สึนามิกับเกาะพีพี
อ่าน: 6066มีคนกล่าวไว้ว่าพออายุมากเข้า ก็จะชอบนึกถึงอดีต…ที่จริงมันผ่านไปแล้วทั้งนั้นครับ ชอบหรือไม่ชอบ ก็เปลี่ยนแปลงสิ่งที่เกิดขึ้นแล้วไม่ได้ ทำได้เพียงใช้ประสบการณ์ในอดีตมาเป็นบทเรียนเท่านั้น แต่ต้องแยกแยกให้ออกว่ามันบริบทเดียวกันหรือเปล่า ไม่ใช่ตะบี้ตะบันทำให้เหมือนเก่าเพื่อที่จะประสบความสำเร็จเหมือนเก่า
ผมไปเที่ยวพีพีครั้งแรกกับเพื่อนๆ ที่เรียนศศินทร์รุ่นดึกดำบรรพ์ตอนเรียนจบครับ ซึ่งนั่นก็ยี่สิบกว่าปีมาแล้ว ยังไม่พลุกพล่าน(เท่าไหร่)
ต่อมาไม่นาน ได้กลับไปอีกครอบครัวของน้องเขยผมมีรีสอร์ตบนเกาะพีพี น้องสาวกับน้องเขยเจอกันที่นี่ จะว่าไปดูตัวว่าที่น้องเขยก็ได้
เมื่อยี่สิบปีที่แล้วก็ยังไม่ใช่รีสอร์ตหรู มีหาดส่วนตัวอยู่หน้ารีสอร์ตซึ่งหันหน้าไปทางตะวันออก คลื่นลมสงบเพราะมีภูเขาบังอยู่ข้างหลัง น้องเขยบอกว่าที่นี่เป็นฮวงจุ้ยมังกร (อาจจะใช่ก็ได้ครับ เดี๋ยวเล่าต่อ)… เพราะไม่ใช่บริเวณที่นักท่องเที่ยวพลุกพล่าน ทำให้มีความเป็นส่วนตัวสูง รับแขกกระเป๋าหนักจากต่างประเทศ ถึงจะเป็นในช่วงเวลาที่การท่องเที่ยวไม่ค่อยดี โรงแรมก็ยังพออยู่ได้
เมื่อสักสิบปีก่อน ตอนนั้นผมทำงานจนรู้สึกไม่ไหวแล้ว จึงลาพักร้อนเป็นครั้งแรกในรอบหลายปีลงไปเที่ยวเกาะพีพีอีก และไปป่วยหนักที่นั่น ความจริงมีอาการตั้งแต่อยู่ที่ภูเก็ตแล้ว คลื่นไส้มาก แต่ด้วยความไม่รู้ ด้วยความประมาทว่าตัวเองเป็นคนแข็งแรง ไม่เคยป่วยหนัก คิดเข้าข้างตัวเองว่าไม่เป็นไร เดี๋ยวก็หาย ไม่ได้ตระหนักเลยว่าเป็นอาการของหลอดเลือดสมอง… เพราะห่วงเที่ยว ก็ลงเรือไปเกาะต่อ ไปดำน้ำ จนน้องเห็นว่าอาการน่าเป็นห่วง โทรกลับมาที่บ้านคุยกับพ่อ (วิศวกรสองสาขา) วินิจฉัยอาการผ่านโทรศัพท์มือถือจากอาการที่น้องสาวเล่าให้ฟัง แล้วเห็นว่าอาจจะเป็นอาการทางสมอง ให้ส่งตัวกลับทันทีในเที่ยวบินแรก ผมจึงได้นอนโรงพยาบาลเป็นครั้งแรกในชีวิต แม้หลังจากนั้นก็ยังไม่เคยนอนโรงพยาบาลอีก
ฮวงจุ้ยมังกร
ผมก็ไม่มีความรู้ว่าฮวงจุ้ยมังกรอย่างไรหรอกครับ เมื่อห้าปีที่แล้วเกิดสึนามิ เกาะพีพีดอนโดนหนัก แต่รีสอร์ตไม่เสียหายเลย มีแขกตายไปสองคนเพราะว่าข้ามเขาไปเดินเล่นในบริเวณอ่าวต้นไทรที่โดนคลื่นกวาด
เกาะพีพีดอน มีรูปร่างเหมือนตัว H รีสอร์ตอยู่ที่อ่าวโละบาเกาทางตะวันออก ตรงนี้ไม่มีใครมายุ่งเพราะเป็นที่ส่วนตัวมีเอกสารสิทธิ์ถูกต้อง
นักท่องเที่ยว ไปรวมกันอยู่ที่อ่าวต้นไทรและอ่าวโละดาลัม ซึ่งเป็นบริเวณที่แคบ เมื่อก่อนมองเห็นทะเลทั้งสองฝั่ง ตอนนี้คงไม่เห็นแล้วเพราะมีสิ่งปลูกสร้างบังหมด
อ่าวโละดาลัมตื้นกว่าอ่าวต้นไทร(ท่าเรือ)มาก ตังนั้นเมื่อสึนามิมา น้ำในอ่าวโละดาลัมก็จะยกตัวสูงกว่าระดับน้ำในอ่าวต้นไทร และจะกวาดทุกอย่างลงไปทางใต้ ดังเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อห้าปีก่อน
ส่วนที่อ่าวโละบาเกานั้น จะเห็นว่าระยะจากแหลมตง(เหนือสุด)มาถึงรีสอร์ตนั้นเท่าๆกับระยะจากรีสอร์ตไปถึงแหลมโพธิ์(ใต้สุด) ดังนั้นเมื่อน้ำมาจากทางตะวันตก ก็จะมากระแทกกันหน้ารีสอร์ตพอดี ทำลายกำลังของกันและกัน ส่วนน้ำข้างหลังข้ามเขามาไม่ได้
เรื่องนี้ มีการศึกษาของสถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเซีย (AIT) โดย ดร.สุทัศน์ วีสกุลได้ทำแบบจำลองทางคอมพิวเตอร์ออกมาอย่างรวดเร็วหลังเหตุการณ์ ผมโชคดีไปค้นเจอ จึงได้ขออนุญาตอาจารย์นำไปเผยแพร่ ปรากฏว่า simulation ตรงกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริง!
จะเห็นว่าความสูงของระดับน้ำที่อ่าวโละบาเกา ต่ำกว่าที่อ่าวโละดาลัมหลายเมตร ในเหตุการณ์จริง น้ำท่วมรีสอร์ตแค่พื้นครัวเท่านั้น แต่หมู่บ้านและโรงเรียนที่ตั้งอยู่บริเวณอ่าวโละลานา โดนกวาดไปหมด
เตือนภัย
จะเป็นโชควาสนาหรืออะไรก็ไม่ทราบครับ น้องผมและครอบครัวลงไปภูเก็ต กำลังจะไปพีพีในวันนั้นพอดี แต่มีเหตุอะไรสักอย่างทำให้ไม่ได้ออกเดินทางในตอนเช้าตามที่วางแผนไว้ เขาพบสึนามิเข้าภูเก็ตจากบ้านพักริมอ่าวฉลอง ต่างคนต่างไม่แน่ใจว่าเป็นอะไร แต่ส่ง SMS มาบอกภายหลังว่าน่ากลัวมาก อาจเป็นสึนามิก็ได้ ไม่มีใครเคยเห็นเหมือนกัน ทีวีก็ไม่มีข่าวอะไร
ในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว การรบกวนความเป็นส่วนตัวของแขกเป็นเรื่องไม่สมควร แต่ในเมื่อเป็นเรื่องของความปลอดภัย ก็ต้องยอมล่ะครับ จึงโทรศัพท์ไปที่เกาะ สั่งอพยพแขก ตามตัวแขกได้ไม่ครบ หายไปสามคน ทั้งสามไปเดินข้ามเขาไปเที่ยวนอกบริเวณโรงแรม จึงไม่ได้รับการเตือน
จากนั้นอีกครึ่งชั่วโมง สึนามิก็ซัดเข้าเกาะพีพี!
อนุสรณ์
แขกที่หายไปจากโรงแรม เป็นผู้หญิงชาวสวิส กับคู่สามีภรรยาชาวออสเตรเลียซึ่งแต่งงานได้ 8 วัน และกำลังมาฮันนีมูนคู่หนึ่ง ผู้ชายตาย ผู้หญิงปลอดภัย… คนตายก็ตายไปแล้ว ผู้อยู่เบื้องหลังก็ต้องดำเนินชีวิตต่อไป
เมื่อตอนครบหนึ่งปีของเหตุการณ์ รีสอร์ตได้จัดพิธีเล็กๆ ไว้อาลัยให้กับแขกผู้เสียชีวิตทั้งสอง
ถ้าหากใช้ประสบการณ์เป็นบทเรียนสอนใจได้ ความสูญเสียก็คงไม่เสียเปล่าครับ
กรณีของ Troy Broadbridge เขาเป็นผู้เล่นออสเตรเลียนรูลส์ (AFL) ซึ่งเพิ่งถูกคัดเลือกตัวเข้าทีมเมลเบิร์นฟุตบอลคลับ (ดีมอนส์) ในปีนั้นเอง การจากไปของเขา ช็อคคนไปทั่วออสเตรเลีย เมื่อจัดงานรำลึกการจากไปให้ ภรรยาและผู้เล่นในทีม ก็ระดมทุนมาสร้าง Broadbridge Education Center (อาจจะช้าหน่อยเพราะถูกก็อบปี้ไปไว้ที่ยุโรป) ให้กับชาวบ้าน
Trisha ผู้ภรรยา ได้รับเลือกเป็น Young Australian of the Year ในปี 2006 — สังคมที่มี self-esteem สูง สามารถยกย่องชื่นชมและสนับสนุนผู้ที่เสียสละทำงานเพื่อผู้อื่นได้ โดยบริสุทธิ์ใจและจริงจัง… เสียดายที่เมืองไทยไม่เป็นอย่างนั้น…
เมื่อให้แล้ว เขาให้อย่างต่อเนื่องโดยกลับมาทุกปี เด็กชาวบ้านมีเน็ตสำหรับศึกษาวิถีชีวิตที่ต่างออกไปจากชีวิตบนเกาะ มีสารานุกรมสำหรับเยาวชนครบชุดที่รีสอร์ตจัดหามาให้ จ่้างครูมาประจำ มีฝรั่งอาสามาสอนสเปรดชีตและโปรแกรมง่ายๆ
อ่านเรื่องนี้แล้ว คงต้องนึกย้อนถึงตัวเรา ว่าวันที่สึนามิเข้า เรารู้สึกอย่างไร แล้วตอนนี้รู้สึกอย่างไร — วันนั้นทำอะไร แล้ววันนี้ทำอะไรหรือไม่
« « Prev : กังหันปั่นไฟฟ้าจากฝายเตี้ย
Next : เมื่อโลกผลิตน้ำมันได้น้อยลง » »
3 ความคิดเห็น
ตอนนั้นดูทีวีนิดหน่อยไม่รู้ระดับความรุนแรงอะไรค่ำนั้นยังมีงานเลี้ยงที่ทุกคนหลายร้อยชีวิตก็ไม่รู้อะไรจนกลับบ้านเปิดข่าวBBCถึงรู้ว่าเรื่องใหญ่เพราะข่าวออกถี่ยิบหลังจากนั้นคำถามระดมจากสาระทิศเพื่อตรวจสอบว่าได้รับผลกระทบอย่างไรหรือเปล่าภัยคราวนั้รทำให้เกิดการตื่นตัวต่อการสอนเรื่องDIASTERในหลักสะตรแต่ก็เริ่มรู้สึกว่ายังไม่พอเมื่อประเทศเผชิญเรื่องภัยพิยัตบ่อยครั้งรู้สึกว่าหลักสูตรยังเคลื่อนช้ากว่าภาคสังคมและสภาวะของโลกตอนนี้พิมพ์ผ่านมืถือจะทำอย่างไรถึงจะเห็นและตรวจสอบตัวสะกดได้เพราะจอจะทึบไม่เห็นตัวพิมพ์เลยค่ะ
มาอ่านทีหนึ่งแล้ว แต่ไม่มีความเห็นเพิ่ม
มาวันนี้อ่านอีก… คิดถึงประเด็นเรื่อง “การบริจาค” ไปถึง “การให้”
เคยไปดูงานที่อิสราเอล สิ่งที่ประทับใจมาก ๆ คือ ระบบการช่วยเหลือของ “ชาวยิว”
มหาเศรษฐีของโลกมีจำนวนมากที่มีเชื้อสาย “ยิว” ซึ่งรักเผ่าพันธุ์ยิวของตน เนื่องจากเคยถูกทำร้ายและทำลายเผ่าพันธุ์มาก่อน เศรษฐีเหล่านี้จะบริจาคเงินเพื่อซื้อที่ดินคืนจากชาวอาหรับ (ซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินในปัจจุบัน) ใช้เงินจำนวนมากสนับสนุนคนเชื้อสายยิวจากทุกมุมโลกให้กลับมาตั้งรกรากที่ อิสราเอล ซึ่งเขาเืชื่อว่าเป็นดินแดนดั้งเดิมของชาวยิว
เจ้าหน้าที่ของหน่วยงานคล้ายงานประชาสงเคราะห์ของอิสราเอล เล่าว่า หากใครที่จะบริจาคเงินหรือสิ่งของ จะต้องมีพันธสัญญาว่า จะบริจาคงบต่อเนื่องอย่างน้อย 5 ปี นั่นคือ ไม่ใช่บริจาคเพียงชั่วครั้งคราวอย่างฉาบฉวย แต่ต้องมองถึงการดำรงอยู่ การดูแลรักษา และการพัฒนาด้วย
พอคิดถึง “ยกป้าย ถ่ายรูป” ที่คุณLogos เคยพูดไว้… เลยยิ้ม ๆ (แห้ง ๆ) ไม่รู้จะว่าไงต่อ…ไปไม่ถูกเลย
นี่ไงคะ…ความคิดของคนไทยล่ะ!!!
[...] เกาะพีพีมีเวลาประมาณครึ่งชั่วโมงห