เก็บตกส่งท้ายขอนแก่น
ก่อนไปบรรยายให้นักศึกษาภาควิชาวิศวกรรมศาสตร์คอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ชั้นปีสาม โดยมี นศ.ชั้นปีสองกับปีสี่เข้าฟังด้วย เมื่อวันที่ 7 ม.ค. ผมเขียนโน๊ตสั้นไว้ในช่วงกินข้าวกลางวัน ก่อนไปบรรยายตอนบ่ายสองโมง
โน๊ตนี้ก็ไม่มีอะไรหรอกครับ คือผมแน่ใจว่าจะมีนักศึกษาเป็นจำนวนมาก ที่อาจจะย่อยสิ่งที่ผมเล่าให้ฟังไม่ทัน หรือไม่ก็อาจจะย่อยไม่ได้เลย — ไม่ได้ดูแคลนหรอกนะครับ — เรื่องที่บรรยายไม่ยาก แต่เป็นเรื่องที่ต้องคิด มีเรื่อง มีเกร็ดมากมายในบรรยายครั้งนั้น ทำให้ไม่มีเวลาคิด; มันเต็มไปด้วยเรื่องของการเลือกในสถานการณ์ต่างๆ การพิจารณาทางเลือกในสถานการณ์ และข้อจำกัดต่างๆ การไม่ปล่อยให้ชีวิตดำเนินไปเรื่อยเจื้อย การตระหนักถึงจุดเปลี่ยน และการตัดสินใจเปลี่ยนแปลงในจังหวะที่เหมาะ
ถ้าไม่มีประสบการณ์มาเลย เรื่องแบบนี้ บางทีฟังเพลินจนลืมคิดครับ ทีนี้ถ้านักศึกษาจับประเด็นอะไรไม่ได้ ผมก็อยากให้ได้ประเด็นที่ขมวดไว้ในตอนท้าย ซึ่งขยายความเพิ่มเติมคือ
- ชีวิตจริงไม่ใช่ข้อสอบปรนัย ไม่แน่ว่าทางเลือกที่เห็นอยู่ข้างหน้า จะมีคำตอบที่ถูกต้องที่สุดอยู่หนึ่งคำตอบ แล้วก็ไม่มีใครมาบอกว่าผิดหรือถูกด้วย เลือกเอง รับผิดชอบเอง — เป็นหน้าที่ของเราที่จะไปหาคำตอบที่ถูกต้อง ไม่ใช่รอให้ใครมาบอก หรือยื่นทางเลือกมาให้
- การเรียนรู้เกิดขึ้นได้ตลอดเวลา (ถ้าจะเรียน) เรียนรู้ให้รู้แจ้ง ไม่มีใครสามารถมาแจ้งให้เรารู้ได้ ต้องรู้เองเท่านั้น ครูบาอาจารย์ตั้งใจถ่ายทอด แต่ก็ทำได้เพียงชี้ช่อง เชื่อมโยงประสบการณ์เข้าด้วยกัน ไม่สามารถจับความรู้ยัดลงมาในกะโหลกได้เหมือนเติมน้ำมัน; ถ้านักศึกษาไม่เรียนรู้ ไม่คิดพิจารณาฝึกฝนสอบทานจนแตกฉาน รับรู้แต่ไม่คิด แค่สอบได้ก็พอ ไม่พยายามก้าวหน้าไปกว่าอาจารย์ โลกก็จะมีแต่เสื่อมลงไปเรื่อยๆ เพราะทุกการถ่ายทอดจะมีการสูญเสีย — ความรู้จะมีประโยชน์ก็ต่อเมื่อนำไปพลิกแพลงประยุกต์ใช้ในชีวิตได้ เมื่อนั้นความรู้จึงมีค่า
- ชีวิตมีหลายมิติ ไม่มีใครเป็นอย่างเดียวได้ตลอดเวลา อัจฉริยะมีความเป็นเลิศได้หลายอย่าง คนธรรมดาก็ฝึกฝนจนมีความเป็นเลิศได้เช่นกัน แต่ไม่มีใครที่จะดำรงชีวิตอยู่เฉพาะในด้านที่ตนเป็นเลิศเท่านั้น เพราะว่ามันไม่หลากหลายพอที่จะทำให้ชีวิตดำรงอยู่ได้ เราต้องพึ่งพาผู้อื่น — มองให้เห็นความเชื่อมโยงระหว่างคน เคารพผู้อื่นบ้าง เพราะว่าเรามันไม่ได้เจ๋งไปซะทุกอย่าง
- คุณค่าของคน มาจากการที่ผู้อื่นยกให้ ไม่ใช่พูดเองเออเอง เลิกพล่ามอวดอ้างตัวเอง ถ้าดีจริง ทำไมคนอื่นไม่เห็นจนต้องไปพร่ำบอกคนอื่นว่าตัวเองดีอย่างไร — กระทำเพื่อผู้อื่นบ้าง เริ่มเสียตั้งแต่วันนี้
ทักษะที่ผมคิดว่าจำเป็นต่อการดำรงชีวิตอย่างไม่เบียดเบียนตัวเองคือ
(3) การจัดการเงิน อย่ามีหนี้ การมีหนี้คือการใช้จ่ายเกินกำลังของตน
(2) การจัดการความเครียด ความเครียดเกิดจากความเป็นจริงกับความคาดหวังไม่ตรงกัน
(1) มองสิ่งต่างๆ ตามความเป็นจริง จะดีจะร้าย ชอบไม่ชอบ ก็หนีความจริงไปไม่พ้น สู้มองให้ชัดแล้วเตรียมตัวดีกว่า
Next : ฝรั่งเข้าใจเมืองไทยดีกว่าคนไทย? » »
11 ความคิดเห็น
หลวงพี่คอนฯ สอนธรรมะแนววิทยาศาสตร์กระบวนทัศน์ใหม่ อิอิ
ขอบคุณค่ะ คุณตฤณได้ให้ข้อคิดที่ดีและเป็นสิ่งที่ถ้าใครนำมาปฏิบัติได้ ก็จะมีความสุขและความสำเร็จได้ค่ะ
ชอบสามข้อนี้จัง
(3) การจัดการเงิน อย่ามีหนี้ การมีหนี้คือการใช้จ่ายเกินกำลังของตน
(2) การจัดการความเครียด ความเครียดเกิดจากความเป็นจริงกับความคาดหวังไม่ตรงกัน
(1) มองสิ่งต่างๆ ตามความเป็นจริง จะดีจะร้าย ชอบไม่ชอบ ก็หนีความจริงไปไม่พ้น สู้มองให้ชัดแล้วเตรียมตัวดีกว่า
แต่สงสัยทำไมเรียงกลับ คิดว่าน่าจะเกี่ยวกับความสำคัญ
อย่างไรก็ตาม ในเมื่อทั้งสามเป็นทักษะ ก็หมายความว่าฝึกฝนได้ เพียงแต่ก่อนจะฝึก เข้าใจให้ถ่องแท้ครับ
คนขับรถคนเก่าของผมมีปัญหาหนี้สิน ผมถามว่าเค้าจัดการอย่างไร เค้าก็ว่าผ่อนชำระเป็นประจำ ถามเค้าว่าผ่อนเท่าไหร่ เค้าว่าผ่อนขั้นต่ำเท่าที่บริษัทเจ้าหนี้กำหนด เจ้าหนี้เรียกเค้าว่าลูกหนี้ชั้นดี แต่ผมตั้งชื่อให้ใหม่ว่าทาส — ผ่อนขั้นต่ำ เงินต้นลดช้ามาก และจะต้องจ่ายไปเรื่อยๆ — ในที่สุด เค้าลักทรัพย์แล้วต้องเลิกจ้างครับ
ขอบคุณค่ะ (^_^)
อามิตรพุทธ
จริงแท้แน่นอนที่สุด เป็นธรรมชาติโดยแท้ มีสติรู้เรียนรู้ธรรมชาติ รู้คิด รู้ปฏิบัติ รู้ให้ชัด แต่ไม่ขัดใจตัวเอง55555
อ่านตั้งสองรอบค่ะ
ขอบพระคุณมากๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆ
[...] เก็บตกส่งท้ายที่ขอนแก่น แล้วคุณตฤณก็ได้รับเชิญจาก อ แป๋ว [...]
สวัสดีค่ะ ได้เขียนบันทึกจากคนฟังคนหนึ่งที่เคารพและศรัทธาในความเก่งและความดีของคุณตฤณที่
บันทึกการบรรยายของท่านเทพแห่งลานปัญญา
วันนี้เป็นวันแรกที่เข้ามาหาความรู้และก็ไม่ผิดหวังเลย
ขอบคุณทุกท่านที่ลานปัญญา