของผมต่อสังคมไปอย่างสิ้นเชิง
สังคมของเราเปราะบางและอ่อนแอเหลือเกิน แต่เราก็ยังประมาท ไม่รู้ตัวเลยว่าการที่ต่างคนต่างอยู่ ไม่มีพลัง คนที่มีความรู้ แต่ไม่สามารถเปลี่ยนความรู้ให้เกิดสิ่งดีขึ้นกับตัวเองและคนอื่นได้ ไม่ต่างอะไรกับคนที่ไม่รู้อะไรเลย
เดิมที ผมมองเหตุร้ายแบบนี้ เหมือนเป็นเพียงเรื่องตื่นเต้นที่เห็นตามโทรทัศน์ แต่การที่ได้เข้าไปลงมือทำอะไรบ้าง แม้จะเป็นเพียงวงนอก ก็ทำให้ได้เห็นความเป็นไปของเหตุการณ์ — ยิ่งอยู่วงนอก ยิ่งเห็นความเป็นไปจากมุมที่คนในไม่เห็นครับ
อยู่วงนอก ตัดสินใจเองได้ พอกันทีกับคำว่า “ต้อง”
การที่ทำอยู่วงนอก เป็นการวางตัวเองไว้นอกข้อจำกัด การอยู่วงนอกเป็นคนละเรื่องกับการนั่งดู/วิจารณ์/ไม่ทำอะไร อยู่วงนอก ทำได้แบบคนวงนอก ไม่เมาหมัด อะไรไม่รู้ ก็ถาม ถามได้ไม่หยาบคายหรอกครับ ก็ไม่รู้นี่
ตอนที่เกิดสึนามิ ผมเลือกเป็นคนวงนอก ตอนนั้น มีอาสาสมัคร ลงไปภูเก็ตกับพังงามาก ตามข้อมูลที่รายงานตัวกับกระทรวงมหาดไทย ก็ห้าหมื่นคน ผมจึงเลือกทำเรื่องข้อมูลผู้เสียชีวิต และผู้สูญหายเสียดีกว่า
ที่เลือกทำเรื่องนี้เพราะไม่มีใคร “ทำ” ครับ มีส่วนราชการตั้งหลายแห่งพยายามกล่าวอ้างว่าตนเป็น *THE* Official Site ในเรื่องโน้นเรื่องนี้ ที่ให้รายชื่อเฉยๆ ก็เยอะ มีเว็บบอร์ดที่พยายามทำเรื่องนี้เยอะ แต่ทุกที่ก็ยังติดอยู่กับ “ขอบเขต” ของตัวเอง ไม่เกิดความร่วมมือกัน
เมื่อหาเจอก็ไม่เอาชื่อออก ส่วนทางญาติผู้ประสบภัย โพสต์ข้อมูลไว้ทั่วไปหมด ส่วนหนึ่งก็เพราะทุกอย่างเป็นภาษาไทย ฝรั่งงงเต็ก… เจอตรงไหน โพสต์ตรงนั้น แล้วก็ไม่กลับมาอ่าน ถึงแม้จะมีผู้แจ้งเบาะแส ก็จะไม่มีทางทราบ เพราะว่าไม่รู้ว่าไปแจ้งไว้ตรงไหนบ้าง เลยกลับมาเช็คไม่ถูก
หลังจากผมหาผู้ประสบภัยเจอ 4-5 คน ก็คิดว่าอย่างนี้ไม่ถูกต้องแล้ว แล้วผมจะจำชื่อที่มีคนร้องขอให้ช่วยหาได้ยังไงหมด ควรจะเขียนโปรแกรม ให้ต่างคนต่างค้นข้อมูลได้เองจึงจะมีประสิทธิภาพพอ ที่เหลือก็เป็นตามที่ให้สัมภาษณ์ไว้ครับ
เลือกทำ
เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น บีบหัวใจเหลือเกิน แต่ยังดีที่มีสติอยู่ จึงฉุกใจคิดได้
คนไอทีอย่างผม จะลงไปช่วยทางใต้โดยไม่มีข้อมูลอะไรที่จะตัดสินใจว่าควรจะทำอะไร แบบนี้น่าเสียดายครับ สภาพร่างกายก็ไม่พร้อม เมืองไทยเรามีคนจิตใจดีที่ลงไปช่วยทันทีตั้งหลายหมื่นคน แล้วเราปฏิบัติต่อคนเหล่านั้นอย่างไร?
อาสาสมัครมาจากทั่วประเทศ มาจากหลากหลายสาขาอาชีพ มีความรู้ ความชำนาญกันคนละอย่าง มีข้อมูลอะไรให้เขาตัดสินใจได้บ้างว่าเขาทำอะไรได้ดี? ในที่สุดก็ไปจบที่การใช้อาสาสมัครเป็นแขนเป็นขาครับ (แรงงาน) ตรงนี้แหละที่น่าเสียดาย แม้อาสาสมัครยินดีทำเต็มที่ แต่ก็ไม่ได้เต็มศักยภาพของแต่ละคน
ตรงนี้ก็เป็นเหตุผลอันหนึ่งที่มาทำ OpenCARE ซึ่งคำว่า CARE ย่อมาจาก Collaborative Activities in Response to Emergencies ส่วนคำว่า Open นั้นมาจาก Open exchange for ทำขึ้นมาก็เพื่อจะให้เกิดความร่วมมือประสานงานกัน เอาผู้ประสบภัยเป็นศูนย์กลาง; ส่วนหน้าตา/เครดิตของหน่วยงานเจ้าของข้อมูล ก็ยังมีอยู่เหมือนเดิมครับ เพียงแต่เมื่อส่งให้กับหน่วยงานข้างเคียง เกิดประโยชน์มากกว่าเก็บไว้คนเดียว: ทำก็ทำไม่ไหว ช้าก็ช้า อย่างนี้ ชาวบ้านผู้ประสบภัยแย่กันพอดี
OpenCARE ไม่แย่งงานใครทำหรอกนะครับ ความซ้ำซ้อนคือความสูญเปล่า แต่ถ้าหน่วยงานทำไม่ไหว ก็ให้ส่งข้อมูลสาธารณะออกมา OpenCARE กระจายให้ทางเบื้องหลัง (ไม่ออกหน้า) คนช่วยมีตั้งเยอะ ขอให้เค้ารู้เถอะว่าจะให้ช่วยอะไรได้บ้าง ควรจะเลิกติดยึดกับการระดมทุนโดยการออกทีวีร้องเพลงนะครับ เหตุการณ์แหลมตะลุมพุกผ่านมาจะห้าสิบปีแล้ว เราก็ยังทำเหมือนเดิมเลย
OpenCARE เป็นแกนของ ISO TC/223 Societal Security (ความปลอดภัยของสังคม และการจัดการกับสิ่งที่ขัดขวางการดำเนินชีวิตปกติ) ซึ่งต่อไปก็จะผ่านกระบวนการมาตรฐานของ ISO ออกมาเป็นคำแนะนำใช้ทั่วโลกครับ
สิ่งนี้เกิดจากประสบการณ์การจัดการสึนามิเมื่อสี่ปีที่แล้ว ซึ่งประยุกต์ใช้กับไฟดับในเมือง อุบัติเหตุทางอุตสาหกรรม หรือแม้แต่การก่อการร้ายได้ เป็นของขวัญของคนไทยที่ให้กับประชาคมโลก
« « Prev : เปิดโปงเบื้องหน้า เบื้องหลัง อีกทั้งแฉเบื้องลึกของลานปัญญา
Next : อดได้ ทนได้ ทำใจได้ » »
4 ความคิดเห็น
ตอนเกิดเหตุสึนามิ ผมไปช่วยค้นหาศพเพื่อนของลูกสาว ผ้าห่อศพไม่พอก็วิ่งไปซื้อเอาไปบริจาค รับนักท่องเที่ยวไปส่งสนามบิน เห็นเจ้าหน้าที่มูลนิธิแต่ละคนที่กลับเข้าที่พักหมดแรงกันไปตามๆกัน ถามดูน้ำก็ไม่ได้อาบ เสื้อผ้าก็ไม่มีเปลี่ยน จะนอนก็ไม่มีมุ้งยุงก็กัด ผมเลยหันมาช่วยพวกเจ้าหน้าที่มูลนิธิ เพราะชาวบ้านที่ประสบภัยมีคนเข้าไปช่วยกันเยอะมีอาหารการกิน มีเสื้อผ้า ของใช้ที่คนบริจาคกันเข้ามา แต่ไม่มีใครนึกถึงคนที่มาช่วยบริการ จึงไปซื้อผ้าขาวม้า ผ้าถุง มุ้ง เอาเสื้อผ้าไปให้ กางเกงใน กาแฟกระป๋อง เครื่องดื่มชูกำลัง มาให้เขาเหล่านั้น เป็นการมองต่างมุมครับ
จำได้ว่าวันที่เกิดเหตุการณ์ กำลังอยู่ในงานเลี้ยง กำลังเฮฮา แต่มีรายงานข่าวนี้เกิดขึ้น รู้สึกสะท้อนใจมาก ว่า ขณะนี้ที่เรากำลังเฮฮาปาร์ตี้กันนั้น อีกมุมหนึ่งกำลังประสบภัยพิบัติใหญ่หลวง รู้สึกเป็นภาระใจที่อยากจะมีส่วนร่วมในการช่วยเหลือแต่ตอนนั้นเราก็ตัวเล็กเกินกว่าจะไปช่วยอะไรได้มากนัก นอกจากบริจาคเงินและสิ่งของไป
ปัจจุบันได้มีส่วนช่วยในมุมที่ตัวเองถนัด และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะทำให้การสื่อสารด้านภัยพิบัติจะเป็นสิ่งที่หลายคน หลายหน่วยงานฯ สนใจ เข้าใจ และให้ความสำคัญมากกว่าที่ผ่านมา เพราะภัยพิบัติ เวลาเกิดขึ้นแป็ปเดียวแต่ความสูญเสียมหาศาลที่ไม่อาจจะเยียวยาได้ด้วยเงินหรือสิ่งใด
จึงอยากขอให้ทุกๆท่านเป็นกำลังใจให้กับผู้ริเริ่ม ผู้ก่อตั้ง หัวหน้าทีม OpenCARE และทีมงานด้วย http://www.opencare.org/
ขอร่วมอนุโมทนาจิตของทุกๆ ท่านและร่วมเป็นกำลังใจให้ด้วยค่ะ