อภัย

โดย Logos เมื่อ 30 October 2008 เวลา 0:44 ในหมวดหมู่ ประสบการณ์ชีวิต #
อ่าน: 3625

บทความนี้ มีการอ้างถึงบ่อย ตลอดหลายปีที่ผ่านมา ขอนำมาฝากคนที่โทรมาปรึกษาเมื่อวานนี้ รู้ว่าจะมาอ่านแน่ครับ

ผมแก้ตัวสะกดในสำนวนภาษาอังกฤษ และภาษาไทยให้ถูกต้อง (เข้าใจว่าพิมพ์คัดลอกมาผิด)

ให้อภัย

จากหนังสือ ธรรมลีลา ปีที่ 4
ฉบับที่ 46 กันยายน 2547

โดย วศิน อินทสระ


มนุษย์ที่มีใจสูงย่อมรู้จักให้อภัยไม่เอาเรื่องกับสิ่งเล็กน้อย

อย่าทำเรื่องเล็กให้เป็นเรื่องใหญ่ ทางที่ถูกควรทำเรื่องใหญ่ให้เป็นเรื่องเล็ก ถ้าเป็นเรื่องเล็กอยู่แล้วก็ไม่ควรเอาเรื่องเสียเลย ปล่อยไปเสีย ทำไม่รู้ไม่เห็นเสียบ้าง ไม่บอดทำเป็นเหมือนบอด ไม่ใบ้ทำเหมือนใบ้ ไม่หนวกทำเหมือนหนวกเสียบ้าง จิตใจของเราจะสบายขึ้น

มีเรื่องแปลกประหลาดอยู่อย่างหนึ่งในหมู่มนุษย์ คือ คนส่วนมากเผชิญกับเหตุการณ์ใหญ่ ๆ อย่างกล้าหาญได้ แต่กลับขาดความอดทนต่อสิ่งเล็ก ๆ น้อย ๆ

ตัวอย่างเช่น ใครมาพูดเสียดสี กระทบกระเทียบเปรียบเปรย เขาทนไม่ได้ แต่กลับทนอยู่ในคุกตารางได้เป็น 20-30 ปี และยินดีรับความทุกข์เหล่านั้นไปตลอดเวลาที่ทางราชการกำหนด แม้จะไม่ยินดี ก็เหมือนยินดี เพราะไม่มีทางหลีกเลี่ยงได้ ถ้าเขายินดีรับความทุกข์เพียงเล็กน้อยเสียก่อน คืออดทนต่อคำด่าว่าเสียดสี หรืออาการทำนองที่เขาคิดว่าเป็นการดูถูกดูแคลนเพียงเล็กน้อยเสียก่อน ไหนเลยเขาจะต้องมาทนทุกข์ทรมานอันมากมายยาวนานถึงเพียงนั้น

การให้อภัยเป็นคุณธรรมสำคัญอย่างหนึ่งในมนุษย์

คนส่วนมากเมื่อจะทำทานก็มักนึกถึงวัตถุทานคือการให้วัตถุสิ่งของ ให้ได้มาก เตรียมการมาก ยุ่งมาก เขายินดีทำ แต่ใครมาล่วงเกินอะไรไม่ได้ ไม่มีการให้อภัยในความผิดพลาดของผู้อื่น ความจริงเขาควรหัดให้อภัยทานบ้าง แล้วจะเห็นว่า จิตใจสบาย ขึ้นประณีตขึ้น สูงขึ้น เป็นเทวดา ดังสุภาษิตอังกฤษบทหนึ่งว่า “To err is human, to forgive divine” แปลว่า การทำผิดเป็นเรื่องของมนุษย์ ส่วนการให้อภัยเป็นเรื่องของเทวดา ถือเอาความว่ามนุษย์ธรรมดาย่อมมีการทำผิดพลาดบ้าง

ส่วนมนุษย์ที่มีใจสูงย่อมรู้จักให้อภัย ไม่เอาเรื่องกับสิ่งเล็กน้อย

หรือแม้ในสายตาของคนอื่นจะเห็นเป็นเรื่องใหญ่ แต่สำหรับท่านผู้มีใจกรุณา ย่อมเห็นเป็นเรื่องเล็กน้อย

พระพุทธเจ้าที่พวกเรานับถือนั้นมีผู้ปองร้ายพระองค์ถึงกับจะเอาชีวิตก็มี เช่น พระเทวทัตและพวกพยายามปลงพระชนม์หลายครั้ง แต่ไม่สำเร็จเพราะพระองค์ไม่ร้ายตอบ ทรงให้อภัย มีคนใส่ร้ายด้วยเรื่องที่ร้ายแรงทำให้เสียเกียรติยศชื่อเสียงก็มีเช่นพวกเดียรถีย์นิครนถ์ นางจิญจมาณวิกา นางสุนทรี เป็นต้น แต่ก็ไม่ทรงทำตอบ ทรงให้อภัย ในที่สุดคนพวกนั้นก็พ่ายแพ้ไปเอง เหมือนเอาไข่ไปตอกกับหินไข่แตกไปเอง

พระเยซู ศาสดาของคริสต์ศาสนาก็ทรงมีชื่อเสียงมากในการให้อภัย ไม่ทรงถือโทษต่อผู้คิดร้ายทำร้ายต่อพระองค์ ให้อภัยผู้ทำความผิด เปิดโอกาสให้กลับตัว อีกท่านหนึ่งคือมหาตมะ คานธี ซึ่งมีชื่อเสียงไปทั่วโลกเรื่องอหิงสา ความไม่เบียดเบียน การให้อภัยจนถึงอัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ นักวิทยาศาสตร์ผู้ยิ่งใหญ่ได้กล่าวสดุดีท่านผู้นี้ไว้ว่า “ต่อไปภายหน้ามนุษย์จะเชื่อหรือไม่ก็ไม่ทราบ ว่าได้เคยมีคนอย่างนี้ (ท่านมหาตมะ คานธี) เกิดขึ้นแล้วในโลก” ทั้งนี้เพราะคุณวิเศษในตัวท่านนั้นยากที่คนสามัญจะหยั่งให้ถึงได้

รวมความว่า มหาบุรุษที่โลกยกย่องให้เกียรติเคารพบูชานั้น ล้วนเป็นนักให้อภัยทั้งสิ้นไม่เอาเรื่องกับสิ่งเล็ก ๆ น้อย ๆ หรือเรื่องใหญ่ก็ทำเป็นเรื่องเล็กเสียท่านเหล่านั้นมุ่งมั่นในอุดมคติ จนไม่มีเวลาจะสนพระทัยหรือสนใจในเรื่องเล็กน้อย แต่ท่านเหล่านี้จะสนใจในเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ อันเกี่ยวกับสุขทุกข์ของผู้อื่นเสมอ ส่วนเรื่องร้ายที่คนอื่นกระทำแก่ท่าน ท่านไม่สนใจ

ลองอ่านประวัติของท่านที่เอ่ย พระนามและนามมาแล้วดังกล่าวดูบ้าง จะเห็นว่าท่านน่าเคารพบูชาเพียงใด โลกจึงยอมน้อมเศียรให้แก่ท่าน

มีเรื่องเล่าว่าในวัดพุทธศาสนานิกายเซ็นวัดหนึ่งมีพระอยู่กันหลายรูป มีพระรูปหนึ่งมีนิสัยทางขโมยได้ขโมยของเพื่อนพระด้วยกันเสมอ ๆ จนวันหนึ่งพระทั้งหลายพากันขึ้นไปหาเจ้าอาวาสบอกว่า ถ้าพระรูปนี้ยังอยู่วัดนี้ พวกเขาจะไม่อยู่วัดนี้ ขอให้ไล่พระรูปนั้นออกไป ท่านเจ้าอาวาสบอกว่า พวกคุณนั่นแหละควรจะไปได้แล้วทุกรูป ส่วนพระรูปนั้นควรจะต้องอยู่กับฉันก่อน เพราะยังไม่ดี นี่คือเรื่องของผู้มีใจกรุณา

คนที่เคยทำความผิดอันยิ่งใหญ่นั้น ถ้ากลับใจได้เมื่อใดก็มักทำความดีอันยิ่งใหญ่เหมือนกัน เพราะสลดใจในเวรกรรมที่ตนเคยสร้างไว้

ดูพระเจ้าอโศกมหาราชและขุนโจรองคุลิมาลเป็นตัวอย่าง พระองค์เสด็จไปโปรดองคุลิมาลให้กลับเป็นคนดี ก็ด้วยพระทัยกรุณานั่นเอง แม้พระเจ้าอโศกมหาราชก็เหมือนกัน ตามพระประวัติว่า ได้อาศัยพระภิกษุในพุทธศาสนารูปหนึ่ง จึงกลับพระทัยมาดำเนินชีวิตทางไม่เบียดเบียน ทรงบำเพ็ญอภัยทานเป็นอันมาก

ถ้าจะเอาเรื่องกับเด็กรับใช้ที่บ้านภารโรงที่โรงเรียนหรือสำนักงาน ก็ขอให้หยุดคิดสักนิดหนึ่งว่าก็แกแค่นั้น จะเอาอะไรกับแกนักหนา ถ้าแกดีเท่าเราหรือเฉลียวฉลาดปราดเปรื่องอย่างเรา แกจะมาเป็นคนใช้หรือเป็นภารโรงทำไมกัน ก็เพราะความคิดอ่านแกมีอยู่เท่านั้น แกก็ทำอย่างนั้น อย่างที่เรารำคาญ ๆ อยู่นั่นแหละ คิดได้อย่างนี้ก็ค่อยหายกลุ้มไปหน่อย สุภาษิตที่ว่า “ความเข้าใจเป็นมูลฐานแห่งการให้อภัย” นั้น ยังเป็นความจริงอยู่เสมอ เมื่อเข้าใจแล้วก็ให้อภัย เห็นว่าเขาเป็นคนอย่างนั้นเอง

พระสารีบุตรเคยแสดงแก่ภิกษุทั้งหลายว่าในการคบคนนั้น ควรถือเอาเฉพาะส่วนดีของเขาส่วนไม่ดีก็ตัดทิ้งไป

บางคนการกระทำทางกายไม่ดี แต่วาจาดี บางคนวาจาหยาบแต่การกระทำทางกายดี บางคนการกระทำทางกายก็หยาบ วาจาก็หยาบ แต่ใจดี ควรถือเอาเฉพาะส่วนที่ดีนั้น ท่านเปรียบว่าเหมือนดึงผ้าออกมาจากดินโคลนเพื่อจะเอาไปปะต่อใช้สอยเห็นส่วนไหนดีก็ตัดเอาไว้ ส่วนไหนไม่ดีก็ตัดทิ้งไปถ้าทำได้อย่างนี้ก็จะช่วยให้สบายใจได้มาก อนึ่งควรคิดว่า

คนเราเกิดมาด้วยจิตที่ไม่เหมือนกัน คือพื้นฐานของจิตตอนถือปฏิสนธินั้นไม่เหมือนกัน จึงมีอุปนิสัยแตกต่างกันมาตั้งแต่เยาว์ เมื่อกระทบกับสภาพแวดล้อมที่แตกต่างกันอีกก็ทำให้บุคคลแตกต่างกันไปเป็นอันมาก การอยู่รวมกันของคนหมู่มากผู้มีอุปนิสัยใจคอพื้นฐานทางใจและการอบรมที่แตกต่างกัน จึงมีปัญหามาก ถ้าเราถือเล็กถือน้อยไม่รู้จักให้อภัย เราก็จะมีทุกข์มาก

บางทีก็เกี่ยวกับช่องว่างระหว่างวัย ผู้ใหญ่อยากจะให้เด็กทำ พูดและคิดอย่างตน ส่วนเด็กก็อยากจะให้ผู้ใหญ่ทำ พูด คิด อย่างตนเหมือนกัน ซึ่งโดยทั่ว ๆ ไปแล้วเป็นไปไม่ได้ ฝ่ายผู้ใหญ่ควรให้อภัยว่าแกเป็นเด็ก ส่วนเด็กก็ควรให้อภัยว่าท่านแก่แล้ว มาเข้าใจกันเสียคือเห็นใจซึ่งกันและกัน เมื่อเป็นดังนี้เรื่องเล็กไม่กลายเป็นเรื่องใหญ่ ทุกฝ่ายอยู่กันด้วยความเห็นใจเข้าใจ มองกันอย่างเป็นมิตร ไม่เป็นศัตรูต่อกัน

นี่ก็เป็นอีกวิธีหนึ่งในการผ่อนคลายความทุกข์ในชีวิตประจำวัน

« « Prev : ทิ้งเมือง

Next : อภัยทาน » »


ผู้ใช้ Facebook สามารถให้ความเห็นที่นี่ได้ โดยกด Like เพื่อแสดงตัว

9 ความคิดเห็น

  • #1 jchrn ให้ความคิดเห็นเมื่อ 30 October 2008 เวลา 6:15

    เรื่องง่ายๆแต่ทำยากค่ะ
    เพราะว่าคนเรามักถูกเสี้ยมสอนว่า ศักดิ์ศรีลบหลู่ไม่ได้ ฆ่าได้หยามไม่ได้ 
    สำหรับตัวเองแล้ว “ศักดิ์ศรี” เป็นเรื่องที่มาภายหลังการกระทำ ไม่ใช่มาพร้อมชื่อเสียงเรียงนามหรือฐานันดร ..ส่วนตัวแล้ว…”ศักดิ์ศรี”ไม่ต้องมีเลยก็ได้ มีแล้วต้องแบกหามก็หนักเสียเปล่าค่ะ..

    ทุกวันนี้เวลามีอะไรกระทบใจ..ปล่อยไปได้รีบปล่อย ..เพราะ”มีเรื่องราวดีๆมากมายให้คิดให้ทำ” ค่ะ ถ้ามัวไปเสียเวลาและอารมณ์กับความไม่ชอบใจจากกระกระทำของคนอื่นก็เท่ากับเสียเวลาสองสามทบโดยเปล่าประโยชน์ …อะไรทำได้ก็ทำ ทำไม่ได้ก็ไม่เสียดาย(ก็มันทำไม่ได้จะเสียดายทำไม)…นะคะ

  • #2 Logos ให้ความคิดเห็นเมื่อ 30 October 2008 เวลา 10:28
    ถึงทำยาก ก็ไม่ใช่ว่าจะพยายามไม่ได้ครับพี่สร้อย

    ความสุข-ความทุกข์ กองไว้เกลื่อนกลาด อยู่ที่เราจะเลือกหยิบกองไหนมาใส่ในใจของเรา

    หรือถ้าไม่อยากหยิบกองไหน ก็วางทิ้งเอาไว้อย่างนั้น

  • #3 dd_l ให้ความคิดเห็นเมื่อ 30 October 2008 เวลา 12:34

    ตอนเด็กๆ อ่านคำว่า ทศพิธราชธรรม  อ่านเรื่องราวของ พระพุทธเจ้า ก็แค่ได้อ่าน  ต่อเมื่อผ่านชีวิตมาได้พบหลายเรื่องราวทั้งของตนทั้งของคนอื่น  ได้พบว่า หลักธรรมเพียงข้อเดียว กว่าจะฝึกฝนให้เกิดแก่ตนได้ ก็ต้องใช้เวลา ใช้สติกำกับ  บางทีก็ทัน บางทีก็ไม่ทัน   เกิดอาการน๊อตหลุด หลวมเป็นพักๆ  นี่ไม่นับรวมที่ต้องนำหลักธรรมมาใช้ให้เหมาะสมกับแต่ละกรณี  เป็นเรื่องละเอียดจริงๆ

    มาถึงตอนนี้ จึงศรัทธา และ เห็นความยิ่งใหญ่ของพระพุทธเจ้า  ศรัทธาในกษัตริย์ที่ปฏิบัติทศพิศราชธรรม ยิ่งนัก

    ขอบคุณที่หมั่นนำเรื่องราวมาให้ได้เตือนตนนะคะ

  • #4 หมอเจ๊ ให้ความคิดเห็นเมื่อ 30 October 2008 เวลา 16:36

    หากจะให้อภัยคนอื่นได้ง่ายขึ้น ให้ฝึกให้อภัยตัวเองก่อนค่ะ
    มาชวนอนุโมทนากับศรัทธาต่อการฝึกตนร่วมกันค่ะ

  • #5 Sasinand ให้ความคิดเห็นเมื่อ 30 October 2008 เวลา 17:40

    อ่านแล้ว ก็นึกขึ้นได้ว่า เราก็เดินตามอนวนี้มา จิตใจจึงสบาย สมัยก่อน เป็นไม่ได้เลย เรื่องมาหยาม หรือมาเอาเปรียบกันเห็นๆ ต้องเป็นเรื่อง แต่ตอนนี้ คิดได้นานแล้วค่ะ และดีมากๆมากๆด้วย

  • #6 bangsai ให้ความคิดเห็นเมื่อ 30 October 2008 เวลา 18:57

    เรื่องดีดีแบบนี้เป็นหลักของศาสนาทุกศาสนา เป็นฐานของการกระทำความดี
    เห็นด้วยว่าเป็นหลักการที่ดีแต่ทำได้ยาก
    จึงมีกระบวนการฝึกจิต ให้นิ่งดั่งผิวน้ำที่สงบนิ่ง  เพราะผิวน้ำนั้นเป็นอะไรที่ไหวได้ง่ายแสนง่าย เพียงลมปากเป่านิดเกียวก็ไหวเป็นคลื่นไปนานทีเดียว ใจเราที่ไม่ได้ฝึกก็เป็นเช่นนั้น ไหวไปตามผัสสะทั้งหลายและสิ่งที่มากระทบ

    การให้อภัยเป็นการลดการแรงต้าน reaction เพียงรับรู้แล้วปล่อยผ่านไป ด้วยใบหน้าที่ปกติ
    โถ……ใครจะทำได้

    รับว่ายาก แต่การฝึกเท่านั้นจึงเป็นการสร้างสมจิตให้นิ่ง
    พระที่ฝึกจึงต้องมีพระอาจารย์สอบอารมณ์
    เซน จึงต้องมีการทดสอบจิต
    …….
    เอาบทความดีดีมากระตุกจิตดีจริงๆ

  • #7 aram ให้ความคิดเห็นเมื่อ 30 October 2008 เวลา 21:00

    เคยเห็นตามกำแพงวัดเขียนไว้บ่อยๆ ว่าเขตอภัยทานห้ามจับปลา รู้เพียงเท่านั้นจริงๆครับ พอได้อ่านบทความนี้อยากจะเขียนไว้ในใจตัวเองว่า เขตอภัยทานห้ามหงุดหงิด , เขตอภัยทานห้ามโกรธ  เขตอภัยทานห้าม….ฯลฯ ครับ

  • #8 สิทธิรักษ์ ให้ความคิดเห็นเมื่อ 30 October 2008 เวลา 21:20

    สมัยนี้มีคนถนัดทำเรื่องเล็กให้เป็นเรื่องใหญ่ ทำเรื่องใหญ่ให้เป็น อภิฯ  แล้วจะได้เงินเยอะ ๆ    อิอิ

  • #9 Logos ให้ความคิดเห็นเมื่อ 31 October 2008 เวลา 1:10

    นำคำสอนของหลวงปู่ทวด วัดช้างให้ ปัตตานี (พ.ศ. ๒๑๒๕-๒๒๒๕) มาฝากครับ

    ในภาวะแห่งการที่จะอยู่อย่างสบายนั้น เราต้องอยู่กันอย่างไม่ยึด อยู่กันอย่างไม่ยินดี อยู่กันอย่างไม่ยินร้าย อยู่กันอย่างพยายามให้จิตวิญญาณของนามธรรมนั้นเหนืออารมณ์ เหนือคำสรรเสริญ เหนือนินทา เหนือความผิดหวัง เหนือความสำเร็จ เหนือรัก เหนือชัง

    จะทำสิ่งใดก็ตาม เราต้องมีสติพร้อม คือ อย่าให้มีโทสะ อย่าให้อารมณ์เข้ามาควบคุมสติ อย่าให้เรื่องส่วนตัวและขาดเหตุผลมาอยู่เหนือความจริง

    มนุษย์ผู้ใด เห็นแก่งานส่วนตัว มนุษย์ผู้นั้น จะไม่มีงานทำในไม่ช้า
    มนุษย์ผู้ใด เห็นแก่ทรัพย์ส่วนตัว มนุษย์ผู้นั้น จะไม่มีทรัพย์ครองในไม่ช้า
    มนุษย์ผู้ใด เห็นแก่นอนมาก มนุษย์ผู้นั้น จะไม่ได้นอนในไม่ช้า


แสดงความคิดเห็น

ท่านอยากจะเข้าระบบหรือไม่


*
To prove you're a person (not a spam script), type the security word shown in the picture. Click on the picture to hear an audio file of the word.
Click to hear an audio file of the anti-spam word


Main: 0.47690391540527 sec
Sidebar: 1.3558511734009 sec