สาระของ CSR

โดย Logos เมื่อ 3 April 2009 เวลา 0:24 ในหมวดหมู่ การบริหารจัดการ, สังคม ชุมชน ครอบครัว #
อ่าน: 4219

CSR (Corporate Social Responsibility หรือความรับผิดชอบต่อสังคม) ถูกนิยามโดย องค์การสหประชาชาติว่าคือ “พันธะอันต่อเนื่องของกิจการต่างๆ ที่จะประกอบธุรกิจอย่างมีจริยธรรม เกื้อหนุนการพัฒนาเศรษฐกิจ ตลอดจนเกื้อกูลต่อการปรับปรุงคุณภาพชีวิตของพนักงาน ครอบครัว ท้องถิ่น และสังคมโดยรวม”

ในประเทศไทย มีความพยายามของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ซึ่งได้รับมอบหมายจากรัฐบาลพลเอกสุรยุทธ์ ให้เพิ่มความสำคัญของความรับผิดชอบของบริษัทมหาชนต่อสังคม ในการส่งเสริมการกำกับดูแลกิจการที่ดี (Corporate Governance) ของบริษัทจดทะเบียนด้วย ซึ่งกิจกรรมของบริษัทที่แสดงถึงความรับผิดชอบหรือที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม และสิ่งแวดล้อมจะจัดเป็นด้านหนึ่งของการกำกับดูแลกิจการที่ดีด้วย  ดังนั้น ก.ล.ต. จะกระตุ้นให้บริษัทจดทะเบียนให้มีการกำหนดนโยบายและเปิดเผยความสำเร็จในด้านนี้ต่อสาธารณะ

เรื่องนี้ อ่านผ่านๆ ไปก็คงไม่มีอะไร แต่ผมมีนิสัยไม่ค่อยยอมอ่านผ่านๆ ไป ผมคิดว่าเรื่องนี้มีประเด็นครับ

CSR น่าจะเริ่มที่จิตใจเอื้อเฟื้อ เผื่อแผ่ ด้วยความเข้าใจว่าไม่มีประโยชน์ใดๆ หากธุรกิจประสบความสำเร็จอยู่บนความล้มเหลวของผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ในที่สุดก็จะเป็นความสำเร็จที่ไม่มีใครชื่นชม เป็นความสำเร็จบนความเอารัดเอาเปรียบต่อคนรอบข้าง ผลประโยชน์ส่วนตัวมาก่อนสิ่งอื่นเสมอ

ประเด็นคือ การกระตุ้นเป็นรูปแบบครับ แต่สาระคือ จิตใจ คือความเข้าใจในผู้มีส่วนได้เสีย คือการประกอบธุรกิจอย่างมีจริยธรรม-ไม่เอาเปรียบกันและกัน คือสถานการณ์ที่ได้ประโยชน์ด้วยกันทุกฝ่าย (win-win) และคือการขีดวงใหญ่ล้อมรอบทุกคน ทุกคนเป็นพวกเดียวกัน อยู่ในสังคมเดียวกัน

หาก CSR จะต้องเดินด้วยการกระตุ้น ในที่สุดมันก็จะกลายเป็นกิจกรรมทางการตลาด แล้วเราก็อาจจะเห็นการที่บริษัทจดทะเบียน แบ่งเศษเงินมาสร้างภาพลักษณ์ จะเห็นคนที่รักสังคมจนน้ำลายฟูมปากแต่มือไม่เคยเปื้อน ไม่เคยเข้าใจปัญหา-ความเดือดร้อนของคนรอบข้าง ทำกิจกรรมใด ก็เป็นไปเพื่อการประชาสัมพันธ์ สร้างภาพ ใช้เงินนิดหน่อยฟาดหัวให้จบๆ เรื่องไป

ผมคิดว่านั่นไม่ใช่สาระของ CSR ครับ

CSR ที่ดี น่าจะเริ่มด้วยความเข้าใจในเรื่องของความรับผิดชอบต่อสังคม เรื่องจริยธรรม เรื่องผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง เรื่องปัญหาของส่วนรวม และที่อาจจะสำคัญที่สุดคือความจริงที่ว่า จะมีประโยชน์อะไรที่จะทะนงตัวว่าชนะ เวลาอยู่บนกองซากปรักหักพัง หากทุกอย่างที่ทำ ยังตั้งอยู่บนประโยชน์ส่วนตนแทนที่จะเป็นประโยชน์ส่วนรวมแล้ว ใช้งบ CSR เท่าไหร่ก็ไม่ใช่ของแท้ครับ

หากสิ่งต่างๆ ที่เราคิดว่าทำไว้ดีแล้ว แต่คนอื่นไม่เห็น ทำไมจึงแก้ไขด้วยการประชาสัมพันธ์ หรือเอาปริมาณที่ถูกกระตุ้นมาข่ม แทนที่จะพยายามปรับปรุงสิ่งที่ทำให้ดียิ่งๆ ขึ้นไปและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องได้ประโยชน์จริงๆ — การจะช่วยอะไรใคร มีวัตถุประสงค์อยู่ที่การช่วยผู้อื่นเพื่อให้เขาดีขึ้น หรือเป็นการทำให้ตัวเราดีขึ้นในสายตาของผู้อื่น

ทำ CSR แบบประชาสัมพันธ์ไปเพื่อหลอก หรือปลอบใจว่าตัวเอง “ดี” หรือเปล่า?

ความตอนหนึ่งจากพระราชดำรัส ที่พระราชทานแก่ พล.อ.สุจินดา คราประยูร และ พล.ต.จำลอง ศรีเมือง เมื่อวันที่ ๒๐ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๓๕

ปัญหาของวันนี้ ไม่ใช่ปัญหาของการบัญญัติ หรือแก้ไขรัฐธรรมนูญ ทุกวันนี้คือความปลอดภัย ขวัญดีของประชาชน ซึ่งเดี๋ยวนี้ประชาชนทั่วไปทุกแห่งทุกหน มีความหวาดระแวงว่าจะเกิดอันตราย มีความหวาดระแวงว่า ประเทศชาติจะล่มจม โดยที่จะแก้ไขลำบาก ตามข่าวที่ได้ทราบมาจากต่างประเทศ เพราะเหตุว่าในขณะนี้ ทั้งลูกชายทั้งลูกสาวก็อยู่ต่างประเทศ ทั้งสองก็ทราบดี แล้วก็ได้พยายามที่จะแจ้งให้กับ คนที่อยู่ในประเทศเหล่านั้นว่า ประเทศไทยนี้ยังแก้ไขสถานการณ์ได้ แต่รู้สึกว่าจะเป็นความคิด ที่เป็นความคิดแบบหวังสูงไปหน่อย ถ้าหากว่าเราไม่ทำให้สถานการณ์อย่าง ๓ วันที่ผ่านมานี้สิ้นสุดไปได้ ฉะนั้นก็ขอให้โดยเฉพาะสองท่าน คือพลเอกสุจินดา และพลตรีจำลองช่วยกันคิด คือหันหน้าเข้าหากัน ไม่ใช่เผชิญหน้ากัน เพราะว่าเป็นประเทศของเรา ไม่ใช่ประเทศของหนึ่งคนสองคน เป็นประเทศของทุกคน เข้าหากันไม่เผชิญหน้ากันแก้ไขปัญหา เพราะปัญหามีอยู่ ที่เวลาเกิดจะใช้คำว่า บ้าเลือด เวลาคนมีการปฏิบัติรุนแรงมันลืมตัว ลงท้ายเขาไม่รู้ว่าตีกันเพราะอะไร แล้วก็จะแก้ปัญหาอะไร เพียงแต่ว่าจะต้องเอาชนะ แล้วก็ใครจะชนะ ไม่มีทาง อันตรายทั้งนั้น มีแต่แพ้ คือต่างคนต่างแพ้ ผู้ที่เผชิญหน้าก็แพ้ แล้วที่แพ้ที่สุดก็คือประเทศชาติ ประชาชนจะเป็นประชาชนทั้งประเทศ ไม่ใช่ประชาชน เฉพาะในกรุงเทพมหานคร ถ้าสมมติว่า เฉพาะในกรุงเทพมหานครเสียหายไป ประเทศก็เสียหายไปทั้งหมด แล้วก็จะมีประโยชน์อะไรที่จะทะนงตัวว่าชนะ เวลาอยู่บนกองซากปรักหักพัง

ฉะนั้นจึงขอให้ทั้งสองท่านเข้ามา คือไม่เผชิญหน้ากัน แต่หันเข้าหากัน และสองท่าน เท่ากับเป็นผู้แทนฝ่ายต่างๆ คือไม่ใช่สองฝ่าย ฝ่ายต่างๆ ที่เผชิญหน้ากัน ให้ช่วยกันแก้ปัญหาปัจจุบันนี้ คือความรุนแรงที่เกิดขึ้น แล้วก็เมื่อเยียวยาปัญหานี้ได้แล้ว จะมาพูดกัน ปรึกษากันว่าจะทำอย่างไร สำหรับให้ประเทศไทย ได้มีการสร้างพัฒนาขึ้นมาได้ กลับคืนมาได้ด้วยดี อันนี้ก็เป็นเหตุผลที่เรียกท่านทั้งสองมา และก็เชื่อว่าทั้งสองท่าน ก็เข้าใจว่า จะเป็นผู้ที่ได้สร้างประเทศจากซากปรักหักพัง แล้วก็จะได้ผลในส่วนตัวมากว่าได้ทำดี แก้ไขอย่างไรก็แล้วแต่ที่จะปรึกษากัน ก็มีข้อสังเกตดังนี้

« « Prev : สิทธิเด็ก

Next : ภาพทั้งหมดของเฮแปด » »


ผู้ใช้ Facebook สามารถให้ความเห็นที่นี่ได้ โดยกด Like เพื่อแสดงตัว

ความคิดเห็นสำหรับ "สาระของ CSR"

ไม่มีความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็น

ท่านอยากจะเข้าระบบหรือไม่


*
To prove you're a person (not a spam script), type the security word shown in the picture. Click on the picture to hear an audio file of the word.
Click to hear an audio file of the anti-spam word


Main: 2.195109128952 sec
Sidebar: 0.21076083183289 sec