นิทานร้อยบรรทัด เล่ม 4

โดย Logos เมื่อ 4 March 2012 เวลา 4:21 ในหมวดหมู่ ภาษา วัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ #
อ่าน: 7933

นิทานร้อยบรรทัด เล่ม 4 เรื่อง ประเทศเล็กที่สมบูรณ์ นี้ กรมวิชาการ กระทรวงศึกษาธิการ ได้มอบหมายให้หลวงสำเร็จวรรณกิจเรียบเรียงขึ้น เพื่อใช้เป็นหนังสือสอนอ่านภาษาไทย สำหรับชั้น ป.5 เมื่อปี พ.ศ.2505

ภายในหนังสือ มี 5 เรื่อง ประกอบไปด้วย

  • ทรัพย์ในดินสินในน้ำ
  • กิจกรรมในชนบท
  • จดจำเป็นนิสัย
  • นาไร่คือสันหลัง
  • วางขลังด้วยคมนาคม

นิทานร้อยบรรทัดเรื่อง “ทรัพย์ในดินสินในน้ำ”

เรื่องของไทย มีมาใน ประวัติศาสตร์
ว่าข้าวปลา ไม่เคยขาด มีถมเถ
เพราะไร่นา ดาษดื่น เป็นพื้นเพ
จึงไม่ต้อง ซวดเซ ถึงอับจน

ครูว่า “ความ หนหลัง ดั่งว่านี้
ใครยังมี สงสัย ในเหตุผล
ถ้าเข้าใจ ขอให้ ใครสักคน
บอกว่ามี อนุสนธิ์ มาอย่างไร”

ตุ๊ยกมือ แล้วยืน ยื่นหน้าตอบ
“เห็นจะเป็น เพราะไทยชอบ เชิงหว่านไถ
ทั้งฝนฟ้า ก็อุดม สมดั่งใจ
ข้าวงามเต็ม นาไร่ ไม่เคยจน”

ตุ้มยกมือ ขอเสริม เพิ่มเติมว่า
“ข้าวเหลือกิน เกินอัตรา ถึงต้องขน
ส่งไปขาย นอกประเทศ เขตมณฑล
เป็นรายได้ เปรอปรน ทั่วหน้ากัน”

ครูว่า “อ้อย มีอะไร ใคร่เติมต่อ”
อ้อยว่า “หนู มีข้อ ที่ควรสรร
มาเสนอ ให้เห็น เป็นสำคัญ
คือไทยมี ความขยัน เป็นปัจจัย

คุณแม่ว่า คุณตา ท่านเคยเล่า
ว่าคนไทย แต่ก่อนเก่า มีนิสัย
เอาการงาน ทั้งตาปี ไม่มีใคร
นั่งจุกเจ่า คอยให้ โชคบันดาล

เกวียนติดหล่ม ลงนั่งอ้อน วอนเทพยเจ้า
ดั่งนิทาน อิสปเล่า รู้ทั่วบ้าน
ไม่มีใคร ประพฤติ ยึดโบราณ
ที่ไขขาน ให้อดทน ช่วยตัวเอง”

ครูว่า “ดี ดีมาก ใครอยากต่อ
หรือเห็นข้อ ที่อ้อยไข ไม่ถูกเผง”
ตุ๊ว่า “ผม ใคร่ขัดคอ แต่ก็เกรง
ว่าแม่อ้อย คนเก่ง จะหัวเอา”

ครูว่า “คน อยากดี มีความรู้
ต้องไม่กลัว ผิดเป็นครู อย่ามัวเขลา
อมผิดไว้ ขี้เท่อ เซ่อไม่เบา
เรียนตายเปล่า ก็ไม่ได้ อะไรดี”

พอครูให้ กำลังใจ ตุ๊ไม่ช้า
รีบโต้แย้ง ความว่า “แต่ก่อนกี้
คนไม่คร้าน เพราะงาน นั้นมากมี
ส่วนเดี๋ยวนี้ ทุกหนแห่ง คนว่างงาน

เมื่อว่างงาน เห็นเป็นคร้าน เลยพาลเหยียด
ตั้งรังเกียจ ว่าหลังยาว สาวมาขาน
แต่ความจริง ใช่ผ่าเหล่า เผ่าโบราณ
ผมขอค้าน แม่อ้อย หน่อยเถอะครับ”

ครูหัวร่อ พอใจ ในโวหาร
ที่ตุ๊ใช้ ฉาดฉาน ต้องตำรับ
“กล้าอย่างนี้ ซิดี นี่แหละนับ
ว่าฉลาด สมกับ เป็นนักเรียน

เพียงเขียนอ่าน ทำนอง คล่องมือปาก
ใช่เรื่องยาก หากใคร ไม่พาเหียร
แต่ คิด พูด นี่สิยาก ต้องพากเพียร
แน่วจำเนียร จึงจะมี ปรีชาชาญ”

เด็กทั้งชั้น พากัน สนใจคิด
ปัญหานิด นำให้ แผ่ไพศาล
ตุ้มนึกถึง เที่ยวทางเหนือ เมื่อไม่นาน
“ผมได้เห็น ชาวบ้าน หลายตำบล

เขามีงาน ทำกัน วันยังค่ำ
ทั้งสาวหนุ่ม วุ่นทำ ไม่สับสน
หน้าที่ใคร ก็ใคร ไฝ่กังวล
ไม่เห็นคน จุกเจ่า เอาแต่ครวญ”

ครูว่า “เขา ทำอะไร ที่ได้เห็น”
ตุ้มว่า “งาน ต่างต่างเช่น งานเรือกสวน
บำรุงพืช ยืดฝ้าย หลายกระบวน
ดูดูเขา แล้วก็ชวน ให้อยากทำ”

ครูว่า “ผล ได้กินขาย เป็นรายรับ
นี่แหละทรัพย์ ในดิน กินใช้หนำ
มีผืนดิน มีมานะ เป็นประจำ
กิจกรรม เกิดหลายหลาก ไม่ยากใจ

อันว่าคน ว่างงาน นั้นคร้านแน่
เพราะมัวแต่ เฟ้นหา งานอาศัย
ที่เบาเบา แบบสำรวย ช่วยลากไป
เพียงพบเบี้ย ต่อไส้ ไปวันวัน

งานเสมียน พนักงาน องค์การทั่ว
ก้ล้วนงาน จำกัดตัว ตีวงกั้น
พอว่างลง สักตำแหน่ง ก็แย่งกัน
ระหว่างคน ตั้งพัน ตะพึดไป”

เด็กทั้งชั้น ชอบใจ เพราะได้เห็น
คนอยากเป็น เสมียนกัน เฝ้าฝันใฝ่
เฝ้ารอแล้ว รอเล่า รอเท่าไร
ก็ไม่ได้ เป็นสักที เหมือนมีกรรม

อ้อยนึกออก อ้างตัวอย่าง “คนข้างบ้าน
เห็นเลือกงาน กันไขว่ ไม่เป็นส่ำ
เลือกงานน้อย เงินมาก ไม่ตรากตรำ
ใครแนะนำ งานหนัก ยักไหล่เอา

คุณแม่ชวน ตั้งหลายคน เห็นจนกรอบ
ไปเลี้ยงปลา ก็ไม่ชอบ ว่าอายเขา
ที่นาท่าน มีบ่อ พอบรรเทา
ขยันเข้า ไม่กี่ปี ก็มีเงิน”

ครูว่า “นั่น ก็สิน กินไม่หมด
พอน้ำลด เร่งวิด ไม่คิดเขิน
ทั้งปลาน้อย ปลาใหญ่ จับให้เพลิน
กองพะเนิน เปลี่ยนเป็นทรัพย์ นับไม่ทัน

ทรัพย์ในดิน สินในน้ำ จำไว้เถอะ
อย่ามัวเซอะ ทิ้งไว้ ให้เขาหยัน
ข้าวในนา ปลาในน้ำ ส่ำแสนพันธุ์
ควรฤหัน หลังให้ ไม่ไยดี

เธอได้เรียน มีวิชา ปัญญาหนุน
มีดินน้ำ เป็นทุน อยู่เต็มที่
แขนซ้ายขวา เป็นกำลัง พลังทวี
เดินวิถี ชีวิต สมจิตจง”

จบนิทานเรื่องที่ ๑


นิทานร้อยบรรทัดเรื่อง “กิจกรรมในชนบท”

สิ้นปลายภาค ปีศึกษา เข้าหน้าร้อน
ครูกับศิษย์ ไปพักผ่อน ตามประสงค์
ที่หนูอ้อย เชิญชวนไว้ ใฝ่จำนง
ให้พร้อมเพื่อน ไปร่วมวง สนุกกัน

ในชนบท นอกกรุง ทุ่งใหญ่กว้าง
แหล่งเสริมสร้าง สกุลไทย ให้ตั้งมั่น
ถิ่นไร่นา สาโท ไทยเบื้องบรรพ์
ล่วงคืนวัน มาเป็นไทย ยิ่งใหญ่ยศ

ลืมทุ่งกว้าง มองแต่กรุง มุ่งว่าถิ่น
ที่ผลิตผล หน่อยจักสิ้น ทุกสิ่งหมด
เมื่อเขาอื่น แทรกเข้ามา ไม่ราลด
จะจับทำ ชนบท เปลี่ยนมือไป

อ้อยนั่งนึก ถ้อยคำตา ดั่งว่านี้
พลางก็ชี้ ให้เพื่อนดู คู นา ไร่
“คราวก่อนมา แลเห็น เป็นราวไพร
มาตราวนี้ แลไหน เนื้อนาบุญ”

ตุ้มมองตาม พลางถาม ว่า “ใครน่ะ
อุตสาหะ หักร้าง ช่างเกื้อหนุน
ที่รกเรี้ยว ประโยชน์เร้น กลับเป็นคุณ
แต่พวกเรา และรุ่น ต่อต่อไป”

อ้อยบอกว่า “คุณตา มอบลุงอ่วม
แกสองคน กับป้าน่วม เป็นแรงใหญ่
“แน่ะ! แกดุ่ม ตรงมานี่” ตุ้มดีใจ
“ลุงอ่วมคง มีอะไร มากำนัล”

ครูว่า “แก เคยให้ อะไรบ้าง”
ตุ้มว่า “ให้ หลายอย่าง แกช่วงสรร
ไข่ใหม่ใหม่ ลูกไม้สด รสหวานมัน
ผมอยู่บ้าน น้อยวัน จะได้กิน

สวัสดี ลุงครับ” ตุ๊รับต่อ
“พวกผมรอ รอรอ พอดีผิน
เห็นลุงดุ่ม ดีใจ เพราะได้ยิน
ว่าจะพา ไปทำดิน ออกกำลัง”

ลุงอ่วมยิ้ม พยักถาม เอาความแน่
“ไม่ร้องแย่ จริงนะ จึงจะขลัง”
ครูว่า “ใคร ทำสำรวย ช่วยกันชัง
ซ้ำจะสั่ง ให้อยู่โยง เฝ้าโรงนา”

แล้วออกเดิน ไปกัน ถะถั่นถึง
ลานโล่งกว้าง ต่างทึ่ง ทุกถ้วนหน้า
มีจอบเสียม สารพัด ตามอัตรา
วางรอท่า จับทำ เป็นสำคัญ

ครูประเดิม เริ่มให้ โอวาทว่า
“บัดนี้ถึง เวลา จะสร้างสรรค์
สุขภาพ ทั้งกายใจ ไปพร้อมกัน
หลักปรุงปั้น ให้เป็นคน สร้างตนเอง

กิจกรรม กลางแจ้ง ออกแรงเรี่ยว
ฝึกร่างกาย ให้ประเปรียว กระฉับกระเฉง
ไปภายหน้า หนักไหน ไม่นึกเกรง
งานไร่นา ทำเก่ง ไม่แพ้ใคร

เมื่อค่ำวาน ครูผ่าน มาทางนี้
ได้ยินเพลง เพราะดี น้ำเสียงใส
ถ้อยทำนอง บอกสนุก ยามสุขใจ
เสียงลุงอ่วม ใช่ไหม ฉันใคร่เดา”

ลุงอ่วมยิ้ม รับคำยอ “อ้อ! ใช่ครับ
งานเสร็จสรรพ ดีใจ อะไรเท่า
พอแดดลับ ลมเฉื่อยฉิว พริ้วเบาเบา
ก็ช่วยเร้า ให้บันเทิง เริงอารมณ์

ความเหน็ดเหนื่อย มาจากไร่ หายไปสิ้น
เพลงหงุงหงิง เพียงได้ยิน ก็เหมาะสม
ใช่ไหมครับ” ครูรับ “ฉันขอชม
แน่ พวกเรา ฟังคารม ลุงแกซี

แล้วลงมือ อย่าช้า คว้าจอบเสียม
เข้าฟันขุด ดินเตรียม ให้ได้ที่
ตามที่ลุง แกร้องขอ ให้พอดี”
เด็กทุกคน ต่างก็รี่ เข้าจับทำ

เด็กชายฟัน เด็กหญิงขุด งานรุดหน้า
รู้จักแข่ง กับเวลา เร่งกระหน่ำ
ครูสอนไว้ ว่าใครรอ จะก่อกรรม
เพราะเวลา เหยาะย่ำ ไม่รอใคร

ตะวันคล้อย พอได้ยก เป็นอกร่อง
ดินมูนมอง พอเหมาะ เพาะพืชไร่
ทั้งป้าน่วม ลุงอ่วม ต่างพอใจ
“ช่างแข็งแรง นี่กระไร ได้งานดี!

ถ้าหนูหนู มาอยู่ กันกับป้า
พืช ตาอ่วม แกคงค้า เป็นเศรษฐี”
ตุ๊กับตุ้ม พร้อมกัน ตอบทันที
“ผมจะมา กันทุกปี สิ้นภาคปลาย”

อ้อยหัวร่อ ล้อว่า “ป่าเตียนแน่
คงเห็นแต่ ไร่หลาก เกินมากหลาย
ทั้งพืชผล เป็นพะเนิน เกินระบาย
ต้องสำลัก ทรัพย์กันตาย ทั้งตำบล”

ครูว่า “อ้อย ทั้งล้อ ทั้งยอด้วย
อย่าดูถูก ตุ้มตุ๊ช่วย ต้องเป็นผล
รกเรี้ยวเหี้ยน เตียนไป ไม่ต้องจน
รวยเท่าไร ก็ไม่ล้น ถึงสำลัก

เพราะพวกเรา ยากจน ขัดสนมาก
ขาดอุปกรณ์ หลายหลาก อันเป็นหลัก
เศรษฐกิจ เดาะด้อย หลอยชะงัก
ความข้นแค้น จะประจักษ์ จงระวัง

มัวปล่อยทรัพย์ จมดิน จะกินโศก
นั่งคอยโชค คอยชะตา เป็นบ้าหลัง
ปล่อยแผ่นดิน ให้หญ้าปรก รกรุงรัง
นับก็ตั้ง ล้านล้านไร่ รู้ไหมเธอ”

อ่วมสนอง “ถูกต้อง ทีเดียวครับ
ถ้าพากัน จองจับ ไม่มัวเผลอ
สิ่งประสงค์ ก็คง ได้เจอะเจอ
ด้วยสินทรัพย์ ก้อนเบ้อเร่อ จากพื้นดิน”

ครูเติมต่อ “ขอให้เร่ง หาความรู้
สำเร็จแล้ว หันมาดู แหล่งทรัพย์สิน
แล้วขุดค้น ด้วยปัญญา เป็นอาจิณ
สมเป็นชาติ ที่รักถิ่น ไม่ลืมตัว

จบนิทานเรื่องที่ ๒


นิทานร้อยบรรทัดเรื่อง “จดจำเป็นนิสัย”

ภาคต้นปี การศึกษา เวียนมาใหม่
หยุดตั้งนาน แต่ดูไม่ จุใจทั่ว
เพราะความคร้าน ตัวมาร เกาะเนียนัว
ต้องไล่กัน กว่าจะกลัว ก็หลายวัน

พวกไปเที่ยว ทุ่งนา มาหยกหยก
ต่างมีเรื่อง นำมาถก กันขันขัน
ได้ความรู้ นอกเวลา มาแจกกัน
พวกซึมเซา พากันหัน เข้าร่วมวง

เกิดปัญหา ต่างต่าง บ้างตอบได้
ที่สงสัย ถูกกระเซ้า ก็เดาส่ง
ใช่มุสา แต่ชะล่า ฤทธิ์ทะนง
ว่าคุยดี แล้วคง เพิ่มครื้นเครง

อ้อยนิ่งฟัง ตุ๊ตุ้ม เพื่อนรุมซัก
เห็นโต้ตอบ ไม่อึกอัก ร้องว่า “เก่ง!
ไวสมอง คล่องปาก หากแก้เพลง
ถึงนักเลง ปรบไก่ ก็ไม่แพ้

มิเสียที ที่คุณครู เชิดชูตุ๊
ว่าโวหาร เอกอุ สมกระแส
ถึงคราวงาน ก็สมัคร รู้จักแปร
เป็นกรรมกร แท้แท้ ไม่กรีดกราย”

คุณครูว่า “วันนี้ ทีสนุก
จะให้เรา ช่วยกันปลุก เพื่อนทั้งหลาย
โดยนำเรื่อง เที่ยวไร่นา มากระจาย”
ตุ๊ว่า “ฉัน จะขยาย ให้พอแรง”

บ่ายวันนั้น ครูให้ชั้น ลงสนาม
สมมุติว่า เป็นยาม ไปสู่แหล่ง
ทุ่งไร่กว้าง ที่จัด ให้ดัดแปลง
เกลื่อนผิวดิน กลบระแหง ทุกแห่งไป

ในไม่ช้า หน้าโรงเรียน เตียนเรียบราบ
ไม่ต้องเปลือง ค่าปรับปราบ เงินก้อนใหญ่
อ้อยรับเป็น หัวหน้า จาระไน
สั่งทางโน้น ทางนี้ใช้ สมนายงาน

มอบให้ตุ้ม คุมลูกมือ พวกรื้อรก
ให้ตุ๊คุม พวกขนยก อยู่อีกด้าน
สนุกหน่อย เหนื่อยนิด เป็นกิจการ
ได้สมาน สามัคคี กีฬาแท้

ตุ๊ร้องว่า “ถ้าทำไร่ กันที่นี่
คงจะได้ ผลดี เกินคาดแน่
เพราะอยู่ใกล้ ชุมนุมชน คยจันแจ
ต่อให้พืช กองเป็นแพ ขายพึ่บเดียว

ไร่ลุงอ่วม อยู่ไกล ในชนบท
กว่าเรือรถ จะมาไป ได้สักเที่ยว
ก็เหน็ดเหนื่อย เหงื่อกระเซ็น ตัวเป็นเกลียว
สิ้นแรงเรี่ยว ผลได้ เห็นไม่คุ้ม”

ตุ้มว่า “เออ จริงซิ มิน่าเล่า
ลุงอ่วมทำ จนแก่เถ้า เริ่มแต่หนุ่ม
จึงไม่เห็น รวยเท่าไร ในชุมนุม
หรือแกซุ่ม คมไว้ ก็ได้นะ”

ครูว่า “ถาม อ้อยดู จะรู้แน่”
อ้อยว่า “แก มีนิสัย ไม่เอะอะ
เรื่องมีจน รู้แก่ใจ ใช่ธุระ
ใครพบปะ แกก็คุ้ย คุยแต่งาน

คุยเรื่องพืช เรื่องผล เรื่องขนส่ง
ที่ชาวไร่ วุ่นพะวง วางรากฐาน
ให้ผลิตง่าย ขายคล่อง ตามต้องการ
หลักบันดาล ให้อุดม สุขสมบูรณ์”

ครูว่า “นั่น แหละจุดมุ่ง ของลุงอ่วม
งานของแก กับป้าน่วม ไม่มีสูญ
เพราะว่ารัฐ กำลังเพ่ง เร่งเกื้อกูล
ให้ประสบ สิ่งพร้อมมูล เหมือนหมายใจ

ชนบท บ้านไร่ อีกไม่ช้า
จะไปถึง ชั่วพริบตา เหมือนอยู่ใกล้
เพราะทางหลวง สายต่างต่าง สร้างออกไป
จากชานเมือง ชั้นใน ไม่หยุดยั้ง

ไร่ลุงอ่วม และใครอื่น หมื่นแสนไร่
ก็ส่งพืช ไปไหนไหน ได้ดั่งหวัง
ผลิตผล นานา ดาประดัง
จะไหลหลั่ง ไปทุกแหล่ง เหมือนแรงน้ำ

เกิดซื้อง่าย ขายคล่อง ต้องตำรับ
ค่าครองชีพ มีระดับ ไม่สูงต่ำ
พอดีพอดี พอให้ ได้กอบกำ
ทั้งผู้ใช้ ผู้ทำ ไม่ยากจน

เมื่อไม่จน ก็พอใจ ใช่ไหมตุ้ม
นี่แหละคม ลุงอ่วมซุ่ม ให้ฉงน
เมื่อพอใจ ก็สุขใจ ไม่กังวล
ผู้ฉลาด ทุกคน หวังแค่นี้

ลุงอ่วมแก สุขใจ ใช่ไหมอ้อย
จึงไม่พล่อย พร่าเวลา มุ่งหน้าที่”
อ้อยว่า “ใช่ ค่ะคุณครู แกรู้ดี
ว่าสุขใจ อยู่ที่ งานโดยแท้”

ครูว่า “ตุ้ม ฟังแล้ว อย่าแว่วเปล่า
ต้องจำเอา ใส่ใจ ไว้ให้แน่
ว่าสุขใจ อยู่ที่งาน ใช่การแปร
เป็นเพ้อพล่าม ล้วนแต่ เรื่องมีจน

การเล่าเรียน เป็นงาน อยู่ด่านหน้า
เวลาเรียน ต้องไม่พร่า ให้เสียผล
ลุด่านหน้า จะได้กล้า แกร่งผจญ
พบหนักไหน ก็ไม่ย่าน ระย่องาน

ได้วิชา หลายหลาก จากโรงเรียน
นำไปเปลี่ยน เป็นอาชีพ รีบประสาน
เข้ากับเพียร เป็นนิสัย ให้พอการ
ได้สุขใจ ไว้เป็นฐาน จักถาวร

อันงานนา งานไร่ งานใดอื่น
เช่นกิจกรรม พื้นพื้น ที่พร่ำสอน
ได้โอกาส จับทำจริง อย่านิ่งนอน
แม้ในฐาน กรรมกร ก็ยังดี

เป็นลูกจ้าง สร้างตน ด้วยตัวเปล่า
เหมือนไต่เต้า พยายาม ตามวิถี
ความเชี่ยวชาญ นานนับ ทับทวี
ต้องถึงที่ สุขใจ ไม่ต้องกลัว

จบนิทานเรื่องที่ ๓


นิทานร้อยบรรทัดเรื่อง “นาไร่คือสันหลัง”

รถไฟแล่น เรื่อยเรื่อย ลมเฉื่อยฉิว
แลเห็นไร่ ลิบลิบลิ่ว ดาษไปทั่ว
พืชสะพรั่ง กำลัง จะตั้งตัว
ให้ชมชัว ทรัพย์แผ่นดิน ถิ่นเมืองทอง

รถไฟเร่ง ฝีจักร อยู่พักใหญ่
ละลิ่วไป ดั่งม้าเต้า เผ่นผยอง
แล้วชะลอ เหมือนหนึ่งย่ำ หยุดลำพอง
ค่อยค่อยย่อง เข้าหา สถานี

อ้อย ตุ๊ ตุ้ม ร้องเตือน เพื่อนเพื่อนทั่ว
ต่างยิ้มหัว ร้องว่า “ถึง” เอ็ดอึงมี่
เห็นลุงอ่วม มารอ อยู่พอดี
ครูโบกมือ แกก็รี่ เข้ามารับ

ร้องทักอ้อย ตุ้มตุ๊ แล้วจุปาก
“โตขึ้นมาก จากที่เมื้อ เมื่อถับถับ
เรียนหนังสือ เห็นจะไป ได้ลิบลับ
คุณครูครับ น่าชื่นใจ ไทยสกุล”

แล้วเข้ารับ หีบห่อส่ง ลงจากรถ
รวมไว้หมด เจ้าของ ไม่ต้องวุ่น
ตุ๊ว่า “แหม มาเที่ยวนี้ แสนมีบุญ
ไม่ชุลมุน เหมือนทำนอง เมื่อสองปี

ต้องขึ้นรถ ลงเรือเมล์ ทุเลลัก
แถมต้องหิ้ว กระเป๋าหนัก เร่หาที่
กว่าจะวาง ได้จังหวะ แต่ละที
ไหวคนโน้น วอนคนนี้ เสียแทยตาย”

ครูว่า “เพราะรถไฟ ใช่ไหมเล่า
ที่แบ่งเบา ความลำบาก ยากเหลือหลาย
ก่อกำลัง เศรษฐกิจ ปิดอบาย
แน่ะ! ลุงอ่วม ขนบ้าน ของเสร็จแล้ว”

ออ่วมร้องเชิญ “หนูหนู คุณครูครับ
รถพร้อมสรรพ ออกก็ได้ ไม่ต้องแกร่ว
ผมอยากอวด ถนนใหม่ ตัดได้แนว
พาดตรงแน่ว ถึงไร่ ทันใจแท้”

ครูกับศิษย์ พากัน ถะถั่นด้อย
ถึงที่รถ จอดคอย ตุ๊ยิ้มแต้
“เห็นไหมตุ้ม เราเคยสุ่ม ติว่าแก
ทำแต่หนุ่ม คุ้มแก่ ไม่เห็นรวย

ดูซิรถ มีทั้งนั่ง ทั้งบรรทุก
เรามาเที่ยว พลอยสุข สะดวกด้วย
แถมถนน เสร็จสร้าง ช่างอำนวย
ชนบท จะดูสวน กว่าบ้านเรา

มีทางหลวง ทางรถไฟ ไปถึงทั่ว
แลรอบตัว เห็นไร่นา ป่าขุนเขา
เสียงนกกา เกริ่นร้อง ก้องลำเนา
สายลมเป่า สองข้าง หนทางจร”

ครูว่า “นี่ แหละหัวใจ ชาติไทยละ
เห็นเส้นเลือด เดินระดะ ดูสลอน
จ่าโลหิต อันเป็นเชื้อ เอื้ออาทร
เลี้ยงชีวิต ไทยถาวร ยั่งยืนไป”

ตุ๊กับเพื่อน ทุกทุกคน ต่างสนเท่ห์
เสียงฮาเฮ เงียบลง วุ่นสงสัย
ครูว่า “แน่ะ ถามอ้อย หน่อยเป็นไร
เขาคงช่วย ให้เข้าใจ ทั่วถึงกัน”

อ้อยว่า “เรื่อง หัวใจ อวัยวะ
คุณครูสอน แล้วนะ ใช่ไหมนั่น
ว่าเป็นแหล่ง ปรุงโลหิต ผลิตไว้ปัน
ไปเลี้ยงร่าง กายสรรค์ สร้างแรงงาน

ชนบท บ่อกำเนิด เกิดพืชผล
เปรียบหัวใจ แหล่งเปรอปรน ผลาหาร
ไปหล่อเลี้ยง เศรษฐกิจ นิจกาล
ให้ชาติมี หลักฐาน อันมั่นคง

อันทางหลวง ทางรถไฟ ที่ได้เห็น
เปรียบด้วยเส้น โลหิต ติดต่อส่ง
ไปถึงกัน ทุกท้องถิ่น สิ้นพะวง
ไม่จำเพาะ เจาะจง เหมือนก่อนกาล”

ตุ๊ว่า “เก่ง เก่งไม่น้อย อ้อยคนนี้
ช่างถ้วนถี่ จดจำ ทุกคำขาน
ที่คุณครู สอนแต่ครั้ง ตั้งนมนาน
โดยไม่ต้อง สอบทาน แต่อย่างใด”

ครูว่า “ใช่ อ้อย ช่างจำ ซ้ำยังแจ้ง
ว่าเราแย่ง งานเกษตร เขตกว้างใหญ่
การติดต่อ ต้องกรุยทาง สร้างเรื่อยไป
ถึงใกล้ไกล ทุกชุมนุม จากชุมทาง

สถานี ที่รถหยุด เมื่อหยกหยก
คือชุมทาง ขอยก เป็นตัวอย่าง
เห็นหรือไม่ ว่ารถไฟ แยกหลายราง
แปรขบวน แล้วต่าง เดินต่อไป

ด้วยวิธี จัดสร้าง ทางเช่นนี้
ตามโครงการ ไม่กี่ปี ก็จักได้
คมนาคม เข้าระบบ สบสมใจ
กสิกร ชาวไทย ทั่วหน้ากัน”

ลุงอ่วมนั่ง ฟังเพลิน พอรถหยุด
กระโดดลง อุตลุด สั่งนี่นั่น
พวกลูกงาน วิ่งรับใช้ ไม่ใคร่ทัน
“เชิญทางนั้น คุณครูครับ ได้รับลม

หนูหนูมา กันเที่ยวนี้ พอดีเหมาะ
ลุงมีงาน โดยเฉพาะ พลอยประสม
ขอพึ่งแรง พ่อนักเรียน เพียรระดม
ช่วยกันถม ดินขอบคู ดูนั่นซี

เป็นทางน้ำ เข้าไร่ ไปเลี้ยงพืช
ถึงโน่นโน่น ยาวยืด น้ำไหลรี่
เป็นประจำ ไม่มีจอด ตลอดปี
ฝนฟ้าแล้ง ก็ไม่มี ยุ่งยากใจ

นั่น แม่น่วม มุ่งหน้า ตรงมาแล้ว
ตั้งแต่มืด มัวไปแกร่ว อยู่กับไร่
เห็นไหมหนู งานของเรา มากเท่าไร”
น่วมร้องทัก “แหม! ทำไม เพิ่งจะมา”

ครูว่า “งาน มากมาย ปลายปีนี้
ยิ่งกว่าทุก ทุกปี จึงมาล่า
ไม่เป็นไร จะชดใช้ ยืดเวลา
พักกับป้า ตลอดปี ดีไหมเธอ”

จบนิทานเรื่องที่ ๔


นิทานร้อยบรรทัดเรื่อง “วางขลังด้วยคมนาคม”

พวกเด็กเด็ก เพลินงาน ในบ้านไร่
ไม่สนใจ กับเวลา พากันเผลอ
อันเพลินงาน มักเกิน เพลินเพื่อนเกลอ
เพราะปรุงเปรอ กายใจ ไปพร้อมกัน

ครูถามว่า “กลับหรือยัง ทั้งตุ้มตุ๊
หรือจะมุ อยู่กับไร่ ใฝ่แข่งขัน
กับลุงป้า หาทาง ชิงรางวัล
คนขยัน ตัวนำ ของตำบล”

อ้อยว่า “เขา คุยกัน หลายวันแล้ว
ฟังแว่วแว่ว เหมือนจะมุ ข้างกุศล
รักไร่นา ลำเนา เฝ้ากังวล
จะขุดค้น ทรัพย์ในดิน สินในน้ำ”

ครูชอบใจ “อ้อ! คุยกัน อย่างนั้นหรือ
ดีกระไร ไว้ชื่อ ชายใจป้ำ
สมเป็นไทย ไว้ลาย มั่นหมายทำ
เกษตรกรรม พื้นเพ ไม่เรรวน

อีกสามปี ทั้งตุ้มตุ๊ อายุพอ
จะเริ่มเรียน อาชีพก็ เข้าเกณฑ์ส่วน
เรียนหนึ่งปี หรือสองสาม ตามกระบวน
จะสมควร แค่ไหนแน่ แล้วแต่ใจ

ต่อจากนั้น นับว่ามี วิชาชีพ
ขณะนี้ ไม่ต้องรีบ ยังรอได้
เพียงฝึกหัด ให้สันทัด เป็นปัจจัย
อนาคต เห็นรำไร อยู่แล้วเธอ”

ลุงอ่วมว่า “ถ้ารอ ถึงบัดนั้น
คงแข็งขัน ใครใคร ไม่เสมอ
จะมั่งคั่ง มองไม่เห็น อ่วมเป็นเกลอ”
ตุ๊ว่า “เรา คงไม่เผลอ ถึงเพียงนั้น

ลุงกับป้า ดีต่อเรา เป็นเท่าไหร่
มีหรือจัก ลืมได้ ใช่เสกสรร
มีแต่ต้อง มั่นสมัคร ชอบรักกัน
เผ็นเผ่าพันธุ์ ชาวไร่ ใช่ไหมลุง”

อ้อยว่า “ตุ๊ เขาดี อารีอารอบ
ถ้ามั่งมี คงจะตอบ ด้วยเงินถุง
หากลุงเถ้า ถือไม้เท้า ถึงพยุง
เขาก็คง จะบำรุง ไม่ทอดทิ้ง”

ตุ้มว่า “ตุ๊ ไม่ลืมแน่ คือแม่อ้อย
แกแช่มช้อย น่าชม สมผู้หญิง
ถึงขัดคอ ตุ๊บ่อย คอยท้วงติง
ก็มิใช่ ชังชิง แต่อย่างใด”

ครูนั่งยิ้ม พยักหน้า แล้วว่า “อ้อย
เจ้าคนงาม ขอทราบหน่อย จะได้ไหม
ว่าเรียนเสร็จ แล้วจะ ทำอะไร
เป็นอาชีพ สืบไป ให้มั่นคง”

อ้อยว่า “หนู ก็สมัคร รักทำไร่
แต่ฐานะ คงไม่ ช่วยเสริมส่ง
คุณแม่ขอ ให้อยู่บ้าน ท่านเจาะจง
ท่านจะได้ สิ้นพะวง งานบ้านเรือน

ท่านว่าอ้อย เป็นลูกหญิง ถ้าทิ้งบ้าน
จะหาใคร ไหว้วาน ดูได้เหมือน
พวกพี่น้อง จะได้ ใครช่วยเตือน
ระเบียบบ้าน รังจะเฟือน ฟั่นเฝือไป”

น่วมว่า “ชอบ แล้วคุณหนู ต้องอยู่บ้าน
เป็นหูตา แทนท่าน อย่าขาดได้
มีไร่นา มากธุระ จะเป็นไร
ให้เขาเช่า ช่วยใครใคร มีงานทำ

เหมือนงานหลวง ไม่ขาด งานราษฎร์ช่วย
ย่อมได้ชื่อ ว่าอำนวย ประโยชน์ส่ำ”
ครูว่า “ฟัง ฟังซิอ้อย ฟังถ้อยคำ
แล้วจดจำ ใส่ใจ ไว้ให้ดี

ครูคิดว่า เราจะลา ลุงป้ากลับ
มาพักกัน ก็นับ นานแล้วนี่
ได้ประโยชน์ เกิดค่า กว่าทุกปี
ดูซิพี เนื้อเป็นกล้าม ตามตามกัน”

อ่วมว่า “ผม ก็พลอยได้ กำไรเยอะ
เพิ่มความรู้ หายเซอะ สิ้นคนหยัน
วิธีผลิต วิธีค้า สารพัน
ได้สังสรรค์ แจ้งประจักษ์ หลักวิชา”

ครูว่า “พวก ตุ๊ตุ้ม ก็คุ้มเหนื่อย
ที่ร้องเมื่อย บางวัน ถึงสั่นหน้า
ได้ลงมือ จับทำ ย้ำตำรา
ซึ่งนับว่า เป็นกำไร ใช่น้อยเลย

เออ! ลุงว่า เที่ยวนี้ มีสินค้า
จะต้องส่ง ตรงเวลา ข่าวเปิดเผย
ว่าหากส่ง ถึงล่า ช้าเช่นเคย
จะอ้างเอ่ เหตุใดใด เขาไม่ฟัง”

อ่วมตอบรับ “ผมเตรียมไว้ จะใช้รถ
เพียงสามคัน บรรทุกหมด เหลือที่นั่ง
ถนนเรียบ แล่นทันใจ ไม่ต้องยั้ง
คุณครูลอง ผ่านสักครั้ง ไหมเล่าครับ”

ทั้งตุ๊ตุ้ม ตื่นเต้น เห็นได้ช่อง
“คุณครูครับ โปรดลอง ขาเรากลับ
ผมสัญญา ว่าอย่างไร คอไม่พับ
โงกหงุบหงับ เหมือนเมื่อขา มารถไฟ”

ครูหัวร่อ “ตกลง คงดีแน่
เป็นโอกาส ได้แปร เปลี่ยนทางใหม่
ความเจริญ สองข้าง ทางที่ไป
มีมากน้อย เพียงไร จะได้รู้

อ้อยเขามา ประเดิม แต่เริ่มตัด
ถนนลัด เข้าถึงไร่ ใช่ไหมหนู”
อ้อยว่า “มา กับคุณแม่ และได้ดู
เขาลงพืช เป็นหมวดหมู่ สุดสายตา

ถ้าตุ้มตุ๊ ผ่านไป ใจต้องปลื้ม
เห็นประโยชน์ หลับไม่ลืม จนวันหน้า”
ครูว่า “อ้อย เข้าใจเสริม เพิ่มศรัทธา
เอาละจง รอท่า ลุงแกนัด”

อ่วมว่า “จง พร้อมกัน วันมะรืน
เตรียมไว้แต่ กลางคืน ไม่ต้องผัด
มีอะไร ขนไปได้ สารพัด
รถส่วนตัว ไม่จำกัด ต้องกังวล

จบนิทานเรื่องที่ ๕


« « Prev : นิทานร้อยบรรทัด เล่ม 3

Next : นิทานร้อยบรรทัด เล่ม 5 » »


ผู้ใช้ Facebook สามารถให้ความเห็นที่นี่ได้ โดยกด Like เพื่อแสดงตัว

ความคิดเห็นสำหรับ "นิทานร้อยบรรทัด เล่ม 4"

ไม่มีความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็น

ท่านอยากจะเข้าระบบหรือไม่


*
To prove you're a person (not a spam script), type the security word shown in the picture. Click on the picture to hear an audio file of the word.
Click to hear an audio file of the anti-spam word


Main: 0.57919001579285 sec
Sidebar: 0.13863396644592 sec