มนุษย์เป็นสัตว์โลกที่ดูยาก — บุคคลสี่จำพวก
อ่าน: 3891เอามั่งหิ! สืบเนื่องจากการที่มีคนเมาแล้วขับแบบวิปลาส ทำให้ผู้คนเดือดร้อนกันมากมาย
เขาชนเสาหลักถนนแล้วเร่งเครื่องหนีเลยชนรถคันหนึ่ง จากนั้นก็จะขับรถชนคนที่ออกมาบอกให้เขาจอด แล้วเร่งเครื่องจะหนีแต่คงหลงทิศเลยหันรีหันขวางกลางถนนแล้วพุ่งมากวาดรถฝั่งตรงข้าม จากนั้นจะเปิดรถหนี แต่ถนนหน้าบ้านแคบและชาวบ้านออกมากันแล้ว จะปีนรั้วบ้านข้างๆเลยถูกสะกัดไว้ค่ะ… ใบขับขี่ก็ไม่มี เมามาก จะหนี เจตนาชนคน
ไม่รู้เป็นยังไง เรื่องคนที่ชอบก่อความเดือดร้อนนี้ รู้สึกคลับคล้ายคลับคลาว่าเคยอ่าน จึงไปค้นดู ก็เจอในกันทรกสูตร จะอ่านโดยละเอียดก็เชิญที่ลิงก์ที่ให้ไว้นะครับ
ส่วนเรื่องบุคคลสี่จำพวก โผล่มาระหว่างที่นายเปสสะ กับนักพรตกันทรกะเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า นายเปสสะตั้งข้อสังเกต (ตามหนังสือพระไตรปิฎก ฉบับที่ทำให้ง่ายแล้ว ของ อ.วศิน อินทสระ) ว่า
มนุษย์เป็นสัตว์โลกที่ดูยาก เข้าใจได้ยาก มนุษย์ที่ดีมีน้อย ส่วนมากเป็นกากเดนมนุษย์ ชอบโอ้อวด (และมีมายา) ส่วนสัตว์เดียรัจฉานตื้น คือดูง่าย เข้าใจได้ง่าย เปิดเผย มีความรู้สึกอย่างไรแสดงตนอย่างนั้น ส่วนมนุษย์คิดอย่างหนึ่ง พูดและกระทำอย่างหนึ่ง กาย วาจา ใจ ไม่ตรงกัน การที่พระพุทธองค์ทรงฝึกมนุษย์ได้นั้น จัดว่าเป็นสิ่งที่อัศจรรย์อย่างยิ่ง เพราะมนุษย์เป็นสัตว์โลกที่รกชัฏดูยาก
พระพุทธเจ้าตรัสรับรองว่ามนุษย์ดูยาก สัตว์ดูง่ายกว่า แต่ยังพอจัดมนุษย์เป็นสี่จำพวกได้ (เพื่อที่จะได้พิจารณาให้ชัดขึ้น) คือ
- ทำให้ตนเดือดร้อน และขวนขวายทำให้ตนเดือดร้อน
- ทำให้ผู้อื่นเดือดร้อน และขวนขวายทำให้ผู้อื่นเดือดร้อน
- ทำให้ตนและผู้อื่นเดือดร้อน อีกทั้งขวนขวายทำให้ตนและผู้อื่นเดือดร้อน
- ไม่ทำให้ตนและผู้อื่นเดือดร้อน และไม่ขวนขวายทำให้ตนและผู้อื่นเดือดร้อน
แล้วทรงตรัสถามว่านิยมแบบไหน เพราะอะไร นายเปสสะซึ่งเป็นบัณฑิต ไม่นิยมสามจำพวกแรกแน่นอนอยู่แล้ว แต่เมื่อได้ฟังการจำแนกแบบนี้ เขาก็จำแนกคนได้ชัดเจนขึ้น แล้วทูลลากลับ… หลังจากนายเปสสะและนักพรตกันทรกะทูลลากลับไปแล้ว สงฆ์ที่เฝ้าอยู่ได้ทูลถามถึงบุคคลสี่จำพวก ซึ่งพระพุทธองค์ได้ทรงแสดงอรรถาธิบายโดยพิสดาร ซึ่งอ่านได้จากลิงก์กันทรสูตรข้างบนครับ
ถ้าตีความแบบผมในทางโลก ผิดหรือถูกไปพิจารณากันเองนะครับ ก็คงใกล้เคียงกับ:
พวกที่ 1 ชอบตั้งกฎเกณฑ์ต่างๆ สำหรับตนเอง ต้องอย่างนี้ ต้องอย่างนั้น อันเป็นความเดือดร้อนลำบากทั้งสิ้น ไม่มีเหตุผล ไม่เป็นธรรมชาติ บางทีก็อาจจะเลยเถิดไปตั้งกฎเกณฑ์ให้คนอื่นด้วย จริงใจนะครับ! เพียงแต่อินมากเกินไปจนแยกไม่ออกระหว่างความคิดความปรารถนาดี กับความเป็นจริง เมื่อกฎเกณฑ์ที่ตัวเองตั้งใช้ไม่ได้ ก็เป็นทุกข์เพราะความไม่ได้ดังใจ ซึ่งอยู่ดีดี ก็ดันไปตั้งความคาดหวังเอาไว้เอง
พวกที่ 2 คือ พวกที่การเบียดเบียนผู้อื่นโดยไม่รู้สึกอะไร ไม่เลิก และไม่คิดจะเลิกทำอย่างนั้นด้วย อย่างนี้ดีที่สุดแล้ว ฉันถูกเสมอ — ถ้าถูกจริง แม่นจริง ก็ควรจะดูแลบุพการีของตัวเองก่อนนะครับ เพื่อที่ท่านจะได้สิ่งที่ดีที่สุด
พวกที่ 3 … เหมือนธุรกิจการค้าแบบเอาเปรียบ การบริหารแบบสั่งอย่างเดียว การเมืองแบบที่เล่นการเมือง เล่นไม่เลิก …
พวกที่ 4 เข้าใจตนเอง พอเพียง ให้ได้แต่ข้อคิดแต่ไม่บังคับ ไม่เบียดเบียน และไม่เรียกร้องแกมขู่บังคับใคร
การกระทำของพวกที่ 1-3 ไม่ใช่ทางออกสำหรับอะไรเลย ไม่ว่าทางโลกหรือทางธรรมนะครับ แต่ก็ยังมีคนประเภทนี้อยู่มากมาย
Next : ทะเลใต้ » »
4 ความคิดเห็น
ทีนี้ว่า จำพวก 1-3 มักจะไม่รู้ตัว ..มัวยุ่งวุ่นวายกับการหาและทำความเดือนร้อน
จำพวก 4 ถึงมีน้อยแต่คุณภาพก็พอจะจรรโลงโลกให้สงบเย็นทั้งภายในและภายนอก ….และมักเกิดความเดือนร้อนเพราะคนจำพวก 1-3 เบียดเบียน
ทีนี้ว่า การกล่อมเกลาทางสังคมผ่านการเลี้ยงดู การศึกษา การอยู่ในสังคมแบบไหน ก็คงเป็นปัจจัยสำหคัญมากๆ ที่จะสร้างตัวและสร้างคนให้เป็นแบบไหน 1-4
กับสภาพการเลี้ยงดู การศึกษาและสภาพสังคมไทยในระยะที่ผ่านมา คนไทยขาดแรงจูงใจจะเป็นแบบ 4 ทำให้ ช่วงเวลาของแต่ละคนมี 1-4 ถ้าหากว่าพัฒนาตัวเองเสมอก็จะรู้ตัวและเข้าใกล้ 4 และอยู่แบบ 4 ได้ง่ายและเร็ว ระหว่างที่ยังเป็น 1-3 มองไม่เห็นทางแก้ปัญหาของตัวเองก็เบียดเบียนวิ่งเข้าหา 4 แบบพึ่งพิง…แต่ก็กลับไปเป็น 1-3 อีกถ้าหากว่าไม่ลงมือปฏิบัติต้องการแต่ “พอรู้” ว่า 4 เขาทำและอยู่อย่างไร..แต่ถ้าปัญญาพอได้ ก็เป็น 4 ได้บ้าง
รู้สึกว่าชาวเฮฮาศาสตร์จะเป็นจำพวกที่สาม นิดๆ อิอิ
บันทึกนี้ เข้าใจง่ายกว่าอ่านพระไตรปิฏกอีก…
เจริญพร
#2 ผมคิดว่าชาวเฮเป็นหลายแบบ เปลี่ยนไปเปลี่ยนมาเหมือนกันครับ เพราะว่าเราเองก็ไม่นิ่งพอ ก็ต้องพัฒนาต่อไป ถ้าเรายังพยายามจะเป็นพวกที่ 4 ก็จะไม่ใช่พวกที่ 4 แน่นอนครับ… เช่นเดียวกัน ถ้ายังมีความเป็นชาวเฮอยู่ ก็จะไม่ใช่การพัฒนาในระดับที่ 5 ตามบันทึกการพัฒนา “เผ่า”ครับ เพราะยังมีเขา มีเรา
#3 ธรรมะซึ่งพระพุทธเจ้าตรัสไว้ ดีแล้วครับ สาธุ เมื่อโลกเปลี่ยนไป แก่นธรรมยังคงอยู่เช่นเดิม เป็นแบบหลวงพี่ติ๊กเคยให้แง่คิดไว้ ว่ารู้ ก-ข-ค ก็สอน ก-ข-ค …ไม่ต้องรอจนรู้ไปจน ฮ แล้วจึงเริ่มสอน (ไม่ต้องตั้งกฎเกณฑ์ให้ตัวเองเหมือนพวกที่ 1 ในบันทึกนี้)