หายนะที่คาดเดาได้

โดย Logos เมื่อ 30 January 2009 เวลา 0:06 ในหมวดหมู่ การบริหารจัดการ, สังคม ชุมชน ครอบครัว #
อ่าน: 4083

เป็นเรื่องแปลกที่ทั้งที่หายนะนั้นคาดเดาได้ แต่มันก็ยังเกิดขึ้น

ในช่วงหาเสียงของ Clinton/Gore Presidential Campaign เขามีนโยบายที่จะเพิ่มความเข้มงวด เรื่องความปลอดภัยในการโดยสารเครื่องบิน แต่พอได้เข้ามาบริหารกลับกลัวที่จะทำ เพราะเกรงว่าผู้โดยสารจะไม่ได้รับความสะดวก แล้วก็เกิดเหตุการณ์เครื่องบินชนตึก 9/11 — เราจำอันนี้ไม่ได้เพราะมันถูกกลบด้วย National Information Infrastructure (NII) ซึ่งกล่าวถึงวิสัยทัศน์ที่ทุกบ้าน/ทุกโรงเรียนมีอินเทอร์เน็ต อันเป็นจุดที่อินเทอร์เน็ตขยายตัวอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อนทั่วโลก

วิกฤติซับไพร์มในสหรัฐ มีสัญญาณมาหลายปีก่อน กล่าวคือ subprime mortgage มีค่าประมาณ 10% ระหว่างปี 2001-2003 แต่เพิ่มขึ้นเป็น 18-21% ในช่วงระหว่างปี 2004-2006 พอปี 2008 ก็เกิดลูกโป่งแตกทันที

แล้วรัฐประหารวันที่ 19 กันยายน 2549 ล่ะครับ… ผมว่าอันนี้ก็ใช่ ความทะนงตนของผู้มีอำนาจในเวลานั้น ตลอดจนการไม่ได้รับข้อเท็จจริง ทำให้ตัดสินใจยืนหยัดชนลูกเดียว ทั้งที่การถอยเสียหนึ่งก้าว ก็จะเป็นการสลายเงื่อนไขการยึดอำนาจได้อย่างนุ่มนวล

การจัดการกับหายนะที่คาดเดาได้นี้ ไม่ใช่ใช้การควบคุมความเสี่ยงแต่อย่างเดียว แต่ยังต้องผสมผสานวิธีการจัดการ การเฝ้าระวัง การติดตามความคืบหน้า ฯลฯ ตลอดจนความจริงจังที่จะกำจัดบรรเทาหายนะต่างๆ เรียกว่าการบริหารความเสี่ยง คือทำงานอย่างตระหนักรู้

ในชีวิตของเรา ไม่มีใครต้องการจะเผชิญกับหายนะทั้งนั้น ในด้านธุรกิจก็เช่นเดียวกัน แต่ธุรกิจต้องดำเนินไป ไม่มีธุรกิจใดที่ไม่เสี่ยง ถ้าหากไม่รับความเสี่ยงเสียเลย ก็ไม่ควรทำธุรกิจอีกต่อไป จะทำธุรกิจก็ควรเข้าใจความเสี่ยงของงานที่ทำอยู่ หาทางป้องกัน ลดโอกาสที่จะเกิดความเสียหาย ดำเนินการอย่างระมัดระวัง แต่อย่าให้ถึงขนาดที่กระบวนการเหล่านี้ขัดขวางการทำงาน ประสาทหลอนจนต้องคลุมโปงนอนอยู่ในบ้านอย่างเดียว ไม่ยอมทำอะไรเลยก็แล้วกันครับ ยิ่งเศรษฐกิจเป็นอย่างนี้ ทำอะไรจะต้องระมัดระวัง แต่ควรแยกให้ออกระหว่างการระวังรอบคอบ กับอาการประสาทหลอน

รศ.ดร.พสุ เดชะรินทร์​ คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเคยเขียนบทความไว้เมื่อสามเดือนที่แล้ว บรรยายถึงลักษณะหกประการของหายนะที่คาดเดาได้ (Predictable Surprises) ว่า…

ประการแรกก็คือ ผู้บริหารรู้ว่ามีปัญหานั้นอยู่และทราบด้วยว่าปัญหานั้นไม่สามารถที่จะสลายไปหรือได้รับการแก้ไขได้ด้วยตัวมันเอง

ท่านผู้อ่านลองสังเกตปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นในองค์กรของท่านดูซิครับ บางอย่างเมื่อเวลาผ่านไปปัญหานั้นก็จะสามารถคลี่คลายได้ด้วยตนเอง ทำให้ผู้บริหารไม่จำเป็นต้องไปทำสิ่งใดกับปัญหานั้น แต่ปัญหาบางประเภทก็ไม่สามารถที่จะคลี่คลายลงไปด้วยตนเองได้ Predictable Surprise นั้นจะเกิดจากปัญหาที่ไม่สามารถคลี่คลายด้วยตนเองได้ จะต้องอาศัยการกระทำบางอย่างเพื่อให้ปัญหานั้นคลี่คลายลง

ประการที่สอง Predictable Surprises จะเกิดขึ้นเมื่อปัญหาที่เราพบเจอในประการที่หนึ่งนั้น เริ่มมีแนวโน้มที่จะแย่ลงเรื่อยๆ ปัญหาบางประการจะสามารถแก้ไขได้ด้วยตนเอง แต่ถ้าปัญหาใดที่ไม่สามารถแก้ไขได้ด้วยตนเอง และมีแนวโน้มที่จะทวีความรุนแรง หรือแย่ลงเรื่อยๆ

ก็อาจจะบอกได้เลยครับว่า Predictable Surprises จะเกิดขึ้น ซึ่งตรงนี้ท่านผู้อ่านอาจจะเห็นตรงกันนะครับว่า Predictable Surprises ที่เกิดขึ้นนั้น ส่วนใหญ่ไม่ได้เกิดขึ้นเพราะมองไม่เห็นปัญหานะครับ แต่เกิดขึ้นเพราะไม่สามารถตอบสนอง หรือกระทำการเพื่อแก้ไขปัญหามากกว่าครับ

ประการที่สามก็คือ ถ้าจะแก้ไขปัญหาที่มองเห็นแล้ว จะมีต้นทุนที่สูง แต่ในขณะเดียวกันประโยชน์ที่ได้จากการแก้ไขปัญหา หรือการลงทุนข้างต้นก็จะเป็นสิ่งที่ไม่สามารถมองเห็นได้

จริงๆ แล้วเรื่องนี้ก็เป็นธรรมชาติที่เราเจอทั่วๆ ไปนะครับ ที่ต้นทุน หรือค่าใช้จ่ายในการป้องกันไม่ให้ปัญหาหรืออันตรายเกิดขึ้นมีสูง และประโยชน์ก็จะมองไม่เห็นในระยะสั้น หรือบางครั้งมองไม่เห็นเลยด้วยซ้ำไป (เนื่องจากเราสามารถป้องกันไม่ให้เกิดอันตรายขึ้นมาได้)

ประการที่สี่ก็ต่อเนื่องจากข้อข้างต้นครับ ในเมื่อการป้องกันอันตรายล่วงหน้ามีต้นทุนที่สูง แต่มองไม่เห็นประโยชน์ที่จะได้รับในระยะสั้น ผู้บริหารก็มักจะมองไม่เห็นประโยชน์ที่ตนเองจะได้รับจากการแก้ไขปัญหา หรือป้องกันอันตรายนั้น

ทั้งนี้เนื่องจากงานที่ตนเองได้ทำลงไป จะไม่ได้รับการชื่นชมหรือยอมรับจากผู้อื่น เพราะผู้คนรอบข้างจะมองไม่เห็นผลงานนั้นอย่างชัดเจน เรียกได้ว่าผู้บริหารที่ลงมือแก้ไขปัญหา หรือป้องกันอันตรายนั้นทำงานแบบปิด ทองหลังพระเลยครับ ผลจากการที่ต้องทำงานปิดทองหลังพระก็เลยทำให้ผู้บริหารหลายๆ ท่านไม่ทำอะไรแต่มานั่งสวดภาวนาแทน แล้วหวังว่าเหตุการณ์เลวร้ายคงจะไม่เกิด ขึ้น

ประการที่ห้า สาเหตุสำคัญที่ทำผู้บริหารมักจะละเลยต่อสิ่งที่จะนำไปสู่ Predictable Surprises ก็คือ การกระทำใดๆ ก็แล้วแต่ มักจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลง และคนเราก็มีแนวโน้มอยู่แล้วที่จะมองว่า ในเมื่อทุกสิ่งทุกอย่างดีอยู่แล้ว ทำไมจะต้องมีการเปลี่ยนแปลงด้วย

และประการสุดท้ายครับก็คือ การที่จะทำการแก้ไขหรือเปลี่ยนแปลงใดๆ ก็ตามย่อมจะนำไปสู่การสูญเสียสถานะหรือผลประโยชน์ของบุคคลบางกลุ่ม ซึ่งบุคคลเหล่านี้ก็จะเป็นผู้ที่คอยปิดกั้นไม่ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงหรือ กระทำการเพื่อป้องกัน Predictable Surprises

ท่านผู้อ่านจะสังเกตได้นะครับว่าหลักการของ Predictable Surprises ก็เป็นการนำเอาแนวคิดทางด้านการจัดการหลายๆ ประการเข้ามารวมกันทั้งในเรื่องของการบริหารความเสี่ยง การบริหารความเปลี่ยนแปลง หรือแม้กระทั่ง Scenario รวมถึงหลักการบริหารแบบไทยๆ หลายประการไม่ว่าจะเป็น กันไว้ดีกว่าแก้ หรือ เสียน้อยเสียยาก เสียมากเสียง่าย ท่านผู้อ่านลองสังเกตดูรอบๆ ตัวท่านนะครับว่ามี Predictable Surprises เกิดขึ้นบ้างหรือยัง หรือมีแนวโน้มที่จะเกิดขึ้นบ้างหรือไม่?

แต่ที่น่าสนใจกว่าลักษณะของหายนะที่คาดเดาได้ คือ Part II (Why Don’t We Act On What We Know?) กับ Part III (Preventing Predictable Surprises) ในหนังสือ Predictable Surprises ของ Max Bazerman และ Michael Watkins (เห็นขายอยู่ที่ศูนย์หนังสือจุฬา)

การแก้ไข ขึ้นกับการตัดสินใจ แต่การตัดสินใจนั้น ขึ้นกับข้อเท็จจริงที่ได้รับ ซึ่งควบคุมไม่ค่อยได้/ขึ้นกับการตีความ และขึ้นกับอคติของคนกิเลสหนา (cognitive biases)

1) โดยทั่วไป เรามักจะมองในแง่บวกเพื่อสร้างกำลังใจให้กับตัวเอง และนั่นนำไปสู่ข้อสรุปว่าไม่มีปัญหา [ความหวัง]

2) เราตีความเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในลักษณะชิลชิล สบายสบาย และบางทีถ้ามีเรื่องที่ต้องทำอะไรสักอย่าง ก็กล่าวโทษ และ/หรือ ให้รางวัล ในลักษณะที่ตอบสนองต่อตนเองด้วยความเห็นแก่ตัว ความดีเป็นของตน ความชั่วเป็นของคนอื่น [การสร้างเกราะขึ้นปกป้องตัวเอง]

3) เราคิดว่าอนาคตยังอีกไกล กว่าจะเกิดเรื่องร้าย ยังมีเวลาอีกตั้งนานที่จะแก้ไข แล้วในที่สุดก็ไม่ทำ หรือทำไม่ไหว [ความขี้เกียจ]

4) เราเกลียดการเปลี่ยนแปลง ในเมื่อมันยังไม่ระเบิด จะไปเหนื่อยทำไม เปลี่ยนแล้วไม่รู้ว่ามันจะเป็นยังไง ถ้าไม่เปลี่ยนถึงไม่ดี ก็ยังรู้ว่าอะไรเป็นอะไร [การไม่ชอบความรู้สึกไม่มั่นคง]

5) เราจะเริ่มแก้ไขก็ต่อเมื่อตัวเองได้รับผลกระทบเท่านั้น ถ้ายังไม่ได้รับผลกระทบ มันก็เป็นปัญหาของคนอื่น [รอจนจวนตัว]

ไม่ว่าหนังสือจะพูดอะไร ขอให้เข้าใจไว้อย่างหนึ่งครับ ถ้าไม่มีสังคม ไม่มีองค์กร ก็ไม่มีตัวเรา เพราะว่าเราทำทุกอย่างด้วยตนเองไม่ได้ ต้องพึ่งพาผู้อื่น จึงจะมีชีวิตรอดอยู่ได้ เห็นอะไรไม่ดี ไม่ถูกต้อง ก็อย่าปล่อยทิ้งไว้จนลุกลาม อย่าไปโทษว่าเด็กตีกันเลย พ่อแม่ควรอบรมสั่งสอนเขามาตั้งแต่ยังเล็กๆอยู่ อย่าไปโบ้ยให้โรงเรียนทำ ขนาดพ่อแม่ให้กำเนิดเขามายังคุยกันไม่รู้เรื่อง จะผลักภาระไปให้ครูบาอาจารย์ซึ่งเจอกันสัปดาห์ละไม่กี่ชั่วโมงทำทั้งหมด จะไหวหรือครับ

ตัวอย่างหนังสือ Predictable Surprises

« « Prev : บทเรียนจากเด็ก

Next : เก็บตกส่งท้ายขอนแก่น » »


ผู้ใช้ Facebook สามารถให้ความเห็นที่นี่ได้ โดยกด Like เพื่อแสดงตัว

6 ความคิดเห็น

  • #1 sutthinun ให้ความคิดเห็นเมื่อ 30 January 2009 เวลา 0:40

    เรื่องนี้สุดยอดจริง  หมอดู ที่ไม่ใช่หมอเดา

  • #2 krupu ให้ความคิดเห็นเมื่อ 31 January 2009 เวลา 13:51

    (Why Don’t We Act On What We Know?)
    โอย ประโยคเดียว  ก็ทำให้เจอแรงต้าน แรงถ่วง แรงหนืด ที่ต้องลาก ต้องปะทะมาแทบจะตลอดชีวิตการทำงานเลยล่ะค่ะ

    ขอบคุณค่ะ

  • #3 Logos ให้ความคิดเห็นเมื่อ 31 January 2009 เวลา 14:13
    แต่มันก็ไม่ใช่เหตุผลที่ดีพอที่จะไม่ทำไม่ใช่หรือครับ
  • #4 krupu ให้ความคิดเห็นเมื่อ 31 January 2009 เวลา 14:37

    YES!

  • #5 krupu ให้ความคิดเห็นเมื่อ 31 January 2009 เวลา 14:39

    That’s why

  • #6 krupu ให้ความคิดเห็นเมื่อ 31 January 2009 เวลา 14:41

    that’s why  again!


แสดงความคิดเห็น

ท่านอยากจะเข้าระบบหรือไม่


*
To prove you're a person (not a spam script), type the security word shown in the picture. Click on the picture to hear an audio file of the word.
Click to hear an audio file of the anti-spam word


Main: 0.20423698425293 sec
Sidebar: 0.33467316627502 sec