ทะเลใต้
อ่าน: 4956เดิมทีเดียว ไม่คิดว่าจะเขียนบันทึกในวันนี้ เพราะว่าไม่พบประเด็นอะไรที่น่าเขียนครับ แต่เมื่อตอนบ่ายไปประชุมกับหน่วยงานจัดการภัยพิบัติ ก็มีประเด็นที่น่าจะทำความเข้าใจกันอีก
ในบรรดาภัย(ธรรมชาติ)ร้ายแรงนั้น
- แผ่นดินไหวเตือนล่วงหน้าไม่ได้ แถมผู้ประสบภัยรู้ก่อนส่วนกลางแน่นอน อันนี้รวมถึงเขื่อนแตกจากแผ่นดินไหวด้วย
- วาตภัยจากพายุขนาดใหญ่ ทางกรมอุตุนิยมวิทยาสามารถพยากรณ์ความแรง+ทิศทาง และติดตามได้ 7 วันก่อนส่งผลต่อแผ่นดินไทย — แต่พายุขนาดเล็กที่เข้ามาในอ่าวไทยแล้วทวีความรุนแรงขึ้นอย่างฉับพลัน มีความเสี่ยงที่จะเตือน+เตรียมตัวไม่ทัน
- ฝน น้ำป่า ดินถล่ม เกิดจากปริมาณน้ำฝนที่มากผิดปกติ ซึ่งกรมอุตุฯ เตือนล่วงหน้าเช่นกัน ทางกรมทรัพยากรธรณี มีแผนที่ภูเขาที่เสี่ยงต่อดินถล่มอยู่แล้ว และกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ก็ได้แจ้งเตือน+ฝึกซ้อมชาวบ้านในพื้นที่ล่วงหน้าสำหรับความเสี่ยงในรูปแบบต่างๆ รวมทั้งปริมาณน้ำในเขื่อน
- เขื่อนแตก มักจะมีอาการปรากฏก่อนซึ่งตรวจได้ด้วยเครื่องวัดความเร่ง (แผ่นดินไหว) และการบำรุงรักษาปกติ
- ภัยแล้ง ดูจากปริมาณน้ำฝนสะสม และปริมาณน้ำในเขื่อน
- สึนามิ อันนี้ไม่เกิดบ่อย แต่อาจสร้างความเสียหายได้สูง และเป็นวงกว้าง
สึนามิมักเกิดจากการเปลี่ยนแปลงระดับของเปลือกโลกอย่างกระทันหัน ทำให้น้ำถูกผลักจนเป็นคลื่นที่มีกำลังแรง แผ่นดินไหวในทะเล ก็มักจะเกิดในบริเวณรอยต่อของแผ่นเปลือกโลก ซึ่งในเขตทะเลจีนใต้และอ่าวไทย อยู่ไกลถึงฟิลิปปินส์และอินโดนีเซีย ซึ่งหากเกิดแผ่นดินไหวที่บริเวณเหล่านี้แล้วเกิดสึนามิ เราจะได้รับทราบเหตุการณ์ล่วงหน้าหลายชั่วโมง จากฟิลลิปปินส์ อินโดนีเซีย และเวียดนาม
ในส่วนของอ่าวไทยนั้น มีสภาพตื้นมากเมื่อเทียบกับทะเลเปิด หากเกิดสึนามิฝั่งอ่าวไทย เมื่อคลื่นเดินทางเข้ามาในเขตน้ำตื้น ก็จะยกตัวขึ้นสูง แต่เนื่องจากยังอีกเป็นระยะทางอีกไกลกว่าจะถึงฝั่ง คลื่นน่าจะจะเสียพลังงานไปจนลดทอนความสูง+ความรุนแรงลงได้มากแล้ว
แต่ฝั่งอันดามันนั้น ในแง่ของความเสี่ยงต่างกันโดยสิ้นเชิง มีรอยแยกใหญ่วิ่งอ้อมเกาะสุมาตรา วกขึ้นเหนือผ่านเกาะนิโคบาร์ของอินเดีย ไปขึ้นแผ่นดินวิ่งผ่านพม่า ไปบรรจบกับเทือกเขาหิมาลัย
แผ่นดินไหวมักเกิดขึ้นที่เส้นสีแดงในรูป
ทุ่นเตือนภัยสึนามิของสหรัฐ วางไว้ในมหาสมุทรอินเดียสองตัว ตัวแรกอยู่กลางมหาสมุทรอินเดียระหว่างไทยกับศรีลังกา 600 ไมล์ทะเลจากภูเก็ต ทางตะวันตกของระนอง ส่วนอีกตัวหนึ่งนั้นวางไว้ทางตะวันตกเฉียงใต้ของเกาะสุมาตรา แต่ทว่าทุ่นตัวที่สองนั้น ขาดการติดต่อกับศูนย์มานานแล้ว เข้าใจว่าถูกเรือเกี่ยวไปแล้ว! ดังนั้นในขณะนี้ มหาสมุทรอินเดียจึงเหลือทุ่นอยู่ตัวเดียว
ท่านอาจจะแปลกใจว่าทำไมทุ่นสึนามิซึ่งกรมอุตุฯ เป็นเจ้าของจึงไปอยู่กลางมหาสมุทร แทนที่จะมาอยู่ใกล้ฝั่งไทย — ผมตอบไม่ได้ว่าทำไมไปอยู่ตรงนั้นหรอกครับ — แต่บอกได้ว่าคลื่นเคลื่อนที่ในน้ำลึกได้เร็วกว่าในน้ำตื้น ดังนั้นด้วยระยะจากรอยแยกที่เท่ากัน วางไว้ในทะเลลึก คลื่นสึนามิจะมาถึงก่อน
ถ้าเทียบกับการวางทุ่นไว้ที่ไหล่ทวีป ระหว่างรอยแยกกับฝั่งอันดามันของไทยแล้ว เราอาจรู้สึกว่าชัวร์กว่า แต่ข้อเท็จจริงคือทะเลตื้นคลื่นวิ่งช้า เราจึงไม่ได้มีเวลาแจ้งเหตุ+อพยพชาวบ้านมากขึ้นเท่าไหร่เลย วางทุ่นไว้กลางอ่าวเบงกอล จะช่วยเตือนภัยศรีลังกาและรัฐทางฝั่งตะวันออกของอินเดียได้ด้วย
แต่ว่าวางทุ่นตรงนี้ ถ้าดูให้ดี ก็มีความเสี่ยงเหมือนกันนะครับ อันแรกคือถ้าทุ่นเกิดไม่ทำงาน (มีเหมือนกันที่ติดต่อดาวเทียมไม่ได้) เราจะได้รับคำเตือนได้อย่างไร พึ่งเทคโนโลยีชั้นสูงมากเกินไปหรือเปล่า อีกอันคือนอกฝั่งระนอง มีสถานีวัดระดับน้ำอยู่ในแนวหมู่เกาะสุรินทร์ ซึ่งสถานีนี้คาดว่าสามารถเตือนภัยสึนามิล่วงหน้าได้ระหว่าง 30-60 นาที ก่อนคลื่นเข้าชายฝั่ง
แต่ก็ยังมีความเสี่ยงอยู่ดี เช่นการเกิดสึนามิจากแผ่นดินไหวบริเวณหัวเกาะสุมาตราเช่นคราว 26 ธันวาคม 2548 หากเกิดซ้ำที่เดิม (โอกาสน้อย) เรามีเวลาประมาณหนึ่งชั่วโมง(กว่าๆ) และคลื่นวิ่งมาถึงภูเก็ตเป็นแห่งแรก (ดูรูปประกอบ) ในบริเวณเส้นทางของคลื่น ไม่มีเกาะแก่งพอจะตั้งสถานีวัดระดับน้ำหรือเตือนภัยล่วงหน้า
เมื่อคราวที่แล้ว เกาะพีพีมีเวลาประมาณครึ่งชั่วโมงหลังจากคลื่นเข้าภูเก็ต ความเสียหายตามหาดต่างๆ นั้น เกิด*หลัง*จากที่คลื่นเข้าภูเก็ตแล้วทั้งนั้น ถ้าเพียงแต่มีการเตือนภัยกัน ก็น่าจะลดความสูญเสียลงได้บ้างล่ะครับ
อ้อ มีเรื่องสำคัญอีกอย่างหนึ่งที่เราละเลยกัน คือปฏิญญาแทมเพอร์เร ซึ่งเป็นปฏิญญาที่ผูกมัดประเทศกับการช่วยเหลือทางมนุษยธรรมในกรณีภัยพิบัติทางธรรมชาติ เมืองไทยไม่ให้สัตยาบันในปฏิญญานี้นะครับ ดังนั้นความช่วยเหลือจากต่างประเทศที่จะมายังคนไทย (หรือไปพม่ากรณีพายุ NARGIS-08) หรือว่าไปที่ลาว ฯลฯ) ก็ต้องผ่านพิธีการศุลกากรตามขั้นตอน อาสาสมัครที่จะเข้ามาช่วยหรือผ่านแดงไปยังประเทศเพื่อนบ้าน ก็ต้องขอวีซ่าและผ่านขั้นตอนตรวจคนเข้าเมือง ฯลฯ
- ปฏิญญาแทมเพอร์เร: ปฏิญญามนุษยธรรมระหว่างประเทศที่ไทยไม่ให้สัตยาบัน (เขียนเมื่อปี 2550)
« « Prev : มนุษย์เป็นสัตว์โลกที่ดูยาก — บุคคลสี่จำพวก
Next : Copenhagen Consensus » »
ความคิดเห็นสำหรับ "ทะเลใต้"