ผลิต Biochar อย่างจริงจัง (7)
บ่ายนี้มีโทรศัพท์มาแสดงความเห็นว่า บันทึกชุด ผลิต Biochar อย่างจริงจัง น่าจะมีนัยอะไรบางอย่าง
มีครับ ผมไม่ใช่คนมีลับลมคมนัยอะไรหรอก แต่มักไม่บอกอะไรตรงๆ เหมือนเขียนตำรา ถ้าไม่ได้เอาไปพิจารณา ก็คงไม่ได้อะไรไป ถึงแม้คิดไปผิดทาง ก็ยังได้คิด ไม่เชื่ออะไรง่ายๆ เหมือนถูกจูงจมูก แต่หากคิดได้ดีกว่าผม ก็ดีเลย ผมจะได้เรียนไปด้วย
ตั้งแต่ประเทศไทยเริ่ม “พัฒนาประเทศ” ด้วยแผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติ มีการปรับปรุงกระบวนการผลิตอย่างมโหฬาร เละกันไปทั่วทุกหัวระแหง ตั้งแต่การศึกษา อุตสาหกรรม … ไปยันความเป็นมนุษย์
ทางด้านการเกษตร นอกจากเปลี่ยนไปเป็นพืชเชิงเดี่ยวซึ่งทำลายความหลากหลายของพืชพันธุ์แล้ว ยังมีการเร่งผลผลิตด้วยปุ๋ยเคมีอีก ปุ๋ยนี้มีการกำหนดสูตรว่าจะต้องอยู่ในสัดส่วนของธาตุอาหารสำคัญของพืชสามอย่างคือ ไนโตรเจน(N) ฟอสฟอรัส(P) และ โปแตสเซียม(K) ธาตุอาหารของพืชนั้นมีมากกว่าสามชนิดนี้ แล้วยังมี ค่า pH ความร่วนซุยของดิน ความชื้นในดิน และจุลินทรีย์ในดิน ซึ่งต่างทำหน้าที่สอดประสานกับรากพืช ลำเลียงธาตุอาการผ่านระบบรากไปสร้างเป็นความเจริญเติบโตให้แก่ต้นไม้
แต่การใช้ปุ๋ยเคมี (และยาฆ่าแมลง ยาฆ่าหญ้า) มาเป็นเวลาหลายสิบปี ทำให้ดินเสื่อมสภาพ ดินชั้นบนแข็ง แล้วเพื่อเร่งผลผลิต เราก็ถางแหลก ต้นไม้ใหญ่หายไปหมด เมื่อร่มเงาหายไป ดินก็ถูกแดดเผาโดยตรง ยิ่งไปเร่งอาการดินแข็งดินแตก เลนและบ่อปลักกลายเป็นดินดาน ยิ่งทำให้ความชื้นในดินต่ำ
เมื่อดินแข็ง น้ำซึมจึงผ่านได้ยาก ทำให้ความชุ่มชื้นในดินต่ำ รากพืชที่อยู่ต่ำลงไป ก็ไชไปหาอาหารได้ลำบากขึ้น นำอาหารไปเลี้ยงลำต้นได้ลำบาก
น้ำท่วมใหญ่คราวนี้ มีฝนตกลงมามาก แต่ที่เราไม่ค่อยฉุกใจคิดกันก็คือฝนที่ตกลงมา ซึมลงไปในดินได้น้อย เพราะดินเราแข็ง ฝนตกลงมาเจอดินแข็ง แทนที่จะซึมลงไปข้างล่างเป็นต้นน้ำลำธาร ก็ไหลไปทางข้างๆ บ่าลงมา หลายหุบ หลายแก่ง รวมกันเป็นน้ำป่าทะฃักเข้าท่วมบ้านเรือนไร่นา
ยิ่งกว่านั้นยังมีพื้นที่เป็นจำนวนมากที่น้ำท่วมขังเป็นเวลานานหลายเดือน จริงอยู่ที่ดินผิวหน้าอิ่มน้ำ ทำให้น้ำซึมลงไปข้างล่างได้ลำบาก แต่ก็น่าคิดเช่นกันว่าทำไมชั้นดินที่อิ่มน้ำ (½~1 เมตร) จึงไม่ถ่ายน้ำลงไปข้างล่าง
Terra petra (ดินที่ปรุบปรุงคุณภาพด้วย Biochar) เป็นความลับที่สูญหายของชาวเผ่าอินคาแถบลุ่มแม่น้ำอเมซอน ดินแถวนั้นมีความอุดมสมบูรณ์ต่ำ! แต่ชาวอินคาค้นพบ Terra petra ซึ่งนำไปใช้ปรับปรุงดินทำให้ปลูกอะไรก็ขึ้น สร้างผลผลิตเพียงพอต่อประชากร สร้างอาณาจักรขนาดใหญ่ได้
ความคิดเรื่องการนำ Biochar มาปรับปรุงดิน จะช่วยเร่งการเติบโตของต้นไม้ตามป่าเขาต้นน้ำ แม้ที่พื้นที่เกษตรกรรมที่เคยใช้ปุ๋ยเคมี และยาเคมีมาก่อน ก็ใช้ปรับปรุงดินได้ด้วยต้นทุนต่ำ ขณะนี้มีต้นไม่ยืนต้นตายเป็นจำนวนมาก แทนที่จะขุดรากถอนโคนทิ้งไปเป็นที่โล่งๆ หรือนำไปเผาเป็นถ่านหุงต้ม หากเผาด้วยกระบวนการผลิต Biochar ก็จะมีมูลค่าเพิ่มมาก
เนื่องจาก Biochar รักษาอินทรียสาร (ปุ๋ย) เอาไว้ในดิน ด้วยการที่ถ่าน Biochar ดูดความชื้นไว้ ดังนั้นหลังน้ำท่วม ใส่ Biiochar แล้วไม่ต้องใส่ปุ๋ย ลดค่าใช้จ่ายของเกษตรกร คืนสมดุลย์ของธรรมชาติให้กับดิน เร่งการกลับสู่เกษตรธรรมชาติโดยไม่ต้องแลกด้วยผลผลิตที่ต่ำลง ไม่แน่ว่าผลผลิตอาจจะมากกว่าเก่าด้วยซ้ำไปครับ
« « Prev : ผลิต Biochar อย่างจริงจัง (6)
Next : กลับสู่ความคุ้นเคยเก่าๆ » »
7 ความคิดเห็น
ผมก็กำลังตามบันทึกนี้อยู่ และตั้งข้อสังเกตไว้ว่า เรื่องนี้ดูเหมือนบ้านเราก็มีการทำอยู่บ้าง สังคมบ้านเราให้น้ำหนักกับวิทยาการที่มาจากความทันสมัยมากกว่าไปเก็บตก เรียนรู้จากชาวบ้าน ผมเชื่อว่าบ้านเรามีการปฏิบัติเช่นนี้แต่ไม่มีใครเอ๊ะใจ ไม่มีใครศึกษา การหยิบเรื่องนี้มา ก็เท่ากับต้องย้อนกลับไปมองของเราบ้างแล้ว อย่างไรก็ตามรายละเอียดเรื่องนี้มันสอดคล้องแนวทางการพึ่งตัวเอง และสามารถทำขึ้นมาได้ เพียงเอาความรู้ไปอธิบาย ไปจัดการให้กระชับและพิสูจน์ให้เป็นวิทยาศาสตร์มากขึ้นกว่าการทำตามๆกันมา ขอบคุณครับ
ผมคิดเล่นๆ ว่าเดิมชาวบ้านทำนาแล้วเผาตอซังแล้วขี้เฒ่าตกอยู่พื้นนาแล้วไถกลบทำนาใหม่ ชาวเขาก่อนทำการเพาะปลูกใหม่ เผา แล้วเพาะปลูกใหม่ หลายครั้งที่เดินป่า แหล่งปลูกพืชของช่วบ้านในป่าคือตรงจุดที่ถากถางและมีการเผายังมีเศษกิ่งไม้ที่โดนเผาแล้วกลบลงดิน ปลูกพริก ปลูกมะเขือก็งามเหลือเกิน
ต่อมาวิชาการเราบอกว่าการไม่ให้เผาให่ไถกลบเลย แต่การไถกลบเลยนั้นมีต้นทุนการไถมาก ชาวบ้านจึงไม่ทำเพราะประหยัดทุน การเผาโฆษณาว่าทำให้โลกร้อนเพราะ…… สมัยทำงานที่ท่าพระ ขอนแก่นกับผู้เชี่ยวชาญ Kentucky เขาบอกว่าการเผานั้นได้ประโยชน์แค่ ได้ถ่านที่เป็นตัว K คือ โปแตสเซี่ยม และส่วนใหญ่ในภาคอีสานมีอยู่แล้วในดิน อันนี้ผมก็ไม่ได้ติดตามในรายละเอียดแค่ผ่านหูผ่านตา เท่านั้นสมัยนั้นสนใจด้านสังคมมากกว่า นักดินอย่างอาว์เปลี่ยนจะรู้เรื่องนี้ดี
ถ่าน Biochar เป็นการเผาแบบให้ความร้อนแก่ biomass โดยควบคุมออกซิเจน เหมือนกับบังคับให้ biomass ซึ่งเป็นไฮโดรคาร์บอนสลายตัวปล่อยเอาไฮโดรเจนและออกซิเจนออกมา ซึ่งทั้งคู่ติดไฟให้เป็นความร้อนซึ่งเอาไปเผาถ่านอีกต่อหนึ่ง biomass จึงเหลือไว้แต่คาร์บอน(ในรูปของถ่าน) ดังนั้น Biochar จึงไม่ใช่ถ่านธรรมดานะครับ และไม่สามารถจะสร้างได้ด้วยการเผาในที่โล่ง
ถ้าเป็นการเผาตอซังทั่วไป ขี้เถ้าจะเป็นคาร์บอนแต่เราสูญเสียธาตุอาหารอื่นในดินไปกับความร้อนจากการเผา ซึ่งต่างกับการผลิต Biochar ซึ่งไม่ได้เผาถ่านในแปลงเพาะปลูกครับ
อือ..ใช่แล้ว อ.ดร.เอดดี้ ยัง แห่งมหาวิทยาลัยเกษตร บางเขนก็พูดเรื่องนี้ pyrolysis at low temperatures ที่เมืองกาญจน์ เราจึงได้อะไรหลายอย่างออกมาที่เป็นประโยชน์มากกว่าจะปล่อยให้เป็นมลภาวะ บ่ายวันนี้ อ.ดร.เอดดี้ ก็มาพูดที่ ไทยพีบีเอสอีกเรื่องนี้ เรื่องนี้ เทศบาลเมืองใหญ่ๆน่าที่จะพัฒนาเครื่องมือนี้ขึ้นมานะครับเพื่อ เผาพลาสติดเป็นน้ำมัน หมักอินทรีย์สารเป็นแก๊ส และเศษวัสดุต่างๆเป็น Biochar จะลองไปแลกเปลี่ยนกับเทศบาลนครขอนแก่นดู ครับ
สวัดดีคับ อยากทราบแบบเตาเผาถ่าน biochar แบบง่ายๆ ที่เกษตรกรทำใช้เองได้รบกวนผู้รู้แนะนำด้วยครับ
ใช้ถังสองใบที่ขนาดไม่เท่ากัน ถ่าน Biochar จะอยู่ในถังเล็กซึ่งคว่ำอยู่ภายในถังใหญ่ ส่วนถังใหญ่เราเจาะรูอากาศทางด้านฐาน ระหว่างถังทั้งสองใส่เชื้อเพลิงแล้วจุดไฟเผา ความร้อนที่เกิดขึ้น จะเผาถังในซึ่งบรรจุ biomass (ที่จะทำเป็นถ่าน Biochar) ทำให้ biomass นั้นปล่อยก๊าซไฮโดนเจน มีเทน และคาร์บอนมอนนอกไซด์ ฯลฯ ออกมา ก๊าซเหล่านี้ติดไฟกลายจึงเป็นเชื่อเพลิงเผาถังไปอีกทอดหนึ่ง (เผาแล้วคาร์บอนมอนนอกไซด์เปลี่ยนเป็นคาร์บอนไดออกไซด์ไปเอง) ต่อให้เชื้อเพลิงที่ใส่ไว้ระหว่างถังทั้งสองมอดไปก็ยังไม่เป็นไร เพราะว่าถังในปล่อยก๊าซที่ติดไฟออกมาครับ
รอจนกระทั่งไฟมอดไปเอง (biomass ในถังเล็ก กลายเป็นถ่านไปหมดแล้ว จึงไม่ปล่อยก๊าซออกมา) ภายในถังในจะได้ถ่าน Biochar ครับ
เมื่อทดลองแล้วได้ผลอย่างไร มาเล่าสู่กันฟังบ้างนะครับ นี่จึงจะเป็นการร่วมกันเรียนรู้ และหากได้ผลดี รบกวนเผยแพร่ต่อเลยครับ