ศูนย์ช่วยเหลือผู้ประสบภัย
อ่าน: 3475เมื่อเกิดภัยพิบัติขึ้น โดยนิยามภัยพิบัติเกินกำลังการจัดการของท้องถิ่น และจะต้องมีความช่วยเหลือจากภายนอกส่งเข้าไปช่วย
เมื่อเกิดภัยพิบัติขึ้นทั่วประเทศ กรุงเทพและปริมณฑลเป็นฐานกำลังสำคัญในการส่งความช่วยเหลือออกไปยังพื้นที่ประสบภัย แม้กระทั่งส่งน้ำดื่มซึ่งทั้งหนักและกินปริมาตรบรรทุกมากไปครึ่งประเทศก็ยังทำกัน อันนี้เป็นเรื่องที่สมควรอยู่แล้วเนื่องจากกรุงเทพมีกำลังมากทั้งทางเศรษฐกิจและคน ยังไม่รวมการจัดการแบบรวมศูนย์จากส่วนกลางอีก
แต่เมื่อกรุงเทพและปริมณฑลประสบภัย ความช่วยเหลือจากต่างจังหวัดนั้นจะยากลำบาก (ไม่ได้บ่น) เพราะว่าประชากรของกรุงเทพและปริมณฑลนั้นมีมากมายเหลือเกิน ทั้งที่อยู่ในทะเบียนและไม่อยู่ อีกทั้งกำลังที่ส่งเข้ามาช่วยนั้นกระจัดกระจายแตกกระสานซ่านเซ็น ไม่สามารถรวมพลังกันได้
ดังนั้นคนกรุงเทพและปริมณฑลตามทะเบียนบ้าน ประมาณ 10.3 ล้านคนจากประชากรทั้งหมด จึงควรยอมรับความจริงว่าต้องช่วยตัวเองก่อนรอให้ใครมาช่วย
ศูนย์ช่วยเหลือผู้ประสบภัยมีหลายลักษณะ แต่โดยหลักการจัดการภัยพิบัติแล้ว ไม่ควรจะตั้งอยู่ในพื้นที่ประสบภัย เพื่อหลีกเลี่ยงการเกิดภัยซ้ำซ้อน ซึ่งมีผลอย่างยิ่งต่อทุกคนในศูนย์ เตี้ยอุ้มค่อมไม่เวิร์คแน่ ถ้าไม่ติดการ์ตูนซูเปอร์ฮีโร่ ก็คงเข้าใจนะครับว่าศูนย์กลางความช่วยเหลือที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ประสบภัยนั้น ส่งอะไรเข้าไปช่วยไม่ได้ เอาอะไรออกมาช่วยคนก็ไม่ได้เหมือนกัน — อาจจะมีจุดกระจายความช่วยเหลือตั้งอยู่ใน- หรือใกล้กับพื้นที่ประสบภัยได้ หากการคมนาคมขนส่งและการติดต่อสื่อสารเป็นไปได้อย่างสะดวก
เมื่อมองไปรอบๆ กรุงเทพแล้ว ชลบุรีน่าจะเป็นฐานที่เหมาะที่สุด เนื่องจากระยะทางไม่ไกล มีถนนลอยฟ้าข้ามแม่น้ำบางปะกง และลอยมาเรื่อยๆ จนเชื่อมต่อกับทางด่วน ซึ่งก็ลอยต่อไปยังส่วนต่างๆ ของเมือง ถ้าจะเจาะถนนเพื่อระบายน้ำ ก็ไม่กระทบต่อการขนส่งความช่วยเหลือบนถนนลอยฟ้า อีกทั้งชลบุรีอยู่คนละลุ่มน้ำ ไม่ได้ขวางทางระบายน้ำอยู่ น้ำท่วมครั้งนี้จึงไม่เป็นภัยคุกคาม
นครปฐมเป็นพื้นที่เสี่ยงและท่วมบางส่วนด้านใกล้กรุงเทพ สุพรรณบุรีตอนล่าง นนทบุรี พระนครศรีอยุธยา สระบุรีเป็นพื้นที่ประสบภัย นครนายกเส้นทางผ่านรังสิตซึ่งถูกตัดขาด นครราชสีมา ไกลไปหน่อย มีถนนหลักผ่านพื้นที่ประสบภัย มีสนามบินซึ่งไกลจากตัวเมือง ปราจีนบุรี ฉะเชิงเทราน้ำท่วมและเป็นทางระบายน้ำ
จากศูนย์ช่วยเหลือผู้ประสบภัยซึ่งตั้งเป็น hub อยู่รอบนอก และมีเส้นทางคมนาคมที่ปลอดภัย สามารถนำความช่วยเหลือส่งยังศูนย์กระจายความช่วยเหลือ (distribution center) ย่อยๆ ในพื้นที่ประสบภัยได้หลายจุดตลอดเวลา ศูนย์กระจายความช่วยเหลือเหล่านี้ ยิ่งอยู่ใกล้ทางด่วนก็ยิ่งดี
ดังนั้น ชลบุรีนั่นละครับ เหมาะจะตั้งศูนย์ช่วยเหลือผู้ประสบภัย
แต่มีเรื่องน่ากังวลเหมือนกัน คือชลบุรีอยู่ใกล้กรุงเทพมาก มีบางแสน เลยไปหน่อยมีนาเกลือ พัทยา จอมเทียน บริเวณเหล่านี้มีที่พักเยอะซึ่งคนกรุงเทพคุ้นเคยดี และเมื่อคนกรุงเทพอพยพ ก็มองที่เหล่านี้นั่นแหละ ดังนั้นการระดมความช่วยเหลือก็จะไม่ง่ายเหมือนก่อนเกิดสถานการณ์ เพราะว่าผู้อพยพต่างตุนสินค้าจำเป็น ซึ่งไม่แตกต่างกับของที่ควรจะส่งเข้ามาช่วยเหลือในกรุงเทพเหมือนกัน!!
เรื่องนี้คงต้องดูฝีมือรัฐบาลว่าจะจัดการอย่างไร เรียนรู้จากดอนเมืองด้วยนะครับ อย่ารวมศูนย์อีก พลาดทีเดียว เจ๊งหมดเลย
« « Prev : วันที่น้ำเข้ากรุงเทพ
Next : ความเห็นผู้เชี่ยวชาญ » »
5 ความคิดเห็น
ถ้าไม่รวมมศูนย์ ก็ต้องอยู่ห่างๆศูนย์ ที่ไหนสบายใจปลอยภัย ก็ไปอยู่ตรงนั้นๆๆ เทอญ..
ตอนนี้ รวมสูญ ไปแล้วครับ อิ
สถานีวิทยุ สุวรรณภูมิ ฉะ ศูนย์แห่งนั้นทุกวัน