นิทานร้อยบรรทัด เล่ม 3

โดย Logos เมื่อ 3 March 2012 เวลา 22:30 ในหมวดหมู่ ภาษา วัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ #
อ่าน: 7798

นิทานร้อยบรรทัด เล่ม 3 เรื่อง คุณครูที่รัก นี้ กรมวิชาการ กระทรวงศึกษาธิการ ได้มอบหมายให้หลวงสำเร็จวรรณกิจเรียบเรียงขึ้น เพื่อใช้เป็นหนังสือสอนอ่านภาษาไทย สำหรับชั้น ป.4 เมื่อปี พ.ศ.2501

ภายในหนังสือ มี 4 เรื่อง ประกอบไปด้วย

  • ตื่นแต่เช้า พึ่งเท้า ไม่พึ่งรถ
  • นักเรียนทั้งหมด รักกัน ฉันพี่น้อง
  • ทุกคนต้อง ร่าเริง ไม่ง่วงเหงา
  • เหงื่อไคลเฝ้าขัดสีทุกวี่วัน

นิทานร้อยบรรทัดเรื่อง “ตื่นแต่เช้า พึ่งเท้า ไม่พึ่งรถ”

เสียงระฆัง ครั้งสอง ดังก้องกึก
นักเรียนวิ่ง กันคักคึก มาเข้าแถว
แต่ละชั้น พร้อมหน้า รักษาแนว
เป็นระเบียบ วินัยแน่ว น่านิยม

ร้องเพลงชาติ เคารพธง ตรงเวลา
ก่อนเริ่มรับ วิทยา เป็นปฐม
แล้วเข้าห้อง ครูประเดิม เริ่มอบรม
วิชาการ เพื่อสะสม ซึ่งความดี

เสียงครูใหญ่ บ่นว่า ผู้มาสาย
“แก้ไม่หาย เป็นอย่างไร ไฉนนี่
ตั้งสองครั้ง สามครั้ง ทั้งวันนี้
ขืนปล่อยไป สายทั้งปี ไม่มีซา”

เด็กชายตุ๊ ถูกดุ ยืนหน้าตื่น
ครูใหญ่ยื่น สองมือ มาแตะบ่า
เพื่อปลอบใจ ด้วยปรานี มีเมตตา
แล้วสอนว่า “มาสาย เสียหายนัก

พวกมาเช้า เขาได้เรียน เขียนอ่านแล้ว
ส่วนตุ๊ยัง ยืนแกร่ว ต้องถูกกัก
เขาได้รับ ความรู้ ครูก็รัก
แล้วก็มัก สอบไล่ ได้ทุกปี

ตุ๊ต้องตื่น แต่เช้า เอาชนะ
ตัวเกียจคร้าน อย่าลดละ ไล่ให้หนี
มันซ่อนตัว อยู่ในมุ้ง มุ่งคอยที
ตุ๊จะตื่น มันคอยวี พัดให้เย็น

ต้องอย่าช้า รีบลืมตา ลุกขึ้นนั่ง
ต้องคึกคัก ขึงขัง ให้มันเห็น
สลัดแขน สลัดขา ท่าจำเป็น
แล้ววัดมัน ให้กระเด็น จากมุ้งไป

ไหนลองซิ ทำให้ดู อย่างครูว่า”
ตุ๊เหยียดแขน สลัดขา ใช่ท่าใหม่
เพราะเคยหัด กายกรรม จำใส่ใจ
พอครูสั่ง ก็ทำได้ ในเดี๋ยวนั้น

ครูว่า “ตัว เกียจคร้าน มันด้านดื้อ
หลุดจากมุ้ง แล้วยื่นมือ เที่ยวยึดมั่น
เกาะที่โน่น ที่นี่ ที่ที่มัน
จะจับตุ๊ ไม่ให้ทัน จากห้องนอน

ฉะนั้นพอ พ้นมุ้ง ต้องมุ่งหน้า
เข้าห้องน้ำ อย่าชักช้า ขยักขย่อน
ขืนวนเวียน อยู่ในห้อง ต้องเดือดร้อน
มันจะต้อง ให้ตุ๊ง่วง ถ่วงเวลา

อ้าว! นั่นตุ้ม ใช่ไหม หลบไปนั่น
มาไม่ทัน ต้องมานี่ อย่าหนีหน้า
มาเร็วเร็ว อย่าร่ำไร ให้ชักช้า
ครูคอยท่า อยู่ทางนี้ หนีทำไม”

ตุ้มวิ่งเหยาะ อย่างฝืน มายืนนิ่ง
ครูสั่งว่า “กลับไปวิ่ง เข้ามาใหม่
เมื่อกี้ยัง ซังกะตาย ไม่เต็มใจ
บอกให้วิ่ง ต้องไว วิ่งจริงจริง”

ตุ้มกลับหลัง วิ่งตื่อ ฮึดฮือ! หอบ
แล้ววิ่งกลับ บรรจบรอบ มายืนนิ่ง
ครูว่า “นั่น ต้องอย่างนั้น อย่าประวิง
คนอ้อยอิ่ง ตัวเกียจคร้าน มันเกาะกวน

ทำไมตุ้ม มาสาย น่าขายหน้า
เพื่อนเพื่อนเขา ไม่ล่าช้า มากันถ้วน”
ตุ้มว่า “ผม มาไม่ทัน รถมันรวน
มันหยุดตาย ไม่ยอมด่วน อย่างกับใจ”

ครูว่า “ตุ้ม เดินไม่เป็น เช่นนั้นหรือ
จึงมัวพึ่ง เจ้ารถดื้อ แก้ไม่ไหว
เดี๋ยวมันเดิน เดี๋ยวมันหยุด ฉุดไม่ไป
ตุ้มทำไม ไม่พึ่งเท้า ของเราเอง

ยิ่งได้เดิน มันยิ่งคล่อง ไม่ต้องแก้
เคยป้อแป้ กลับมีแรง แข็งเขม็ง
เดินใกล้ไกล ถึงไหน มันไม่เกรง
ไม่เคยตาย เท้งเด้ง อยู่กลางทาง”

ตุ้มว่า “ผม เดินก็ได้ แต่ไม่ทัน
เพราะเวลา กระชั้น ไม่ใช่ห่าง”
ครูว่า “พวก นอนไม่หนำ ชอบอำพราง
ยกเวลา ขึ้นมาอ้าง ว่าไม่พอ

ทำไมไม่ ตื่นเช้าเช้า เล่าพ่อตุ้ม
นานเท่าไร นอนไม่คุ้ม ละซีหนอ
รู้ไหมว่า วันเวลา นั้นไม่รอ
ใครจะขอ ผัดผ่อน ไม่หย่อนตาม

ถ้าตื่นเช้า เอาเวลา มาชดใช้
ใกล้หรือไกล ไม่พัก ต้องซักถาม
ไปถึงได้ ไม่มีคลาด พลาดโมงยาม
เพียงหักห้าม ซบเซา เท่านั้นเอง

ตุ๊คงจำ ไว้ได้ ไม่ใช่หรือ
ว่าเกียจคร้าน ตัวดื้อ รังแกเก่ง
และจะทำ อย่างไร ให้มันเกรง
เมื่อตื่นนอน ให้มันเร่ง รีบหนีไป

บอกให้ตุ้ม จำใส่ ใจไว้บ้าง
จะได้สร้าง ตัวขยัน ไว้กันได้
ตัวขยัน หากอยู่ กับผู้ใด
ตัวเกียจคร้าน จัญไร ไม่กล้ารอ

แล้วจะเรียน เขียนอ่าน การศึกษา
ก็รวดเร็ว รุดหน้า ดั่งม้าห้อ
ทั้งพ่อแม่ ครูบา พากันยอ
ได้เชิดชู เหล่ากอ เมื่อเติบโต

ทั้งตุ๊ตุ้ม อยากโตใหญ่ มิใช่หรือ
อยากมีชื่อ มีทรัพย์ นับอักโข
ต้องไม่คบ ตัวเกียจคร้าน พาลเฉโก
เพราะมันเหมือน ตัวโซ คอยเบียดเบียน

จะให้เพลง ทั้งทำนอง ไว้ร้องเล่น
‘เรานักเรียน ชาติเช่น ใช่พาเหียร
ต้องตื่นเช้า มุ่งหน้า มาโรงเรียน
ไม่แวะเวียน เฉื่อยชา มาให้ทัน

ไม่มัวพึ่ง ยวดยาน การไปมา
ต้องหมายพึ่ง แข้งขา ที่แม่นมั่น
เดินเท่าไร มันไม่ตาย ลงกลางคัน
เดินซิเดิน เดินกัน ให้เคยตัว’

จบนิทานร้อยบรรทัด เรื่องที่ ๑


นิทานร้อยบรรทัดเรื่อง “นักเรียนทั้งหมด รักกัน ฉันพี่น้อง”

อ้อยนำช่อ เอื้องฟ้า งามน่ารัก
เข้ามาปัก ไว้ให้ชม ดมกันทั่ว
เช้าวันนั้น เด็กทั้งชั้น ชื่นชมชัว
ครูยิ้มหัว ชมอ้อย พลอยชื่นใจ

“อ้อยน่ารัก เหมือนเอื้อง เฟื่องระย้า
เช้าขึ้นมา ยิ้มแย้ม ดูแจ่มใส
ยิ้มกับครู ยิ้มรับ กับใครใคร
ใครทำได้ เช่นอ้อย แช่มช้อยนัก

แน่ะ! ดูเอื้อน เพื่อนของอ้อย ซิ! หงอยเหงา
ดูรึทำ หน้าเศร้า เหมือนเจ็บหนัก
ยิ้มไม่เป็น หน้าเหมือนใบ้ ใครจะรัก
เพราะใครใคร ทึกทัก ว่าถือตัว

อ้อยบอกหน่อย ได้ไหม ครูอยากทราบ
ไยดวงหน้า หนูเอิบอาบ ช่างยิ้มหัว
หนูอยู่ไหน เพื่อนอยู่นั่น คอยพันพัว
ยามเพื่อนยั่ว อ้อยก็เย้า ได้เข้าที”

อ้อยดีใจ ได้รับชม สมขยัน
รีบขยาย ให้ทั้งชั้น ฟังถ้วนถี่
“อ้อยร่าเริง ทุกเช้าเย็น เหงาไม่มี
แม้เมื่อหลับ ก็ฝันดี ตลอดตืน

ทั้งนี้เพราะ อ้อยชอบอ่าน นิทานสนุก
ชอบดอกไม้ ปลอบปลุก ให้แช่มชื่น
ชอบร้องเพลง กล่อมใจ ให้ครึกครื้น
อะไรอื่น แสลงใจ อ้อยไม่ทำ”

ครูถามว่า “ใครบ้าง เอาอย่างอ้อย”
ตุ๊ว่า “ผม ร้องเพลงบ่อย ตอนค่ำค่ำ
ยามมีเพื่อน ก็ร้องเล่น เป็นประจำ
อยู่คนเพียง ก็พึมพำ เพียงเบาเบา”

ตุ้มว่า “ผม มีดอกไม้ ออกเต็มบ้าน
ทุกเช้าบาน ชมสบาย ไม่มีเหงา
ตื่นแต่มือ หอมตลบ หายซบเซา
มาโรงเรียน ได้แต่เช้า คุณครูชม

อีกทั้งมี นิทาน อ่านสนุก
เรื่องนกเขา จู้กูฮุก ขันขรม
คูกับแมว เป็นคู่ สู้คารม
ด้วยถ้อยคำ ขำคม ควรใส่ใจ”

ครูว่า “เอื้อน มีอะไร อวดไหมล่ะ
คงจะมี แต่ธุระ เป็นเรื่องใหญ่
ไม่ร้องรำ ทำเพลง กับใครใคร
แม้ดอกไม้ ก็ไม่ชม ดมไม่เป็น”

เอื้อนว่า “งาน ที่บ้านมี ไม่มากนัก
พอทำเสร็จ หนูก็พัก นั่ง เดินเล่น
รับสายลม โบกสะบัด พัดเย็นเย็น
คุณครูเห็น ก็คงชม ว่าสมควร”

ครูว่า “เพียง พักร่างกาย พอคลายเหนื่อย
ให้หายเมื่อย ยังไม่ชม ว่าสมส่วน
เพราะสมอง ไม่ได้พัก ซึ่งมักรวน
เป็นต้นเหตุ ก่อกวน ให้ซึมเซา

พักสมอง ต้องร่าเริง ต้องหัวเราะ
กับเพื่อนเพื่อน จึงจะเหมาะ อย่ามัวเขลา
เอื้อนนั่งรับ ลมเฉื่อย เหนื่อยบรรเทา
แต่จิตใจ ขาดเครื่องเร้า ไม่ร่าเริง

เอื้อนต้องชม ดอกไม้งาม ในยามว่าง
อย่ามัวถ่าง ตาเหม่อ ละเมอเหลิง
มองแต่ฟ้า จิตใจ จะกระเจิง
ลอยเตลิด เปิดเปิง ไปเสียไกล

ตุ้มเขามี ไม้ดอก ออกเต็มบ้าน
เอื้อนเสร็จงาน แวะชมเล่น เห็นจะได้”

ตุ้มว่า “ฉัน พร้อมเสมอ ถ้าเธอไป
จะนำให้ เด็ดดม ชมให้เพลิน”

อ้อยว่า “เอื้อน ได้ไปเห็น เป็นต้องชอบ
เขาปลูกไว้ แลรอบ น่าสรรเสริญ
ทั้งไม้ดอก ไม้ใบ ไม่ขาดเกิน
ถ้าพร้อมเพื่อน ได้ไปเดิน เหมือนชมดง”

ตุ๊ว่า “ฉัน ก็เห็น เช่นอ้อยว่า
ตุ้มเคยพา เดินดม ชมแล้วหลง
ทั้งกลิ่นสี ปลุกปลื้ม ลืมไม่ลง
เอื้อนได้ชม แล้วคง คะนึงนาน

คุณแม่ตุ้ม ก็ใจดี ไม่มีสอง
รักพวกเรา รับรอง เหมือนลูกหลาน
เลี้ยงขนม เลี้ยงน้ำ อิ่มสำราญ
คุณพ่อตุ้ม ก็วางงาน มาร่วมวง”

อ้อยว่า “ทั้ง คุณแม่ แลคุณพ่อ
นั่งหัวร่อ มีอารมณ์ สมประสงค์
ที่ตุ้มรัก พวกเรา เหมือนเผ่าพงศ์”
ตุ้มว่า “อ้อย รู้เรื่องคง จะดีใจ

ท่านชมอ้อย ว่าร้องเพลง เก่งที่หนึ่ง
ฟังหวานซึ้ง สมชื่อ ลือไกลใกล้
ข้าข้านบ้าน ถามหา ว่าศิษย์ใคร
ช่างร้องเพลง จับใจ เสียจริงจริง”

ครูว่า “อ้อย ปล่อยฝีมือ ชูชื่อเสียง
ของโรงเรียน ด้วยสำเนียง น่ารักยิ่ง
ขอให้อ้อย ร้องอีกครา อย่าประวิง
ครูจะนิ่ง นั่งฟัง เสียงกังวาน”

อ้อยเอ่ยเอื้อน ว่า “โอ้ พวกเราเอ๋ย
เหมือนหนึ่งเตย แตกรักสมัครสมาน
เป็นเตยหอม หอมฟุ้ง จรุงฆาน
ใครได้ชม ชื่นบาน อิ่มเอมใจ

ด้วยคุณครู คุณแม่ แลคุณพ่อ
ท่านเติมต่อ แต่งเรา เฝ้าแก้ไข
เหมือนปลูกเตย ทะนุถนอม ให้หอมไกล
ขอเทอดคุณ ท่านไว้ ไม่ลืมเอย”

ครูว่า “เพราะ ไหมเอื้อน เพื่อนเขาร้อง
ถ้อย ทำนอง เพราะทุกอย่าง ช่างเฉลย
เสียงขานรับ จับใจ กระไรเลย
ครูไม่เคย ฟังเสนาะ เพราะอย่างนี้

อ้อยจงสอน เพื่อนเพื่อน ทั้งเอื้อนด้วย
ให้ร้องเป็น จะได้ช่วย ชูศักดิ์ศรี
เข้าที่ไหน ใครก็ชอบ มอบไมตรี
เหมือนหนึ่งมี เสน่ห์ลับ จับใจคน

จบนิทานร้อยบรรทัด เรื่องที่ ๒


นิทานร้อยบรรทัดเรื่อง “ทุกคนต้อง ร่าเริง ไม่ง่วงเหงา”

บ่ายวันนั้น เด็กทั้งชั้น พากันหาว
ร้อนอบอ้าว ท่าที จะมีฝน
ครูจึงเร้า ความสนใจ ในบัดดล
ให้ดัดตน สองสามท่า หายตาปรือ

แล้วถามว่า “เวลา อากาศร้อน
พวกเธออยาก พักผ่อน ไม่ใช่หรือ”
ตุ๊ว่า “ครับ งานทุกอย่าง อยากวางมือ
เห็นหนังสือ ตัวโย้เย้ เดินเก้กัง”

ตุ้มบอกว่า “ถ้าได้นอน สักงีบหนึ่ง
พอหายง่วง แล้วจึง ลุกขึ้นนั่ง
ลงมือเรียน ต่อไป ได้อีกครั้ง
ไยดัดกาย ออกกำลัง เป็นกังวล”

ครูว่า “ตุ้ม นั่งหาว เพราะอ้าวอบ
ปล่อยให้นอน จะเซาซบ ไม่เกิดผล
ถ้ารีบปลุก ลุกขึ้นยืน เหยียดยืดตน
ความง่วงเหงา ผ่านพ้น ชั่วพริบตา

มีแต่ตุ๊ ตายังปรือ รื้อไม่รอด
นี่ก็เพราะ มัวแต่ทอด ทั้งแขนขา
ไม่ขึงขัง ให้สมศักดิ์ นักกีฬา
พอง่วงนิด ก็ตั้งหน้า แต่จะนอน

อยู่ในห้อง เหมือนถูกบ่ม เพราะลมอับ
ถึงได้นอน ใช้ได้รับ การพักผ่อน
สุขภาพ กลับกระเทือน เหมือนถูกรอน
ครูเคยสอน จำได้ หรือไม่ตุ๊

ว่านอนหลับ ในห้องหับ ที่อุดอู้
หน้าต่างประตู ลงกลอน ร้อนระอุ
ถึงเติบโต ไม่แข็งแรง เหมือนแฟงฟู
โตแต่นอก ในฉุ ไม่ใช่ดี

ในเมื่อตุ๊ ออกกำลัง แล้วยังง่วง
ก็ต้องแก้ ให้หนักหน่วง อย่างเต็มที่
มา ไวไว ไปข้างนอก ประเดี๋ยวนี้
เอาสนาม เป็นเวที เล่นละคร

สมมุติตุ้ม เป็นเต่า ตุ๊เย้ายั่ว
แทนกระต่าย ทะนงตัว ท้าเต่าก่อน”
ตุ๊ร้อง “เฮ้ย! จะไปไหน ไยไม่จร
ให้เร็วหน่อย คลานอย่างหนอน น่าระอา”

ตุ้มว่า “ชะ! ก็ธุระ อะไรเล่า
จะมาเฝ้า เกี่ยวข้อง เรื่องของข้า
หรือถือดี ว่าวิ่งปรื๋อ เลื่องลือชา
ก็ลองมา วิ่งแข่งขัน กันเป็นไร”

ตุ๊หัวร่อ “อ๋อ! ได้ ไม่ขัดข้อง
หากว่าข้า เป็นรอง เชิญปรับไหม
เอาเป็นข้า ต่อไป ไว้ช่วงใช้”
ตุ้มว่า “ข้า ก็ยอมให้ ปรับเช่นกัน”

เด็กส่งเสียง เฮฮา พากันชอบ
ที่ตุ้มตุ๊ โต้ตอบ กันขันแข็ง
ตุ้มตีหน้า โกรธให้เห็น ตาเป็นมัน
ตุ๊ทำที เย้ยหยัน เห็นจริงจริง

ครูว่า “อ้อย จะเล่น เป็นอะไร”
อ้อยว่า “หนู จะเป็นไทร ใหญ่สะพรั่ง
ล่อกระต่าย เข้าอาศัย ร่มใบบัง
หลับสบาย จนกระทั่ง ต้องพ่ายแพ้”

ครูว่า “ล่อ อย่างไร จะให้หลับ”
อ้อยว่า “ขับ เพลงจำเรียง เสียงกระแส
อันโหยหวน ชวนใจ ให้ท้อแท้
บัดเดี๋ยวเดียว หลับแน่ จริงไหมเธอ”

ตุ๊ว่า “ต้อง หลับแน่ ละแม่เอ๊ย
เสียงแม่เคย กล่อมใครใคร ให้เพลินเผลอ
ฉันจะแพ้ ก็คงหนำ เพลงบำเรอ
ยอมให้เกลอ เต่าชนะ จะเป็นไร”

อ้อยเริ่มเพลง เสียงหวาน ปานน้ำอ้อย
“โอ้ตะวัน เพิ่งจะคล้อย รีบไปไหน
จงพักร้อน ก่อนเถิด กระต่ายไพร
ใต้ต้นไทร น่านอน ผ่อนสำราญ

กว่าเจ้าเต่า ต้วมเตี้ยม จะเยี่ยมหน้า
ตะวันก็ล่อง ลอยฟ้า ลับหลังบ้าน
หลับเสียหน่อย ค่อยตื่น พอชื่นบาน
วิ่งอีกนิด ถึงที่ชาน คำสัญญา”

ตุ๊นอนนิ่ง ทำหลับจริง ให้แลเห็น
ครูว่า “ตุ๊ แสดงเป็น ทั้งทีท่า
ตุ้มก็เก่ง ทำตะบอย ค่อยค่อยมา”
ทุกคนฮา เห็นตุ้ม งุ่มง่ามดี

ตุ้มคลานเข่า เข้าที มีจังหวะ
ไม่เปะปะ ตรงแน่ว แนววิถี
พอผ่านตุ๊ คู่แข่ง แสร้างทำที
เย้ยกระต่าย ผู้มี ใจทะนง

ครูว่า “อ้อย เย้ยแทนเต่า เขาสักหน่อย
ปากเขาน้อย เสียงไม่ดัง ดั่งประสงค์”
อ้อยร้องว่า “หะหาย กระต่ายดง
คราวนี้คง ขายหน้า ชั่วตาปี

เห็นแก่นอน เมาประมาท สัญชาติชั่ว
ตามใจตัว หยุดวิ่ง ทิ้งหน้าที่
ช่างไม่รู้ ว่าคบค้า ตัวกาลี
ฝีเท้าดี มัวนอนคู้ จะสู้ใคร”

ครูว่า “อ้อย เย้ยดี เป็นที่หนึ่ง
ถ้าตุ๊ตื่น หูคงผึ่ง จดจำได้
ส่วนตุ้ม เต่า คงกระหยิ่ม นึกอิ่มใจ
ที่ตนไม่ ง่วงเหงา เฝ้าแต่เดิน

นั่นแน่ะ ตุ๊ ทำเป็นตื่น ฟื้นขึ้นแล้ว
ทำตกใจ กระโดดแผล็ว ราวกับเหิน”
เด็กเด็กโห่ กันกระหน่ำ ตุ๊ทำเมิน
ครูว่า “เก่ง ไม่ขัดเขิน ขอชมเชย”
ตุ๊ชูมือ “แพ้แล้ว เกลอแก้วตุ้ม
พวกเธอรุม เย้ยฉันซ้ำ โธ่! กรรมเอ๋ย
เป็นกระต่าย ตัวนี้ ไม่ดีเลย
แต่ไรมา ตุ๊ไม่เคย วิ่งแพ้ใคร”

ครูบอกว่า “เป็นกระต่าย ได้หายง่วง
ตุ๊ได้ผล ใหญ่หลวง รู้ตัวไหม
ดูเอาซี กระปรี้กระเปร่า ขึ้นเท่าไร
มา ไวไว กลับเข้าห้อง ต้องไปเรียน

จบนิทานร้อยบรรทัด เรื่องที่ ๓


นิทานร้อยบรรทัดเรื่อง “เหงื่อไคลเฝ้าขัดสีทุกวี่วัน”

ระฆังเลิก กระทั่ง ดังเหง่งเหง่ง
นักเรียนเร่ง จะกลับบ้าน หยุดอ่านเขียน
ปิดเปิดโต๊ะ แข่งกัน ลั่นห้องเรียน
ช่างน่าเวียน หัวแท้ แก้ยากเย็น

เศษกระดาษ เกลื่อนกลาด ระบาดทั่ว
ยิ่งตักเตือน เหมือนยิ่งยั่ว ให้โยนเล่น
ร่อนต่างนก โผผิน บินตระเวน
รอบรอบห้อง ร้องเกนเกน ประกวดกัน

ครูเข้ามา หน้าบึ้ง “เอ็ดอึงแท้
ส่งเสียแซ่ ดั่งโรงโขน ตะโกนลั่น
ฉันพูดอยู่ กับครูใหญ่ ยังไม่ทัน
จะจบเรื่อง ต้องดั้น รีบมาดู

อ้อย หัวหน้า ว่าอย่างไร ไยไม่ห้าม
ปล่อยให้เล่น โครมคราม นั่นดูดู๋!
โต๊ะตะแคง ม้าคะมำ ค้ำประตู
ใครเป็นผู้ ก่อการ ขานชื่อมา”

อ้ยว่า​”ตุ้ม ตัวนำ ทำโต๊ะล้ม
แล้วตุ๊ส่ง เสียงขรม ไม่ฟังว่า
ร่วมกันร่อน กระดาษเร่ ร้องเฮฮา
ว่าเท่าไร มิไยว่า ทำหน้ารื้น

ครูว่า “ดี แล้วละ ฉันจะขัง
โทษที่สั่ง แล้วยังกล้า ทำฝ่าฝืน
มา เร่งมา อย่าหลบหน้า เร่งมายืน
เว้นอ้อย เอื้อน คนอื่นอื่น เร็วอย่างช้า”

ต่างมายืน หน้าเศร้า ท่าเคารพ
ไม่กล้าสบ ตาครู รู้ตัวว่า
ได้ทำผิด เป็นศิษย์ นอกครูบา
ครูคงชัง น้ำหน้า ไม่อยากพบ

ครูว่า “เป็น อย่างไร ไม่เงยหน้า
สิ้นแววตา เป็นกระสือ หรือจึงหลบ
ลับหลังครู ตาวาว ราวจุดคบ
คันโสโครก ไม่รู้จบ ห้องจวนพัง

นี่เป็นห้อง อ่านเขียน เรียนหนังสือ
ไม่ใช่ห้อง เก็บเด็กดื้อ มาคุมขัง
ฉะนั้นไซร้ ขอให้ ทุกคนฟัง
แล้วทำตาม คำสั่ง ฉันบัดนี้

ตุ้มกับตุ๊ เสียงดัง กำลังมาก
ยกโต๊ะม้า อย่าลาก เข้าไว้ที่
แล้วเร่งเก็บ เศษกระดาษ กวาดผงคลี
ใส่ตะกร้า อย่าให้มี เหลือระคาย”

ต่างว้าวุ่น จับทำ ตามคำสั่ง
ด้วยความหวัง แก้ตัว ให้ชั่วหาย
ครูสำทับ “อย่าถกเถียง เกี่ยงโวงวาย
ใครทำน้อย หรือมากมาย ไม่ต้องร้อง

เมื่อเสร็จแล้ว อย่าชักช้า มานั่งที่
เฉพาะตุ้ม ตัวดี หัวโจกห้อง
จงมายืน หน้าชั้น ฉันจะลอง
ถามสักสอง สามคำ ที่คุยไว้

ว่าบ้านอ้อย สะอาดสะอ้าน ลานที่เล่น
เตียนระรื่น ใครอยากเห็น เป็นอวดได้
คุณแม่อ้อย สอนให้จำ ทำอย่างไร
เรื่องที่อยู่ อาศัย ได้เย็นตา”

ตุ้มว่า “ท่าน แนะนำ ทั้งกำชับ
ให้ยึดถือ เคล็ดลับ มีอยู่ว่า
คนมักง่าย หน่ายยาก ฝากชีวา
ไว้กับความขายหน้า น่าละอาย

ทิ้งเปลือกกล้วย เศษใบตอง ของขยะ
พอพ้นมือ หมดธุระ สะดวกหลาย
มีตาดู แต่ไม่รู้ ขัดระคาย
อะไรอะไร เลยมักง่าย จนเคยตัว

ผมไม่หวี ฟันไม่แปรง แหยงว่ายาก
ถูเหงื่อไคล ก็ลำบาก ยากท่วมหัว
กลิ่นสาบสาง เป็นเงา เต้าตามตัว
ใครใครทั่ว บ่นว่า ให้น่าอาย”

ครูว่า “เธอ ทิ้งกระดาษ เกลื่อนกลาดห้อง
เป็นพวกพ้อง ร่วมพรรค คนมักง่าย
ตั้งโต๊ะล้ม ม้าคะมำ เรื่องทำลาย
ทุกคนขาย หน้าทั่ว รู้ตัวไว้

ดูซิเหงื่อ ไคลเหม็น จับเป็นคราบ
ส่งกลินสาบ แทบทุกคน ทนไม่ไหว
ทั้งอ้อย เอื้อน ได้กลิ่น หรืออย่างไร”
อ้อยว่า “หนู หายใจ ไม่คล่องเลย

คุณแม่ว่า ความโสมม อมโสโครก
คือรังโรค เร่งเกรงกริ่ง อย่านิ่งเฉย
เร่งรังเกียจ หลีกให้ไกล ไว้ให้เคย
ใครเฉยเมย ยอมเป็นเหยื่อ เหลือระอา”

ครูว่า “อ้อย เขาว่าไร อยู่ไขหู
จงเร่งรู้ เร่งสำนึก เร่งศึกษา
ห้ามมักง่าย หมักเหงื่อ เชื้อโรคา
ห้ามมักง่าย ไม่นำพา รกรุงรัง

อันร่างกาย รักษาไว้ ให้สะอาด
จะผุดผาด ถึงจิตใจ ได้สมหวัง
งามทั้งนอก ในตลอด ยอดพลัง
เหมือนวางขลัง ไว้ในตน พ้นพาลภัย

เข้าที่ไหน ใครสมัคร รักเป็นมิตร
เหมือนมีมนตร์ ผูกจิต จูงสมาน
จะกอปรกิจ ใดใด ก็ได้การ
เพราะงามใจ งามงาน อันเดียวกัน

จงเร่งรู้ แล้วจำไว้ ทำได้ด้วย
จึงจะช่วย ให้ดีแน่ ไม่แปรผัน
รู้ท่วมหัว ล้วนวิชา สารพัน
มือไม่ทำ ไม่มีวัน จะได้ดี

รีบกลับบ้าน อาบน้ำ ชำระล้าง
ทั้งเหงื่อไคล สาบสาง เร่งขัดสี
กายสะอาด ใจจะได้ ไร้ราคี
เหมือนบ้านเรือน ฝุ่นธุลี ไม่ระคาย

พรุ่งนี้เช้า จะสำรวจ ตรวจให้ทั่ว
หากเนื้อตัว ของใคร สาบไม่หาย
จะให้เพื่อน กุ๋ยกุ๋ย คุ้ยให้อาย
ทั้งเช้าสาย บ่ายเย็น ไม่เว้นวาร”

จบนิทานร้อยบรรทัด เรื่องที่ ๔


« « Prev : นิทานร้อยบรรทัด เล่ม 2

Next : นิทานร้อยบรรทัด เล่ม 4 » »


ผู้ใช้ Facebook สามารถให้ความเห็นที่นี่ได้ โดยกด Like เพื่อแสดงตัว

ความคิดเห็นสำหรับ "นิทานร้อยบรรทัด เล่ม 3"

ไม่มีความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็น

ท่านอยากจะเข้าระบบหรือไม่


*
To prove you're a person (not a spam script), type the security word shown in the picture. Click on the picture to hear an audio file of the word.
Click to hear an audio file of the anti-spam word


Main: 1.9889619350433 sec
Sidebar: 0.30713796615601 sec